‘อดีตปลัดคลัง’สับยับโควิดผุดจุดอ่อนไทยเหลื่อมล้ำหนัก


เพิ่มเพื่อน    

 

18 ต.ค. 2564 นายสมชัย สัจจพงษ์ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะอดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในงานครบรอบวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง “ก้าวข้าม COVID-19 สู่วิถี Endemic” หัวข้อสัมมนา “เพิ่มมุมคิด เติมมุมมอง ก้าวข้ามวิกฤติ COVID-19” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือว่าส่งผลกระทบรุนแรงมากที่สุดทั้งในแง่ชีวิต เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนไทย สร้างแผลเป็นให้กับระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ขณะเดียวกันวิกฤติโควิด-19 ก็ยังชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของไทยที่มีมากมาย เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากขึ้นในหลายมิติ ทั้งด้านรายได้ เศรษฐกิจ สังคม ระบบการช่วยเหลือทางสังคมที่อ่อนแอ ไม่ทั่วถึง ปัญหาของความสามารถและสมรรถภาพของภาครัฐในการบริหารจัดการแบบองค์รวมที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้ ทั้งหมดถือเป็นความท้าทาย เป็นจุดทดสอบสำคัญให้กับภาครัฐในการจัดการวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

ทั้งนี้ มองว่ามีความท้าทายจำนวนมากที่ทั้งภาครัฐและกระทรวงการคลัง ต้องเข้าใจและรู้ให้เท่าทัน ครบถ้วน เพื่อหาวิธีและมาตรการในการแก้ไขความท้าทายที่เกิดขึ้นแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่แบบผักชีโรยหน้า อาทิ ความท้าทายในการช่วยเหลือคนตกงานจำนวนมากในช่วงที่เกิดการระบาดให้สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้ง โดยรัฐ และกระทรวงการคลัง รวมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเสนอแนะแนวทางในการพัฒนา สร้างงานในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานในส่วนนี้ จะทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ไม่ใช่คิดจากส่วนกลางออกไปเพียงอย่างเดียว

“การแจกเงินไม่ใช่สูตรสำเร็จเดียวที่ทำได้ การแจกเงินเหมือนการยิงปืน แต่สิ่งที่รัฐบาลพลาดไปคือยิงปืนแล้วได้นกตัวเดียว แต่สิ่งที่อาจจะต้องทำเพิ่มคือทำอย่างไรให้การยิงปืนแล้วได้นก 2 ตัว นั่นคือ อาจจะต้องบวกเงื่อนไขเพิ่มเติมเข้าไปกับการแจกเงินเพื่อให้นโยบายตอบสนองเป้าหมายทางเศรษฐกิจได้เพิ่มมากขึ้น เช่น การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ผ่านการอบรมเพิ่มทักษะต่าง ๆ อาจจะเป็นการอบรมแบบออนไลน์ก็ได้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีเลย มีเพียงการแจกเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ต่ำลงเท่านั้น” นายสมชัย กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายว่า ทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีหรือคนตัวเล็กที่กำลังประสบปัญหา สามารถกลับมาทำธุรกิจได้เหมือนเดิมในยุค New Normal แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาล กระทรวงการคลัง และ ธปท. จะผลักดันโครงการสินเชื่อต่าง ๆ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องเงื่อนไข ข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อความแข็งแกร่งของระบบการเงิน จนทำให้ผู้ประกอบการหลายส่วนเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ หรือสินเชื่อดังกล่าว ขณะเดียวกันในช่วงที่มีวิกฤติกลับพบว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังมีกำไรหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้นอาจถึงจุดที่สถาบันการเงินควรมีบทบาทมากกว่านี้ในการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ส่วน ธปท. ต้องกลับไปดูว่าทำนโยบายการเงินบทบริบทใหม่ได้หรือไม่ เครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ มีหรือไม่ หรือที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้หรือใหม่ สิ่งที่นโยบายการเงินต้องทำในภาวะนี้คือ ต้องนอกกรอบ เครื่องมือทางการเงินต้องมีนวัตกรรม

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ความท้าทายในเรื่องหนี้สาธารณะ ก็เป็นประเด็นสำคัญ ที่ผ่านมารัฐบาลยืนยันว่าไม่เคยทำผิดวินัยการคลัง เพราะทุกครั้งที่รู้ว่าจะทำผิดก็ขอขยาย ดังนั้นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการคลังภาครัฐจะมีไว้ทำไม แต่มันต้องมีวิธีที่ดีกว่านี้ เช่น กำหนดเป็นช่วงได้หรือไม่ แล้วหากหนี้สาธารณะจะเกินจะมีวิธีทำให้สัดส่วนหนี้ลดต่ำได้ในช่วงเวลาไหน ด้วยวิธีอะไร และรัฐบาลจะหาเงินมาเพิ่มได้อย่างไร ไม่ใช่พอรู้ว่าหนี้สาธารณะจะเกิดก็มาขอแก้ แบบนี้วินัยการคลังไม่มีประโยชน์ และยังทำให้ประสิทธิผลของความน่าเชื่อถือของ พ.ร.บ.วินัยการคลังภาครัฐไร้ประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน ความท้าทายเรื่องหนี้ภาคประชาชนก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งทบทวน ทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ ไม่ใช่แค่การปรับโครงสร้างหนี้ ขยายเวลา ลดดอกเบี้ย แต่ต้องเข้าใจตรรกะของการแก้ไขปัญหาหนี้ คือ การสร้างให้ประชาชนมีพลังในการหารายได้มาชำระหนี้ ตรงนี้เป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุด ต้องมีมาตรการเสริม มาตรการสร้างงาน สร้างรายได้ รวมทั้งกระทรวงการคลังอาจต้องทบทวนแผนการแก้ไขหนี้นอกระบบที่เคยทำมา แม้ว่าจะไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นแนวทางในการระดมสมองและความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหนี้ได้ดีที่สุดแล้ว

“ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้คนเปราะบาง คนฐานรากหลุดพ้นจากความยากจน เพราะโควิด-19 กระทบกลุ่มนี้มากที่สุด อยากเตือนกระทรวงการคลัง และ สศค. เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 และประกาศชัดเจนว่าผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะต้องลดลงเรื่อย ๆ นั่นหมายถึงคนจนจะหมดจากประเทศไทย ไม่ใช่การทำงานแค่เปิดลงทะเบียนแล้วจ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือโครงการคนละครึ่งแล้วจบ อย่าดีใจว่าจะมีการรับสมัครอีก แต่ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มีคนถือบัตรสวัสดิการเพิ่มขึ้นในอนาคต” นายสมชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี ความท้าทายสุดท้ายของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ การเร่งสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายใน เน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพราะในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้รายได้สำคัญของประเทศไทยหายไปอย่างมาก นั่นคือ รายได้จากการท่องเที่ยว และส่งออก สะท้อนว่าไทยพึ่งพาต่างประเทศมากเกินไป ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ได้หมายความว่าให้เลิกพึ่งพาต่างประเทศ แต่อยากให้พิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลในการพึ่งพิงต่างประเทศ กับการพึ่งพิงการเติบโตจากภายใน

นายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. นี้ ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการคืนกลับสู่ภาวะเศรษฐกิจไทยแบบปกติ แต่เป็นปกติแบบใหม่ (New Normal) มองว่าเป็นการตัดสินใจที่รอบของของรัฐบาล ที่ผ่านกระบวนการพิจารณาร่วมของคณะแพทย์อาวุโสที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาร่วมกันตัดสินใจ ถือเป็นจุดแข็งของไทยที่รัฐบาลยอมให้ผู้มีความรู้ความสามารถมาร่วมดำเนินการ

“ประเทศไทยกำลังทำสงครามกับเชื้อโรค การที่รัฐบาลยอมให้หมอที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นกำลังหลักในการร่วมตัดสินใจ มีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ ตรงนี้เป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของประเทศที่มีความยืดหยุ่น เพราะกระบวนการทางการเมืองปกติที่ผ่านมาไม่สามารถเปิดให้หมอเข้ามา ซึ่งจะทำให้ขาดกำลังสำคัญขาดสมองสำคัญไป” นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดจากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 ไปแล้ว โดยอยู่ในระยะของการฟื้นตัว ซึ่งภาคเศรษฐกิจทั้งไทยและในหลายประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบเหมือนกัน โดยเฉพาะในภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าในช่วง 2 ปีที่โควิด-19 ระบาดนั้น โครงสร้างหรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยค่อนข้างยืดหยุ่น และมีหลักประกัน ทำให้รากฐานทางเศรษฐกิจของไทยไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรง ยังอยู่ได้ สะท้อนจากฐานะทางการคลังของไทยที่ัยังอยู่ในสภาพที่ดี หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำมาก โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ต่างประเทศที่เกิดจากการกู้เงินเพื่อใช้เยียวยาและบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้ต้องมีการขยายเพดานหนี้ แต่ก็เพราะที่ผ่านมารัฐบาลตั้งเพดานหนี้ไว้ไม่สูงด้วย

ด้านการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการดูแลระบบการเงินไว้ดีมาก แม้ว่าจะมีปัญหาหนี้เพิ่มขึ้น แต่ระบบสถาบันการเงินก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สถานะมั่นคง สภาพคล่องในระบบสูง ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 2 แสนกว่าล้านบาท แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จากผลกระทบของภาคการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลต้องพิจารณาเรื่องนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"