"สมเด็จพระสังฆราช" ทรงเรียก "พระพรหมบัณฑิต" บินด่วนจากสหรัฐกลับไทย หารือปรับปรุง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ทุกฝ่ายประสานเสียงหนุนเซตซีโร มส. หวังสร้างศรัทธาพุทธศาสนา แต่ห่วงให้อำนาจ "นายกฯ" เสนอตั้งพระสังฆาธิการระดับสูง "พระไทยในสหรัฐ" ชงเพิ่มคณะกรรมการสรรหากรรมการมหาเถรฯ" หวังถ่วงดุล "อดีต ผอ.สำนักพุทธฯ" เสนอกฤษฎีกาขยายเวลาฟังความคิดเห็น ปชช.
ตลอดทั้งวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจหลังเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th ประกาศการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โดยระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2561 รับหลักการให้มีการจัดทําร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ในประเด็นเกี่ยวกับมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะองค์กรปกครองคณะสงฆ์นั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติ ครม.วันที่ 4 เม.ย.2560 ประกอบกับมติ ครม.วันที่ 19 มิ.ย.2561 ดังกล่าว จึงเปิดรับฟังความเห็นประกอบการจัดทําร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเวลา 7 วัน
มีรายงานว่า พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) เจ้าคณะภาค 2 และกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งเป็นพระนักวิชาการ โดยเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่ต้องเป็นประธานการประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 42/2561 ณ วัดอตัมมยตาราม เมืองวูดดินวิลล์ รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 21-24 มิ.ย.2561 ต้องเดินทางกลับไทยก่อนกำหนดตั้งแต่ช่วงวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา
แหล่งข่าวระบุว่า ก่อนที่เจ้าคุณประยูรจะขึ้นเครื่อง ได้บอกผู้ใกล้ชิดว่า พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ในฐานะเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้เรียกตัวด่วน ซึ่งคาดว่าเป็นเรื่องการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เรียบร้อยแล้ว โดยไม่ได้มีการแถลงข่าวตามปกติ เพราะเป็นการประชุมลับ เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากรับฟังความคิดเห็นเสร็จแล้ว จะนำกลับเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ตามขั้นตอน และส่งให้ สนช.พิจารณาต่อไป
พล.อ.อ.อาคม กาญจนหิรัญ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดถึงการเสนอแก้ไขหลักการเรื่องโครงสร้าง ที่มาของมหาเถรสมาคมดังกล่าวของรัฐบาล และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ แต่ว่าโดยหลักการทั่วไป หากรัฐบาลส่งเรื่องมาเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย หรือเสนอกฎหมายใหม่แล้ว สนช.รับหลักการ ทาง สนช.ก็ต้องตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาของ สนช.เพื่อศึกษาร่าง พ.ร.บ. จากนั้น กมธ.จึงเสนอแล้วเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ให้พิจารณาในวาระ 2 และ 3 จากนั้นก็นำร่างของรัฐบาลกับของ กมธ.มาพิจารณากันว่าของฝ่ายไหนดีกว่ากัน จากนั้นก็ลงมติพิจารณากันด้วยเสียงข้างมาก
หนุนแก้ พรบ.คณะสงฆ์
ถามถึงกระแสข่าวความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะขอให้ สนช.พิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยให้พิจารณา 3 วาระรวด เพราะเป็นการแก้ไขแค่มาตราเดียว ซึ่งเรื่องนี้ สนช.เคยทำมาแล้วตอนแก้ไขมาตรา 3 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช พล.อ.อ.อาคมกล่าวว่า ขอพูดในหลักการว่า หาก สนช.จะต้องพิจารณา 3 วาระรวด หากเป็นกรณีเร่งด่วน เช่นเรื่องที่พิจารณาไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน ก็อาจเป็นไปได้ โดยวาระแรกก็บอกว่าขอเป็นมติรับหลักการ วาระสอง ชี้แจงหลักการเหตุผล และวาระสาม ลงมติว่าจะรับการเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะใช้บังคับโดยรวม
"ผมขอแสดงความเห็นโดยส่วนตัวว่า ก็อาจต้องคุยกันพอประมาณ เพราะความเห็นของผม กฎหมายสงฆ์ก็ควรออกโดยคณะสงฆ์ เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับคณะสงฆ์ จึงควรต้องมีการปรึกษาหารือกันก่อน หากไม่ไปปรึกษาหารือกัน ก็เปรียบเหมือนกับคนที่ออกกฎหมาย แต่ไม่ได้ใช้บังคับกับตัวเอง มันก็ไม่ถูกต้อง เพราะมาตรา 77 รัฐธรรมนูญก็บัญญัติไว้ว่า ต้องฟังความเห็นคนที่เกี่ยวข้องด้วย ในความเห็นส่วนตัว ผมจึงเห็นว่าเรื่องนี้ต้องฟังมหาเถรสมาคมด้วย ต้องฟังเหตุและผล แต่ไม่ทราบฝ่ายบริหารทำอย่างไร แต่ในฐานะ สนช. เราก็ไม่ก้าวก่ายกัน แม้จะมาสายน้ำเดียวกัน เพราะ สนช.มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย" สนช.ผู้นี้ระบุ
พระครูปลัดกวีวัฒน์ รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ว่า ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีในการปรับปรุงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ให้มีความเหมาะสมต่อบริบทของการบริหารคณะสงฆ์ ท่ามกลางสังคมในยุคปัจจุบัน เพราะพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่ใช้กันอยู่นั้น เป็นการร่างขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2505 แม้มีการปรับปรุงมาบ้างแล้ว แต่ในบางมาตราก็ยังไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบสังคมปัจจุบันนี้
พระครูปลัดกวีวัฒน์กล่าวว่า การปรับปรุงครั้งนี้ทราบว่าให้ยกเลิกองค์ประกอบกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ยังคงให้มีกรรมการอื่นนอกจากประธานกรรมการในจำนวนเท่าเดิม 20 รูป แต่ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ และมีพระบรมราชโองการให้กรรมการดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งได้โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ หลักเดียวกันนี้ ใช้กับการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาคด้วย ตามที่มีพระราชดำริเห็นสมควร
"ประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับการบริหารจัดการคณะสงฆ์ เพราะจะต่างจากเดิมที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพระสังฆราช และให้เป็นอำนาจของพระสังฆราชในการบริหารคณะสงฆ์ในทุกระดับชั้น ตามแนวทางใหม่ แสดงว่าต้องมีการโปรดเกล้าฯ ลงมา ก็เกิดข้อถามจากคณะสงฆ์ในปัจจุบันว่า ด้วยแนวทางดังกล่าว ขั้นตอนการเสนอชื่อเพื่อโปรดเกล้าฯ นั้น ใครจะนำทูลเกล้าฯ ถวายรายนามพระเถระเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เป็นฝ่ายคณะสงฆ์ หรือนายกรัฐมนตรี หรือมีการพิจารณาร่วมกันแล้วทูลเกล้าฯ ถวาย ประเด็นตรงนี้เชื่อว่ายังไม่ชัดเจน เพราะเป็นการศึกษาแนวทาง ดังนั้นเมื่อเป็นประเด็นที่สำคัญ จึงอยากให้ผู้รับผิดชอบคือสำนักงานกฤษฎีกาได้ยึดตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560" พระครูปลัดกวีวัฒน์กล่าว
ห่วงนายกฯ มีอำนาจล้น
รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ กล่าวว่า มาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 คือ ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
"ขอให้ชาวพุทธผู้ที่มีความเห็นในประเด็นที่ว่ามา ได้ช่วยกันเสนอแนวทางที่สมควรในเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th เพื่อจะได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง" รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ กล่าว
เช่นเดียวกับ น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย นักวิชาการมูลนิธิภูมิพโลภิกขุ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ตนได้สนทนาธรรมเรื่องนี้กับท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี โดยเห็นตรงกันว่าเราเข้าใจและเคารพการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ เพียงแต่เห็นพ้องต้องกันว่า วิธีแบบนี้อาจจะเป็นปัญหาในอนาคตได้ เพราะข้อเท็จจริงแม้ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับแก้ไขนี้จะเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้ง มส. โดยตัวหนังสือเขียนเอาไว้อย่างนั้น แต่เมื่อมาพิจารณาข้อเท็จจริง พบในทางปฏิบัติก่อนจะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย จะต้องมีผู้กลั่นกรองขึ้นไปก่อนเหมือนกับเรื่องอื่นๆ
“ส่วนตัวที่เป็นกังวลคือ ผู้ทำหน้าที่กลั่นกรองนั้นคือผู้ใด หากไม่ใช่คณะสงฆ์อาจจะยุ่ง เช่น คนกลั่นกรองเป็น พศ. หรือหน่วยงานที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา ก่อนที่นายกฯ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย สมมุติอนาคตเป็นนักการเมือง ส.ส. เข้ามาบริหารประเทศ ก็เสี่ยงที่ผู้มีอำนาจขณะนั้นจะดูว่าพระรูปใดจะอำนวยประโยชน์ให้กับตนเอง ก็จะกลั่นกรองนำพระรูปนั้นๆ เสนอขึ้นไป หรือพระเองจะถือโอกาสวิ่งเข้าหาผู้มีอำนาจนั้นๆ กลายเป็นการสมประโยชน์กัน” น.อ.ทองย้อยกล่าว
นักวิชาการมูลนิธิภูมิพโลภิกขุยอมรับว่า ในคณะสงฆ์เองก็มีเส้นสายกันระหว่างพระ ถ้าจะแก้ไขควรไปแก้ไขตรงนั้น โดยให้พระปกครองพระ ถ้าพบมีการวิ่งเต้นให้พระที่มีอำนาจปกครองสูงกว่าดำเนินการตรวจสอบและลงโทษ สมมุติทางฝ่ายบ้านเมืองมีหลักฐานแน่ชัดว่าพระรูปใดประพฤติไม่สมควร แทนที่จะไปกระทำการถลกจีวรเอง ก็แจ้งไปยังพระผู้ปกครองที่มีอำนาจเหนือกว่าให้ดำเนินการลงโทษ ถ้ายังไม่ดำเนินการก็มีมาตรการลงโทษต่อไป
“พระไม่ดีทุกวันนี้นั้นมี ผมไม่ได้เข้าข้างพระ เพราะเคยบวชเป็นพระมาก่อน แต่เราสามารถหาวิธีการที่ทำให้ไม่เกิดการปกป้องกัน หรือวิธีจัดการที่เรียบร้อยกว่านี้ เราชาวพุทธต่างมีเป้าหมายตรงกัน คือไม่ต้องการให้มีอลัชชีอยู่ในพระพุทธศาสนา แต่วิธีการจัดการเท่านั้นที่ยังไม่ตรงกัน จึงต้องมาหาวิธีที่เหมาะสม” นักวิชาการมูลนิธิภูมิพโลภิกขุกล่าว
ขณะที่เว็บไซต์อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะดอทคอม ซึ่งเป็นเว็บของคณะสงฆ์วัดไทยลาสเวกัส ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ขึ้นแถลงการณ์ “หมายเหตุ อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ” ในหัวข้อ “กรณีกฤษฎีกาจะดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ภายใน 7 วัน”
เนื้อหาระบุว่า จากการที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ออกประกาศเรื่อง การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งระบุว่า รัฐบาลไทยได้ผ่านมติ ครม.ขอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเน้นไปที่แก้ไขในหมวดมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะผู้ปกครองอื่นๆ ได้แก่ เจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะภาค โดยจะให้มีการเซตซีโรคือล้างหน้าไพ่ใหม่หมด
เว็บไซต์อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะดอทคอมยังระบุว่า แต่จากการที่รัฐบาลขอแก้ไขให้การแต่งตั้งและถอดถอน กรรมการมหาเถรสมาคม-เจ้าคณะใหญ่-เจ้าคณะภาค ต้องเป็นพระราชอำนาจเท่านั้น ฟังดูก็ดูดี เพราะต่อไปนี้ พระสงฆ์ทุกระดับจะไม่มีโอกาสในการเลือกหรือแต่งตั้งกรรมการ มส. เจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะภาค อีกต่อไป แต่ปัญหาจะมาถึงข้อที่ว่า แล้วใครจะเป็นผู้เลือกและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงโปรดแต่งตั้ง
"ถ้ามองให้ตลอดก็จะเห็นว่า ถ้ารัฐบาลสามารถแก้ไข พ.บ.คณะสงฆ์ได้ตามที่กฤษฎีกาประกาศออกมานี้สำเร็จ อำนาจในการเสนอตั้งพระสังฆาธิการระดับสูงในพระพุทธศาสนา นับตั้งแต่เจ้าคณะภาค ไปถึงสมเด็จพระสังฆราช ก็จะเป็นของนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว ปัจจุบันนี้ นายกฯ เป็นชาวพุทธ และเป็นพุทธสายกลาง คือทำบุญได้ทุกวัด ไม่เป็นลูกศิษย์วัดใดวัดหนึ่งโดยเฉพาะ ก็ถือว่าน่าไว้วางใจในระดับหนึ่ง แต่ถ้าในอนาคต นายกรัฐมนตรีเป็นศิษย์สายวัดใดวัดหนึ่ง เช่น ธรรมกาย สันติอโศก ก็อาจจะใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี นำความขึ้นทูลเกล้าฯ ยกครูบาอาจารย์ให้เป็นใหญ่ในวงการสงฆ์"
ชงขยายเวลาฟัง ปชช.
ตอนท้ายเว็บไซต์ดังกล่าวระบุว่า เรา-อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะดอทคอม และคณะสงฆ์วัดไทยลาสเวกัส และวัดในเครือในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรี ในการเสนอนาม สมเด็จพระสังฆราช-กรรมการมหาเถรสมาคม-เจ้าคณะใหญ่-เจ้าคณะภาค แต่เพียงผู้เดียว เพราะนั่นจะทำให้นายกรัฐมนตรีเป็นสังฆราชอีกตำแหน่งหนึ่ง เพราะเมื่อมีอำนาจเสนอตั้งตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา ถามว่าสมเด็จพระสังฆราชจะทรงมีอำนาจอะไร ก็จะกลายเป็นเพียงเจว็ด หรือรูปปั้นบนศาลเจ้าเท่านั้น เพราะลำพังสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม-เจ้าคณะใหญ่-เจ้าคณะภาค เรายังไม่ไว้วางใจ แล้วจะไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวได้อย่างไร
"เราจึงขอเสนอให้มีคณะกรรมการสรรหากรรมการมหาเถรสมาคม-เจ้าคณะใหญ่-เจ้าคณะภาค ไว้ในการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับนี้ด้วย"
นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อุปนายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็สนับสนุนการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ดังกล่าวของรัฐบาล เพราะถือเป็นเรื่องที่ดี ถือว่ามาถูกทางแล้ว จะเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปกิจการพุทธศาสนา โดยที่ผ่านมาก็เห็นด้วยมาตลอดว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งใช้มาหลายปีแล้ว ควรต้องมีการแก้ไขปรับปรุง ซึ่งเรื่องที่มาโครงสร้างของมหาเถรสมาคม ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ควรต้องมีการแก้ไข รวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วยตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพียงแต่ต้องยอมรับว่า ระยะเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเปิดโอกาสให้ประชาชน พระสงฆ์ เสนอความเห็นต่อการแก้ไขมาตราดังกล่าวเรื่องที่มา องค์ประกอบของมหาเถรสมาคม ที่ให้ทำภายในไม่เกิน 7 วัน ที่จะครบกำหนดในวันที่ 27 มิ.ย. ถือว่าเวลายังสั้นเกินไป เพราะคนส่วนใหญ่ก็เพิ่งมารู้เมื่อ 23 มิ.ย. ซึ่งตนก็ได้แสดงความเห็นไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว
"เรื่องนี้รัฐบาลคงเห็นว่าควรแก้ไข ก็ให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปทำเรื่องเปิดรับฟังความเห็น ซึ่งหลังจากครบวันที่ 27 มิ.ย. ทางกฤษฎีกาก็คงจะรวบรวมเสนอต่อรัฐบาลกลับไปอีกครั้ง ว่าจะเอาด้วยหรือไม่ ผมก็มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการปฏิรูปกิจการพุทธศาสนา ที่ควรมีการปรับปรุง เพียงแต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลมาทำเรื่องมหาเถรสมาคมก่อนเป็นอันดับแรกๆ ทั้งที่ควรมองกฎหมายคณะสงฆ์ดังกล่าวทั้งฉบับ เพราะในความเป็นจริง แต่ละเรื่องจะโยงกันไปหมด แต่รัฐบาลมาจับประเด็นเรื่องมหาเถร เพียงประเด็นเดียวก่อนแล้วมาแก้ไข แต่ก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ถือว่าเขามาถูกทางแล้ว ถือเป็นก้าวแรก ที่หลังจากนี้คงมีก้าวที่สองตามมา เพราะตอนนี้มีความจำเป็นต้องมีการปฏิรูป เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาไม่มากก็น้อย เพราะหากปล่อยไปเรื่อยๆ ก็คงไม่ได้" อดีต ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุ
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิรูปกิจการพุทธศาสนา กล่าวว่า ส่วนตนเห็นด้วยเต็มตัวกับร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะกรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะหนใหญ่ และเจ้าคณะภาค เนื่องจากสาเหตุของการแก้ไข มาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยนิด้าโพล ที่ระบุว่าประชาชนกลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 80 ต่างเห็นด้วยให้มีการปฏิรูปองค์กรสงฆ์ ซึ่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้พระสงฆ์ทั่วประเทศผู้มีพรรษาอันสมควร ปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดที่มีแนวทางปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นเจ้าคณะปกครอง ซึ่งทางหนึ่งเป็นการล้มล้างระบอบอุปถัมภ์แบบเดิมที่มีมาอย่างยาวนาน และเป็นพระสงฆ์เหล่านั้นเป็นพระสงฆ์ที่อยู่ในพื้นที่จริง จึงเข้าใจข้อติดขัดและปัญหาต่างๆ อย่างถ่องแท้ สามารถนำวิสัยในการปรับปรุงและพัฒนาเสนอในที่ประชุม มส.ก่อนนำไปสู่การแก้ไขอย่างตรงจุดได้จริง
“ทั้งกรรมการ มส.ชุดปัจจุบัน รวมทั้งเจ้าคณะปกครองนั้น ส่วนใหญ่มีที่มาจากระบบอุปถัมภ์ เป็นคอนเนคชั่นที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เช่นเดียวกับที่มีพระผู้มีตำแหน่งหลายรูปปฏิบัติตนผิดแนวทางของพระธรรมวินัย อย่างกรณีผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงิน หรือการเสนอชื่อแต่งตั้งที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งปัญหาเหล่านี้เองมีมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ได้รับการแต่งตั้งใหม่นั้นเข้าใจปัญหาดีกว่า ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการทำนุบำรุงศาสนาและพัฒนาวัดในพื้นที่ห่างไกล และทำให้องค์กรสงฆ์มีความโปร่งใสน่าศรัทธาอีกครั้ง” นายไพบูลย์ระบุ
ถามว่ามีการท้วงติงเรื่องที่นายกฯ จะเป็นผู้เสนอแต่งตั้งอดีตประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิรูปกิจการพุทธศาสนา นายไพบูลย์กล่าวว่า ตามแนวทางปฏิบัติเดิม สมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้เสนอชื่อ กรรมการ มส.ทั้ง 12 รูป ขณะที่อีก 8 รูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่งอยู่แล้ว ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่เฉพาะตัวกรรมการ มส.เหล่านี้เพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงแคนดิเดตว่าที่กรรมการ มส.ที่กำลังจะขึ้นมาในตำแหน่งในอนาคตด้วย ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการ มส.อย่างเข้มงวดในลักษณะเดิม ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญในการเปิดโอกาสให้พระสงฆ์รูปอื่นเข้ามานั่งในตำแหน่งดหล่านี้ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
“กรณีกลัวจะมีการล็อบบี้หรือปัญหาการซื้อขายตำแหน่งแบบเดิมจากการเสนอชื่อ ขอให้อย่าไปคิดเยอะ เพราะมีการระบุชัดเจนแล้วว่า ในแนวทางการเสนอชื่อนั้น จะมีการเปิดกว้างมากขึ้น และยังคงมาจากพระสงฆ์เช่นเดิม ส่วนอำนาจในการแต่งตั้งมาจากพระมหากษัตริย์ กระบวนการแทรกแซงต่างๆ จึงเป็นไปไม่ได้ และขอย้ำอีกครั้งว่า นายกรัฐมนตรีในขั้นตอนการรับสนองพระบรมราชโองการ เป็นเพียงกระบวนการตามขั้นตอน ขอให้ทุกฝ่ายอย่ากังวล” นายไพบูลย์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |