โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล เป็นโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการขาดแคลนน้ำในภาคอีสาน ด้วยคำกล่าวอ้างจากข้อมูลของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่กล่าวว่า “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ครอบคลุมพื้นที่ 103.5 ล้านไร่ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ ประกอบด้วย 20 จังหวัด มีประชากร 21.9 ล้านคน มีลุ่มน้ำหลักที่สำคัญ 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำโขงอีสาน ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล มีพื้นที่การเกษตร 63.85 ล้านไร่ แต่เป็นพื้นที่เกษตรชลประทานเพียง 8.69 ล้านไร่ (ร้อยละ 13.61 ของพื้นที่การเกษตร)
พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ยังอาศัยน้ำฝน ประชาชนประสบทั้งปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และปัญหาขาดแคลนน้ำอันเกิดจากฝนทิ้งช่วงในฤดูฝน และการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง แหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนมีน้อย เนื่องจากพื้นที่เป็นที่ราบสูงและมีลักษณะแบนราบ การนำน้ำมาใช้ส่วนใหญ่ต้องใช้การสูบน้ำจากแม่น้ำลำคลองเป็นหลัก ทำให้ผลผลิตข้าวนาปีในพื้นที่นาน้ำฝนต่ำกว่าผลผลิตในพื้นที่นาชลประทานถึง 1 ใน 3 (360 : 530 กก./ไร่)
เกษตรกรในภาคอีสานมีรายได้เฉลี่ยต่อปีต่ำที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรทั้งประเทศ (87,486 : 148,437 บาท/ครัวเรือน/ปี) มีคนยากจนมากถึง 1.93 ล้านคน (ร้อยละ 40 ของจำนวนคนยากจนทั้งประเทศ) นอกจากนี้ยังประสบปัญหาดินเค็ม 10.48 ล้านไร่ ซึ่งเป็นดินเค็มปานกลางถึงเค็มจัด 287,060 ไร่ (ร้อยละ 2.7) ส่วนที่เหลือเป็นดินเค็มน้อยถึงเค็มเล็กน้อย ซึ่งถ้ามีน้ำจะสามารถปลูกข้าวได้”
จากข้อมูลพื้นฐานนี้ กรมชลประทานได้มีการดำเนินการในการศึกษาโครงการ ศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งเป็นการศึกษาภาพรวมรูปแบบการพัฒนาโครงการเต็มศักยภาพ สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรเกือบทั้งหมดในลุ่มน้ำโขง ชี มูล และเนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูงมาก กรมชลประทานจึงแบ่งโครงการออกเป็น 5 ระยะ โดยได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง : การพัฒนาระยะที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2560
ในส่วนของภาคประชาชนนั้น การดำเนินการศึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นได้มีการคัดค้านของชาวบ้านมาตั้งแต่เริ่มแรก เนื่องจากโครงการดังกล่าวนั้นเป็นการต่อยอดจากการดำเนินโครงการโขง ชี มูล ที่ดำเนินการมาแต่เดิม เช่น โครงการเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา และเขื่อนต่างๆ ที่อยู่ในลุ่มน้ำชีและน้ำมูล จำนวน 14 เขื่อน ซึ่งในระยะเวลาเกือบ 30 ปี ที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของแม่น้ำและการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของตนเองกลับไม่ได้รับการเหลียวแลจากหน่วยงานรัฐอย่างทั่วถึง
ในหลายพื้นที่ของโครงการโขง ชี มูล เดิมชาวบ้านยังคงมีการเรียกร้องค่าชดเชยการสูญเสียที่ดินทำกิน และการเรียกร้องการแก้ไขปัญหาเยียวยาในปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็มที่จะมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น ปัญหาน้ำท่วมภาคอีสานอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ การไหลของแม่น้ำ ซึ่งเขื่อนเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหานี้
ปัญหาที่ผ่านมาของการดำเนินโครงการโขง ชี มูลเดิม คือ การขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งได้เกิดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งการที่มีการดำเนินการศึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จัดไปแล้วนั้นไม่ได้มีการปรับปรุงกระบวนการให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริงขึ้นมาเลย กระบวนการศึกษาที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงการจัดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม
โดยเฉพาะจัดในกลุ่มที่เห็นด้วยกับโครงการ และโดยส่วนมากนั้นเป็นกลุ่มผู้นำ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ที่จะต้องมีความเห็นในการรับโครงการอยู่แล้ว ในส่วนของกลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนกลับไม่ได้รับการเชิญเข้าร่วมเวทีดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านที่เคยได้รับผลกระทบจากโครงการโขง ชี มูลเดิม ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์โดยตรงจากผลกระทบจากโครงการกลับถูกกีดกันออกไป
จากการติดตามสถานการณ์ปัญหาของภาคประชาชน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ 2 ฉบับ จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงวันที่ 16 กันยายน 2564 แจ้งผลเรื่องการพิจารณารายงานโครงการบริหารจัดการน้ำโขงการโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงระยะที่ 1 ซึ่งคณะผู้ชำนาญการได้พิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ได้พิจารณารายงานเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 และมีมติให้ สทนช.และกรมชลประทานดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรายงานดังกล่าว และ สทนช.จะต้องจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามมติของ คชก. จนกว่าจะผ่านการพิจารณา
ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน เห็นว่ารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านยุทธศาสตร์ของโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการไปอย่างปราศจากกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงของประชาชนในลุ่มน้ำภาคอีสาน จึงทำให้รายงานนี้ไม่เข้าใจและไม่ได้กล่าวถึงมิตินิเวศวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ใช้งบประมาณจำนวนมากและมีผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนจำนวนมาก ดังนั้นการประเมินผลกระทบควรคำนึงถึงและให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง
ดังนั้นข้อเรียกร้องของภาคประชาชนจากหลายองค์กรได้มีข้อเรียกร้อง คือ 1.คณะกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติควรมีการทบทวนโครงการโขง ชี มูล เดิม ว่ามีปัญหาที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างไร 2.ควรให้มีการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ดำเนินการโครงการ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในโครงการ รับทราบปัญหา หาแนวทางแก้ไขปัญหาและตัดสินใจร่วมกันในการดำเนินโครงการ.
สุวิทย์ กุหลาบวงษ์
ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง อีสาน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |