‘21 ปี พอช.’ (4) ‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ ร่วมมือภาคีเครือข่าย สร้างตาข่ายสังคมรองรับคนทุกข์-วิกฤติโควิด-น้ำท่วม


เพิ่มเพื่อน    

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแก  จ.สุรินทร์  ร่วมดูแลประชาชนในช่วงโควิด

เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน จ.สิงห์บุรี  ช่วยประชาชนในช่วงน้ำท่วม

 

ในยามที่เกิดความทุกข์ยากลำบากในสังคม  เช่น  น้ำท่วม  น้ำแล้ง  พายุพัดถล่มบ้านเรือน  ไฟไหม้ชุมชนแออัด  ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน  โดยเฉพาะคนยากจน คนเฒ่าคนแก่ คนป่วย  เด็กเล็ก  เรามักจะเห็นภาพหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชน  เช่น  กรมประชา สงเคราะห์ (ปัจจุบันคือกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สภากาชาดไทย  องค์กรปกครองท้องถิ่น  และมูลนิธิต่างๆ

ขณะเดียวกัน  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ภาคประชาชนที่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม  กองทุน  และเครือข่ายต่างๆ เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชน  สภาองค์กรชุมชน  ได้เข้ามามีบทบาทในการดูแลช่วยเหลือประชาชน  ทั้งในภาวะปกติและในยามวิกฤติ  ดังเช่นสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  และในยามเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้       

ถือเป็นการสร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมรองรับผู้ทุกข์ยากที่ประชาชนคนเดินดินจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลกันเอง   โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐและมูลนิธิต่างๆ เหมือนดังแต่ก่อน !!

 

ออมวันละ 1 บาทสร้างสวัสดิการภาคประชาชน

แต่ไหนแต่ไรมาแล้วที่ประชาชน  คนทั่วไป  เกษตรกร  ชาวไร่  ชาวนา  ชาวประมง  ฯลฯ  ไม่มีระบบสวัสดิการสังคมรองรับในยามเจ็บไข้ได้ป่วย  ยามชรา  เหมือนกับข้าราชการหรือพนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป 

ดังนั้นกลุ่ม  องค์กรชาวบ้าน  เช่น  กลุ่มออมทรัพย์  สัจจะสะสมทรัพย์  เครดิตยูเนี่ยน  กลุ่มเกษตรกร  ฯลฯ  ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อนำเงินกองทุนที่สมาชิกสะสมมาให้กู้ยืมนำไปประกอบอาชีพ  แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในครอบครัว  (โดยเสียดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย)  เมื่อกลุ่มมีผลกำไรก็จะนำมาปันผลและช่วยเหลือสมาชิกในยามเจ็บป่วย  ช่วยทุนการศึกษาบุตรหลาน หรือในยามเดือดร้อนจำเป็นต่างๆ  ถือเป็นสวัสดิการภาคประชาชนที่ประชาชนดูแลกันเอง

ตัวอย่างที่ถือเป็นต้นแบบของการริเริ่มจัดสวัสดิการช่วยเหลือกันเอง  เช่น  กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์แบบพัฒนาครบวงจรชีวิตของ ครูชบ  ยอดแก้ว(ปัจจุบันเสียชีวิต) ครูประชาบาลในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา  ที่เริ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในโรงเรียนวัดน้ำขาวตั้งแต่ปี 2522 เพื่อให้ครูและนักเรียนมีความประหยัด  อดออม  มีสัจจะ  โดยนำเงินออมมาช่วยเหลือกัน  หลังจากนั้นจึงขยายไปสู่หมู่บ้านต่างๆ ในตำบล 

โดยมีแนวคิดคือ ให้ชาวบ้านลดรายจ่ายเพียงวันละ 1 บาท  แล้วนำเงิน 1 บาทมาสะสมร่วมกัน  เพื่อให้คนเดือดร้อนกู้ยืม  หรือนำไปประกอบอาชีพ โดยคิดดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย  เมื่อกลุ่มมีรายได้จากดอกเบี้ยจะนำมาปันผลให้สมาชิก  และช่วยเหลือสวัสดิการสมาชิกตั้งแต่เกิดจนถึงตาย

 

ครูชบ  ยอดแก้ว

 

