เริ่มต้นสัปดาห์นี้...คงต้องขออนุญาตไปว่ากันเรื่อง “พระๆ” ก็แล้วกัน ไหนๆ ก็ออกอาการธรรมะ-ธัมโม มานานพอสมควรแล้ว จะด้วยเหตุเพราะความ “บาปหนา” จนต้องหันหน้าเข้าวัด หรือวิ่งหนีเข้าวัด ในช่วงยามแก่ ยามชรา ก็ตามที แต่เอาเป็นว่าหลังๆ นี้...ข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องพระ-เรื่องเจ้า ไม่ว่าจะออกไปทางตลกโปกฮา หรือหนักไปทางเคร่งเครียด-ซีเรียส ชนิดทำท่าว่าถึงกับคิดจะก่อเหตุ ก่อการณ์ เข้าชื่อ ล่ารายชื่อ แบบหวิดๆ อาจเข้าทางเท้า-เข้าทางตีน ของพวก “ทะลุแก๊ส-ทะลุฟ้า” ยิ่งเข้าไปทุกที การหยิบเอาเรื่อง “พระๆ” มาพูดจาว่ากล่าวเอาไว้มั่ง จึงอาจถือเป็นสิ่งที่น่าจะเหมาะ น่าจะสมควรต่อกรณี อยู่ตามสมควร...
-------------------------------------------------
คือเรื่องของพระ ของเจ้านั้น...คงต้องยอมรับอย่างมิอาจปฏิเสธได้เลยว่า นับตั้งแต่กว่า 200 ปีที่แล้ว หรือตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสิน พระเจ้ากรุงธนบุรีโน่นเลย เป็นอะไรที่ต้องควบคุมดูแล ต้อง “ปกครอง” อย่างชนิดเข้มงวดมิใช่น้อย ถึงขั้นต้องจัดให้มีการ “ดำน้ำ” พิสูจน์ตัวเอง พิสูจน์ศีล พิสูจน์ธรรม ไปตามแบบฉบับ หรือตามสภาพของเมื่อครั้งอดีต ใครดำได้อึด ได้ทน ผ่านมาตรฐานที่พระเจ้าตากสินท่านทรงกำหนดเอาไว้ ก็อาจได้รับพระราชทาน “ผ้าไตร” ได้บวชต่อ ได้สืบสานพระพุทธศาสนา ตามแบบฉบับพระสงฆ์ทั้งหลาย แต่ถ้าใครอึดไม่ไหว ทนไม่ไหว ก็อาจถูก “จับสึก” เอาดื้อๆ!!! ถูกเสือกไสไล่ส่งจากบวรพระศาสนา หรือเผลอๆ...อาจถูกเฆี่ยน ถูกตี ถูก “ลงโทษ” ไม่ให้มาข้องแวะกับเรื่องศีล เรื่องธรรม ต่อไปอีก...
---------------------------------------------------
เหตุที่ต้องมี “มาตรการ” ทำนองนี้ ไว้ในยุคนั้น สมัยนั้น...ก็คงไม่มีอะไรมากกว่าความ “เละเป็นขี้-เละเป็นโจ๊ก” ของวงการพระที่แทบไม่ต่างอะไรไปจากแวดวงฆราวาสเช่นกัน คือถึงขั้นระดับพระสังฆาธิการหันไปช่วยพม่า หันมาเล่นงานคนไทยด้วยกันเอง ชี้ช่อง ชี้หนทางยึดทรัพย์ ริบทรัพย์ หรืออะไรต่อมิอะไรต่างๆ หรือเกิดสภาพอย่างที่ “สมเด็จพระเทพฯ” ท่านได้ทรงพระราชนิพนธ์ เอาไว้ในงานวิชาการเรื่อง “บันทึกการปกครองของไทย-สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์” ตั้งแต่ 20 กว่าปีที่แล้ว หรือตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2540 โน่นเลย...
------------------------------------------------------
ประมาณว่า... “ภายหลังสมัยอยุธยาพม่าเข้าตี พระสงฆ์วุ่นวายมากอ่อนวินัยมานานแล้ว” ดังนั้น...แม้ว่า “ตามหลักปฏิบัติของพุทธศาสนานั้น ฆราวาสจะปกครองสงฆ์ไม่ได้ พระสงฆ์ต้องปกครองกันเองและถือพระวินัยเป็นกฎหมาย แต่มีข้อเสียอยู่ที่ว่าในการปกครองทั่วไป กฎหมายที่มีประสิทธิภาพจะต้องมีบทลงโทษ (Sanction) แม้ว่าในพระวินัยจะบัญญัติโทษไว้ เช่น ให้พระสงฆ์ที่ประพฤติผิดวินัยร้ายแรง ขาดจากภิกขุภาวะ แต่โทษในพระวินัยก็ไม่หนักพอที่จะให้เกิดความหลาบจำ และถ้าต้องปาราชิกแล้ว แต่พระไม่ยอมสึก ทางคณะสงฆ์ก็ทำอะไรไม่ได้ ทำให้พุทธศาสนาต้องเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น...อำนาจของพระมหากษัตริย์จึงต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปกครองสงฆ์”...
--------------------------------------------------
นี่...ต้องเรียกว่าตั้งแต่ยุคนั้น สมัยนั้น มาแล้ว ที่ทำให้ผู้ที่คิดฟื้นฟู บูรณะบ้านเมือง อย่างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ท่านเลยหนีไม่พ้นที่จะต้องทรงจัดให้มีการ “ดำน้ำ” พิสูจน์ตนเอง ของพวกพระๆ กันไปเป็นรายๆ ไม่ต่างไปจากยุคต่อมาหรือในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงป่าวประกาศไว้แบบเสียงดัง-ฟังชัด ประมาณว่า “ตั้งใจจะอุปถัมภก-ยอยกพระพุทธศาสนา-จะป้องกันขอบขัณฑสีมา-รักษาประชาชนและมนตรี” ดังที่ “สมเด็จพระเทพฯ” ท่านระบุเอาไว้ในพระราชนิพนธ์ด้วยข้อเขียนประโยคที่ว่า...“มาถึงแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงจัดระเบียบการปกครองสงฆ์เสียใหม่ ออกกฎพระสงฆ์ ใช้พระราชอำนาจปกครอง ทรงเอาพระทั้งหมดมาขึ้นกับกรมธรรมการ ก่อนขึ้นกับกรมสังฆการี แต่เดิมเมื่อเกิดอธิกรณ์ตามพระวินัยให้สงฆ์พิจารณากันเอง ในสมัยรัตนโกสินทร์เลิกหลักการนี้ ยกมาให้กรมสังฆการีพิจารณา มีเจ้าหน้าที่ต่างๆ เช่น ขุนอธิกรณ์วิจัย หลวงวินัยวิจารณ์ ฯลฯ กรมนี้...ขู่พระ ดุพระได้...”
----------------------------------------------------
คือสำหรับการฟื้นฟู บูรณะบ้านเมืองแล้ว...สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องถือเป็นความ “จำเป็น” อย่างมิอาจปฏิเสธและหลีกเลี่ยงได้ ด้วยเหตุเพราะ “พระศาสนา” กับ “พระมหากษัตริย์” นั้น ไม่เพียงแต่มีความเกี่ยวข้อง ผูกพัน ยึดโยงซึ่งกันและกันมาโดยตลอด ยังมี “ปฏิสัมพันธ์” กับความสุข ความสงบ ความร่มเย็น ในสังคมนั้นๆ บ้านเมืองนั้นๆ อย่างมิอาจแยกออกจากกันได้เลย หรือโดยคุณค่าทางศีลธรรมในศาสนา กับความเป็นพระราชา อันมีความหมายถึงผู้ที่ทำความอิ่มใจ สุขใจ ให้แก่ผู้อื่น ย่อมมีความสอดคล้อง ต้องกัน จนก่อให้เกิดความเกี่ยวข้อง ผูกพัน และยึดโยงซึ่งกันและกัน ชนิดไม่ต่างอะไรไปจาก “เสาหลัก” ในการค้ำจุนโครงสร้างของสังคมทั้งสังคมเอาไว้นั่นเอง...
-----------------------------------------------------
การที่ “พระราชา” หรือ “พระมหากษัตริย์” ในรัชกาลปัจจุบัน...ค่อนข้างแสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิด ผูกพัน กับวงการสงฆ์ไม่ว่าในทางส่วนตัว หรือส่วนรวมก็แล้วแต่ จึงต้องเป็น “โชคดี” ของสังคมไทย!!! เพราะคุณค่าทางศีลธรรมทั้งหลาย ทั้งปวง ในพระพุทธศาสนา กับความมุ่งมั่น ปรารถนา ในอันที่จะสร้างความอิ่มใจ สุขใจ ให้แก่ผู้อื่น ถ้าสามารถผสมกลมกลืน จนเกิด “จุดลงตัว” ขึ้นมาได้เมื่อไหร่ โอกาสที่จะนำมาซึ่งความสุข ความสงบ ความร่มเย็น ภายในสังคมไทย ย่อมมีโอกาสเป็นไปได้ยิ่งขึ้นไปเท่านั้น หรือเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ราคา ยิ่งไปกว่ากฎ ระเบียบ หรือกฎหมายใดๆ ก็ตามที...
-------------------------------------------------------
ด้วยเหตุนี้...เอาเป็นว่า ใคร? ที่คิดจะหยิบเอาเรื่องราวในวงการพระ มาทะลุแก๊ส-ทะลุฟ้ากันในช่วงนี้ หรือช่วงไหนๆ ก็แล้วแต่ คงต้องหันไปคิดใหม่-ทำใหม่ซะแต่เนิ่นๆ หรืออย่างน้อย...ก็น่าจะหันไปสำรวจตรวจสอบบรรดาพระๆ ที่ตัวเองเคารพ-นับถือให้จริงๆ จังๆ ขึ้นมาอีกซักหน่อย แม้ไม่ถึงกับต้องให้ “ดำน้ำพิสูจน์” เอาเลยก็ตาม เพราะถ้าองค์กรสงฆ์ตามตัวบทกฎหมายอย่าง “มหาเถรสมาคม” ท่านไม่ “เข้าถึง-เข้าใจ” ต่อปัญหาในวงการพระอย่างลึกซึ้งถึงแก่น ยอมให้สำนักพระพุทธศาสนาออกมาชี้แจง แถลงไข ถึงรายละเอียดของ “พระ” ในแต่ละรูป แต่ละราย แบบเป็นเรื่อง เป็นราว โอกาสที่ “พุทธศาสนาต้องเศร้าหมอง” หรือโอกาสเสียพระ เสียสุนัข ย่อมมีความเป็นไปได้สูงเอามากๆ...
------------------------------------------------------------
ปิดท้ายด้วยวาทะวันนี้ จาก “Mother Teresa”... “The fruit of silence is prayer. The fruit of prayer is faith. The fruit of faith is love. The fruit of love is service. – ผลบุญแห่งความสงบคือการสวดมนต์ไหว้พระ ผลบุญแห่งการสวดมนต์ไหว้พระคือศรัทธา ผลบุญแห่งศรัทธาคือความรัก-ความเมตตา ผลบุญแห่งความรัก-ความเมตตาคือการบริการรับใช้ (หรือการสร้างความอิ่มใจ สุขใจ) ให้ผู้อื่น...”
------------------------------------------------------------
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |