ค่า PM2.5 ใหม่ของ WHO จุดท้าทายที่ไทยต้องไต่ระดับ


เพิ่มเพื่อน    

 

 

      ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศ“เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ (Air Quality Guidelines: AQGs) ”ฉบับใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี โดยปรับระดับเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศใหม่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม  เพิ่มมาตรฐานการกำหนดค่าเฉลี่ยรายปี ของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่ที่ 5ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากดิม 10 มคก./ลบ.ม.  และค่าเฉลี่ยราย 24ชั่วโมงของฝุ่น PM 2.5 ที่ 15 มคก./ลบ.ม. ลดจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม.

      ก่อนหน้านี้ WHOได้จัดทําและนำเสนอเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับการลดผลกระทบมลพิษทางอากาศที่มีต่อสุขภาพมวลมนุษยชาติ ตั้งแต่ปี 2530  และมีการทบทวนเป็นระยะ ในปี 2540 และปี 2548 จนมาถึงการปรับแก้เกณฑ์ครั้งล่าสุด 

      สำหรับเกณฑ์แนะนำปี 2564 ที่เพิ่งออกมานั้น ดร.อุมา ราชรัฐนาม  ตัวแทนจากองค์การอนามัยโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวในงานประชุมเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ“ประเทศไทยไปทางไหนต่อเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศใหม่ของ WHO ” ว่า เกณฑ์ใหม่ WHO จัดทำขึ้นอ้างอิงจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อระบุระดับคุณภาพอากาศ  ซึ่งจำเป็นในการปกป้องสุขภาพของประชาชนทั่วโลก  โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับระดับคุณภาพอากาศสำหรับฝุ่น PM2.5, ฝุ่น PM10,โอโซน (O3), ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2), ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)และคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ทั้งยังให้เป้าหมายระหว่างทาง (Interim Target: IT)เพื่อเป็นทางเลือกสําหรับกําหนดเป้าหมายทางนโยบายในการจัดการคุณภาพอากาศกรณี ที่ยังไม่สามารถดําเนินงานให้คุณภาพอากาศบรรลุตามคำแนะนําของ WHO ได้



       ดร.อุมาระบุเกณฑ์นี้ให้แนวปฏิบัติสำหรับการตัดสินใจกำหนดมาตรฐานและเป้าหมาย ซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมายในการจัดการคุณภาพอากาศรวมถึงเป็นเครื่องมือในการออกแบบมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดมลพิษอากาศ และปกป้องสุขภาพของมนุษย์

      “ การจัดทำ AQGsฉบับใหม่อ้างอิงหลักฐานและข้อมูลซึ่งปรากฏชัดเจนมากขึ้นว่า นับตั้งแต่ปี 2548มลพิษอากาศส่งผลต่อสุขภาพด้านต่างๆทั้งยังมีข้อมูลเชิงลึก แหล่งที่มาการปล่อยมลพิษและการมีส่วนของมลพิษอากาศต่อภาระโรคภัยในระดับโลก  เกณฑ์ใหม่ยังให้แนวปฏิบัติช่วยจัดการอนุภาคขนาดเล็กจากพายุฝุ่นหรือพายุทราย, ผงฝุ่นเขม่าดำ/ธาตุคาร์บอน และอนุภาคละเอียดพิเศษ  รวมทั้ง การจัดการอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก ฝุ่น PM  บางประเภทซึ่งยังมีหลักฐานไม่เพียงพอ  ที่จะหาระดับแนวทางคุณภาพอากาศเชิงปริมาณ แต่ชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องด้านสุขภาพ “  ดร.อุมาให้ข้อมูล

     ผู้แทน WHO ย้ำสถานการณ์มลพิษอากาศที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้เลวร้ายกว่าที่คาดคิด ในแต่ละปีมีประชาชนทั่วโลกต้องเสียชีวิตก่อนวัยมากถึง 7 ล้านคนทั้งจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs)และผลกระทบจากมลพิษอากาศในสิ่งแวดล้อมและในครัวเรือนมากกว่า 2ล้านคนเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งก่อมลพิษมาก

