'คลัง' ยันรัฐจำเป็นกู้ 1.5 ล้านล้าน!เพื่อพยุงเศรษฐกิจ


เพิ่มเพื่อน    

18 ต.ค.2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาในงานครบรอบวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ปีที่ 60 “ก้าวข้าม COVID-19 สู่วิถี Endemic” ในหัวข้อ นโยบายเศรษฐกิจจาก Pandemic สู่ Endemic ว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งระบบเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็น 12% ของจีดีพีไทย คิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 2 ล้านล้านบาท ซึ่งรายได้ตรงนี้ของไทยหายไป กระทบความเป็นอยู่ของประชาชน ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ภาคการเกษตรและภาคขนส่ง เศรษฐกิจฐานราก รากหญ้า ได้รับผลกระทบทั้งหมดเป็นห่วงโซ่อุปทาน

ทั้งนี้ ในหลายประเทศเริ่มมองหาวิธีว่าจะอยู่กับโควิด-19 อย่างไร ในขณะที่เศรษฐกิจก็ยังต้องเดินหน้าต่อไปด้วย โดยในส่วนของประเทศไทย ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บทบาทของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะรัฐบาลต้องใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันที โดยเงินที่จะใช้ดังกล่าวมาจากการใช้นโยบายการคลัง ผ่านการกู้เงิน ส่วนนโยบายการเงินในภาวะวิกฤติเช่นนี้ก็ต้องหยุดทำหน้าที่ช่วงหนึ่งเพื่อให้นโยบายการคลังสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

“ถามว่าจะใช้จ่ายเงินแบบนี้ไปนานแค่ไหน ก็คงขึ้นอยู่กับโควิด-19 ด้วยว่าจะอยู่กับเราไปนานหรือไม่ ถ้าอยู่นานเกินไป โดยที่เศรษฐกิจไม่สามารถเปิดให้ทุกคนทำธุรกิจ หรือทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เลย ต้นทุนทางเศรษฐกิจก็จะสูงขึ้นเป็นธรรมดา ดังนั้นในหลายมิติต้องทำงานควบคู่กันไป ทั้งด้านสาธารณะสุข ที่ต้องใช้วิธีป้องกัน ฉีดวัคซีน ตรวจหาเชื้อเพื่อระงับการระบาด แต่ในเวลาเดียวกันหากสามารถจำกัดการแพร่ระบาดได้ ต้นทุนทางเศรษฐกิจก็จะน้อยลง และเปิดให้ธุรกิจดำเนินไปได้ การจ้างงานก็จะกลับมา” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาหลายประเทศมีการใช้จ่ายเงินอย่างมหาศาล โดยไทยมีการกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 รวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เป็นการกู้เงินที่มากกว่าปกติ ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 60% ต่อจีดีพี ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลหากมีเหตุการณ์ยืดเยื้อต้องใช้เงิน กระทรวงการคลังก็สามารถกู้เงินให้รัฐบาลใช้เพื่อวัตถุประสงค์ของการป้องกัน ระงับการแพร่ระบาด และฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ได้

โดยมองว่า ในภาวะวิกฤติสิ่งสำคัญ คือ นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องประสานกัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ ใน 3 ระดับ คือ 1. ภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจระดับมหภาค ซึ่งเป็นบทบาทโดยตรงของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง 2. ภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจระดับหน่วยธุรกิจ คือภาคเอกชน โดยต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้เอกชนที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังอยู่รอดปลอดภัย มีภูมิคุ้มกันไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไรก็ตาม และ 3. ภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจระดับประชาชน ที่เมื่อได้รับผลกระทบ ประชาชนยังมีรายได้เพียงพอประทังชีวิตในระดับหนึ่ง นอกเหนือจากการช่วยเหลือของภาครัฐ

ทั้ง 3 ระดับภูมิคุ้มกัน โยงมาถึงปริมาณการใช้จ่ายของภาครัฐ สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือ วิธีการหารายได้ของรัฐ ซึ่งจะมาจากการปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ ที่ต้องคิดเรื่องนี้ว่าจะมีวิธีการอย่างไรให้ระดับรายได้ของรัฐมีความมั่นคง ทรัพยากรของรัฐต้องเพียงพอสำหรับอนาคต ขณะที่ภาครัฐและภาคธุรกิจต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เข้าสู่ยุคปกติที่ไม่ปกติ ดังนั้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญ การดึงเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากขึ้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการทำธุรกิจแบบเดิมคงไม่ได้

นอกจากนี้ ต้องปรับตัวเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ การสนับสนุนธุรกิจที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งการปรับโครงสร้างประชากร เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยในอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุพุ่งขึ้น 20-24% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นการลงทุนด้านการแพทย์ สาธารณสุข สุขภาพอนามัยเพื่อความยืนยาวของชีวิต การดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงการสร้างการเติบโตผ่านเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ ๆ ได้แก่ การสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป ทุกหน่วยงานต้องเข้ามาช่วยกันในเรื่องนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกระดับมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะมั่นคงเพียงพอในการรับมือกับวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ทั้งโควิด-19 วิกฤติการเงิน หรือวิกฤติจากภัยธรรมชาติในอนาคต
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"