นายกฯตั้ง‘ณัฐพล’คุมแก้โควิดใต้


เพิ่มเพื่อน    

ไทยติดเชื้อใหม่ 10,863   ราย เสียชีวิต 68 ราย "บิ๊กตู่" เซ็นคำสั่งตั้ง "พล.อ.ณัฐพล" บัญชาการ "ศปค.ส่วนหน้า" แก้โควิดชายแดนใต้ นายกฯ ปลื้มทุกภาคส่วนขานรับเปิดประเทศ พอใจฉีดวัคซีนได้ตามเป้า มั่นใจเศรษฐกิจกลับมาพลิกฟื้นได้แน่ ขณะที่สวนดุสิตโพลเผยประชาชน 60% ยังไม่พร้อมเปิดประเทศ เมืองคอนหนักป่วยพุ่ง 618 ราย สงขลายังวิกฤต 650 คน
    เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,863 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 10,792 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 10,181 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 611 ราย,  จากเรือนจำและที่ต้องขัง 64 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย ผู้รักษาหายป่วยเพิ่ม 10,383 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 107,790 ราย อาการหนัก 2,820 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 658 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 68 ราย เป็นชาย 39 ราย หญิง 29 ราย เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 53 ราย มีโรคเรื้อรัง 13 ราย จำนวนนี้เป็นเด็ก 1 ราย อายุ 8 ขวบ ชาวกัมพูชา ที่จ.สระแก้ว ผู้เสียชีวิตมากที่สุดใน กทม.  12 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 1,783,701 ราย ยอดรวมหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 1,657,638 ราย ขณะยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 18,273 ราย 
    สำหรับการฉีดวัคซีนวันที่ 16 ต.ค. 1,063,719 โดส ฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 65,202,741 โดส สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 1,065 ราย, ยะลา 727 ราย, สงขลา 650 ราย,  ปัตตานี 647 ราย, นครศรีธรรมราช 519 ราย, นราธิวาส 468 ราย, ชลบุรี 389 ราย,  เชียงใหม่ 360 ราย, ระยอง 346 ราย และสมุทรปราการ 343 ราย 
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงประกาศเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว สำหรับผู้เดินทางเข้าไทยโดยทางอากาศที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว จากประเทศความเสี่ยงต่ำ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. นี้  ซึ่งสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ปลดล็อกให้มีจํานวนผู้โดยสารได้ตามความจุของเครื่องบินตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศยังทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเร่งจัดทำเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน โดยวางแผนใช้ทดแทนการอนุมัติ Certification of Entry (COE) ให้ได้ภายในวันที่ 1 พ.ย. เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศไทย
    นอกจากนี้ โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยมีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเฟส 3 กว่า 6 แสนราย ผู้ประกอบการ 2,249 ราย ทำให้ยอดสะสมโครงการเฟส 1-3 กว่า 8.8 ล้านคน มูลค่าสะสมรวมกว่า 1,162.4 ล้านบาท และยอดจองห้องพักสะสมรวมจำนวนทั้งสิ้น 120,328 ห้อง   
    “ท่านนายกฯ ยังประกาศผนึกกำลังภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมกันเตรียมพร้อมมาตรการรองรับการเปิดประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถที่ได้เปิดประเทศอย่างปลอดภัย พร้อมต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว ควบคู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะพลิกฟื้นและกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งระบบ” นายธนกรระบุ
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายกฯ พอใจภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดย สธ.รายงานข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-16 ต.ค.2564 ยอดสะสมทั้งประเทศอยู่ที่ 65  ล้านโดสแล้ว แบ่งเป็นเข็มที่ 1 ฉีดสะสมจำนวน 37,609,600 ราย คิดเป็นร้อยละ 51 ของประชากร, เข็มที่ 2 ฉีดสะสมจำนวน 26,007,497ราย คิดเป็นร้อยละ 35 ของประชากร และเข็มที่ 3 ฉีดสะสม จำนวน 1.8 ล้านราย รัฐบาลมั่นใจว่าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนทั้งประเทศได้ตามเป้าหมายที่กำหนดคือ 100 ล้านโดส ครอบคลุมคนไทยจำนวน 50 ล้านคน คิดเป็น 70% ของจำนวนประชากร ภายในปี 2564 ได้สำเร็จ
    สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “เปิดประเทศ 1 พ.ย.64” กลุ่มตัวอย่าง 1,392 คน ระหว่างวันที่ 11-14 ต.ค.2564 พบว่า ประชาชนมองว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว ร้อยละ 60.10 ปัจจัยที่จะทำให้เปิดประเทศได้คือต้องฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนได้เกิน 70% ร้อยละ 74.78 และมองว่าข้อจำกัดคือประชาชนยังไม่ได้รับวัคซีนครบถ้วน ร้อยละ 71.60 ผลดีของการเปิดประเทศคือกระตุ้นเศรษฐกิจ ร้อยละ 77.29 ผลเสียคืออาจเกิดการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 83.43 และภาพรวมประชาชนไม่เห็นด้วยกับการเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 ร้อยละ 59.86
    นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล กล่าวว่า จากผลการสำรวจเมื่อพิจารณากลุ่มตัวอย่างจำแนกรายอาชีพ พบว่า กลุ่มอาชีพประกอบธุรกิจเห็นด้วยกับการเปิดประเทศมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มรับจ้าง/ลูกจ้าง ถึงแม้ว่าจะกังวลเรื่องการติดเชื้อใหม่ แต่ก็คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเกิดการจ้างงานมากขึ้น สร้างความหวังที่จะลืมตาอ้าปากได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีมาตรการรองรับที่ชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั้งด้านสุขภาพและการฟื้นฟูเศรษฐกิจไปพร้อมๆ 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก ศบค.ประกาศยกระดับจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดนครศรีธรรมราชรายงานสถานการณ์ว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 618 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 23,602 ราย รักษาหายแล้วสะสม 16,504 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 8 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 154 ราย นอกจากนี้ พบว่าโรงพยาบาลมหาราช ทั้งตึกอุบัติเหตุและตึกอื่นๆ มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อกว่า 30 ราย ซึ่งทุกคนนำเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว และประกาศปิดการให้บริการคลินิกเฉพาะทางนอกเวลาราชการ อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มเสี่ยงจากบุคลากรทางการแพทย์อีกนับน้อยคนที่ทางเจ้าหน้าที่เร่งสอบสวนโรคและเข้าสู่กระบวนการกักตัว ทำให้คนไข้และญาติคนไข้หวาดผวาอย่างหนัก เพราะหลายคนต้องถูกกักตัวไปด้วย ไม่สามารถกลับบ้านได้
    ที่ จ.สงขลา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 650 คน ไม่รวมผู้ติดเชื้อในเรือนจำและจากต่างประเทศ รวมยอดสะสม 38,783 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน เสียชีวิตสะสม 172 คน ทั้งนี้ สถิติย้อนหลัง 7 วัน ผู้ติดเชื้อเพิ่มเฉลี่ยวันละ 400-600 คน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง
    ที่ จ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 314 ราย ทั้งนี้ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เป็นประธานการประชุมในการควบคุมโควิด-19 จากคลัสเตอร์ตลาดเมืองใหม่ที่อาจลุกลามไปยังชุมชนรอบข้างและอำเภอรายรอบ หลังมีการติดเชื้อ​พุ่งสูงกว่า 1,000 ราย ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าการจัดการกับ “สะเก็ดไฟ” โดยให้มีการสุ่มตรวจในทุกชุมชน หากพบผู้เสี่ยงสูงให้ออกคำสั่งกักตัวทุกคน​ แล้วนำตัวเข้าสู่มาตรการในการควบคุม และจะปูพรหมตรวจด้วย ATK อีกครั้งในวันที่ 21 ต.ค.นี้ 1,500 ชุด รวมทั้งจัดสรรวัคซีนในตลาดเมืองใหม่อีก 4,000 โดส
    วันเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 21/2564 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เรื่องจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ศบค.ส่วนหน้า” โดยให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ มีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทางการบูรณาการ ประสานงาน ขับเคลื่อน เร่งรัดและติดตามการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คลี่คลายโดยเร็ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.2564 เป็นต้นไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"