ชป.จับตา20อ่างเก็บน้ำ กทม.เตรียมรับฝนถล่ม!


เพิ่มเพื่อน    

"กรมอุตุฯ" ห่วง 16 ต.ค. "กทม.-ปริมณฑล" เจอฝนตกหนักเย็นยันค่ำ หวั่นเกิน 100 มิลลิเมตร เหตุร่องมรสุมมีกำลังแรง "อธิบดีกรมชลฯ" สั่งโครงการชลประทานทั่ว ปท.เฝ้าระวัง 20 อ่างขนาดใหญ่เสี่ยงน้ำล้น แถมอีก 16 จว.เผชิญน้ำล้นตลิ่ง "ขอนแก่น" เร่งระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ หลังปริมาณน้ำอยู่ระดับ 95% ของความจุ “แบงก์รัฐ” ลุยเข็นมาตรการช่วยเหลือลูกค้าประสบอุทกภัย 
    เมื่อวันที่ 15 ต.ค. นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงอิทธิพลของคอมปาซุว่า เมื่อเช้าที่ผ่านมาได้กลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ แล้วอิทธิพลที่มีผลต่อประเทศไทยน้อยมาก อย่างไรตาม สำหรับฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลเมื่อวันที่ 14 ต.ค. รวมถึงภาคตะวันออกนั้น เหตุหลักมาจากร่องมรสุม เนื่องจากมีหย่อมความกดอากาศต่ำอีกตัวอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ และหย่อมความกดอากาศต่ำตัวนี้ไปดึงความชื้นจากทะเลอันดามัน ทำให้ร่องมรสุมมีกำลังแรง ส่งผลฝนตกในแถบ กทม.และปริมณฑล รวมถึงอีสานตอนล่าง
    "วันที่ 16 ต.ค.ก็ยังเป็นแนวร่องมรสุมเหมือนเดิม ภาคกลาง ปริมณฑล รวมทั้งอีสานตอนล่าง ก็อาจได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล มีความเป็นห่วงปริมาณฝนจะตกตั้งแต่เย็นยันค่ำลากยาว หวั่นเกิน 100 มิลลิเมตร" อธิบดีกรมอุตุฯ กล่าว
    ขณะที่นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์ฝนตกเพิ่มขึ้นว่า สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนที่จะเพิ่มขึ้นจากพายุโซนร้อนคมปาซุ ซึ่งกำลังแรง แม้กรมอุตุนิยมวิทยาระบุพายุอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว แต่จะมีผลให้มีฝนตกเพิ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับช่วงนี้ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีกำลังแรง ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่
    นายประพิศกล่าวว่า ได้กำชับให้ปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพน้ำในเขื่อน เพื่อลดผลกระทบจากน้ำล้นอ่างเก็บน้ำท่วมพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สั่งการไว้ โดย กอนช.ประเมินปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะได้รับอิทธิพลดังกล่าวในวันที่ 17 ต.ค.นี้ 
    ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังเสี่ยงน้ำล้นมี 20 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ อ่างแม่มอก, อ่างแควน้อยบำรุงแดน, อ่างทับเสลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ่างอุบลรัตน์, อ่างจุฬาภรณ์,อ่างลำตะคอง, อ่างลำพระเพลิง, อ่างมูลบน, อ่างลำแชะ, อ่างลำนางรอง, อ่างสิรินธร ภาคกลาง อ่างป่าสักชลสิทธิ์, อ่างกระเสียว ภาคตะวันออก อ่างขุนด่านปราการชล, อ่างหนองปลาไหล, อ่างนฤบดินทรจินดา ภาคตะวันตก อ่างศรีนครินทร์,อ่างวชิราลงกรณ, อ่างแก่งกระจาน และอ่างปราณบุรี
เร่งระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์
    นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งและดินถล่มจนถึงวันที่ 20 ต.ค. ซึ่ง กอนช.ประเมินและวิเคราะห์ว่ามีพื้นที่เสี่ยงคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแม่น้ำมูล ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอประโคนชัย อำเภอสตึก และอำเภอคูเมือง, จังหวัดสุรินทร์ อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม, จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอเมืองศรีสะเกษ และอำเภอราษีไศล
    ภาคกลาง บริเวณแม่น้ำป่าสัก ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอท่าเรือ,  จังหวัดสระบุรี อำเภอเมืองสระบุรี, แม่น้ำลพบุรี ได้แก่ จังหวัดลพบุรี อำเภอเมืองลพบุรี แม่น้ำท่าจีน  ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอสองพี่น้อง ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ภาคใต้ จังหวัดระนอง และพังงา
    "เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่เพิ่มขึ้น โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงได้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ รวมทั้งสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ รวมถึงพิจารณาเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดียิ่งขึ้น" อธิบดีกรมชลฯกล่าว
    ที่ จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าฯ ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำเก็บกักของเขื่อนอุบลรัตน์ล่าสุดอยู่ที่ 2,298 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 95 ของความจุอ่าง ในขณะที่การระบายน้ำออกจากเขื่อนตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำไม่ให้กระทบกับแม่น้ำชีอยู่ที่วันละ 10 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกเพียง 130 ล้าน ลบ.ม.ก็จะเต็มความจุอ่าง ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจึงมีมติในการปรับระดับการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์เป็น 15 ล้าน ลบ.ม. โดยมีผลทันที และให้เพิ่มระดับการระบายน้ำเป็น 18 ล้าน ลบ.ม.ในวันต่อไป และปรับการระบายน้ำทุกวันอย่างต่อเนื่องทุกวันแบบขั้นบันได และอาจจะสูงสุดที่วันละ 35 ล้าน ลบ.ม.
    "การปรับเพิ่มการระบายน้ำนั้นจะต้องได้ข้อสรุปและขอมติจากที่ประชุมทุกครั้งเพื่อไม่ให้มวลน้ำได้ไหลเข้าปะทะกับแม่น้ำชีได้เร็วเกินไป หรือส่งผลกระทบต่อภาวะน้ำล้นตลิ่งใน 2 ฟากฝั่งแม่น้ำพองเพิ่มเติมในระยะนี้ โดยจังหวัดได้ประสานงานร่วมกันกรมชลประทาน ซึ่งล่าสุดพบว่า สำนักชลประทานที่ 6 ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่เขื่อนมหาสารคาม เพิ่มเป็น 50 เครื่องเสร็จสิ้นแล้ว และจะทำการเดินเครื่องทันทีเพื่อเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชีให้ไหลลงสู่แม่น้ำมูลและไหลลงสู่แม่น้ำโขงตามเส้นทางของน้ำ" นายสมศักดิ์กล่าว
    ผู้ว่าฯ ขอนแก่นกล่าวว่า ขณะนี้หัวน้ำก้อนใหญ่ที่ผ่าน จ.ขอนแก่นไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ไหลเข้าพื้นที่ร้อยเอ็ดแล้ว ทำให้พื้นที่สองฟากฝั่งแม่น้ำชีขณะนี้นั้นคือช่วงภาวะน้ำก้อนสุดท้าย ซึ่งจากการวัดระดับล่าสุดของแม่น้ำชีพบว่าที่สถานีตรวจวัดระดับน้ำกุดกว้าง ต.เมืองเก่า อ.เมืองฯ ระดับน้ำลดลง 9 ซม. และที่สถานีวัดระดับน้ำ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ระดับน้ำลดลง 7 ซม. ซึ่งหากไม่มีน้ำฝนเติมเข้ามาในระยะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำชีก็จะลดลงอย่างต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งจังหวัดเตรียมวางแผนในการสูบน้ำค้างทุ่ง และน้ำท่วมขังจากพื้นที่ต่างๆ ให้ไหลลงสู่แม่น้ำชี ซึ่งคาดว่าในอีก 3 วันข้างหน้าจะเริ่มดำเนินการได้
แบงก์รัฐผุดแผนช่วยน้ำท่วม
    วันเดียวกัน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นำข้าราชการกระทรวงตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการดำเนินการการก่อสร้างระบบระบายน้ำ ที่โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ต.บางรัก อ.เมืองฯ จ.ตรัง โดยขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 60%
    "ประตูระบายน้ำแห่งนี้เมื่อเสร็จสมบูรณ์จะสามารถระบายน้ำที่ท่วมทุกปีออกไปได้ นอกจากนี้ ยังกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งได้อีก 3 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะก่อสร้างเสร็จในปี 2565 ขณะนี้ถึงแม้โครงการจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่จากปี 2563 ก็สามารถจัดการระบายน้ำออกไปได้ และได้มีการเพิ่มเครื่องสูบน้ำมาเตรียมพร้อมไว้ 100 เปอร์เซ็นต์ ไว้สำหรับการแก้ไขเฉพาะหน้าถ้าเกิดมีน้ำมาก" รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าว
    ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลังได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยการพักชำระหนี้และสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติม
    "มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2564 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จะสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่น ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้า ทำให้มีเงินหมุนเวียน ช่วยฟื้นฟูกิจการ รวมถึงปรับปรุงและซ่อมแซมอาคาร เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้" โฆษกกระทรวงการคลังกล่าว
    จ.สิงห์บุรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่งตัวแทนมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตำบลบางกระบือ อำเภอเมืองฯ และบ้านน้ำตาล อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี 
    นายเอกชัย ทรงอำนาจเจริญ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วม จ.อุบลราชธานีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่าขอให้ทำอะไรเป็นรูปธรรมบ้าง ไม่ใช่จะลงไปแค่แจกถุงยังชีพเพื่อสร้างภาพเพื่อไปหาเสียง หรือไปเพื่อวัดกระแสกันเองภายในพรรค 
    เช่นเดียวกับ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปจังหวัดต่างๆ อ้างว่าไปตรวจราชการ แต่ในความเป็นจริงเป็นการเดินทางไปหาเสียงมากกว่า
     อย่างไรก็ดี น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้พรรคฝ่ายค้านทันทีว่า การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีและ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ  ไม่ได้มุ่งหวังเพื่อหาเสียงหรือวัดกระแสภายในพรรค แต่ไปกำชับให้ทุกภาคส่วนเร่งช่วยเหลือประชาชนและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
     "ในยามวิกฤตเช่นนี้จุดยืนของพรรคเพื่อไทยคืออะไรกันแน่ หากนายกฯ ไม่พบปะประชาชนหรือไม่ลงพื้นที่ก็กล่าวหาว่าไม่สนใจประชาชน พอลงพื้นที่ก็บอกหาเสียงแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ การแสดงความคิดเห็นเช่นนี้กลับไปกลับมา ไม่เอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะการลงพื้นที่ไปตามที่ต่างๆ ก็จะทำให้รัฐบาลทราบถึงปัญหามากขึ้น แล้วนำมาแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น" น.ส.ทิพานันกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"