        ปัจจุบันมลพิษอากาศเป็นภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพของมนุษย์ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเธอบอกว่าแม้ปัจจุบันคุณภาพอากาศจะค่อยๆ ดีขึ้นในประเทศที่มีรายได้สูงแต่ความเข้มข้นของสารก่อมลพิษยังคงเกินมาตรฐาน โดยในปี 62 พบว่าประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 90 อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีความเข้มข้นฝุ่น PM2.5เกินมาตรฐาน 10 มคก./ลบ.ม. ของ WHOขณะที่ระดับความเข้มข้นสูงของไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)ในพื้นที่เอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือและยุโรปส่วนใหญ่สะท้อนถึงการปล่อยมลพิษจากเครื่องยนต์สันดาป
     “ ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางส่วนใหญ่คุณภาพอากาศลดลงจากการขยายตัวของเมืองในวงกว้างและการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนใหญ่อาศัยการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างไม่มีประสิทธิภาพ จากการศึกษาของ WHO พบว่า 30 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีปรับปรุงคุณภาพอากาศในบางภูมิภาคแต่จำนวนผู้เสียชีวิตและการสูญเสียปีสุขภาพดี (Healthy Life Years) กลับเพิ่มขึ้น"
      ดร.อุมากล่าวด้วยว่าเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศใหม่นี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือการปฏิบัติอิงหลักฐานสำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจร่างกฎหมายและนโยบายเพื่อลดระดับมลพิษอากาศ และลดภาระด้านสุขภาพที่เกิดจากการสัมผัสมลพิษอากาศทั่วโลกทั้งยังสามารถช่วยปรับปรุงมาตรฐานและเพิ่มรายชื่อมลพิษอากาศอีกด้วยประเทศไทยเผชิญมลพิษทาง PM2.5ระดับเกินกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO  อย่างไรก็ตามมีความตื่นตัวต่อวิกฤตฝุ่นพิษเป็นโอกาสที่จะทำให้คุณภาพอากาศของประเทศดีขึ้น ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)ยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศของไทยให้เข้มข้นขึ้นเพื่อปกป้องชีวิตประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง


        ในมุมมอง    อรรคพล  เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวเวทีเดียวกันว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับปัญหามลพิษทางอากาศมาตลอด ปี  2562  ผลักดันสู่วาระแห่งชาติ และขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจนถึงปัจจุบันมีทิศทางและโครงสร้างการแก้ปัญหาที่ชัดเจนขึ้นบูรณาการการแก้ไขปัญหาภายใต้ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศทุกกระทรวงรับแผนไปปฏิบัติการมากขึ้นแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับจุดความร้อนที่เกิดขึ้น แม้ค่าเฉลี่ยราย 24 ชม.และรายปี ของฝุ่น PM2.5 จะยังไม่น่าพึงพอใจ
           “ มีหลายพื้นที่มลพิษ PM2.5  สูงเกินเกณฑ์ พื้นที่ในเมืองสถานการณ์คุณภาพอากาศยังน่าห่วงจากการจราจร ปัญหา  ควันดำ ปีนี้ปรับค่ามาตรฐานให้ต่ำลง และส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าควบคู่กันจะเป็นจุดเปลี่ยนในเมือง  ส่วนพื้นที่นอกเมืองและพื้นที่เกษตรมีความท้าทายในการควบคุมเผาในที่โล่งแม้จะมีผลสำเร็จแก้เผาไร่อ้อยลดลง 70 % แต่ยังมีพื้นที่เกษตรที่พึ่งพาการเผาโดยเฉพาะในป่า ปีนี้ คพ.กำหนดในแผนเฉพาะกิจให้ท้องถิ่นจัดแผนและงบฯแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่เพิ่มอนาคตวางแผนให้ท้องถิ่นนำค่าเฉลี่ยคุณภาพอากาศเป็นตัวชี้วัดระดับพื้นที่ ส่วนปัญหาหมอกควันข้ามแดนจะทำอย่างไรให้มีตัวชี้วัดชัดเจนร่วมกันในระดับภูมิภาคอาเซียน “ นายอรรคพล กล่าว
      กรณี WHO คลอดมาตรฐานใหม่ อธิบดี คพ. กล่าวว่ามาตรฐานควรมีความเหมาะสมกับมาตรการที่เดินไปพร้อมกัน รัฐบาลมีคณะกรรมอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศทั่วไปภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและนำเกณฑ์ใหม่เป็นเป้าหมายสูงสุดที่ไทยจะต้องไปให้ได้ ต้องปรับมาตรการในแต่ละพื้นที่การปรับมาตรฐานจะต้องไม่ให้เกิดความตระหนกและไม่ให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินการตามมาตรการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพูดคุยกันหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน
        ด้าน พันศักดิ์ ถิรมงคล  ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพและเสียง คพ.กล่าวว่า ปัญหา PM2.5 จะเกิดขึ้นทุกปี พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีวิกฤตหนักระหว่างเดือน พ.ย.- ก.พ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนวันที่ PM 2.5มีค่าเกินมาตรฐาน ปี 2563 กับปี 2564 ลดลงร้อยละ 9 ขณะที่ภาคเหนือ 17จังหวัด วิกฤตระหว่างเดือน ม.ค. - พ.ค.เมื่อเปรียบเทียบจำนวนวันที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานปี 63 กับปี 64 ลดลงร้อยละ 8ส่วนจุดความร้อนเปรียบเทียบภาพของรวมของประเทศไทยปี 63 กับ ปี64ลดลงร้อยละ 50 ส่วนจุดความร้อนจังหวัดภาคเหนือลดลงร้อยละ 52รัฐบาลมีนโยบายการป้องกันไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองปี 65เกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงานลดปัญหาฝุ่นละออง ในส่วน คพ.ปรับการทำงานในเชิงปฏิบัติการมากขึ้นโดยร่างแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565จะปฏิบัติการร่วมกับจังหวัด ท้องถิ่น และชุมชนในการลดเกิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่มิติใหม่การบริหารจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทย
        พันศักดิ์ย้ำว่า ต้องขยายผลต่อยอดจากแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ”การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565แผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่งในภาคเหนือปี 2564 นอกจากนี้ จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่แก้ไขปัญหามลพิษที่สำคัญต้องทำงานเป็นทีมสร้างพลังในการลดมลพิษทางอากาศ    
      ส่วนเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศใหม่ของ WHOปรับลดมาตรฐานเข้มงวดขึ้น ผู้อำนวยการกองคนเดิมเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของไทยกับเกณฑ์แนะนำใหม่ของ WHOไทยจะหย่อนกว่าเกือบ 3 เท่า ค่าเฉลี่ย 24 ชม. ฝุ่น PM 10 อยู่ที่ 120 มคก./ลบ.ม.ส่วนเกณฑ์ WHO 45 มคก./ลบ.ม. PM 2.5 เกณฑ์ไทยที่ 50 มคก./ลบ.ม ส่วน WHO 15มคก./ลบ.ม. ส่วนซัลเฟอร์ไดออกไซด์หย่อนกว่า 7 เท่าคุณภาพอากาศมาตรฐานเฉลี่ย 1 ปี ของไทยกับ WHO ก็หย่อนกว่าหลายเท่าอย่าง ฝุ่น PM 10 มาตรฐานไทย 50 มคก./ลบ.ม. ส่วนเกณฑ์ใหม่ WHO 15มคก./ลบ.ม. ฝุ่น PM2.5 ไทยอยู่ที่ 25 มคก./ลบ.ม. ส่วน WHO อยู่ที่ 5 มคก./บ.ม.
      สำหรับสถานการณ์คุณภาพอากาศของไทยพันธุ์ศักดิ์ระบุสารมลพิษทางอากาศที่ยังคงเป็นปัญหา คือ ฝุ่น PM 10 ฝุ่น PM 2.5โอโซน และสาร VOC แหล่งกำเนิดสำคัญ คือ ยานพาหนะ การเผาที่โล่งและอุตสาหกรรม แนวโน้มสถานการณ์คุณภาพอากาศรอบ 10 ปีมีแนวโน้มลดลงในทุกพื้นที่ สำหรับ PM 10 ยังพบปัญหาที่ อ.หน้าพระลาน จ.สระบุรีส่วน PM 2.5 จากการขยายสถานีตรวจวัดมากขึ้นพบว่าพื้นที่เกินค่ามาตรฐานเพิ่มขึ้น ถือเป็นปัญหาสำคัญของไทยส่วนโอโซนแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่คาร์บอนมอนนอกไซด์สถานการณ์คงที่
       “ เกณฑ์ใหม่ของ WHOถือเป็นคุณภาพอากาศเป้าหมายของประเทศที่จะต้องมุ่งไปให้ถึงเพื่อคุณภาพอากาศที่ดีของประเทศ การกำหนดปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพอากาศต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดโดยจะต้องอาศัยหลักวิชาการ กฎเกณฑ์และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน และความเป็นได้เชิงเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องโดยขับเคลื่อนจากคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไปภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คพ.จะนำเกณฑ์ใหม่WHOมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองระยะถัดไปปี 2565ดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพอากาศที่กำหนดไว้แล้วให้เข้มข้นขึ้น “พันศักดิ์ เผยทิศทาง


       รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์  ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ กล่าวว่ามลพิษอากาศทำให้คนเสียชีวิต 7 ล้านคนต่อปีในจำนวนนี้มลพิษอากาศในบรรยากาศทั่วไป 4.2 ล้านคนและมลพิษอากาศจากการใช้เชื้อเพลิงในครัวเรือน 3.8 ล้านคน มีรายงานมูลค่าความเสียหายเชิงเศรษฐศาสตร์ของมลพิษทางอากาศมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2560-2562ถ้าเปรียบเทียบเกณฑ์แนะนำ WHO กับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศไทยโดยเฉพาะมาตรฐานรายปี PM2.5 ที่ 5 มคก./ลบ.ม. ถ้าไทยจะทำตามเป้าหมายนี้ต้องลดร้อยละ 80 ส่วนมาตรฐาน 24 ชม. ไทยสูงกว่าอยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. WHO  อยู่ที่ 15 มคก./ลบ.ม. เราต้องลดร้อยละ 70หากอยากให้สุขภาพของคนไทยดีขึ้น ต้องปรับมาตรฐานให้เข้มงวดขึ้น“ ถ้าอยากท้าทายตัวเองต้องปรับมาตรฐานรายปีลงมาที่ 20 มคก./ลบ.ม.ส่วนราย 24 ชม. ปรับลดเหลือ 35 มคก./ลบ.ม.มีการศึกษาการปรับลดมาตรฐานใหม่ของ WHOจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 1.7 แสนคนต่อปีคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 5.8 ล้านล้านบาท โดยภาคกลาง ภาคเหนือและภาคอีสานได้ประโยชน์สูงสุดจากการปรับเกณฑ์คุณภาพอากาศ “
     รศ.วงศ์พันธ์ย้ำในการจัดการคุณภาพอากาศของไทยที่เจอมลพิษหนักหากจะทำให้ถึงเกณฑ์คุณภาพอากาศใหม่ WHO นักวิชาการคนเดิมให้แนวทางว่าจากรายงานสถานการณ์มลพิษปี 63 ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 .ในประเทศไทย คือ 23 มคก./ลบ.ม ยังสูงกว่าเกณฑ์คุณภาพอากาศเดิม WHO ที่กำหนด 10 มคก./ลบ.ม. ซึ่งไทยยังต้องลด 56% จะถึงเป้านี้ จะต้องห้ามเผา 100% และควบคุม 50% ของมลพิษจากรถยนต์ มาตรการที่ต้องดำเนินการร่วมกัน คือ ห้ามเผาใช้รถยนต์มาตรฐาน EURO V หรือ EURO V1 รวมทั้งรถยนต์เก่าด้วย อาจจะกำหนดรถที่สามารถใช้ในเมืองได้ต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี รถต่ำกว่ายูโร 3ไม่สามารถใช้ได้ ส่วนเกณฑ์ใหม่ WHO ถ้าไทยจะลดฝุ่นพิษจาก 23 มคก./ลบ.ม. เหลือ 5มคก./ลบ.ม. จะต้องลด 78% ห้ามเผา 100% ลด 100% ของมลพิษจากรถยนต์และลดมลพิษ 25% จากแหล่งอื่นๆ ลดมลพิษได้ 78% มาตรการที่ต้องทำร่วมกันห้ามเผา อนุญาตให้ใช้เฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าในเขต กทม.-ปริมณฑล เพิ่มมาตรการลดมลพิษในโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งอื่นๆ ให้ลดลง 25% เช่นบ้านเรือน ฝุ่นจากถนน การก่อสร้าง
      ในเวทีนี้ รศ.วงศ์พันธ์ ยังเสนอการลดผลกระทบต่อสุขภาพของมลพิษฝุ่น PM2.5 จากภาคขนส่ง ผ่านแบบจำลอง 10 สถานการณ์ซึ่งอ้างอิงงานศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลว่า 1.บังคับใช้เชื้อเพลิงกำมะถันต่ำ2.รถไฟฟ้ามีสัดส่วน 50% ของรถจดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ปี 2567 3.เปลี่ยนรถประจำทาง ขสมก. ทั้งหมดเป็นรถไฟฟ้า 4.ปรับมาตรฐานรถเป็น ยูโร 5ในปี 2564 และ ยูโร 6 ในปี 2565 5.ห้ามรถยนต์นั่งส่วนบุคคลดีเซลวิ่งในพื้นที่ กทม. 6.ห้ามรถบรรทุกวิ่งในพื้นที่ กทม. 7.ห้ามรถที่มีอายุมากกว่า 20 ปี วิ่งในพื้นที่กทม.และปริมณฑลฯ 8.ติดตั้ง DPF ให้กับรถดีเซลทุกประเภทที่มีมาตรฐานตั้งแต่ยูโร 3 ลงไป 9.ติดตั้ง PDF พร้อมทั้งมีการบังคับใช้เชื้อเพลิงกำมะถันต่ำ และสุดท้าย 10.รวมการปฏิบัติของทุกแนวทาง
      “ ถ้ารวมทุกแนวทางปริมาณการปล่อยฝุ่น PM 2.5 จากไอเสียรถจาก 7,000 ตันต่อปี จะลดลงเหลือ 1,223 ตันต่อปีในปี 2572 ลดการสูญเสียด้านสุขภาพจาก 4 หมื่นรายต่อปี เหลือ 6,500 รายต่อปี นอกจากนี้ การใช้ทุกมาตรการจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพฯ 2.3 หมื่นล้านบาท “ รศ.วงศ์พันธ์ ย้ำนโยบายจัดการคุณภาพต้องให้ความสำคัญกับภาคขนส่งและการจราจรเพื่อยก ระดับคุณภาพอากาศในทุกพื้นที่ให้ดีขึ้นไม่เฉพาะเมืองหลวงของไทยอย่างกทม.และ17จังหวัดภาคเหนือที่จมฝุ่น


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"