เศรษฐกิจไทยมีการชะลอตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน หลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ส่งผลโดยตรงกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สะท้อนอย่างเห็นได้ชัดจากปัญหาการว่างงาน การปิดกิจการเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อ “รายได้ของภาคครัวเรือน” ให้ชะลอตัวลง
ขณะที่รายจ่ายและหนี้สินต่างๆ ของครัวเรือนยังเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รออยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาหลายส่วนจะมีการออกมาตรการช่วยเหลือแต่ก็เป็นเพียงการประคองให้ผ่านช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เหล่านี้ถือเป็นความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนไทยที่สะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นี้
โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ครั้งที่ 6/2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลงมากในไตรมาส 3/2564 จากการระบาดของโควิด-19 ในไทยที่รุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงมากในช่วงต้นไตรมาสดังกล่าว ก่อนจะกลับมาฟื้นตัวได้บ้างหลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด
ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ ฐานะทางการเงินภาคครัวเรือนเปราะบางมากขึ้นจากหนี้ที่อยู่ในระดับสูง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ระดับ 89.3% ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 นั้น แม้ว่าจะปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าแต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยหนี้ครัวเรือนจะเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมต่อการฟื้นตัวของการบริโภคและเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนยังเผชิญความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จึงต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่ทำงานในภาคบริการและครัวเรือนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ
ด้าน “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) ระบุถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันว่า ยังอยู่ในภาวะที่เปราะบาง จากสัดส่วนหนี้เพื่อการบริโภคที่สูงขึ้น จึงเป็นปัญหากระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยมีการคาดการณ์ว่าระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจจะเพิ่มขึ้นไปถึง 93% ในช่วงสิ้นปี 2564 นี้
ส่วนสาเหตุที่หนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีเร่งตัวขึ้นเร็วในช่วงวิกฤตนี้ มาจาก 1.ความจำเป็นในการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากการขาดหรือมีสภาพคล่องในครัวเรือนไม่เพียงพอกับรายจ่าย หลังจากที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติในช่วงล็อกดาวน์ การถูกปรับลดเงินเดือนบางส่วนลง รวมถึงการถูกเลิกจ้าง และ 2.รายได้ที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับหนี้ที่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนไทย ณ ต้นปีที่ผ่านมา ขยายตัวที่ระดับ 4.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซบเซา
“หลายประเทศก็ประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ครัวเรือนด้วยเช่นกัน ทั้งเกาหลีใต้ มาเลเซีย ขณะที่ไทยมีปริมาณหนี้ครัวเรือนอยู่อันดับที่ 17 ของโลก ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ซึ่งอยู่อันดับที่ 9 และมาเลเซียอันดับที่ 14 แต่หนี้ครัวเรือนไทยก็ยังสูงกว่าหนี้ครัวเรือนของสิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับที่ 26 ของโลก จึงเห็นได้ว่านอกจากหนี้ครัวเรือนไทยและประเทศเพื่อนบ้านจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังมีปริมาณภาระหนี้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย ดังนั้นการบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งจำเป็น”
ด้าน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยจะกลับมาเร่งสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2564 โดยคาดว่าอาจจะขยับเข้าใกล้กรอบบนของตัวเลขประมาณการหนี้ครัวเรือน ที่ช่วงคาดการณ์ 90-92% ต่อจีดีพี เนื่องจากหนี้สินภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และครัวเรือนบางส่วนอาจก่อหนี้เพิ่มในช่วงต้นไตรมาส 3/2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดรุนแรง โดยสะท้อนจากการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน
อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามแนวทางการช่วยเหลือและการแก้ปัญหาความเปราะบางของภาวะหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังมีทิศทางปรับสูงขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพราะหากไม่เร่งแก้ไขสุดท้ายอาจจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่กระทบการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว.
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |