48 ปี 14 ตุลา :   ไปให้ไกลกว่าประชาธิปไตยระบบตัวแทน


เพิ่มเพื่อน    

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไม่กี่วัน คุณไขแสง สุกใส หนึ่งในสิบสามกบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญในเวลานั้น เอ่ยคำผญาอีสานเปรียบไว้ว่า
    “อัศจรรย์ใจกุ้ง     สิกุมกินปลาบึกใหญ่
ปลาซิวไฉ่สวบแข่     หนีไปซ่นอยู่หลืบหิน”
(แปลว่า น่าประหลาดใจนัก กุ้งตัวน้อย ไล่งับปลาบึกตัวใหญ่ ปลาซิวตัวเล็กรุกไล่จระเข้ จนต้องหนีไปหลบในหลืบหิน)
ช่างเป็นคำเปรียบเปรยที่ให้ภาพชัดเจนและโดนใจ
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนในครั้งนั้น ไม่เพียงเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และเปิดให้มีการเลือกตั้งเท่านั้น 
ปรารถนาของนักศึกษาประชาชน ทุกกลุ่มก้อนที่เข้าร่วมการต่อสู้ยิ่งใหญ่กว่านั้น กล่าวคือเป็นเจตนารมณ์ที่เล็งแลไปสู่สิทธิเสรีภาพ ที่จะร่วมกันกำหนดชะตากรรมบ้านเมืองด้วยตนเอง เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อความเสมอภาค และความเป็นธรรมที่พึงมีพึงได้ โดยที่สิ่งเหล่านี้ถูกกดทับมายาว นานด้วยพันธนาการของระบบเผด็จการ
ปัญหายังอยู่ที่กรอบเกณฑ์ความคิด ซึ่งติดกับดักสำคัญว่า ประชาธิปไตย คือการเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในโครงสร้างส่วนบน
เรามีรัฐธรรมนูญ ปี 2517 ที่ออกแบบไว้ดีพอสมควร แต่เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ก็ถูกฉีกทิ้งด้วยรัฐประหาร
เรามีรัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ปี 2540 ที่มาจาก ส.ส.ร. ซึ่งเลือกตั้งจากประชาชนกำหนดให้ ส.ว.ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง เปิดทางให้แก่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และให้สิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่ทำให้นายเงินฉวยใช้วิธีควบรวมพรรคอื่น ซื้อ ส.ว. จำนวนหนึ่ง หว่านโปรยนโยบายประชานิยม กลายเป็นปีศาจตัวใหม่ที่ในเวลาต่อมากลายเป็นระบบที่กัดกินประเทศชาติและประชาชนอย่างไม่เคยพบเห็นมาก่อน
แม้กระทั่งปัจจุบัน ระบบตัวแทนจากการเลือกตั้งก็ไปไม่พ้นอำนาจเงินและระบบอุปถัมภ์ ที่หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งเป็นความจำเป็นที่แสดงถึงความชอบธรรมของตัวแทนตามฉันทานุมัติของประชาชน  ปัญหาตามมาคือ การทุจริตอันเนื่องมาแต่การถอนทุนคืนจากโครงการต่างๆ ของรัฐที่ไม่ได้ลดลงเลยในระยะเวลาที่ผ่านมา แล้วการรัฐประหารก็ตามมาเป็นวงจรอุบาทว์เหมือนเคย ในขณะที่เกาหลีใต้ นับแต่ความรุนแรงที่กวางจู เมื่อปี 2523 นับถึงบัดนี้ 41 ปีมาแล้ว เกาหลีใต้ไม่หวนคืนสู่เผด็จการอีกเลย
คนไทยและผู้คนทั่วทั้งโลกกำลังตั้งคำถามกับประชาธิปไตยระบบตัวแทนจากการเลือกตั้งว่า เป็นโมเดลที่ลงตัว ใช่หรือไม่ ในเมื่อการเลือกตั้งแบบอย่างคือ สหรัฐอเมริกา ทำให้ได้คนแบบ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่โกหกสับปลับได้เกือบทุกวัน ได้ประธานาธิบดีหลายคนต่อเนื่องกันที่ก่อกรรม  ทำเข็ญใช้กำลังเข้าแทรกแซงรุกรานไปทั่วโลกเพื่อผลประโยชน์ตนเอง
แต่โลกกำลังจับตามองว่า สี จิ้นผิง ของจีนเป็นเผด็จการ แต่ไฉนสามารถแก้ปัญหาความยากจน ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ เอาชนะความล้าหลังจนผงาดขึ้นเป็นประเทศที่รุ่งเรืองอันดับต้นของโลก ผู้นำจีนได้รับการยอมรับนับถือจากประชาคมโลกไม่น้อยไปกว่าประเทศตะวันตกอื่นใด
ในข้อเท็จจริง จีนเรียกระบบของตนเองว่า “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” ไม่ได้ใช้การเลือกตั้งทั่วไปแบบตะวันตก แต่ผู้นำของจีนระดับต่างๆ จะต้องผ่านฉันทานุมัติจากพรรคคอมมิวนิสต์ ระดับซอย หมู่บ้าน อำเภอ มณฑล จนถึงระดับประเทศ ผู้นำจะต้องผ่านการทดสอบจากประชาชนหลายชั้นมากยิ่งกว่าทรัมป์หรือไบเดนด้วยซ้ำ
ในขณะที่ไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดเป็นอันดับสามของโลกรองจากรัสเซียและอินเดีย ไทยมีมหาเศรษฐีที่สะสมโภคทรัพย์ได้ไม่จำกัด สามารถครอบครองที่ดินได้มากกว่า 6 แสนไร่ บางคนเกิน 2 แสนไร่  เศรษฐกิจเสรีนิยมไทยเปรียบเหมือน “เสรีของหมาป่าใน ดงลูกแกะ” ที่ทุนใหญ่ได้แรงหนุนจากภาครัฐ จนรุกไล่ผู้ประกอบการรายย่อยให้พินาศไปอย่างไร้ขอบเขต ชาวไร่ชาวนา และผู้ใช้แรง ตกที่นั่งรอ “เศรษฐกิจไหลริน” (Trickle – Down Effect) เหมือนดังข้าวคอยฝน มาอย่างยาวนาน
    เจตนารมณ์ 14 ตุลา ใช่เพียงให้มีผู้แทนราษฎรผ่านการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่เท่านั้น มวลประชาชนเรือนแสนต้องการไปลงบัตรเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็ต้องการพื้นที่พื้นทางแห่งเสรีภาพที่จะขัดแย้ง เดินขบวนและต่อรองกับอำนาจรัฐได้ในนโยบายสาธารณะที่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของเขา
    แนวทางของคณะกรรมการปฏิรูปทุกชุดที่เกิดขึ้นนับแต่ชุด คุณอานันท์ ปันยารชุน ชุด นพ.ประเวศ วะสี ต่อเนื่องมาจนถึงกรรมการปฏิรูปในยุค คสช. ล้วนแล้วแต่เสนอทิศทางการปฏิรูปที่ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ 14 ตุลา ที่ต้องการให้ประชาชน มีอำนาจ กำหนดชะตากรรมของตนเองได้ ขอให้ดูการปฏิรูปตำรวจ และการปฏิรูปการศึกษา ที่ยืดเยื้อมาเนิ่นนาน เป็นตัวอย่างความเป็นจริงที่เห็นได้ ในวันนี้
    แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตย ไม่มีมาตรวัดหมุดหมายอันสมบูรณ์ จะไปก๊อปปี้ใครมาก็ไม่ได้ จะไปลอกแบบโมเดลจากประเทศไหนก็ใช่ที่
แต่มีแง่คิดว่า ในวาระอีก 2 ปีก็จะถึงกึ่งศตวรรษ  14 ตุลาคม  2516  
ประชาธิปไตยระบบตัวแทนที่ต้องมีการเลือกตั้งเป็นความชอบธรรมที่จำเป็น แต่ยังมีกำลังไม่พอที่จะรับมือกับปัญหาสารพันอันหนักหน่วง และสนองตอบต่อความปรารถนาของประชาชนได้ พร้อมๆ กันไปกับการลงบัตรเลือกตั้ง จึงต้องขยายสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนมีอำนาจที่เป็นจริง ด้วยประชาธิปไตยทางตรงที่ทำให้คนไทยทั้งมวลร่วมกันกำหนดอนาคตของประเทศและของตนเองได้อย่างเป็นจริง.

ป.ล. ประสาร มฤคพิทักษ์ เป็นหนึ่งในผู้ประสานงานกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เป็นคนลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญหมายเลข 1 ใน 100 คน และเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา.

ประสาร มฤคพิทักษ์  :  [email protected]


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"