พลังประชารัฐลุยเต็มสูบ อาจมีคนขี่ม้าขาวเข้าพรรค
พรรคพลังประชารัฐ หนึ่งในพรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ ที่ถึงตอนนี้หลังยื่นเรื่องขอจดแจ้งใช้ชื่อพรรค ต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่ก็ดูเหมือนยังเป็นพรรคตั้งใหม่ที่ยังไม่เห็นความชัดเจนมากนักว่าพรรคจะมีการขับเคลื่อนอย่างไร แต่กลับพบว่า ในความไม่ชัดเจนดังกล่าว กลับกลายเป็นพรรคตั้งใหม่ที่ถูกจับตามองอย่างมาก เหตุเพราะถูกมองว่าเป็นพรรคที่มีคนในเครือข่ายรัฐบาลและ คสช.ที่เป็นระดับรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลคอยสนับสนุนการตั้งพรรค แต่ยังไม่พร้อมเปิดตัว ผนวกกับรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของกลุ่มนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 2 อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ที่เดินสายทาบทามอดีตรัฐมนตรี-อดีต ส.ส.หลายพรรคการเมือง เข้ากลุ่มนายสมศักดิ์-สุริยะ ที่ก็มีข่าวว่าจุดหมายปลางทางก็คือ พรรคพลังประชารัฐ โดยทางกลุ่มสมศักดิ์-สุริยะ มีนัดหมายสำคัญในการหารือการเมืองกันในสัปดาห์หน้าที่สนามกอล์ฟแห่งหนึ่ง ช่วง 29-30 มิ.ย.นี้
ชวน ชูจันทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรตลาดน้ำคลองลัดมะยม ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจฐานราก-ชุมชน ที่ได้รับการยอมรับพูดถึงอย่างมาก จนทำให้นายชวนได้รับรางวัลจากองค์กรต่างประเทศมาแล้ว แต่วันนี้แวดวงการเมืองรู้จักชื่อของ ชวน ชูจันทร์ ในฐานะ ผู้ริเริ่มการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่มีข่าวว่าเคยไปร่วมหารือการทำพรรค-เตรียมเลือกตั้งกับคนในฝ่ายรัฐบาล คสช.มาแล้วหลายรอบ กล่าวถึงทิศทางพรรคต่อจากนี้ว่า หลังจากได้ยื่นจดแจ้งใช้ชื่อพรรคพลังประชารัฐกับ กกต. ตอนนี้ทาง กกต.ก็มีหนังสือตอบมาว่าอนุมัติให้ใช้ชื่อพรรคพลังประชารัฐได้ โดยเป็นหนังสือลงวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งจะครบ 180 วันตามกฎหมายพรรคการเมืองในการจัดตั้งพรรคการเมืองจะครบในช่วง 5-6 ตุลาคม 2561 ซึ่งตอนนี้การหาสมาชิกพรรค-ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคที่ต้องไม่ต่ำกว่า 500 คน ก็ครบหมดเรียบร้อย เพราะตอนนี้ได้ประมาณ 800 คน คาดว่าจะยื่นเรื่องต่อ กกต.ในช่วงปลาย ก.ค. ดังนั้นการประชุมพรรคนัดแรกก็น่าจะเกิดขึ้นในช่วงไม่เกินกันยายน เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค จากนั้นจะได้ไปเตรียมทำเรื่องไพรมารีโหวต การจัดตั้งสาขาพรรค โดยเรื่องการหาคนไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ในพรรคเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเป็นคนที่ประชาชนเห็นแล้วมีความหวัง
-ถึงตอนนี้การพูดคุยในเรื่องนี้ก็ยังไม่นิ่ง แม้มีการพูดๆ กัน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนกว่าจะถึงวันนั้น ก็ไม่แน่ อาจจะมีคนขี่ม้าขาวมาอีกคนหนึ่ง แต่อยากให้เปิดตัวแล้วประชาชนมีความหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง
การส่งคนลงเลือกตั้ง พรรคจะส่งให้มากที่สุด เพราะเมื่อเป็นระบบที่ทุกคะแนนที่ประชาชนออกเสียงไม่เสียเปล่า การที่ทุกพรรคส่งได้ครบ ก็จะมีโอกาสมากขึ้น โดยการส่งคนลงครบทุกเขตพรรคก็ต้องใช้หลายอย่าง ใช้คนที่พร้อม ทุนที่พร้อม
..ตอนนี้ในพรรคพลังประชารัฐ มีการแบ่งหน้าที่ให้แต่ละคนรับผิดชอบกันไป อย่างผมก็รับผิดชอบไปทำเรื่องข้อบังคับพรรค ทำเรื่องนโยบายพรรคเบื้องต้น ทำเรื่องการเตรียมผู้สมัคร การจดทะเบียน พวกเราผู้ก่อตั้งพรรค ทำเรื่องพวกนี้ ส่วนตำแหน่งต่างๆ ในพรรค ใครจะดำรงตำแหน่งอะไร ต้องให้หลายฝ่ายช่วยกันคิด เพราะพรรคพลังประชารัฐไม่ได้เริ่มต้นจากผมคนเดียว แต่มีหลายคนช่วยกัน ที่แต่ละคนก็มีความสัมพันธ์กับคนหลายกลุ่ม อย่างผมก็มีความสัมพันธ์และทำงานกับเรื่องเศรษฐกิจฐานราก กับชุมชนต่างๆ ที่รู้จักกันมานาน
ชวน-ผู้ริเริ่มตั้งพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีมีข่าวอดีต ส.ส.หลายสิบคน มีโผรายชื่อจะเข้ามาสังกัดพรรคพลังประชารัฐว่า เห็นปรากฏตามสื่อ แต่ก็ไม่ได้ติดต่อตรงมาที่ผม ก็อาจมีคนให้ข่าว แต่ถามว่า เป็นอย่างไร ผมว่าก็ดี เพราะการตั้งพรรคใหม่ก็จำเป็นที่ต้องมีสมาชิกพรรค มีอดีตนักการเมืองอยู่ด้วย แล้วพลังประชารัฐ ตอนนี้หลายคนก็สนใจ มองว่าอาจจะเป็นพรรคของรัฐบาลชุดนี้ที่ทำงานอยู่ หลายคนก็เลยสนใจ เลยอยากต้องการเข้ามาร่วมทำงานด้วยกับพรรค ซึ่งผมก็มองว่าไม่ใช่เรื่องน่าตำหนิอะไร เพราะนักการเมืองเขาก็ต้องการอยากเข้าไปทำงาน คงไม่มีใครอยากไปอยู่กับพรรคการเมืองที่ดูแล้วไม่มีโอกาสได้ทำงาน ทำงานที่นี้หมายถึงนำความรู้อะไรต่างๆ ไปทำให้เกิดผลรูปธรรมในทางปฏิบัติ ส่วนที่บางคนมองว่าพวกนี้อยากใหญ่อยากโต ก็แล้วแต่จะมองกัน
ถามถึงความชัดเจนกรณีข่าวมีคนในรัฐบาล เช่น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ-อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ คือคนที่ร่วมทำพรรคพลังประชารัฐ แต่ยังไม่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ ชวน ชูจันทร์ เพื่อนร่วมรุ่นธรรมศาสตร์กับ ดร.สมคิด กล่าวว่า ก็มีข่าวมาเรื่อยๆ ว่าคนในรัฐบาล อยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ในวันนี้ก็ยังไม่ชัดเจน เพราะคนที่ตัดสินใจจริงๆ ก็คือตัวบุคคลผู้นั้นเอง ที่จะตัดสินใจว่าจะอยู่ที่ไหน จะทำงานการเมืองต่อหรือไม่ เราคงไม่ไปพยากรณ์อะไรได้ ต้องคอยดูไป เพียงแต่ว่านักการเมืองในรัฐบาลที่ต้องการทำงานต่อ ที่ก็คือต้องทำในฐานะเป็นรัฐบาล แต่จะไปอยู่พรรคไหน ก็แล้วแต่เขาตัดสินใจ แต่พรรคพลังประชารัฐ เราไม่รังเกียจ บางพรรคอาจรังเกียจ แต่สำหรับพลังประชารัฐ ทุกคนก็อยากมาทำงาน มาขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยกันก็ยินดี
-พรรคพลังประชารัฐจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง แล้วพลเอกประยุทธ์จะมาอยู่กับพรรคหรือไม่?
ต้องดูในระยะเวลาที่เหมาะสม เช่น หลังเลือกตั้ง หรือใกล้ๆ เลือกตั้ง วันนี้ยังพูดยาก เพราะไม่รู้ว่าท่านนายกฯ อยากทำงานต่อหรือไม่ หากนายกฯ อยากทำงานต่อแล้วมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่มีปัญหา ถือว่ามีเจตนาดีที่จะมาขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยกัน เพราะพรรคพลังประชารัฐไม่เป็นปฏิปักษ์กับใคร ใครอยากมาทำงานเพื่อส่วนรวม เราก็ไม่รังเกียจ เช่นเดียวกับคนอื่น
ไม่ใช่แค่พลเอกประยุทธ์ หากจะมีอดีต ส.ส.คนอื่นๆ ที่ต้องการมาทำงานร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ก็ติดต่อมา ไม่ต้องผ่านผมก็ได้ ติดต่อผ่านมาทางใครก็ได้ที่ท่านรู้จัก แล้วก็เข้ามาทำงานร่วมกัน ให้มีความหลากหลายทางความคิด
ตอนนี้พลังประชารัฐก็เดินหน้า เพราะว่ารวมตัวกันหลายคนแล้ว ยังไงก็ไม่แท้ง ตั้งครรภ์ใหญ่มาแล้ว ยังไงก็ต้องคลอด แต่ต้องคลอดแล้ว ต้องทำให้ทุกคนมีความหวังกับพรรค บนหลักคือเป็นพรรคที่ให้ทุกคนมาคิดร่วมกัน มาทำงานร่วมกัน ตอนนี้ ระยะนี้อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านจากระบบพิเศษไปสู่ระบบปกติ มันก็อาจยุ่งยากซับซ้อน แต่ก็ต้องช่วยกัน ร่วมมือกันทำงาน ร่วมมือกันคิด ผมก็เข้าไปมีส่วนเล็กๆ ในการทำพรรคการเมือง เพื่อจะส่งให้คนรุ่นหลังได้เข้าไปทำงานในระบบให้มั่นคง”
ชวน ยังกล่าวถึงกรณีคนมองว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคทหาร พรรค คสช.ว่าคนอยู่ในระบบไหนก็จะคิดแบบนั้น อย่างคนเป็นทหาร ก็อาจจะมีบุคลิกภาพอย่างหนึ่ง ก็คือรับคำสั่งกับคอยสั่ง ที่คุ้นเคยแบบนั้นมาตลอดชีวิต ส่วนราชการ ก็มีระบบคิดอีกแบบหนึ่ง แต่ผมมองว่า ไม่ว่าจะเป็นระบบคิดแบบไหน แต่หากนำมาใช้เพื่อสร้างประโยชน์ให้ส่วนรวมได้ อย่างผมก็มีวิธิคิดอีกแบบหนึ่ง เพราะผมอยู่กับชาวบ้าน มันก็อยู่ที่ว่าจะเอาของใครมา ก็อย่างที่ตอนนี้เขาพูดกัน นักการเมืองคุยกันเปลี่ยนโลกได้ หรือจะทำลายโลกก็ได้ เห็นได้จากกรณีของ โดนัลด์ ทรัมป์ และคิม จองอึน ทำนองเดียวกัน นักการเมืองก็เช่นกัน ต้องคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างไร ไม่ใช่คิดแค่ว่า พรุ่งนี้พระอาทิตย์ก็ขึ้น เย็นนี้พระอาทิตย์ก็ตก ก็อยู่กันไปแบบนี้ก็ดีแล้ว ถ้าได้นักการเมืองแบบนี้มาก็ไม่มีประโยชน์อะไร ทุกอย่างคงพัฒนาไปไม่ได้ แต่ต้องคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเรื่องต่างๆ จะแก้ไขอย่างไร จะทำให้ดีขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ยังไง
นักการเมืองคือส่วนสำคัญ เห็นได้จากพอเกาหลีเหนือกับสหรัฐจับมือกัน โลกทั้งโลกยิ้มทันที นักการเมืองจึงมีความสำคัญมากในการทำให้ประเทศไทยจมเหวหรือรุ่งเรืองได้ ที่ต้องปรับวิธีคิดกันพอสมควร ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นใคร ประกอบอาชีพอะไร อยากเข้ามาทำงานเพื่อบ้านเมืองก็ควรเข้ามาช่วยกัน เพราะตอนนี้ประเทศมีหลายปัญหา เช่น รวยกระจุก จนกระจาย คนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ถือครองทรัพย์สินส่วนใหญ่ของประเทศร่วม 70 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ต้องดูว่าจะเข้าไปแก้ไขอย่างไร หากไม่แก้ไข เมื่อไปถึงจุดหนึ่ง ก็อาจเกิดสงครามชนชั้น ไม่สนใจแล้วว่าจะเป็นของใคร หากเกิดอดอยาก
อย่างเรื่องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ หากเราคิดเพื่อส่วนรวม ลดทิฐิ หลังเห็นปัญหาในอดีตของชาติ แล้วคิดจะขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกัน ถ้าแบบนี้ก็ไม่ต้องมาจับมืออะไรกันเลย ถ้าได้แบบนี้ ยังไงเกิดความปรองดองแน่นอน เพราะวันนี้สภาพมันเหมือนหลังสงคราม ต้องร่วมกันคิดว่าจะขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตไปได้อย่างไร หากยังเอาปัญหาการเมืองมาเป็นอุปสรรคในการนำพาประเทศ แบบนี้จะยิ่งไปกันใหญ่
“แล้วผมบอกเลยว่า หากไปสร้างปัญหาอีกมากๆ แล้วจะไม่มีการยึดอำนาจอีก ไม่จริงหรอก ทหารหนุ่มเขาก็คิด เขาก็รักประเทศเหมือนกัน เขาอาจมาเร็วกว่านี้ก็ได้ ถ้าเราไปสร้างปัญหาใหม่ ทหาร old soldiers อาจไม่ไหวแล้ว แรงหมด แต่อย่าลืมทหารหนุ่มเขาก็มีความคิดของเขา เขาอาจมีอะไรที่จะมาหยุดยั้งพวกเราในอนาคตก็ได้ ถ้าพวกเราพวกที่เป็นฝ่ายบริหารบ้านเมือง ยังสร้างปัญหากันไม่จบสิ้น เพราะว่าวันนี้หลายอย่างมันก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว การคิดว่าประชาธิปไตยต้องอยู่ คนมาช่วยเรา ผมคิดว่าไม่จริง แต่เราต้องสร้างของเราเองให้ได้”
...เพราะขอบเขตพื้นที่ประชาธิปไตยมันก็มี ก็เหมือนรั้ว รั้วของระบอบสังคมนิยมก็มีมากหน่อย แต่รั้วของประชาธิปไตยก็มีเหมือนกัน เสรีร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีหรอก เพราะคุณไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ไม่ใช่มาบอกว่าต้องทำให้เสรีร้อยเปอร์เซ็นต์ ประชาธิปไตยต้องทำโน่นทำนี่ได้ ไม่จริง ไม่จริง แต่ต้องทำอะไรก็ได้ที่ไม่เดือดร้อนชาวบ้าน
รัฐบาลชุดนี้เข้ามาด้วยเหตุผลพิเสษ ใครที่บอกว่าประชาธิปไตยไม่คืบ เพราะทหาร พูดแบบนี้ ก็ถูกครึ่งเดียว เพราะไม่ได้พูดว่าแล้วเหตุผลอะไรทำให้ทหารต้องเข้ามา เพราะตอน คสช.เข้ามา ก่อนหน้านั้นประชาธิปไตยมันเละหมดแล้ว ก่อน คสช.เข้ามา เวลานั้น เป็นเมืองที่ไร้รัฐแล้ว หาก คสช.ไม่เข้ามา เลือดก็นองท้องช้างแล้ว ผมยังมองว่าทหารเข้ามาช้าไปด้วยซ้ำ เพราะกว่าจะเข้ามาคนก็ตายและบาดเจ็บไปจำนวนมาก ทั้งที่พวกนักการเมืองต้องทำให้คนรวมตัวกัน รักกัน ปรองดองกัน แต่ประเทศไปถึงจุดนั้นได้ยังไง เป็นนักการเมืองต้องทำให้คนมาร่วมมือทำงานกับคุณให้มากที่สุด คนที่เข้าใจอะไรผิด ต้องทำให้เขาเข้าใจให้ถูกต้อง
ที่ผมพูดแบบนี้ได้ เพราะอย่างตลาดน้ำคลองลัดมะยม ผมทำคนเดียวตั้งแต่ปีแรก แล้วก็เพิ่มเป็น 2 คน 3 คน จนตอนนี้คนมาร่วมกันทำตลาดน้ำคลองลัดมะยมเป็นพันๆ คน นักการเมืองก็ต้องทำแบบนี้ให้คนมาร่วมกันทำงาน ทำให้เขาเห็นความหวัง มาร่วมทำงานร่วมกัน
ดังนั้นใครมาบอกว่า ทหารมาขวางประชาธิปไตย ผมว่าพูดไม่หมด เพราะเมื่อฝ่ายต่างๆ ที่ไปร่วมประชุมที่หอประชุมกองทัพบกเมื่อ 22 พ.ค.57 ไม่สามารถตกลงกันได้ เขาก็ยึดอำนาจ ผมยังจำได้ ก่อนทหารจะยึดอำนาจ มีการพูดเรื่องจะแบ่งประเทศ มีการสะพายปืนสงครามขี่มอเตอร์ไซค์ ถามว่าเราไปถึงจุดนั้นได้ยังไง คุณดูตัวอย่าง ในต่างประเทศมีบางประเทศที่มีภาพแบบนี้คือประเทศไร้รัฐ ก็เป็นลักษณะใครมีอาวุธ ฝ่ายนั้นชนะ ฝ่ายแพ้ก็ยอมไปก่อน สักพักก็ไปยึดคืน ซ่องสุมกันเป็นกองโจร 2 ฝ่าย 3 ฝ่ายในประเทศ ประเทศเราวันนี้เหมือนกับช่วงหลังสงคราม ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติที่ทะเลาะกันทั่วไป แต่จริงๆ ก็ยังดีกว่าสมัยหลังสงครามมาก แต่เราต้องมาคิด มาตั้งหลักอะไรกันใหม่ มาร่วมกันคิดว่าจะสร้างประเทศกันอย่างไร
เมื่อ คสช.เข้ามาด้วยวิธีพิเศษ ที่เขาเข้ามาเพราะต้องการแก้ปัญหาความรุนแรงในช่วงก่อนวันทำรัฐประหาร มาถึงตอนนี้ 4 ปีที่ผ่านมา ผมก็มองว่า คสช.ก็ทำสำเร็จแล้วเรื่องการทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่มีใครกล้าจะชักปืนขึ้นมายิงกัน มาปิดถนน เมื่อทำให้บ้านเมืองสงบแล้ว สิ่งที่จะทำเรื่องการพัฒนา การปฏิรูป เวลามันผ่านไปเร็ว คสช.ก็ทำได้แค่ในโครงสร้างเดิม ซึ่งก็ยากที่จะทำอะไรได้หมด เพราะการปฏิรูป การพัฒนาชุมชน มันต้องใช้เวลา เพราะ คสช.เองก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น เรื่องความเรียบร้อย ขณะเดียวกันก็ต้องแก้ปัญหาระยะยาว เช่น เรื่องเศรษฐกิจ แต่เมื่อทุกอย่างอยู่ในโครงสร้างเดิม มันก็ทำให้เปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนได้ยาก เพราะแค่งานแต่ละวันก็เยอะแล้ว จะให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงทันทีเลยคงไม่ได้
อย่างหลังไปยื่นจดแจ้งตั้งพรรคพลังประชารัฐ ผมก็ไม่เคยให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่จะทำให้พรรคไปเป็นปฏิปักษ์กับใคร วันนี้เราต้องการให้ทุกคนมาร่วมกันคิด เพื่อแก้ปัญหาประเทศไทยให้ได้ พรรคพลังประชารัฐไม่อยากให้คนมามัวแต่สนใจว่าใครจะมาเป็นหัวหน้า เป็นเลขาธิการพรรค
พลังประชารัฐ พรรคทหาร-คสช.?
-ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐก็ต้องถูกตั้งคำถาม ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพรรคทหาร พรรค คสช. จะตอบคำถามเหล่านี้อย่างไร?
เมื่อเราจะเปลี่ยนแปลงประเทศ อยากให้ใช้คำพูดหรืออย่าสร้างวาทกรรมที่เป็นลักษณะการแบ่งพวก แบ่งกลุ่ม เช่น มาบอกว่าพวกนี้ฝ่ายเผด็จการ พวกนี้คือฝ่ายประชาธิปไตย แบบนี้ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปใช้ความคิดให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพราะยังไงเราก็ต้องอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่บอกว่า คุณเป็นพรรคทหาร อีกฝ่ายเป็นพรรคพลเรือน มาสู้กัน แบบนี้ไม่ได้ แน่นอนว่าแต่ละฝ่ายก็ต้องมีข้อบกพร่อง แต่การที่คนเขาอยากทำงานต่อเนื่องแล้วมาบอกว่า เขาต้องการสืบทอดอำนาจ แบบนี้มันบั่นทอนกำลังใจเขา
อย่างตัวผมบอกอยากทำงานอยู่ในชุมชนตลาดน้ำคลองลัดมะยมต่อไปอีก 2-3 ปี แล้วมาบอกว่า ลุงชวน ชูจันทร์ อยากสืบทอดอำนาจ ผมว่ามันก็ไม่ใช่ ก็ลองมาทำงานร่วมกันดูก่อน เพราะอย่าง “ทหาร” เขาก็ต้องเปลี่ยน เพราะทหารวันนี้ไม่ต้องรบทัพจับศึกแบบเดิม เขาก็ต้องดูว่าจะปรับบทบาทอย่างไรให้เหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์ ก็หากเขาอยากมาทำงานส่วนรวม ไม่ใช่ว่าไปแบ่ง ทหารต้องแค่นั่งเฉยๆ อย่ามายุ่ง คงไม่ใช่ เพราะหากการเมืองเข้าที่เข้าทาง ทหารก็ต้องไปทำงานในหน้าที่ของเขา เขาก็ต้องกำหนดบทบาทตัวเองโดยปริยายอยู่แล้ว
ไม่ใช่ว่าคนอื่นก็ไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วไปกำหนดบทบาทคนอื่น แบบนี้ใช้ไม่ได้ เพราะเมื่อคุณทำให้เกิดความเสียหาย เมื่อคนที่เขารักประเทศไทย เขาอยู่เฉยไม่ได้ ทนไม่ได้ ประเทศที่การเมืองและประชาชนเขาเข้มแข็ง ฝ่ายอื่นๆ จะเข้าไปยุ่มย่าม ก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว
หากใครมีความรู้ อยากร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองก็เข้ามาที่พรรคพลังประชารัฐได้ ผมไม่ได้คิดว่าทหารจะต้องแย่ แล้วพลเมืองจะต้องดี ไม่อยากให้ไปใช้วาทกรรมแบบนั้น เอาแบบนี้ว่าใครที่คิดว่ามีความรู้ มีความเหมาะสม ก็ขอให้เข้ามา
ชวน ชูจันทร์ กล่าวต่อไปว่า การขับเคลื่อนพรรคพลังประชารัฐตอนนี้ก็มีการคุยกันถึงเรื่องนโยบายพรรคไว้แล้ว โดยหลักๆ ต้องเป็นนโยบายที่ต้องเกี่ยวกับทุกเรื่อง เพราะสังคมมีหลายกลุ่มคน ต้องทำให้ครอบคลุมทั้งสาธารณสุข การคมนาคม การศึกษา วิทยาศาสตร์ พลังงาน แรงงาน เป็นต้น หลักก็คือต้องทำอย่างไรให้มันมีคุณภาพดีขึ้น
...พอเข้าไปทำงานแล้วต้องทำให้นโยบายเกิดผลสำเร็จได้อย่างไร อย่างผมก็เน้นเรื่องนโยบายการทำให้องค์กรชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง เพราะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนที่เข้มแข็งอยู่แล้วเราไม่ต้องไปทำอะไรกับเขามาก แต่คนที่เขาไม่พอกินต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้เขามีชีวิตดีขึ้น ทำให้เขามีรายได้ มีอาชีพ มีความหวัง สร้างเมืองสร้างงานในหลายพื้นที่ ไม่ใช่ตลอดปีกลับมาเยี่ยมพ่อแม่ได้ปีละห้าวันเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ ดีใจกันได้แค่ห้าวันจากนั้นครอบครัวก็ห่างกัน พ่อแม่ร้องไห้คิดถึงลูกตลอด เราต้องวางแนวให้มีการปฏิรูปวิธีคิดและการใช้ชีวิตของคนในสังคม เช่นต้องคิดให้ได้ว่าจะเอามั่งคั่งหรือเอามั่นคง จะเลือกสิ่งไหนก่อน
เวลานี้ประเทศไทยพึ่งตนเองไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หากยังเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ประเทศจะลำบากเพราะทำอะไรเองไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือแค่ใช้เป็นแต่ทำเองไม่ได้ ไม่ใช่เป็นเศรษฐกิจพึ่งตนเอง ประเทศที่ด้อยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่มีทางที่จะพัฒนาประเทศได้เร็ว เรื่องนโยบายการพึ่งพาตนเองด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ค่อยมีใครพูดถึงให้ความสำคัญ
เมื่อตั้งชื่อพรรคพลังประชารัฐ และทำงานด้านชุมชน-เศรษฐกิจฐานรากมาตลอด จึงถามว่ามองอย่างไรกับการขับเคลื่อนนโยบาย ประชารัฐ ของรัฐบาล คสช. ที่ให้ภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคมร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ถูกมองว่าเป็นนโยบายหาเสียงที่เอื้อกลุ่มทุนใหญ่ ชุมชนและชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์ เรื่องนี้ ชวน-ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรตลาดน้ำคลองลัดมะยม กล่าวว่า หลังมีการตั้งพรรคพลังประชารัฐมีผู้นำหลายชุมชนติดต่อมาหาผมเพื่อพูดคุยกัน ผมก็บอกเขาว่าให้มองไปรอบๆ ตัวว่าวันนี้ที่จะต้องมีการปฏิรูปประเทศคุณอยากทำอะไร บางคนบอกว่าอยากทำเรื่องการท่องเที่ยวทางน้ำ บางคนต้องการทำแพฝายน้ำล้นเพื่อการท่องเที่ยว ผมก็ให้เขาทำแผนงานมา ผมก็ให้พวกเขาตั้งโจทย์ว่าในพื้นที่ของตัวเองต้องการทำอะไร อยากมีร้านค้ามีตลาดในชุมชน ก็ให้เขียนแผนมา คือต้องเลิกคิดว่าทำอะไรไม่ได้ ต้องเลิกคิดว่าอยากทำโครงการอะไรแล้วแต่หน่วยราชการไม่ให้ทำ เรื่องพวกนี้ต้องทำความเข้าใจกันเยอะ เหมือนกับเราทำพรรคการเมือง ที่ก็เหมือนกับการทำโรงเรียนที่เป็นการใช้พื้นที่ประชาธิปไตยในประเทศไทย ที่ผ่านมาเรานำระบอบนี้มาใช้แต่ไม่ค่อยเข้าใจอย่างแท้จริงมันก็เกิดปัญหา ถ้าเรารักประเทศเราต้องคิดกันให้ดี ประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์ในโลกไม่มีแล้ว คนเขียนตำราเรื่องพวกนี้มาสามร้อยกว่าปี ป่านนี้เขาเสียชีวิตไปอยู่ถึงไหนแล้ว เช่นเดียวกับคอมมิวนิสต์วันนี้ก็หมดแล้ว แปรเปลี่ยนไปจากตำราที่เคยเขียนระบบนี้ พวกสุดโต่งแบบอดีตไม่มีแล้ว ส่วนแนวทาง "รัฐสวัสดิการ" ในประเทศยากจนจริงๆ ก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องให้ประเทศรวยก่อน แต่ทำเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีความสุขมั่นคง
...บางคนพูดว่ารัฐบาลชุดนี้เอนเอียงไปให้ฝ่ายทุน ผมว่าโดยโครงสร้างก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2515-2516 แล้ว อย่างยุคก่อนชัดเจนเลยคือ ทุนกับรัฐบาลคือชุดเดียวกัน อย่างท่านอดีตนายกฯ ที่อยู่ต่างประเทศชัดเจนเลย ทุนกับรัฐบาลแยกกันไม่ออก เมื่อโครงสร้างเป็นแบบนี้ คนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มข้างบนก็ต้องเสียเปรียบโดยโครงสร้าง
ชวน กล่าวต่อไปว่า การที่รัฐบาลทำนโยบายประชารัฐ โดยให้เอกชน-ภาครัฐ-ภาคประชาสังคมและชุมชนร่วมมือกัน ผมว่าแค่คิดผมก็ให้คะแนนเขาแล้ว แต่การทำให้เป็นรูปธรรมมันก็ไม่ใช่ง่าย กับการทำให้คนและระบบที่อยู่ในโครงสร้างเดิมที่อยู่กันมา 40-50 ปี จะมาปรับเปลี่ยนให้มีผลทันทีไม่มีทาง แต่เราวางเป้าไว้แล้วว่า หลังจากเปลี่ยนผ่านช่วงนี้ไปแล้วต้องทำตรงนี้ให้ได้ คือจากเดิมที่ระบบงบประมาณ อะไรต่างๆ ที่โครงสร้างให้ลงมาเป็นท่อตามระดับต่างๆ เช่น รัฐบาลไล่ลงมาถึงรัฐมนตรี หน่วยงานต่างๆ แล้วค่อยลงมาถึงฐานราก ระดับตำบล แบบนี้ต้องปรับเปลี่ยน ต้องตัด ถ้าเราจะให้ฐานรากเขาอยู่ให้ได้ เช่นหากชุมชนใดต้องการทำโครงการไหนในพื้นที่ ก็ให้ทำโครงการมาโดยไม่ต้องผ่านหน่วยราชการ แต่ให้มีการตรวจสอบการใช้เงิน
ขณะที่โครงการต่างๆ เช่น ตำบลละ 5 ล้านบาทหรือกองทุนหมู่บ้าน ก็มองว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เราต้องเพิ่มเช่น Know-how ความรู้ในขั้นตอนต่างๆ เพิ่มขีดความสามารถเฉพาะตัว เพิ่มวิธีคิดของคน อย่างตลาดน้ำคลองลัดมะยมเป็นโมเดลที่เห็นชัด ใหม่ๆ คนในชุมชนก็เก็บผักเก็บผลไม้มาวางขาย ถามว่าทำไมไม่แปรรูปเพื่อให้ได้มูลค่าเพิ่ม อย่างเก็บมะม่วงมาวางขายก็ได้โลละ 30 บาท ก็ขายกันแบบนี้ ราคาแบบนี้ 30 ปี แต่หากแปรรูปเช่นทำน้ำมะม่วงปั่น ทำน้ำมะม่วงขายใส่กล่อง UHT ก็ทำให้ราคาขยับขึ้นไปเกือบๆ โลละ 300 บาท แต่ถามว่าคิดได้แต่ทำมันง่ายหรือไม่ เพราะหากจะแปรรูปก็ต้องซื้อเครื่องจักร แล้วจะเอาเงินจากไหนมาซื้อ พอเริ่มทำก็ต้องคิดต่อไปว่าแล้วจะนำไปขายต่อ ขายส่งที่ไหน เรื่องพวกนี้ต้องทำให้เขาคิดเองให้ได้ ไม่ใช่บอกว่าอยากทำให้มะม่วงมีราคามากขึ้น อยากแปรรูป มีเงินหนึ่งแสนจะทำ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร แบบนี้ก็ไม่มีทางสำเร็จ
เราต้องทำให้เขามีโน-ฮาว มีความตั้งใจที่จะทำ วันนี้โจทย์หลายอย่างอยู่ที่ชาวบ้านแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ ส่วนพวกบริษัทเอกชนในความร่วมมือตรงนี้ ก็มีความสำคัญเพียงแต่ต้องดูให้ชัดว่าจะให้เอกชนเข้ามาแค่ไหน แล้วจะให้ออกไปเมื่อใด เพราะสุดท้ายก็ต้องเป็นคู่แข่งกัน วันนี้บริษัท ก.ที่ใหญ่มากอาจเริ่มต้นเข้ามาดูแลบริษัท ข.ที่เป็นของชาวบ้าน แต่ต้องไม่ทำให้ 20 ปีผ่านไป บริษัท ข.กลายเป็นบริษัทเครือข่ายของบริษัท ก.
ถามย้ำว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเท่านั้น ชวน-ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า หลายคนที่มาร่วมกันทำงาน พูดตรงกันว่าบ้านเมืองต้องการพรรคการเมืองที่ทำงานต่อเนื่องให้ได้ เพราะอดีตก็เห็นแล้ว ตั้งพรรคมาพอบางคนไม่อยู่พรรคก็เลิก ไม่ทำต่อ แล้วต่อมาก็มีคนมาตั้งพรรคกันใหม่ ก็เป็นแบบนี้มาเรื่อย ซึ่งหากเป็นแบบนี้ต่อไปมันขับเคลื่อนประเทศไทยไม่ได้ เพราะอย่างในต่างประเทศเช่นในอาเซียน ก็จะเห็นว่าหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือญี่ปุ่น ต่างก็มีระบบพรรคการเมืองที่บางพรรคอยู่ยาวนานเป็นฐานที่แน่น ดังนั้นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นก็ต้องมีเป้าหมาย
“แต่หากจะไปไม่ถึงตามที่ตั้งเป้าไว้ ก็ต้องแล้วแต่เหตุการณ์ อาจต้องยุบ ต้องเลิก ความเปลี่ยนแปลงก็ต้องเกิดขึ้นเสมอ ถ้าทำพรรคแล้วไม่สำเร็จ ก็เลิก ก็หยุด ก็เปลี่ยน”
แต่หากเราต้องการให้ประเทศเราอยู่ในระบอบนี้อย่างมั่นคง ต้องสร้างความเข้าใจและปฏิบัติให้ถูก เช่นพื้นที่ประชาธิปไตยควรมีขอบเขตแค่ไหน ไม่ใช่ว่าพื้นที่ประชาธิปไตยแล้วใครจะทำอะไรก็ได้ แล้วทำให้คนอื่นเดือดร้อน แล้วคนก็จะชอบ เพราะระบอบนี้มีส่วนดีมาก อย่างน้อยในการเปลี่ยนแปลงมันก็เกิดขึ้นโดยสงบ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนในกติกา คือเมื่อแพ้ก็ต้องยอมรับว่าแพ้ ซึ่งเรื่องพวกนี้ต้องบอกให้ชาวบ้านเข้าใจว่าระบบนี้ใช้ได้
การทำพรรคการเมืองเพื่อพัฒนาประเทศ ไม่ใช่เรื่องวัน-สองวัน กว่าจะให้เข้าใจกันได้ เอาแค่สมาชิกพรรคเดียวกันเองกว่าจะพูดให้เข้าใจกันได้ก็ไม่ใช่ง่าย เพราะแค่ไปบอกให้คนมาสมัครสมาชิกพรรคก็ต้องมีคำถามทำนองว่า "เป็นสมาชิกพรรคแล้วยังไง" หรือ "เป็นสมาชิกพรรคแล้วผมจะได้อะไร" ซึ่งที่ผ่านมาผมก็เจอ คือถ้าพูดกันแบบนี้ก็จบแล้ว ต้องไปเรียนกันใหม่ มันก็เหนื่อย.
ปชต.ทางเศรษฐกิจ-ตลาดคลองลัดมะยม
สู่โมเดลทำพรรคพลังประชารัฐ
สัมภาษณ์ ชวน ชูจันทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรตลาดน้ำคลองลัดมะยม ในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ตลาดน้ำเปิด มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเที่ยวจำนวนมาก จึงถามถึงความสำเร็จของตลาดคลองลัดมะยม ที่นายชวนบอกว่าตลาดแห่งนี้เริ่มจากคนไม่กี่คน แต่ตอนนี้ มีคนมาร่วมกันเป็นพันคน จนตั้งสหกรณ์ของชุมชนฯ และเป็นโมเดลเศรษฐกิจฐานรากที่มีคนสนใจมาดูงานจำนวนมาก โดย ชวน ชูจันทร์ เล่าว่า การที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยมสำเร็จได้ทุกวันนี้เกิดจากการทำงานร่วมกัน มันอาจแก้ปัญหาไม่หมดทุกเรื่องแต่ตรงนี้ทำให้เราเติบโตได้ ผมก็อยากใช้ประสบการณ์ตรงนี้เมื่อไปทำงานการเมือง คือทำการเมืองแล้วทำให้ทุกคนทำงานร่วมกันกับผมและกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะถ้าไม่ใช้วิธีนี้ไม่มีทางแก้ปัญหา ไม่มีทางขับเคลื่อน ไม่มีทางทำให้เติบโตได้ เพราะที่ตลาดน้ำหลายคนที่อยู่ตรงนี้จริงๆ จะไปที่อื่นก็ได้ แต่เขาก็ไม่ไปเพราะเขาอยากมาทำงานกับผมตรงนี้ วันนี้เราถึงเติบโต มีที่ มีคลอง มีต้นไม้
อย่างผมทำตลาดน้ำคลองลัดมะยม ไม่ได้ซื้อที่ดินเลยแม้แต่บาทเดียว แต่มันเติบโตได้เพราะมีคนอื่นๆ มาร่วมกันทำงาน ทำตลาดมาก็ไม่เคยทะเลาะกับใครเพราะต้องทำงานร่วมกัน ชาวบ้านจะถูกใจ ไม่ถูกใจ ไม่ชอบเราก็ไม่เป็นไร
ผมทำชุมชน ผมก็คิดว่าผมจะขับเคลื่อนชุมชนได้อย่างไรจากประสบการณ์ที่มีอยู่ มีหลายชุมชนมาคุยกับผม เขาบอกว่ามีเงินอยู่มากแต่ไม่กล้าทำอะไร เพราะพอจะทำอะไรก็มีคนไปขู่ ใช้เงินไม่ดีเดี๋ยวมีความผิดติดคุกได้ คนฟังเลยบอกงั้นอยู่เฉยๆ ไม่ดีกว่าหรือ เลยไม่ได้นำเงินในชุมชนไปทำโครงการอะไร ก็ไม่เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ละชุมชนก็ควรต้องมีการประชุมกันเพื่อตัดสินใจว่าจะทำอะไร ไม่เช่นนั้น ขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนไม่ได้
เมื่อถามว่าในการเข้าไปทำงานการเมือง จะนำประสบการณ์ที่เคยทำตลาดคลองลัดมะยม ไปขับเคลื่อนนโยบายเรื่องเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งได้อย่างไร ชวน กล่าวตอบว่าก็ต้องนำไปทำ ต้องยอมรับว่าวันนี้คนที่จะขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้หายากมาก พรรคที่เกิดใหม่หลายพรรคมองไม่ถึงสิ่งเหล่านี้ นักกฎหมายก็มองเฉพาะเรื่องโครงสร้างกฎหมาย เพราะเขาเห็นปัญหาของข้อกฎหมาย แต่เราเห็นปัญหาในทางปฏิบัติ เมื่อเราเห็นปัญหาต่างๆ ก็ต้องการไปแก้ปัญหา
ก่อนตั้งพรรคพลังประชารัฐก็มีชุมชนต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 30-40 ชุมชนที่เขามาเชื่อมกับเรา เพื่อต่อไปจะขับเคลื่อนไปด้วยกัน เช่นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชนจากสินค้าและบริการ อย่างพื้นที่ตรงนี้ตลาดน้ำคลองลัดมะยมให้บริการนั่งเรือชมธรรมชาติ มีรายได้วันละเป็นหมื่น ซึ่งไม่ใช่แค่ที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยมแต่ทุกที่ก็ทำแบบนี้ได้ เพราะวันนี้ประเทศไทยไม่ใช่แค่ที่กรุงเทพฯ แล้ว จะเป็นเมืองชายชอบอะไรต่างๆ ก็ทำได้หมด เพราะการคมนาคมมันสะดวก
ฐานรอบๆ ต้องเอาชนบทเป็นตัวตั้งให้ได้ เมืองโตเดี่ยวต้องไม่มีอีกต่อไป ทุกเมืองต้องมีความใกล้เคียงกัน การอพยพไปทำงานข้ามพื้นที่ควรจะน้อยลง แผ่นดินที่ว่างต้องเอาคนรุ่นใหม่ไปทำให้ได้ ไม่ใช่เรียนหนังสือไปเพื่อวันข้างหน้า มีการรับสมัครงานราชการหนึ่งตำแหน่งแต่ไปสมัครกันเป็นหมื่น
ทุกสังคมทุกประเทศก็มีความเหลื่อมล้ำ เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ช่องว่างมีไม่มากนัก ก็ต้องให้คนด้อยโอกาสพึ่งตนเองได้ คือพึ่งตนเองได้ในด้านเศรษฐกิจในชุมชน-พึ่งตนเองได้ในเรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หรือเป็นผู้ประกอบการในชุมชนให้ได้ เพราะหากเขาพึ่งตนเองในสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ก็ไม่มีทางโต
ยกตัวอย่างชาวนารวมตัวกันหลวมๆ ทำนาแล้วนำข้าวไปขาย แต่พอทำไปสักระยะจะต้องยกระดับตนเอง จากแรกๆ อาจนำข้าวไปขายคนอื่น ก็ต้องยกระดับเป็นการประกอบการทางการเกษตร ต้องมีเป้าให้ชัดเจนแบบนี้ เช่นหากเราตั้งเป้าหมายว่าในชุมชนต้องมีธนาคารของตัวเอง ซึ่งหลายประเทศก็มี ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เรียกว่า ธนาคารชุมชน เหมือนกับธนาคารทั่วไป มีนิติบุคคล ร้านค้าของตัวเองเช่น สหกรณ์ หรือบริษัทของตัวเองในชุมชน โดยคนในชุมชนเป็นคนจัดการ คือทำแบบเป็นผู้ประกอบการ ปลูกข้าว ก็ต้องเป็นผู้ประกอบการด้านข้าว ต้องทำให้ระดับฐานราก เป็นผู้ประกอบการชุมชนให้ได้
“ก็จะเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ คือมีข้อต่อรอง ไม่มีใครมาบีบคอใครได้"
การขับเคลื่อนตรงนี้ ไม่ใช่ว่าวันนี้อยู่ 1.0 แล้วจะกระโดดไป 5.0 เลย การพัฒนาข้ามขั้นก็อาจทำได้ลำบาก คนที่เคยจับสอบจับเสียมมาสามสิบปี อยู่ๆ เอาระบบแอปพิเคชันไปให้ แล้วบอกว่าไถนาด้วยสิ่งนี้เถอะลุง แบบนี้มันก็ไม่ได้ แต่เราก็ต้องไปตรงนั้น เพราะหลายอย่างมันเปลี่ยน เราจะใช้ระบบเดิมไม่ได้
ตั้งคำถามว่า หากประชาชนเลือกพลังประชารัฐ พวกเขาจะได้อะไร ชวน-ผู้ริเริ่มตั้งพรรคพลังประชารัฐ ย้ำว่า ก็ต้องถามว่าคุณอยากทำอะไร หากคุณไม่คิดอยากทำอะไรเลยในชีวิต ผมก็คงให้คุณไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเลือกเราแล้วเราจะเอาอะไรไปให้คุณ แต่ต้องถามว่าตัวคุณเองคุณอยากทำอะไรที่จะสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในตัวเองหรือไม่ เช่นอยากมีความรู้ ก็ต้องถามต่อว่าอยากรู้เรื่องอะไร หรือยุวชนในท้องถิ่นอยากไปทำมาหากินอะไรในท้องถิ่นก็บอกมา หรือในพื้นที่อยากทำการท่องเที่ยว แต่ไม่มีห้องน้ำรวม ชุมชนไม่มีเงินสร้าง ก็บอกมา แบบนี้คือรูปธรรม เพราะชาวบ้านที่ไหนจะเอาเงินไปทำห้องน้ำรวมในชุมชนได้
พรรคจะเน้นเรื่องฐานราก เรื่องชุมชน เพราะอย่างที่บอกคนด้านบนของสังคมเขาอยู่ของเขาได้แล้ว หากเรียกตามระบบเศรษฐศาสตร์เขาเรียกระบบเศรษฐกิจคู่ คือพวกเศรษฐกิจก็พวกร่ำรวย ปีหนึ่งๆ มีรายได้เป็นพันล้านหมื่นล้าน ส่วนเศรษฐกิจคู่ก็คือ หากผมต้องพึ่งอาหาร ก็มีข้างล่างที่คอยให้พึ่งเรื่องอาหารได้ ไม่ต้องไปซื้อจากระบบใหญ่ พลังงานเราก็มีของเราให้ ร้านค้าเราก็มีของเรา แต่เป็นเรื่องของส่วนรวมชาวบ้านทำด้วยกัน ทุนใหญ่ในประเทศไทยมีอยู่ไม่กี่สิบกลุ่ม แต่ระบบเศรษฐกิจคู่จะมีเป็นแสน ที่แม้อาจต้องพึ่งทุนใหญ่บางเรื่อง แต่ไม่ต้องพึ่งในบางเรื่อง ไม่ใช่แบบทุกวันนี้ที่ต้องพึ่งทุนใหญ่เกือบทุกเรื่อง เพราะแค่วันนี้คุณเดินไปซื้อข้าวที่โมเดิร์นเทรดจ่ายเงินเสร็จ เงินไปเข้าระบบทุนใหญ่ทันที ดังนั้นต้องทำให้พื้นที่ตลาดชาวบ้านกลับมา
หากในชุมชนในตำบล-อำเภอ ถ้าเขามีพื้นที่เศรษฐกิจของเขา พื้นที่ประกอบการ พื้นที่ธนาคารของเขา เงินมันก็ไม่ไหลออกจากชุมชนมาก ก็หมุนเวียนแล้วนำไปพัฒนาด้านต่างๆ ในชุมชนได้ อย่างที่รัฐบาลกำลังจะผลักดันกฎหมายธนาคารชุมชน ที่ดูแล้วน่าจะทันรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งหากสำเร็จก็หมายถึงว่าต่อไปชาวบ้านจะมีธนาคารชุมชน ที่มีศักดิ์ศรีเท่ากับธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน คือหากคุณต้องการนำเงินไปฝากกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ก็ทำไป แต่หากต้องการทำธุรกรรมฝากเงินไม่มาก ก็มาฝากกับธนาคารชุมชน ดอกเบี้ยก็เป็นของชุมชน อยู่ในคนส่วนใหญ่ของชุมชน ชาวบ้านก็จะได้เพราะเราทำด้วยกัน.
................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |