พรรคแรงงานอังกฤษในความเปลี่ยนแปลง


เพิ่มเพื่อน    

ภาพ: บรรยากาศการประชุมในรัฐสภาอังกฤษ
เครดิตภาพ: https://www.flickr.com/photos/uk_parliament/8737181278

 

หลายคนรู้ว่าสหราชอาณาจักร หรือพูดสั้นๆ ว่าอังกฤษ เป็นต้นแบบการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีสมเด็จพระราชินีนาถเป็นประมุขประเทศ แต่บางคนอาจไม่รู้ว่าพรรค Labour Party ที่ยึดแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยอยู่คู่การปกครองประเทศนี้มากว่าศตวรรษแล้ว
สังคมนิยมประชาธิปไตย:
    สังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy หรือ Democratic Socialism) รับรู้ความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น แต่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติสังคมที่ใช้ความรุนแรงที่ต้องเห็นการแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรง เกิดสงครามกลางเมืองที่คนชาติเดียวกันต้องมาประหัตประหารเสียชีวิตเพื่อล้มระบอบการปกครองเดิม
    นักสังคมนิยมประชาธิปไตยเชื่อว่า เมื่ออุดมการณ์สังคมนิยมของตนดีจริง เป็นประโยชน์ต่อมวลชน ประชาชนจะเลือกเอง สามารถเป็นรัฐบาลบริหารประเทศผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้น สังคมนิยมประชาธิปไตยจึงเป็นอุดมการณ์ที่ต้องการให้ระบอบการเมืองการปกครองเป็นไปตามสมัครใจ ประชาชนเป็นผู้เลือกว่าต้องการรัฐบาลจากพรรคการเมืองที่ยึดอุดมการณ์แบบใด การจะเป็นสังคมนิยมหรือไม่ต้องได้อำนาจผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
ในด้านเศรษฐกิจ สังคมนิยมประชาธิปไตยมีแนวทางใกล้เคียงลัทธิเสรีนิยมสมัยใหม่ (Modern Liberalism) ให้แข่งขันเสรีแต่กลไกตลาดเพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ รัฐบาลต้องเข้าแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือปกป้องปัจเจกชนที่อ่อนแอ รัฐต้องสนใจดูแลผู้มีรายได้ต่ำมากกว่าปล่อยให้ดำเนินชีวิตตามยถากรรม
พรรคแรงงานอังกฤษ:
    พรรคแรงงานอังกฤษยึดแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยตามแบบฉบับของตน เริ่มประกาศใช้คำว่า “Labour Party” อย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ.1906 จุดเริ่มต้นมาจากการรวมตัวของกรรมกร ใช้แนวคิดที่รวมหลายอย่างเข้ามาทั้งจากต่างประเทศกับในประเทศ สรุปรวบยอดเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบหนึ่ง ยึดเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของกรรมกร 
    จากการรวมกลุ่มกรรมกรจำนวนหนึ่งเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตน ปี 1918 ความเป็นพรรคเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เปิดรับสมาชิกทั่วประเทศ จัดตั้งกลุ่มในพื้นที่ต่างๆ เคลื่อนไหวทางการเมืองระดับท้องถิ่น เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1920-30 พรรคเริ่มเป็นคู่แข่งพรรคอนุรักษนิยม ยุคที่สหภาพแรงงานเฟื่องฟู ในปี 1924 ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลครั้งแรก
    ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคเป็นส่วนหนึ่งของพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยบริบทสงครามและนโยบายรัฐบาล กิจการหลายอย่างกลายเป็นของรัฐ รัฐบาลเข้าควบคุมเศรษฐกิจสังคมใกล้ชิด แต่ไม่นานความนิยมต่อพรรคเสื่อมถอย เพราะการวางแผนจากส่วนกลางขาดประสิทธิภาพ ระบบราชการเชื่องช้า 
    อย่างไรก็ตาม พรรคแรงงานอังกฤษคงความเป็นพรรคหลักพรรคหนึ่งคู่กับพรรคอนุรักษนิยม มีโอกาสเป็นฝ่ายรัฐบาลอีกหลายครั้ง และมีพัฒนาการเรื่อยมา เช่น ปี 1972 เกิดตำแหน่งผู้นำ Young Socialist จากการเลือกตั้งภายในพรรคทั่วประเทศ ปี 1990 มติพรรคให้จัดตั้ง Policy Forum เพื่อทำงานด้านนโยบายโดยเฉพาะ มีจำนวนเกือบ 200 คน คณะทำงานมาจากการเลือกตั้งวาระ 2 ปี แบ่งเป็น 8 กลุ่มครอบคลุมนโยบายทุกด้าน
    จะเห็นว่า ระบบการทำงานของพรรคโปร่งใสเป็นระบบระเบียบ เปิดกว้างให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศมีส่วน มีคณะทำงานเฉพาะด้าน ตำแหน่งสำคัญมาจากการเลือกตั้งโดยสมาชิกทั้งหมด มีตัวแทนจากกลุ่มเฉพาะตามสัดส่วน เช่น ตัวแทนเยาวชน ตัวแทนคนผิวสี ตัวแทนนักสังคมนิยม ตัวแทนท้องถิ่น ตัวแทนสหภาพที่หลากหลาย เช่น สหภาพครู สหภาพเกษตรกร
พรรคแรงงานในยุคโลกาภิวัตน์:
    พรรคแรงงานอังกฤษผูกติดกับสหภาพแรงงานเรื่อยมา แต่เมื่อระบบเศรษฐกิจโลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่างถ่านหิน เหล็กกล้า อู่ต่อเรือ อุตสาหกรรมหนักหลายอย่างเสื่อมถอย ในขณะที่ภาคบริการ ธุรกิจสมัยใหม่เติบโต เป็นปัจจัยให้สหภาพอ่อนแรง ผลคือพรรคแรงงานที่เคยผูกติดกับสหภาพต้องปรับตัวหายุทธศาสตร์ใหม่
    โทนี แบลร์ (Tony Blair) คือผู้มากับแนวทางใหม่ ไม่ยึดฐานเสียงสหภาพมากเช่นอดีต ลดความเป็นสังคมนิยมและหันไปหาทุนนิยมมากขึ้น แบลร์ถึงกับเรียกชื่อพรรคว่าใหม่ว่า “New Labour”
    แนวทางนี้หรือที่บางคนเรียกว่าลัทธิแบลร์ (Blairism) ถูกกล่าวขานว่าเป็น “ทางเลือกที่ 3” (third way) เป็นการผสมผสานทุนนิยมกับสังคมนิยม หลักคิดคือ ทุกวันนี้ไม่มีประเทศใดที่ใช้ระบบทุนนิยมเสรีเต็มร้อยหรือสังคมนิยมเต็มร้อย ล้วนเป็นการผสมผสาน 2 ลัทธิหรือมากกว่าเข้าด้วยกัน หวังสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ให้การศึกษาแก่ประชาชนเพื่อหน้าที่การงานที่ดี สร้างสาธารณูปโภค พร้อมกับให้ทุกคนมีเสรีภาพ สิทธิที่จะมีความมั่งคั่งร่ำรวย ประชาชนสามารถเลือกเข้าถึงบริการต่างๆ ที่เหนือกว่า 
    ในช่วงที่โทนี แบลร์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (1997-2007) แนวนโยบายของท่านคือสังคมแห่งความยุติธรรม (social justice) การกระจายรายได้ต้องเท่าเทียมมากขึ้น พลเมืองทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียม ชุมชนที่มีโอกาสเท่าเทียม หวังสร้างสังคมที่คนเอื้ออาทรต่อกัน ส่งเสริมบทบาทของโบสถ์
    แบลร์เห็นว่าทุกคนควรทำงานหนักและสะสมความมั่งคั่งของตน พร้อมกันนี้ต้องมีใจช่วยเหลือคนอื่น ปฏิเสธแนวคิดการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตร่วมตามแนวทางสังคมนิยม ซึ่งในสหราชอาณาจักรหมายถึงรัฐวิสาหกิจต่างๆ เช่น กิจการรถไฟ โรงพยาบาลรัฐ โรงงานอุตสาหกรรมของรัฐ
    ในด้านเศรษฐกิจ เป็นการผสมระหว่างตลาดทุนนิยมเสรีกับสังคมนิยมประชาธิปไตย ผลที่ออกมาจึงให้ความสำคัญแก่ “โอกาส” กับ “ผลลัพธ์” อย่างเท่าเทียม รัฐบาลทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค พร้อมกับส่งเสริมการแข่งขัน ส่งเสริมธุรกิจเอกชน ลดภาษี ส่งเสริมให้มีงานทำ พร้อมกับเพิ่มสวัสดิการสังคม สนับสนุนทั้งผู้นำธุรกิจกับผู้นำสหภาพ 
    อย่างไรก็ตาม พวกฝ่ายซ้ายเห็นว่าแนวทางนี้เป็นอีกรูปแบบของเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) มากกว่าการเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือพรรคฯ (ผู้นำใหม่) เห็นว่าการได้คะแนนจากฐานเสียงอื่นๆ และการปรับตัวตามยุคสมัยสำคัญกว่า
    John McCormick อธิบายว่า ความจริงแล้วปัจจุบันไม่มีประเทศใดที่ใช้ Classical liberalism กับ Economic liberalism (capitalism) อีกแล้ว ทุกประเทศล้วนผสมทุนนิยมกับสังคมนิยมเข้าด้วยกัน เกิดแนวทางที่ 3 คือรัฐบาลยื่นมือเข้ามาดูแลจัดการกระจายความมั่งคั่ง ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาสังคมต่างๆ เป็นแนวทางที่สนับสนุนบทบาทรัฐบาลใช้อำนาจครอบคลุมกว้างขวาง 
    ประเด็นวิพากษ์คือ เป็นความเข้าใจว่าทุนนิยมเสรีเอื้อนายทุน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลปกป้องกรรมกร แต่เมื่อรัฐบาลเข้ามาควบคุมมากขึ้นก็เกิดคำถามอีกว่ารัฐบาลเข้ามาควบคุมเพื่อประโยชน์ของคนทั่วไปหรือเพื่อนายทุนกันแน่
    ในแง่การเลือกตั้ง ความสำเร็จของรัฐบาลแบลร์คือ แนวคิดการเมืองการปกครองไม่สำคัญมากเท่ากับความเชื่อมั่นของประชาชนกับผลลัพธ์สุดท้าย โดยยึดความพึงพอใจของพลเมือง ที่สุดแล้วจึงอยู่ที่การหาเสียง การบริหารประเทศ เลือกใช้นโยบายที่เหมาะสมกับบริบท ส่วนจะเป็นลัทธิการเมืองใดชื่อพรรคใดอาจไม่สำคัญ เพราะไม่มีรัฐบาลใดที่ยึดลัทธิทุนนิยมเต็มร้อยกับสังคมนิยมเต็มร้อยมานานแล้ว
ความสำเร็จของสังคมนิยมอังกฤษ:
    แม้ความเหลื่อมล้ำยังพบเห็นทั่วไป สังคมตั้งคำถามว่าพรรคแรงงานอังกฤษปัจจุบันเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือเป็นทุนนิยมเสรี มีผลดีหลายอย่างเกิดจากลัทธิสังคมนิยม เช่น 1.มีสหภาพแรงงานและเป็นที่ยอมรับ 2.ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service: NHS) 3.เรียนฟรีถึงอายุ 18 ปี 4.สวัสดิการที่อยู่อาศัย (รัฐสนับสนุนให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัย) 5.กรรมกรมีรายได้และสวัสดิการดีขึ้น
    หรืออาจตีความว่า เพราะตามระบอบประชาธิปไตยทุกพรรคหวังได้คะแนนเสียง จึงต้องทำตามข้อเรียกร้องของประชาชน ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากพรรคฝ่ายซ้ายหรือขวาล้วนมีนโยบายเชิงสังคมนิยมผสมอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ต่างกันที่ว่าฝ่ายหนึ่งเอาสังคมนิยมขึ้นนำ กับอีกฝ่ายเอาทุนนิยมขึ้นนำ และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าอยากเลือกพรรคใด.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"