นายกฯ เผยมีอะไรนอกเหนือจากการเลือกตั้งคือพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวง ร.10 รับสั่งดูแลประชาชนให้ดีที่สุด อยากให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยมีระเบียบวินัย อย่าให้เกิดเรื่องแบบเดิมๆ ให้อายต่างชาติ คนไทยในแดนน้ำหอมหนุนลุงตู่เป็นนายกฯ เจ้าตัวบอกยังไม่ตัดสินใจลง ส.ส. ขอเลือก ส.ว.เอง จับตา "ป้อม" ถกพรรคการเมือง "อนุทิน" จี้ปลดล็อกทั้งหมด เชื่อไม่มีใครก่อความวุ่นวายในช่วงพิธีสำคัญ "มาร์ค" หวั่น กกต.ไม่เป็นกลางเพราะกลัวอำนาจ คสช.ตาม ม.44
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวระหว่างพบปะคนไทยในฝรั่งเศส เพื่อเล่าสถานการณ์ในประเทศไทย และแนวความคิดในการทำงาน ระหว่างการเยือนสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 20-26 มิ.ย. ตอนหนึ่งว่า วันนี้บ้านเรามีอะไรนอกเหนือจากเลือกตั้ง คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวงรัชกาลที่ 10 รับสั่งกับตนเสมอคือ การดูแลประชาชนให้ดีที่สุด พระองค์ทรงอยากให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย มีระเบียบวินัย อย่าให้เกิดเรื่องแบบเดิมๆ ให้อายต่างชาติ และสิ่งใดที่สถาบันจะช่วยเหลือได้ก็บอกมา ท่านพร้อมจะดูแลช่วยเหลือ
"ท่านยังรับสั่งว่าโครงการใดก็ตามของพระราชบิดาของท่าน ให้ไปดูว่าทำครบแล้วหรือยัง เพราะสิ่งที่ท่านรับสั่งทำครบหมดแล้ว เหลือแต่เพียงพวกเราทำกันครบแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบ อะไรทำได้ก็ทำให้ครบ อันไหนทำดีอยู่แล้วก็รักษาสืบสานต่อยอด ท่านรับสั่งว่าไม่มีอะไรใหม่ เพราะประเทศเราเปลี่ยนแปลงมาถึงระยะหนึ่งแล้ว และรัชกาลที่ 9 ทรงทำอะไรไว้จำนวนมากมาย"
นายกฯ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ยังทรงแข็งแรงดีอยู่ แต่ออกงานไม่สะดวก เนื่องจากพระชนมายุมากแล้ว ซึ่งช่วงก่อนหน้านี้ตนเคยอยู่ถวายความปลอดภัย ท่านรับสั่งเสมอว่า ประชาชนคนไทยน่ารัก ไม่เหมือนคนอื่น เราต้องดูแลประชาชนของเรา บางอย่างต้องใช้ความเป็นไทย บางอย่างต้องใช้ความเป็นต่างประเทศมาดูแล ซึ่งบัดนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องทำถวายพระองค์บ้าง ทำไมเราต้องให้พระองค์ดูแลเราตลอดไปอย่างนั้นหรือ
"เราต้องขอพระสยามเทวาธิราชให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยอย่างนั้นหรือ เราทำไมไม่ขอกันเอง ช่วยกันทำบ้านเมืองปลอดภัย ให้บ้านเมืองเกิดการพัฒนา ไม่ต้องบังคับใช้กฎหมายให้แรงขึ้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องคิด ถ้ามองกันแต่เรื่องของกฎหมาย คดีความที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ต้องย้อนไปดูสาเหตุว่าเกิดจากอะไร" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า เวลาเจอคนไทยในต่างแดนก็รู้สึกมีความสุข เพราะตนอยู่ไทยมาตลอดเกือบทั้งชีวิต ในการเดินทางเยือนต่างประเทศก็มาเท่าที่จำเป็น เพราะไม่มีเวลา และในการเยือนฝรั่งเศสในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในการเยือนยุโรปในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนได้นำหัวใจของคนไทยในประเทศมาด้วย ซึ่งคนไทยในไทยก็มีความเป็นห่วงคนไทยในต่างประเทศเช่นกัน นอกจากนี้ ได้พบปะประธานสภาขุนนาง หรือที่ในไทยเรียกว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมีการแต่งตั้งกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งการมีสองสภามีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่อยู่ที่ว่าจะมาทางไหน
“วันนี้ต้องขอเวลาช่วง 5 ปีแรก จะมีการคัดสรร ส.ว. 200 คน อีก 50 คน ไปคัดสรรมาจากประชาชน 200 คน ผมขอเลือกเอง แต่ไม่ใช่ผมจะไปเลือกเอง ต้องตั้งคณะทำงานไปเลือกคนแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่าย ส่วน ส.ส.ก็เล่าให้เขาฟัง ซึ่งเขาก็บอกว่าดีเหมือน เขาก็ใช้ระบบนี้เหมือนกัน ระบอบเขาเป็นผู้นำการปกครองประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ของเรา 19-20 ฉบับ ยังไม่ได้เลือกตั้งก็จะแก้เป็นฉบับที่ 21 แล้ว และสิ่งที่ทำให้สังคมสงบเรียบร้อยคือกฎหมาย ฉะนั้นผมไม่อยากให้บ้านเมืองเกิดปัญหาขึ้นมาอีก คือกฎหมายเป็นตัวสร้างความขัดแย้ง และสิ่งที่น่าจะเห็นกันคือความสงบเรียบร้อย บ้านเมืองไม่มีการประท้วง ไม่มีการปิดถนน ทำให้เกิดความสับสนอลหม่าน แต่ไม่อาจจะบอกได้ว่าทุกอย่างดี 100 เปอร์เซ็นต์ ผมอยากให้ความหวังกับทุกคนว่าเราต้องดีขึ้น
คนไทยหนุนลุงตู่อยู่ต่อ
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ยังไม่ได้บอกว่าจะเป็น ส.ส.เพราะเป็นไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าเป็น ส.ส.ลงเลือกตั้ง จะต้องลาออกตั้งแต่รัฐธรรมนูญออกมา แต่นี่ตนยังเป็นนายกฯอยู่ แล้วเขาจะเลือกตนอย่างไรก็ยังไม่รู้ เพราะเป็นเรื่องของกลไกทางกฎหมาย และตอนนี้ก็ยังไม่ตัดสินใจอะไรทั้งสิ้น ขอทำตรงนี้ก่อน ยังมีเวลา หลายคนบอกอย่าไปเลือกตั้ง ลำบาก เราคิดได้ แต่ในเวทีต่างประเทศลำบาก เพราะฉะนั้นก็ขอร้องให้สงบกันเถอะ
ในช่วงหนึ่งนายกฯ ได้ฝากคนไทยในฝรั่งเศสให้สร้างความเข้าใจกับคนต่างประเทศ ว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร และได้สอบถามคนไทยที่มารับฟังด้วยว่ารู้สึกง่วงหรือไม่ เพราะตนพูดเองก็ยังรู้สึกง่วง เพราะพูดมาตลอด 3-4 ปี วันนี้ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว เพราะถือว่าผมตัดสินใจไปแล้ว ต้องทำงานให้สำเร็จ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศการพบปะกับชาวไทยในฝรั่งเศสเป็นไปอย่างเป็นกันเอง โดยนายกรัฐมนตรีเปิดโอกาสให้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก อย่างไรก็ตาม คนไทยที่มาร่วมรับฟังได้ให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการเขียนข้อความต่างๆ พร้อมชูป้าย อาทิ คนไทยไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็รักลุงตู่, อยู่ต่อเลยได้ไหมท่านประยุทธ์, ชาวไทยในฝรั่งเศสสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯของคนไทย เป็นต้น
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการหารือพรรคการเมืองรัฐบาลและ คสช. ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ ที่สโมสรกองทัพบก วิภาวดีรังสิต ว่าจะส่งตัวแทนไปรับฟังว่าจะมีข้อประเด็นไหนบ้างที่จะส่งมายังพรรคการเมือง ซึ่งหากมีการกำหนดข้อปฏิบัติแก่พรรคการเมือง ตนและพรรคภูมิใจไทยก็พร้อมจะปฏิบัติตามอยู่แล้ว ส่วนตัวคงไม่มีอะไรจะไปนำเสนอ โดยขอรอฟังข้อเสนอจากรัฐบาลก่อนดีกว่า ส่วนที่ตนไม่ได้เดินทางไปร่วมประชุมเองนั้น เป็นเพราะติดภารกิจสำคัญ และไม่สามารถเลื่อนออกไปได้
เมื่อถามถึงระบบไพรมารีโหวต จะกระทบต่อปัญหาสมาชิกพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ทางพรรคจะสามารถทำระบบไพรมารีโหวตทันแน่นอน โดยที่รัฐบาลก็ต้องปลดล็อกพรรคการเมืองให้สามารถรับสมาชิกพรรคเพิ่มได้ด้วย จำนวนสมาชิกของพรรคภูมิใจไทยที่ตอนนี้มีอยู่กว่า 1,000 คนนั้น เป็นเรื่องที่ดี ที่สามารถทำให้พรรคสามารถจัดระบบงานด้านธุรการ ด้านเอกสารให้ลงตัวได้มากขึ้น อีกทั้งยังสังคายนาสมาชิกพรรคที่ก่อนหน้านี้มีกว่า 1 หมื่นคน เพราะบางครั้งอาจจะมีสมาชิกบางคนที่ไม่ประสงค์จะอยู่พรรคภูมิใจไทยต่อก็ได้ เป็นเหมือนการล้างสต๊อกใหม่ พร้อมเปิดให้สมาชิกใหม่เข้ามาด้วย อยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไว้ใจ เชื่อใจระบบการเมืองในประเทศไทยได้แล้ว การเลือกตั้งตามโรดแมปมันต้องเกิดขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยความจะมีสัญลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตย ประเทศไทยควรจะมีอำนาจประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ
"ปัญหาการจำกัดสิทธิ์ต่างๆ ของพรรคการเมือง และการใส่ล็อกพรรคการเมืองมันไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญแต่เป็นอำนาจของหัวหน้าปฏิวัติ ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ อย่าเอาไปรวมกัน ซึ่งการปลดล็อกต้องปลดล็อกให้ขาด ต้องเชื่อมั่นซึ่งกันและกันในความต้องการที่จะเห็นบ้านเมืองก้าวหน้า อีกทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเตรียมการไปสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นพิธีสำคัญของประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยรอคอยมา ดังนั้นการที่คาดว่ายังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง เพราะหวั่นว่าจะมีการก่อความไม่สงบเรียบร้อยหรือการออกมากดดันต่างๆ รับรองว่าคงไม่มีใครออกมาทำเช่นนั้น ในเมื่อประเทศไทยจะมีแต่สิ่งดีๆ เเละเป็นมงคล หลังจากนั้นก็คงต้องเข้าสู่การเลือกตั้งเต็มรูปแบบ" นายอนุทินกล่าว
ยุใช้ ม.44 ปลดล็อก
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ คสช.นัดพูดคุยกับพรรคการเมือง เพื่อหาแนวทางปลดล็อกให้ทำกิจกรรมทางการเมือง และเห็นว่าการพูดคุยในรอบแรกจะเป็นประโยชน์ เพราะถึงแม้กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะยังไม่ได้บังคับใช้ แต่คาดว่าประเทศจะเดินต่อไปข้างหน้าได้ และเชื่อว่าข้อสรุปที่ได้ในการพูดคุยครั้งแรกจะเป็นประโยชน์กับพรรคการเมือง รวมถึงพรรคการเมืองที่ไม่ตอบรับคำเชิญมาร่วมพูดคุย
ส่วนข้อเสนอที่จะเสนอในการพูดคุยนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า จะขอให้ คสช.อนุญาตให้พรรคการเมืองเก่าจัดประชุมพรรคหาสมาชิกเพิ่มเติมได้ และดำเนินการตามกฎหมายลูกรัฐธรรมนูญได้ เพื่อให้ทันกับพรรคการเมืองใหม่ที่มีการเตรียมตัวไปก่อนหน้านั้นแล้ว ส่วนข้อเสนอของหลายพรรคการเมืองที่เสนอให้ยกเลิกไพรมารีโหวต ในส่วนของพรรคประชาชนปฏิรูปเห็นว่าระบบไพรมารีโหวตมีประโยชน์ในการปฏิรูปพรรคการเมืองที่จะให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการส่งตัวผู้สมัครทุกจังหวัด ยืนยันว่าสนับสนุนข้อนี้ และหากมีการเสนอให้ยกเลิกพรรคจะเดินหน้าคัดค้านต่อไป
นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า พรรคพลังธรรมใหม่มีข้อเสนอต่อ คสช. คือต้องใช้ ม.44 อนุญาตให้ กกต.ประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งก่อนกฎหมายเลือกตั้งจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถตั้งสาขาพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดได้ รวมไปถึงการใช้ ม.44 เพื่อปลดล็อกทางการเมือง อนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมสมาชิกพรรค การหาสมาชิกพรรคใหม่ และยกเลิกการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยแก้ไขมาตรา 38 (4) ที่ระบุว่าการเลือกตั้งกรรมการสรรหาผู้สมัครเลือกตั้งของพรรคการเมือง กระทำได้โดยที่ประชุมใหญ่ทางพรรคการเมือง เปลี่ยนให้เป็นอำนาจกรรมการบริหารพรรคสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครเลือกตั้งของพรรคการเมืองได้ เพราะการจัดประชุมใหญ่ทุกพรรคจะมีความยุ่งยาก ต้องใช้เวลาและงบประมาณสูงมาก
นพ.ระวีกล่าวด้วยว่า เนื่องจากการทำไพรมารีโหวตส.ส.เขตของทุกพรรคจะเริ่มได้หลังเข้าสู่ระยะ
การเลือกตั้ง สำหรับพรรคที่จะส่ง ส.ส.ครบ 350 เขต จะต้องใช้เวลาประชุมสมาชิกพรรคทั้ง 77 จังหวัด เพื่อทำ ไพรมารีโหวต ซึ่งต้องใช้เวลามากพอสมควร จึงขอเสนอว่าให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งภายในกรอบ 140-150 วัน ถ้า กกต.เร่งจัดการเลือกตั้งภายใน 120 วัน จะทำให้พรรคที่ส่ง ส.ส.ครบ 350 เขต อาจจะทำไพรมารีโหวตไม่ทัน
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ตนติดภารกิจไม่ได้เดินทางไปร่วมประชุมด้วย เนื่องจากต้องเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช จึงมอบหมายให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค, น.ต.สุธรรม ระหงษ์ ผู้อำนวยการพรรค และนายถวิล ไพรสณฑ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร ทั้งหมดอยู่ที่ คสช.ที่จะซักถามความเห็นของพรรคการเมือง แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจมากน้อยเพียงใด ในส่วนของ ปชป. หากคสช.ยกเลิกคำสั่งการห้ามทำกิจกรรมต่างๆ เราก็สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ทั้งหมด ถ้า คสช.ห่วงเรื่องของความมั่นคง ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเวลาพรรคการเมืองทำกิจกรรมอะไรก็สามารถไปดูได้ว่ากระทบต่อความมั่นคงหรือไม่
"การที่กรรมการบริหารประชุม การเดินทางออกไปพบปะสมาชิกเพื่อระดมสมาชิกหรืออะไรก็ตามไม่น่าจะเป็นปัญหา และกิจกรรมใดที่อาจสร้างปัญหาต่อความมั่นคงก็มีกฎหมายอื่นๆ รวมถึงคำสั่ง คสช.อยู่แล้วที่ใครทำให้บ้านเมืองวุ่นวายก็ดำเนินการตามกฎหมาย แต่ควรให้ทุกอย่างเดินได้ ถ้าต้องการให้พรรคการเมืองเพียงแค่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีสมาชิกจังหวัดละ 100 คน ที่ระบุว่าทำไพรมารีโหวตเพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วม แต่เอาเข้าจริงคนชนะได้คะแนน 30 ถึง 40 คะแนนก็คงไม่ใช่การปฏิรูปการเมือง ดังนั้นหากต้องการปฏิรูปการเมือง ก็ควรจะให้พรรคการเมืองสามารถระดมสมาชิกจำนวนมากสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกคนจะลงสมัครรับเลือกตั้ง มีส่วนร่วมในเรื่องนโยบายและอื่นๆ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง”
หวั่น กกต.ไม่เป็นกลาง
เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตรอาจพิจารณายกเลิกการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก็กลายเป็นว่าการที่อ้างว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงปฏิรูป สุดท้ายก็บอกว่าทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำอีก เพราะฉะนั้นอยู่ที่ คสช. จะต้องย้อนกลับไปดูภาพใหญ่ว่าตกลงเรื่องอะไรที่สำคัญ ถ้าบอกว่าการปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ก็ต้องพยายามให้กฎหมายเดินได้ตามเจตนารมณ์
ส่วนการเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่มีการพูดเชิงตำหนิอดีต ส.ส.ที่โดนดูดตัวไปแล้วประกาศว่าจะมีการหาคนรุ่นใหม่มาลงทดแทนในเขตที่หายไปเข้าข่ายการควบคุมครอบงำพรรคการเมืองหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก็ต้องไปดูว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่ กฎหมายก็เขียนระบุอยู่แล้วว่า หากใครไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคแล้วไปให้คนนั้นเข้ามาครอบงำก็ผิดกฎหมาย ดังนั้นก็ต้องไปดูว่าเข้าข่ายหรือไม่ การพูดคุยในวงกันเองคงไม่ได้เป็นปัญหา แต่อยู่ที่ว่ามีการครอบงำหรือไปแทรกแซงหรือไม่
ถามถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตรสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์นั่งนายกฯ ต่ออีก 4 ปี นายอภิสิทธิ์ยิ้มและกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ก็เป็นสิทธิ์ของท่าน” เมื่อถามย้ำว่าไหวหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวปนหัวเราะว่า “ใครไหว”
ขณะเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยรังสิต นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การเมืองไทยวันนี้” ในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง วิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต ตอนหนึ่งว่า ถามว่าผู้ดูแลการเลือกตั้งสามารถทำหน้าที่ได้อิสระและเป็นกลางหรือไม่ เรามี กกต.ทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 40 จนถึงปัจจุบัน มี กกต.บางชุดทำหน้าที่ได้ดี บางชุดก็ติดคุก เพราะทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง แต่ต่อไปเราจะมั่นใจความเป็นกลางได้มากน้อยแค่ไหน เราต้องดูที่มาของ กกต.ชุดต่อไป ที่อาจมีความผูกพันกับ คสช. เพราะถูกเลือกมาจากสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ อีกทั้งที่ผ่านมามีการใช้มาตรา 44 ปลด กกต.ที่เป็นองค์กรอิสระ ต้องไม่ลืมว่ามาตรา 44 สามารถใช้ได้จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ คือทั้งในช่วงเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่
"กกต.ทำงานไปคงเหลียวหลังแลหน้าว่า หากทำงานแล้ว คสช.ไม่พอใจอาจถูกปลดได้ จึงเกิดเครื่องหมายคำถามว่า ตอนนี้คนใน คสช.น่าจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งแล้ว แม้ก่อนหน้านี้จะทำตัวเป็นกรรมการ แต่วันนี้กรรมการแสดงตัวจะเป็นผู้เล่น และถืออำนาจอยู่ สวนทางและแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ คสช.ทำไว้เอง หากมีการเลือกตั้ง เราจะได้การเลือกตั้งที่เสรีและมีความเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน”นายอภิสิทธิ์กล่าว
มีรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้สรุปข้อมูลจำนวนผู้สมัครผู้ตรวจการเลือกตั้ง หลังจากเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 13-22 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า พบว่าผู้มาสมัครรวม 77 จังหวัด มีจำนวนทั้งสิ้น 2,811 คน โดยพบว่าในแต่ละจังหวัดมีผู้มาสมัครเพียงพอที่จะให้ กกต.พิจารณาคัดเลือกเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งที่จังหวัดนั้นๆ ยกเว้นจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีผู้สมัครเพียง 13 คน ซึ่งตามระเบียบกำหนดว่า หากมีผู้มาสมัครไม่ครบ 16 คน ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดประกาศขยายระยะเวลาการรับสมัครออกไปอีก 3 วัน นับแต่วันเสร็จสิ้นการรับสมัคร
ภายหลังปิดรับสมัครจะต้องคัดเลือกผู้สมัครให้เหลือ 16 คน ภายใน 3 วัน โดยวิธีลงคะแนนลับ จากนั้นให้ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก เสนอต่อเลขาธิการ กกต.ภายใน 15 วัน ก่อนเสนอให้คณะกรรมการ กกต.คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัดละ 8 คน โดยในช่วงที่มีการเลือกตั้ง กกต.จะคัดผู้ตรวจการเลือกตั้งตามจำนวนที่กำหนดจากเขตเลือกตั้งแต่ละจังหวัด โดยจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งไม่เกิน 5 เขต 5 คน จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 6-8 เขต 6 คน จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 9-11 เขต 7 คน และจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งตั้งแต่ 12 เขตขึ้นไป 8 คน โดยในจำนวนดังกล่าวต้องมีผู้ตรวจการการเลือกตั้งประจำจังหวัดที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดที่จะแต่งตั้ง 2 คน นอกนั้นเป็นผู้ที่ไม่มีภูมิลำเนาในจังหวัดที่จะแต่งตั้ง โดยรายชื่อที่แต่งตั้งจะมาจากการจับสลาก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |