วันที่ 18 ต.ค. ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำอุทกภัยเพื่อป้องกันความเสียหายเรือพระที่นั่งที่ใช้ในขบวนพยหุยาตราทางชลมารค และติดตามการปรับปรุงอาคารจัดแสดงเรือพระราชพิธีถาวรว่า สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้จัดทำแผนปฏิบัติการและมาตรการรับมือลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติ โดยร่วมกับกรมอู่ทหารเรือ กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ และสำนักงานเขตบางกอกน้อยจัดแผนปฏิบัติการรับมืออุทกภัยน้ำขึ้น-น้ำลงระหว่างเดือน ต.ค.- ธ.ค.ของทุกปี แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 1.แผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน และ 2.แผนการเคลื่อนย้ายหากปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ที่กำหนด โดยช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาและน้ำทะเลหนุนสูงจึงปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน โดยยกระดับท้องเรือ ซึ่งสามารถยึดได้อีก 40 ซม. โดยใช้สายโฟลีเอสเตอร์ที่มีความยืดหยุ่นรองรับผลกระทบต่อตัวโครงสร้างเรือกรณียึดโยงเรือไม่ให้ลอยไปกับน้ำ คาดว่า ในเดือน ต.ค.นี้ น้ำจะสูงสุดอยู่ที่ 3.1 เมตร ส่วนเดือน พ.ย. จะสูงสุด 3.3 เมตร หากมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนเพิ่มเติมน้ำอาจเกินกาบเรือ แต่หากเกินเรือพระราชพิธีทุกลำจะมีวาวน์สำหรับระบายน้ำได้
นายอิทธิพล กล่าวว่า สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ นอกจากจะติดตามการรับมือน้ำท่วมแล้ว ยังได้หารือกับกรมอู่ทหารเรือเกี่ยวกับการปรับปรุงอาคารจัดแสดงเรือพระราชพิธีถาวร โดยเร่งรัดให้กรมศิลปากรออกแบบรายละเอียดโครงสร้างให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ของปี 2565 เพื่อของบกลางกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน โดยจะมีการปรับปรุงตัวอาคาร จัดทำระบบป้องกันอัคคีภัย เนื่องจากโดยรอบเป็นพื้นที่ชุมชนและโครงสร้างเดิมไม่มีระบบอัคคีภัยรองรับ รวมถึงการจัดระบบอัตโนมัติการเคลื่อนย้ายเรือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหากต้องมีการเคลื่อนย้ายเรือ รวมทั้งยังมีการจัดเก็บข้อมูลลวดลายเป็นระบบ 3 มิติ เบื้องต้นในปี 2565 ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการจัดระบบดักจับสิ่งปฏิกูล ส่วนปี 2566 จะเสนอของบประมาณกว่า 350 ล้านบาท
“ ขณะนี้ยังไม่มีการพยากรณ์ว่า น้ำปีนี้จะสูงเท่ากับปี 54 แต่จากประสบการณ์ที่เคยมีจึงต้องเตรียมแผนป้องกันทุกด้าน ทั้งเรื่องปริมาณน้ำและแรงกระทบของคลื่น หากมีการเปิดการท่องเที่ยวได้ตามเดิม คลองบางกอกน้อยจะมีการสัญจรทางเรือมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงโครงสร้างถาวรนี้นับว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากเรือพระราชพิธีมีอายุหลายร้อยปี ถือเป็นสมบัติของชาติที่ประเมินค่าไม่ได้ โดยเฉพาะกรณีการเกิดอัคคีภัย ซึ่งต้องมีระบบอัตโนมัติรองรับ หากต้องมีการอพยพฉุกเฉิน โดยตัวโครงสร้างจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายเรือ และต้องใช้ระยะเวลาเคลื่อนย้ายโดยเร็วที่สุด” นายอิทธิพล กล่าว