จากแนวคิด กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์แบบพัฒนาครบวงจรชีวิต ของครูชบ  ยอดแก้ว  จึงมีองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ผู้นำชุมชน  พระสงฆ์นักพัฒนา  ฯลฯ จากทั่วประเทศได้มาศึกษาเรียนรู้และนำไปขยายผล  รวมทั้งครูชบยังได้เดินสายไปบรรยายเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ขึ้นมาทั่วประเทศ   โดยมีหลักการคือ สมาชิกจะต้องสะสมเงินเข้ากลุ่มตามที่กำหนด  เช่น  เดือนละ 1 ครั้ง  อย่างน้อย 100 บาท  เมื่อสมาชิกมีความจำเป็นก็สามารถกู้ยืมเงินไปใช้จ่ายได้ตามข้อตกลงของกลุ่ม  โดยเสียดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย (ไม่เกิน 1 บาทต่อเดือน)

ขณะเดียวกัน  แนวคิด สะสมเงินเพียงวันละ 1 บาทเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือกันนั้น  ได้ถูกต่อยอดจากชุมชนหลายแห่ง  จนพัฒนามาเป็น กองทุนสวัสดิการชุมชนโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.’  สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมาอย่างเป็นทางการในปี 2548  เป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบล  หรือเทศบาล  รวมทั้งหมด 99  กองทุนทั่วประเทศ 

จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี  (ตุลาคม 2564) พอช.ได้สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศแล้ว  รวม 6,069 กองทุน  จำนวนสมาชิกรวมกันประมาณ  5,740,000 คน  เงินกองทุนรวมกันกว่า  18,000 ล้านบาท   หรือเฉลี่ยกองทุนแต่ละแห่งจะมีเงินกองทุนแห่งละ 3 ล้านบาทเศษ  (บางกองทุนมีเงินมากกว่า 10 ล้านบาทเงินกองทุนเหล่านี้ได้นำไปช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวันตาย

 

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลทับมา อ.เมือง  จ.ระยอง  เยี่ยมคนชรา

 

สวัสดิการชุมชน  เพื่อคนในชุมชน

การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนส่วนใหญ่เป็นการริเริ่มจัดตั้งโดยผู้นำในตำบล (บางแห่งริเริ่มโดยผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาลชักชวนแกนนำหมู่บ้าน  กลุ่ม  องค์กรต่างๆ มาประชุมร่วมกัน  เพื่อชี้แจงเป้าหมาย  วัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุน  คัดเลือกตัวแทนเข้ามาเป็นคณะกรรมการกองทุน  ร่วมกันกำหนดระเบียบกองทุน คุณสมบัติของสมาชิก  การสมทบเงิน  สวัสดิการที่จะช่วยเหลือสมาชิก  ฯลฯ

กองทุนสวัสดิการชุมชนส่วนใหญ่จะให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือนหรือรายปีตามความสะดวก  เช่น  เดือนละ 30 บาท  หรือปีละ 365 บาท  เมื่อเป็นสมาชิกแล้วอย่างน้อย 6 เดือนจึงจะได้รับสวัสดิการช่วยเหลือพื้นฐานตั้งแต่เกิดจนตาย 

เช่น  คลอดบุตรช่วยเหลือ 500 บาท  นอนโรงพยาบาลช่วยเหลือคืนละ 100 บาท  ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน  ช่วยสมาชิกที่เสียชีวิต  3,000-20,000 บาท (ตามอายุการเป็นสมาชิก)  ช่วยภัยพิบัติไม่เกิน 2,000 บาท  ฯลฯ  โดยสมาชิกจะต้องนำหลักฐานเช่น  ใบรับรองแพทย์ บิลค่ายา  ใบมรณบัตร  มาขอเบิกแก่คณะกรรมการ  แม้จำนวนเงินที่ช่วยเหลือจะไม่มากนัก  แต่ก็เป็นการช่วยเหลือที่ทันท่วงที  ไม่มีระเบียบขั้นตอนมากมาย  ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ 

ขณะเดียวกัน  รัฐบาลได้สนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน  โดยการสมทบเงินเข้ากองทุนในอัตรา 1 ต่อ 1 เช่น  สมาชิกสมทบเงิน 365 บาท/คน/ปี  รัฐบาลก็จะสมทบเท่ากัน  รวมทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นก็สามารถสมทบเงินเข้ากองทุนได้  เพื่อให้กองทุนเติบโต

นอกจากนี้บางกองทุนอาจจัดสวัสดิการให้สมาชิกได้หลากหลายตามความเหมาะสม  เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน เทศบาลตำบลอุโมงค์  อ.เมือง  จ.ลำพูน จัดตั้งขึ้นในปี 2550 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 7,000 คน  มีสวัสดิการถึง 24 ประเภท เช่น  ค่ารถไปโรงพยาบาล  สวัสดิการเมื่อบวช  เกณฑ์ทหาร  แต่งงาน  ขึ้นบ้านใหม่  จบการศึกษา  ช่วยเหลือผู้สูงอายุ  ส่งเสริมกลุ่มอาชีพ  ฯลฯ 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา เทศบาลตำบลอุโมงค์ได้จัดสรรงบประมาณสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการประมาณปีละ 1 ล้านบาท  และล่าสุดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา  เทศบาลฯ ได้มอบเงินสมทบให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลอุโมงค์จำนวน 1 ล้านบาท

 

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลอุโมงค์รับมอบเงินสมทบ 1 ล้านบาทจากผู้บริหารเทศบาล

 

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างกองทุนสวัสดิการชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศที่ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือสมาชิกกองทุนฯ และประชาชนทั่วไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และน้ำท่วมในขณะนี้ด้วย  เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแก  อ.ท่าตูม  จ.สุรินทร์

 

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแก จ.สุรินทร์  ต้นแบบการจัดการกองทุนที่ดี-ช่วยประชาชนช่วงโควิด

พัชรี บุญมี ประธาน กองทุนคุณธรรมสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแก.ท่าตูม  จ.สุรินทร์ เล่าว่า  ก่อนการจัดตั้งกองทุนฯ  ชาวบ้านไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะจัดตั้งกองทุนฯ ขึ้นมาได้  เนื่องจากเห็นตัวอย่างกองทุนอื่นๆ ในตำบลที่ล้มเหลว  เพราะกรรมการไม่ซื่อสัตย์  หน่วยงานราชการจึงไม่กล้าเข้ามาส่งเสริม  ตนในฐานะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จึงเข้าไปชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในตำบล ใช้เวลานานเกือบ  2 ปีจึงจัดตั้ง กองทุนคุณธรรมสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแก ขึ้นมาได้  ในเดือนพฤษภาคม 2550  มีสมาชิกเริ่มต้น 192 คน  มาจาก อสม. 19 หมู่บ้าน (หมู่บ้านละ 10 คน)

โดยให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนฯ เป็นรายเดือนหรือรายปีตามสะดวก คือ เดือนละ 30-31 บาท (ตามจำนวนวันในแต่ละเดือน) รายปีๆ ละ 365 บาท   นำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสวัสดิการให้สมาชิก 15 ด้าน  เช่น  คลอดบุตร 500 บาท  แม่นอนโรงพยาบาล  คืนละ 300 บาท สมาชิกเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล  คืนละ 100  บาท  ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน เสียชีวิตช่วยตั้งแต่ 2,500-15,000 บาท  (เป็นสมาชิกตั้งแต่ 6 เดือน-11 ปี) ทุนการศึกษาเด็ก  ช่วยงานศพ-งานบวชปลอดเหล้า ฯลฯ เบิกจ่ายสวัสดิการทุกวันที่ 5 ของเดือน

จากจำนวนสมาชิกเริ่มแรก 192 คนในปี 2550  ด้วยการทำงานของคณะกรรมการทั้ง 19 หมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น อสม.ที่เข้าถึงและใกล้ชิดกับชาวบ้านอยู่แล้ว  เพราะ อสม.จะให้การดูแลสุขภาพเบื้องต้นแก่ชาวบ้าน  ประกอบกับคณะกรรม การมีความซื่อสัตย์  ทำงานด้วยความเสียสละ  จึงทำให้ชาวบ้านในตำบลให้ความเชื่อถือ  สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกอย่างต่อเนื่อง  จนมีสมาชิกกว่า 5,000 คน มีเงินกองทุนสะสมกว่า 24 ล้านบาท  (จากการสมทบของสมาชิก 16.7 ล้านบาทเศษ  รัฐบาลสมทบผ่าน พอช. 4.2 ล้านบาทเศษ  เทศบาลสมทบ 2.6 ล้านบาทเศษ)

ปัจจุบัน (ตุลาคม 2564) มีสมาชิกจำนวน 4,329  คน  มีเงินกองทุน 14.1 ล้านบาทเศษ   ที่ผ่านมาช่วยเหลือสมาชิกไปแล้ว 7,014  คน/ครั้ง  รวมเงินช่วยเหลือ 10 ล้านบาทเศษ

กองทุนฯ ของเรามีระบบการบริหารจัดการที่ดี  มีความโปร่งใส  มีคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ รวมทั้งหมด 34 คน  มาจากกรรมการในระดับหมู่บ้านและตำบล  กรรมการจะไม่ถือเงินสดไว้ในมือ  เพื่อป้องกันปัญหา นอกจากนี้เรายังมีระบบตรวจสอบที่ดี  มีการตรวจสอบภายในอย่างสม่ำเสมอ  และเชิญหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น เทศบาลมาเป็นกรรมการร่วมตรวจสอบ  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลร่วมวางระบบเอกสาร  ระบบบัญชี  มีบัญชีรายรับ-จ่ายต่างๆ  สมาชิกสามารถ ตรวจสอบข้อมูลการเงินได้  รวมทั้งเรายังให้กรรมการไปเคาะประตูบ้านเพื่อแจ้งข่าวสารให้แก่สมาชิก ทำให้กองทุนฯ ได้รับความเชื่อถือทั้งจากสมาชิกและหน่วยงานภายนอก  ประธานกองทุนฯ กล่าว

จากผลงานการบริหารกองทุนดังกล่าว กองทุนคุณธรรมสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแกจึงได้รับรางวัลด้าน การบริหารจัดการกองทุนที่ดีและมีธรรมาภิบาล จากการจัดประกวดกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ รางวัล ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2563 ตามแนวคิดของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์   โดยการจัดประกวดของสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ พอชและภาคีเครือข่าย

ส่วนการช่วยเหลือสมาชิกและประชาชนทั่วไปในช่วงสถานการณ์โควิดนั้น   พัชรี  ประธานกองทุนฯ บอกว่า  เนื่องจากคณะกรรมการกองทุนฯ ส่วนใหญ่เป็น อสม.อยู่แล้ว  เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิดรอบแรกในปี 2563   คณะกรรม การกองทุนฯ จึงมีความตื่นตัวในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด  มีการจัดทำหน้ากากผ้าอนามัยกว่า 10,000 ชิ้นแจกประชาชนทั้งตำบล  ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกหรือประชาชนทั่วไป  เพราะโควิดมันไม่เลือกหน้า  และให้ความรู้เพื่อป้องกันโรคด้วย

พอโควิดปีนี้  กองทุนฯ ก็ยังทำงานอย่างต่อเนื่อง  โดยเราร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ  เช่น  ร่วมกับเทศบาลตำบลเมืองแก  จัดตั้งศูนย์คัดกรองโควิดในหมู่บ้าน  จัดตั้งศูนย์กักกันผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง  ร่วมกับ รพ.สต.เมืองแกและโรงพยาบาลท่าตูมฉีดวัคซีนให้ประชาชน  ใช้งบประมาณจาก สปสช.แจกเจลล้างมือและหน้ากากอนามัยในตำบล  และใช้งบของกองทุนฯ แจกอาหารแห้ง  น้ำดื่มที่จุดพักคอยและกักกันในตำบล  รวม 18  จุด  ใช้งบ 13,200 บาท ประธานกองทุนคุณธรรมสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแกบอก

 

พัชรี  ประธานกองทุนฯ  (ซ้าย) มอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด

 

อย่างไรก็ตาม  นอกจากตัวอย่างที่กองทุนฯ ตำบลเมืองแก  จ.สุรินทร์แล้ว  ยังมีกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลต่างๆ ทั่วประเทศให้ความช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด  เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลประสงค์  อ.ท่าชนะ .สุราษฎร์ธานี  บูรณาการความร่วมกับสมาคมเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ร่วมกันมอบสิ่งของ  อาหาร เครื่องดื่ม  ให้กับศูนย์พักคอยในชุมชนวัดเขากอม  .ท่าชนะ  โดยศูนย์พักคอยแห่งนี้เปิดดำเนินการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา  รองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดได้  40 เตียง

 

สานพลังเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยในขณะนี้   โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ  ภาคอีสาน  และภาคกลาง  เครือข่ายองค์กรชุมชนในภาคต่างๆ ที่รวมตัวกันในนามของกองทุนสวัสดิการชุมชน  สภาองค์กรชุมชน  ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัด  เครือข่ายภัยพิบัติภาคเหนือ  เครือข่ายภัยพิบัติภาคอีสาน  ได้ร่วมกับ พอชและภาคีเครือข่ายต่างๆ  เช่น  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)  ฯลฯ  เข้าไปให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม  โดยมอบอาหารสด-แห้ง  เครื่องใช้ที่จำเป็น  ฯลฯ 

เช่น  จังหวัดเชียงใหม่    วันที่ 8 ตุลาคม  ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงใหม่  เครือข่ายที่อยู่อาศัยเมืองเชียงใหม่ เครือข่ายองค์กรชุมชนอำเภอดอยเต่า  สภาองค์กรชุมชนตำบลดอยเต่า  องค์การบริหารส่วนตำบลดอยเต่า  พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีพัฒนา  เช่น  กรมการปกครองอำเภอดอยเต่า  พอช.ภาคเหนือ  นิคมสร้างตนเองดอยเต่า  พร้อมทีม One Home พมจ.เชียงใหม่   ร่วมกันมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม  จำนวน 4 หมู่บ้าน  รวม 200 ครัวเรือน

 

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ จ.สุโขทัย

 

จังหวัดสุโขทัย  9 ตุลาคม   เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสุโขทัย  รวมพลคนจิตสาธารณะ ร่วมกันบรรจุถุงยังชีพช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบภัย  จำนวน 1,000 ชุด    ศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชนลูกพ่อขุนราม  จังหวัดสุโขทัย  ช่วงบ่ายลงมอบถุงยังชีพในพื้นที่  .ศรีสำโรง   .คีรีมาศ  และ .กงไกรลาศ  จำนวน 777 ชุด

 

เครือข่ายประชาชนจังหวัดพิจิตรช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

 

จังหวัดขอนแก่น  วันที่ 9 ตุลาคม  เครือข่ายภัยพิบัติภาคอีสาน  ร่วมกับ พอช. ส่งมอบความห่วงใยจากใจช่วยพี่น้องผู้เดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม  .พระบุ  .พระยืน  .ขอนแก่น

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ระหว่างวันที่​ 2-3​ ตุลาคม  คณะยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นจังหวัดพระนครศรี อยุธยาร่วมกับสำนักงานภาคกลางและตะวันตก พอช.   จัดทำถุงยังชีพจำนวน 600 ชุด  ใช้งบประมาณ 120,000 บาท   เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ 30 ตำบล  8 อำเภอ   เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระยะเร่งด่วน   ก่อนจะช่วยเหลือในช่วงต่อไป

 

คณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท  และ พอช.ช่วยเหลือชาวบ้านที่ จ.ชัยนาท

 

นอกจากนี้ขบวนองค์กรชุมชนในจังหวัดชัยนาท  สิงห์บุรี  ลพบุรี  และอ่างทอง  ร่วมกับ พอช. และ พมจ. กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อมอบอาหารและสิ่งของจำเป็นให้แก่ชาวบ้านที่ประสบภัยเพื่อช่วยเหลือเฉพาะหน้า  หลังจากนั้นจะสำรวจข้อมูลเพื่อให้ความช่วยเหลือภายหลังน้ำลด  เช่น  การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย  ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของการรวมกลุ่มชาวบ้าน  องค์กรภาคประชาชน   ที่รวมพลังให้ความช่วยเหลือกัน ถือเป็นการสร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม  เพื่อไม่ให้ผู้เดือดร้อน  ผู้ทุกข์ยาก  ต้องร่วงหล่นกระแทกพื้นโดยไม่มีอะไรมารองรับ !!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"