รีเซตมหาเถรฯ คณะกรรมการกฤษฎีกาประกาศรับฟังความเห็น แก้ พ.ร.บ.สงฆ์ หลัง ครม.บิ๊กตู่ ปิดเงียบ ไม่แถลงมติ ครม. สนช.แก้ 3 วาระรวดหรือไม่ "ไพบูลย์" เชื่อมาถูกทางแล้ว ทำให้พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เข้าไปเป็น มส.
เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th ประกาศการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โดยระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2561 รับหลักการให้มีการจัดทําร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ในประเด็นเกี่ยวกับมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะองค์กรปกครองคณะสงฆ์นั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติ ครม.วันที่ 4 เม.ย.2560 ประกอบกับมติ ครม.วันที่ 19 มิ.ย.2561 ดังกล่าว จึงเปิดรับฟังความเห็นประกอบการจัดทําร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเวลา 7 วัน ดังนี้
สภาพปัญหา มหาเถรสมาคม ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานกรรมการ สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตําแหน่ง และพระราชาคณะอีกไม่เกิน 12 รูป ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งเป็นกรรมการ และมีวาระ 2 ปี แต่ในทางปฏิบัติ ปรากฏว่าสมเด็จพระราชาคณะซึ่งเป็นกรรมการโดยตําแหน่งมักเป็นผู้เจริญพรรษายุกาล จึงชราภาพ และอาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทําให้ไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้สม่ำเสมอ บางครั้งจําเป็นต้องลาการประชุมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เหตุอย่างเดียวกันอาจเกิดได้แม้กับกรรมการอื่น ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง
นอกจากนี้ กรรมการบางรูปในขณะนี้ต้องคดีอาญา หรือมีข้อกล่าวหาจนต้องพ้นจากตําแหน่ง จึงไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน ทั้งที่องค์กรนี้จะต้องเป็นหลักในการปกครองคณะสงฆ์ และก่อให้เกิดการปฏิรูปหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังฆมณฑล จึงสมควรปรับปรุงแก้ไขที่มาและองค์ประกอบของมหาเถรฯ เสียใหม่ เพื่อให้ได้พระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร มีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์มาเป็นกรรมการและผู้ปกครองคณะสงฆ์ในลําดับชั้นต่างๆ
ตลอดจนชักนําให้เกิดการปฏิรูปหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์ และการจัดระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับวัดและวัตรปฏิบัติของพระภิกษุให้เรียบร้อยดีงามตามพระธรรมวินัย กฎหมายของบ้านเมือง ความคาดหมายของพุทธศาสนิกชน และจารีตประเพณีอันดีงามของชาติ
หลักการใหม่ ให้ยกเลิกองค์ประกอบกรรมการ มส. โดยตําแหน่ง ทั้งนี้ ยังคงให้มีกรรมการอื่นนอกจากประธานกรรมการในจํานวนเท่าเดิม (20 รูป) แต่ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ และมีพระบรมราชโองการให้กรรมการดังกล่าวพ้นจากตําแหน่งได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ หลักเดียวกันนี้ใช้กับการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาคด้วยตามที่มีพระราชดําริเห็นสมควร
ให้กรรมการ มส.ซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายคณะสงฆ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ใช้บังคับ ยังคงดํารงตําแหน่งต่อไป จนกว่าจะทรงแต่งตั้งกรรมการ มส.ขึ้นใหม่ตามกฎหมายนี้ จึงขอเชิญพระภิกษุและบุคคลทั่วไป แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการตามประเด็นดังกล่าวเข้ามาได้ทางเว็บไซต์สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 27 มิ.ย.2561
แหล่งข่าวกล่าวว่า กฎหมายเดิม สัดส่วน มส.มีสองส่วนคือ กรรมการ มส.โดยตำแหน่ง กับแต่งตั้งโดยกรรมการ มส.
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เดิมมีความพยายามขอให้กรรมการ มส.ชุดปัจจุบันลาออก โดยพยายามให้เหตุผลว่าควรเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่เมื่อมีสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ กรรมการ มส.ควรลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้พระสังฆราชทรงเลือกกรรมการ มส.ชุดใหม่ด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ ที่ผ่านมากรณีเงินทอนวัดที่เกิดขึ้นกับพระผู้ใหญ่ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ มส.ชุดปัจจุบันเป็นอย่างมาก
"น่าจับตาว่า อันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นเมื่อมีกรรมการ มส.ใหม่ จากนั้นจะมีการกำหนดวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ใหม่ ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นการปฏิรูปสงฆ์ครั้งใหญ่ ที่ดำเนินการโดย มส. ไม่ได้เกิดจากฆราวาสเข้าไปแทรกแซง" แหล่งข่าวระบุ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปคณะสงฆ์ กล่าวว่า จากข้อมูลในเว็บไซต์ของสำนักงานกฤษฎีกาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าใช้เวลาการรับฟังความคิดเห็นตามรธน.มาตรา 77 เพียง 7 วัน จากนั้นกฤษฎีกาก็จะส่งกลับไปให้รัฐบาลเพื่อส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
ซึ่งจากข้อมูลที่ปรากฏขอสนับสนุนแนวทางดังกล่าวเพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด ถูกต้อง อันจะแก้ปัญหาของวงการคณะสงฆ์ได้แน่นอน โดยเฉพาะการให้อำนาจการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรฯ เป็นพระราชอำนาจ ที่เมื่อมีการเปลี่ยนแนวทางที่มาของกรรมการฯ ไม่เป็นไปตามเดิม ทำให้พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบก็สามารถเข้าไปเป็น มส. ที่จะมีอำนาจในการปกครอง การออกมติ-คำสั่งของมหาเถรสมาคม ถือเป็นเรื่องที่ดีแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ครั้งนี้ พบว่ารัฐบาลดำเนินการแบบไม่ให้เป็นข่าว โดยพบว่าไม่ได้มีการแถลงมติ ครม.ต่อสื่อมวลชน หลังการประชุม ครม.เมื่อ 19 มิ.ย. ในการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ดังกล่าว ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลคงเห็นว่ามีความละเอียดอ่อน จึงไม่ต้องการให้เป็นข่าวก่อน อีกทั้งกระบวนการรับฟังความเห็นของกฤษฎีกา ก็ใช้เวลาแค่ 7 วันเท่านั้น
โดยขั้นตอนหลังจากมีการส่งไปให้ สนช. ต้องจับตาดูว่า สนช.จะใช้เวลาพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ ตอน สนช.เข้าชื่อกันแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์เรื่องที่มาของสมเด็จพระสังฆราช สนช.ก็ใช้เวลาพิจารณา 3 วาระรวด เสร็จในวันเดียว โดยแม้ตอนแรกจะมีกลุ่มคณะสงฆ์ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน แต่สุดท้ายก็ยุติบทบาทไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |