14 ต.ค.64 - นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "มีผู้จงใจจุดชนวนให้เกิด 14 ตุลาหรือแค่อุบัติเหตุ?" ดังนี้ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร หนึ่งในบุคคลที่เชื่อกันว่าเป็นผู้กุมความลับของเหตุการณ์ 14 ตุลา และนี่คือคำต่อคำจากปากของท่านว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงเวลานั้น
ความเดิมจากตอนที่แล้วที่ผมโพสต์ไว้เมื่อ 6 ตุลา:
https://www.facebook.com/100566188950275/posts/150560070617553/?d=n
ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มีนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาล แถลงการณ์ฉบับนั้นที่สำคัญที่สุดก็เป็นการประณามรัฐบาลที่ยึดอำนาจอยู่โดยไม่ยอมคืนประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน พูดง่ายๆ ว่าเป็นเอกสารเรียกร้องรัฐธรรมนูญ
รัฐบาลของจอมพล ถนอม กิตติขจร ได้จับนิสิตนักศึกษาและผู้ที่ร่วมเรียกร้อง แต่ข้อหาที่ตั้งคือกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ถ้าจำไม่ผิดคือจับไปทั้งหมด 13 คน
พอถูกจับไปแล้ว ปฏิกิริยาของนิสิตนักศึกษาก็เริ่มขึ้น เริ่มมีการชุมนุม ตั้งแต่จำนวนพันไปถึงจำนวนหมื่น การชุมนุมเริ่มมีมากขึ้นๆ จนเป็นจำนวนแสนคน
แทนที่รัฐบาลจะรู้สึกว่ากำลังจะเป็นสิ่งที่ระงับไม่ได้ แต่รัฐบาลกลับใช้ไม้แข็งในการเตรียมจะปราบนิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมกัน
……………………………………………………………………
ผม(พล.ต.อ.วสิษฐ) เข้าวังสวนจิตรลดา ตอนเที่ยงวันที่ 13 ตุลาคม โดยได้รับคำสั่งให้ไปคอยรับผู้แทนของนิสิตนักศึกษาที่จะเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัว ผมเพิ่งรู้ตอนนั้นว่าพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฝ้าฯ
ผมก็นำผู้ที่มาแล้วไปที่ศาลาดุสิดาลัย คอยอยู่จนกระทั่ง 17.30 น. พระเจ้าอยู่หัวจึงได้เสด็จฯ ลง ตอนเสด็จฯ ลงผมไม่ได้อยู่ที่ศาลาดุสิดาลัยด้วย ผมจึงไม่ทราบว่ารับสั่งว่าอะไรบ้าง แต่มารู้ทีหลังว่าเขาเฝ้าฯ กันอยู่จนเกือบสองทุ่มจึงกลับออกมา
แต่ระหว่างที่อยู่ในวังกำลังจะออกจากสวนจิตรลดานั้น ผมก็ได้ยินผู้แทนนิสิตนักศึกษาที่อยู่ในวังปรารภขึ้นบอกว่า เราถูกหักหลังเสียแล้ว
ผมก็ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า เขาก็บอกว่าคุณเสกสรรค์ซึ่งไม่ได้เข้าประชุมด้วย แล้วเป็นผู้ที่คุมการชุมนุมอยู่ข้างนอกได้ทำผิดข้อตกลงที่จะไม่เคลื่อนกำลังจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาที่ลานพระราชวังดุสิต เพราะกังวลว่าถ้ามาถึงตรงนั้นแล้วอาจจะเลยมาถึงวังสวนจิตรลดา ซึ่งเขาไม่ต้องการจะให้เกิดขึ้น
ผมใช้รถตำรวจของกองปราบปราม แล้วพาผู้แทนนิสิตนักศึกษาขึ้นรถโฟล์กตู้เพื่อจะไปรับคุณเสกสรรค์ ที่หมายของเราคือลานพระราชวังดุสิต หวังว่าจะไปเจอคุณเสกสรรค์ที่นั่น
คุณเสกสรรค์ในขณะนั้นเนื่องจากพูดปราศรัยติดต่อกันมา 7 วัน 7 คืน พูดเกือบไม่รู้เรื่อง เข้ามาถึงในวังแล้วเขาก็พบกันกับคุณธีรยุทธ บุญมี ซึ่งเป็นหัวหน้าของฝ่ายที่เข้าใจกันผิด ทั้งสองคนเถียงกันโดยมีผมคอยตะแคงหูฟังว่าเขาพูดอะไรกัน
เมื่อรู้ว่าเขาเข้าใจผิดเรื่องไหน เราซึ่งรู้เหตุการณ์ที่แท้จริงก็เป็นคนชี้แจงให้เข้าใจ คุณเสกสรรค์ป่วยมากถึงขนาดต้องให้หมอหลวงมาดูอาการ แล้วฉีดยาให้ ลงท้ายเขาก็พูดกันรู้เรื่อง แต่ในขณะที่เขาพูดกันรู้เรื่อง ข้างนอกไม่รู้เรื่อง
มีคนไปกระซิบบอกผู้แทนนิสิตนักศึกษาข้างนอกว่า “ม่องหมดแล้วพวกในวัง”
นิสิตที่อยู่ข้างนอกที่มีคนมากระซิบว่าเขาจัดการคน (นิสิตนักศึกษา) ในวังหมดแล้ว
เพราะข่าวนี้เองทำให้คนที่ชุมนุมกันอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเคลื่อนมาที่หน้าประตูพระวรุณอยู่เจนที่สวนจิตรลดา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนจำนวนแสนมาชุมนุมกันอยู่ที่หน้าวัง
……………………………………………………………………
**(เห็นมั้ย เมื่อบ้านเมืองวุ่นวายจากการเมือง มักมีคนพยายามปล่อยข่าวลือให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์มาทุกยุคทุกสมัยว่าสั่งฆ่าประชาชน ทั้งที่พระองค์อยู่เคียงข้างประชาชน และทรงเป็นผู้ที่เข้ามาช่วยคลีคลายสถานการณ์)
(อัษฎางค์ ยมนาค)
……………………………………………………………………
พอเป็นอย่างนั้นผมก็ขอร้องพวกที่อยู่ในวังที่พูดกันรู้เรื่องแล้วให้ไปเจรจากับคนที่อยู่ข้างนอกหน่อยว่าบัดนี้อะไรๆ ก็เรียบร้อยหมดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งลงมาว่ารัฐบาลยอมปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คนแล้ว แล้วก็ปล่อยตัวแล้ว
นอกจากจะปล่อยแล้วยังมีข้อตกลงระว่างฝ่ายรัฐบาลกับผู้แทนนักศึกษาในวังเป็นลายลักษณ์อักษร และจะขอพระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 20 เดือน แทนที่จะเป็น 3 ปีตามที่รัฐบาลเคยบอก
……………………………………………………………………
ผม(พล.ต.อ.วสิษฐ) ขึ้นไปอ่านพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว และแถมท้ายว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งแบบนี้ เหตุการณ์ยุติลงแล้ว ผมเห็นว่าพวกเราสมควรยุติการชุมนุมและกลับบ้านกันได้
ผมบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวของท่านทั้งหลายไม่ได้บรรทมมา 7 วัน 7 คืนแล้ว เพราะเป็นห่วง รอฟังสถานการณ์บ้านเมือง พอผมพูดจบ ที่ประชุมก็ปรบมือกัน
จากความปีติอยู่ได้ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง ผมกำลังปีนกลับลงจากหลังคารถสองแถว ได้ยินเสียงระเบิดตูมขึ้น เป็นเสียงระเบิดแก๊สน้ำตา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตอนผู้ชุมนุมกำลังจะกลับโดยแยกย้ายกันเดินออกไปทุกทิศ
……………………………………………………………………
ผู้ที่ประสบเหตุปะทะกับตำรวจนั้นคือผู้ที่เดินกลับจากวังไปทางถนนราชวิถี ผมมาทราบทีหลังว่าที่เกิดปะทะกันขึ้น เพราะตำรวจได้รับคำสั่งว่าให้ปิดทางไม่ให้ประชาชนผ่านทางนั้น
ผู้ที่สั่งไม่ให้ประชาชนกลับบ้านจนเป็นเหตุให้ปะทะกันขึ้นคือ พล.ต.อ. ประจวบ สุนทรางกูร ขณะนั้นท่านเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ ผู้รับคำสั่งคือ พ.ต.ท. มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น (ยศในเวลานั้น) ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ต่อมาท่านได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ
คุณมนต์ชัยรับคำสั่งจากคุณประจวบให้สกัดเอาไว้ ลงท้ายเลยปะทะกัน ตำรวจใช้กระบองกับแก๊สน้ำตา เกิดการตีกันขึ้นที่หน้าวัง
พอเกิดการตีกันขึ้นก็เกิดข่าวปากต่อปากแจ้งว่าตำรวจฆ่านิสิตนักศึกษาที่หน้าวัง เท่านั้นเองการจราจลก็กระจายออกไปทั่วกรุงเทพฯ
**นี่คือที่มาของมหาวิปโยคที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516
……………………………………………………………………
เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ผมอยู่ในวังด้านประตูพระวรุณอยู่เจนแล้วก็วิ่งไปที่ถนนราชวิถีที่ตำรวจขวางทางอยู่ ยังไปไม่ถึงเลยผมก็มองอะไรแทบไม่เห็นแล้ว เพราะมีแต่แก๊สน้ำตา
ผมก็เอาผ้าเช็ดหน้าอุดจมูกวิ่งสวนตำรวจเข้าไป พอถึงนายตำรวจที่ควบคุมอยู่เขาก็ทำท่าจะไม่ให้ผมผ่าน ผมก็แสดงตัวว่าเป็นใคร และขอร้องให้ยุติและชี้แจงว่าเกิดความเข้าใจผิด แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จ นายตำรวจคนนั้นมียศพันตำรวจเอกเท่าผม เขาทำแค่พยักหน้าเฉยๆ แต่ไม่เกิดอะไรขึ้น
การปะทะกันที่หน้าสวนจิตรลดาเป็นไปอย่างรุนแรง มีนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งวิ่งมาที่ประตูวัง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้เปิดประตูเข้ามา นิสิตนักศึกษาที่ทะลักเข้ามาในวังมีประมาณ 2,000 คน ผมก็ยืนรับอยู่ที่นั่น บางคนเข้ามาถึงก็มาต่อว่าผมว่าหลอกให้ไปถูกตี ผมบอกว่าไม่รู้เรื่องเลย ผมก็อยู่กับพวกคุณนี่แหละ
พอพระองค์ทรงทราบว่านิสิตนักศึกษาเข้ามาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมพระราชินีนาถ ก็ทรงมาเยี่ยมคนที่เข้าไปในวัง ในเวลาเดียวกันข้างนอกก็มีการปะทะต่อสู้ คนที่บาดเจ็บก็เป็นประชาชน มีตำรวจเจ็บบ้าง
……………………………………………………………………
เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น เราก็ให้ฝ่ายทหารเป็นผู้ที่พยายามระงับเหตุภายนอก แล้วก็เป็นที่สังเกตว่าทหารไม่เต็มใจจะทำหน้าที่นั้นอผู้แทนนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งรับอาสาไปกับทหารเพื่อชี้แจงกับผู้ชุมนุมว่าบัดนี้อะไรต่ออะไรมันยุติลงแล้ว ปรากฏว่าที่ไปกันนี่ผู้แทนนิสิตนักศึกษาบอกว่าทหารไม่เต็มใจจะทำ แต่ก็พยายามทำ แล้วก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง
ในที่สุดการจราจลดำเนินไปจนถึงรุ่งเช้าจึงค่อยๆ ซาลง ด้วยสาเหตุว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์ สถานีวิทยุโทรทัศน์เอาเครื่องเข้าไปในวังเลย โดยพระองค์ชี้แจงให้คนฟังทราบว่าเหตุการณ์ยุติแล้ว
คนที่ดูรายการโทรทัศน์วันนั้นจะเห็นว่าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเศร้าหมองอย่างที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ผมเพิ่งเข้าไปอยู่ในวังได้ 3 ปี ไม่เคยเห็นพระพักตร์ของพระองค์เศร้าแบบนี้มาก่อน
หลังจากที่รับสั่งแล้ว ผู้ที่ได้พูดกับประชาชนต่อมาคือสมเด็จพระบรมราชชนนี (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ผมเชื่อว่าการออกโทรทัศน์ของพระองค์เอง ทำให้สถานการณ์คลี่คลายสงบลงในที่สุด ยังเหลืออยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ ในเช้าวันที่ 15 ตุลาคม
……………………………………………………………………
ในบรรดานิสิตนักศึกษาที่อยู่ในวัง ทางวังได้จัดรถส่งตามจุดที่ต้องการ พร้อมหาอาหารใส่รถไปด้วย แต่ก็มีข่าวลือแปลกๆ เรื่อยๆ วันนั้นผู้นำนักศึกษาหญิงคือคุณเสาวนีย์ ลิมมานนท์ ซึ่งเข้าไปอยู่ในวังและขึ้นรถออกมาด้วยมีข่าวปล่อยว่าถูกยิงตาย แต่ผมตามออกไปดูเองก็เห็นคุณเสาวนีย์อยู่ในรถปกติเรียบร้อยดี
……………………………………………………………………
**(อ่านมาถึงตรงนี้สังเกตเห็นอะไรไหม สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองนั้น มีคนจงใจให้เกิด และมักมีมือที่ 3 ร่วมสร้างสถานการณ์ ที่สำคัญมักมีการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้อง ด้วยการการให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าอยู่เบื้องหลัง เช่น การสั่งให้อุ้มฆ่า ซึ่งมีมานานแล้ว และปัจจุบันขบวนการสามกีบก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ เราผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว ศึกษาประวัติศาสตร์และมีสติกันให้มากลูกหลานและพี่น้องชาวไทย)
(อัษฎางค์ ยมนาค)
……………………………………………………………………
หลังเหตุการณ์ จอมพล ถนอม กิตติขจร หนีไปต่างประเทศพร้อมจอมพล ประภาส จารุเสถียร และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ตั้งอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เบื้องต้นทีเดียวอาจารย์สัญญาต้องทำความเข้าใจกับผู้แทนนิสิตนักศึกษาก่อน มีการตกลงกันหลายประการ เช่น เรื่องอภัยโทษ ค่าความเสียจากการได้รับบาดเจ็บล้มตาย ซึ่งรัฐบาลก็รับหมด ผมเองเป็นคนกลางจึงต้องทำหน้าที่นั่นอยู่จนเหตุการณ์ต่างๆ ก็ยุติลง
ช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลจอมพล ถนอม กับอาจารย์สัญญามีเหตุการณ์ที่น่าขบขันนิดหน่อยคือตำรวจไม่กล้าทำงาน กลัวนิสิตนักศึกษา ทาง ศนท. เลยตั้งเจ้าหน้าที่ติดต่อประจำทุกโรงพักสำหรับเป็นหน้าม้าให้สามารถเข้ากันได้กับชาวบ้าน คนสำคัญคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้จัดคนไปอยู่ตามโรงพักคือคุณกนก วงษ์ตระหง่าน ตอนนั้นเป็นนิสิตจุฬาฯ ออกทีวีใช้คำแรงไปหน่อยว่าบัดนี้ได้ส่งผู้แทนนิสิตนักศึกษาไปคุมโรงพักแล้ว คนก็ตกใจกันใหญ่
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ถึงกับเขียนบทความประณามว่าไปยึดโรงพักได้อย่างไร พวกเราตอนนั้นก็ล้อเลียนคุณกนกว่า อธิบดีกนก
พล.ต.อ. วสิษฐ ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า…“นี่คือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516”
……………………………………………………………………
ทั้งหมดนั้นคือคำต่อคำจากปากของ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร
อัษฎางค์ ยมนาค รวบรวมและนำเสนอ
……………………………………………………………………
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
สหรัฐอเมริกาคือจุดเริ่มต้นของตุลาวันมหาวิปโยคหรือไม่:
https://www.facebook.com/.../a.100639.../151308623876031/...
ความจำเป็นในการรับรองรัฐประหารของ ร.9:
https://www.facebook.com/.../a.100639.../150576740615886/...
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |