ถึงคิวแท็กซี่-คนขี่วินมอเตอร์ไซค์ อายุเกิน 65 ปี พื้นที่ 29 จังหวัดแดงเข้ม 16,694 รายได้เฮ ครม.ไฟเขียวจ่ายเงินช่วยเหลือ รอลุ้น "คนละครึ่ง เฟส 4" หลังนายกฯ-ขุนคลังแซวกันใน ครม.
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบช่วยเหลือค่าครองชีพกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างและรถยนต์สาธารณะ (แท็กซี่) ที่มีอายุเกิน 65 ปี ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด จำนวน 16,694 คน คนละ 5,000 บาท แบ่งเป็นผู้ขับรถแท็กซี่ 12,918 คน และผู้ขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ 3,776 คน รวมวงเงิน 166.94 ล้านบาท โดยผู้ขับขี่ในพื้นที่ 13 จังหวัด จะได้รับเยียวยา 2 เดือน รวม 10,000 บาท ส่วนผู้ขับขี่ 16 จังหวัด ได้รับเยียวยา 1 เดือน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์เยียวยา ผู้ขับขี่รถจักรยานต์รับจ้างและแท็กซี่ จะต้องมีรายชื่ออยู่ในกรมการขนส่งทางบก และไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39 และ 40 โดยให้ทำการสมัครลงทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก และผูกพร้อมเพย์กับบัตรประชาชน ส่วนผู้ขับรถแท็กซี่เช่าที่ไม่สามารถตรวจสอบพื้นที่ให้บริการได้ ต้องยืนยันตัวตน โดยให้นิติบุคคลรถเช่า สหกรณ์แท็กซี่เป็นผู้รับรอง เป็นต้น โดยคาดว่าจะจ่ายเงินรอบแรกระหว่างวันที่ 8-12 พ.ย.นี้ และจ่ายเงินรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 พ.ย.นี้
ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ครม.ว่า การจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว จะใช้รูปแบบเดียวกับจ่ายให้กับผู้ประกันตนมาตรา 40 จะเป็นการจ่ายให้เดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 2 เดือน รวมเป็นคนละ 10,000 บาท สำหรับงบประมาณรวมที่จะใช้ก็เอา 16,000 ราย ไปคูณด้วย 10,000 บาทต่อคน เรื่องดังกล่าวถือเป็นการช่วยเหลือดูแลประชาชนทุกกลุ่ม
มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในที่ประชุม ครม.วันเดียวกันนี้ ในช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เล่นมุกเรื่องคำว่า คนละครึ่ง ก่อนจะหันไปแซวนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลังว่า “คนละครึ่งมั้ยล่ะ ชาวบ้านชอบ” ทำให้นายอาคมตอบกลับว่า “เดี๋ยวคนละครึ่งจะเข้าอีกทีสัปดาห์หน้า”
วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มผู้ค้าโครงการเราชนะร่วม 100 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับ พล.อ.ประยุทธ์ หลังถูกกระทรวงการคลังส่งหนังสือเรียกเก็บเงิน โดยระบุว่า ผู้ค้าที่เข้าร่วมโครงการเราชนะ ต้องชำระหนี้ภายใน 30 วัน โดยมีนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรวบรวมหนังสือคำร้องยื่นร้องเรียนที่ศูนย์ร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล
โดยนายสามารถกล่าวว่า โครงการเราชนะ เป็นโครงการที่รัฐบาลคิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน เงินก็เป็นของประชาชน รัฐบาลได้หน้า แต่ตอนนี้ประชาชนกลับได้หนี้ ซึ่งความเป็นจริงไม่ใช่ภาระของผู้ค้าที่จะต้องมาแบกรับ แม้รัฐหวังจากกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้คิดถึงคนที่ค้าขาย ตนจึงลงมาให้ความช่วยเหลือ เพราะเห็นว่าประชาชนไม่ควรจะไม่ได้รับความยุติธรรมแบบนี้ พร้อมถามกับกลุ่มผู้ค้าว่าถ้าย้อนเวลาได้จะเข้าร่วมโครงการนี้หรือไม่ โดยผู้ค้าทุกคนตอบพร้อมเป็นเสียงเดียวกันว่า "จะไม่เข้า" จึงหวังว่ารัฐบาลจะเห็นความเดือดร้อนของประชาชนที่หลายคนตั้งใจเดินทางมาขอความเป็นธรรม บางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด
หนึ่งในผู้ประกอบกิจการร้านปิ้งย่างในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ถูกเรียกเก็บหนี้ 17.9 ล้านบาท บอกว่า ตั้งแต่เปิดร้านมาได้ 12 ปี ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีหนี้มากที่สุดในชีวิต ตอนแรกที่เข้าร่วมโครงการก็ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา ทั้งนี้ยืนยันว่าตนไม่ได้ทำผิดกติกา และไม่ได้โกงเงินในโครงการ รวมถึงได้เตรียมเอกสารหลักฐานการซื้อวัตถุดิบเข้าร้านไว้แล้ว เพื่อที่จะยื่นเรื่องอุทธรณ์ หากการมาขอความเป็นธรรมครั้งนี้ไม่ได้รับการเหลียวแล รัฐบาลยังจะผลักภาระให้ประชาชน ทั้งนี้ตนยอมรับว่าเครียดมาก ที่ร้านไม่มีเงินรายได้ส่วนอื่นเข้ามา หากเข้ามาใช้หนี้ 17 ล้านจะเอาไหนกิน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |