‘ตู่’ยํ้าครม.ไม่ยุบสภา ขอโฟกัสเจ้าภาพจัดเอเปกปี65 มติพท.ไล่‘ศรัณย์วุฒิ-พรพิมล’


เพิ่มเพื่อน    

"บิ๊กตู่" ย้ำใน ครม.ยังไม่ยุบสภา ขอโฟกัสงานยักษ์เจ้าภาพเอเปกก่อน “วิษณุ” เผยเตรียมเรียก กกต.หารือสัปดาห์หน้ารับเป็นเจ้าภาพแก้กฎหมายลูก ยอมรับยุบสภาตอนนี้ไร้ปัญหา แต่ยุบหลังรัฐธรรมนูญใหม่ใช้วุ่นแน่ โดยเฉพาะเรื่องนับคะแนน “บิ๊กป้อม” ทุบโต๊ะ เอาอยู่ พปชร.ไร้คลื่นลม จัดการได้หมดไม่อย่างนั้นจะเป็นหัวหน้าพรรคทำไม “สุชาติ-ชัยวุฒิ” ประสานเสียงเรื่อง “พีระพันธุ์” ขี้ปะติ๋ว ธรรมดาของคนหมู่มากย่อมมีความคิดเห็นหลากหลาย พท.ลงมติท่วมท้นขับ “ศรัณย์วุฒิ-พรพิมล”
เมื่อวันอังคารที่ 12 ตุลาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เห็นนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกมาระบุว่าพรรค พปชร.เตรียมยกร่าง ทั้งนี้ผู้ที่จะเสนอกฎหมายได้มี 2 ประเภทคือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ ส.ส. โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของ กกต. ทั้งนี้ หากพรรค พปชร.ดำเนินการเรื่องดังกล่าวก็อาจเกิดปัญหาขึ้น เพราะการเลือกตั้งกระทบกับทุกพรรค ดังนั้นพรรค พปชร.ต้องไปสอบถามพรรคต่างๆ  ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลว่าเห็นชอบกับร่างที่เสนอหรือไม่ ไม่เช่นนั้นมันร่วมหัวลงโลงกันไม่ได้ เดี๋ยวจะล่มในรัฐสภา หรือต่างคนต่างยกร่างเสนอกันเองก็ได้ แต่ในส่วนของรัฐบาล ครม.มีมติไปแล้วให้สอบถาม กกต.ว่าจะรับทำเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ถ้าส่งมารัฐบาลจะเป็นผู้เสนอสภา 
“ภายในสัปดาห์นี้ได้เชิญเลขาธิการ กกต.มาพบเพื่อหารือและสอบถามว่าจะดำเนินการหรือไม่ หรือจะให้ ส.ส.เขาทำ ถ้า กกต.จะทำไทม์ไลน์จะเป็นอย่างไร ทำเมื่อไหร่ เพราะต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 แตกต่างจากการยกร่างของ ส.ส.ที่ไม่ต้องดำเนินการขั้นตอนดังกล่าว และ กกต.จะนำเสนอรัฐบาลเพื่อนำเข้าสภาได้เมื่อใด ซึ่งแน่นอนต้องทำภายหลังรัฐธรรมนูญมีการประกาศใช้เสียก่อนถึงจะเสนอได้ แต่ถ้าเตรียมทุกอย่างไว้ในมือ เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศก็เสนอสภาได้เลย” นายวิษณุกล่าว 
    เมื่อถามว่า หาก กกต.ดำเนินการเรื่องนี้ ร่างของ กกต.จะเป็นร่างหลักใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า หากร่างของ กกต.ยังฟังความคิดเห็นอยู่ แต่ร่างของ ส.ส.เข้าสู่สภาได้ และประธานสภาฯ บรรจุเป็นวาระก็จะได้พิจารณาก่อน เพราะร่างของรัฐบาลตามไปไม่ทัน ดังนั้นไทม์ไลน์ตรงนี้สำคัญ จึงต้องเชิญเลขาฯ กกต.มาหารือ แต่เมื่อแก้ไม่มาก ก็ไม่น่าจะใช้เวลานาน และรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาร่วมกันในที่ประชุมรัฐสภา ใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน และความจริงก็ไม่น่าถึง เมื่อทำเสร็จก็ต้องส่งให้ กกต.ดูอีกครั้ง ส่วนจะให้ระบุตอนนี้ว่าต้องใช้เวลากี่เดือนนั้นยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่เห็นว่ามีกี่มาตรา และหากกฎหมายผ่านก็ต้องมีขั้นตอนเรื่องการทูลเกล้าฯ ถวายอีก 3 เดือน 
เมื่อถามย้ำว่า หากเป็นเช่นนี้ต้องใช้เวลาอีกนานถึงจะมีความพร้อมในการเลือกตั้งได้ นายวิษณุกล่าวว่า "อันนั้นสื่อพูด ไม่รู้ เก่งสรุปได้ขอให้คะแนน สรุปเป็นใช่ได้"  
    เมื่อถามอีกว่า หากรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว แต่กฎหมายลูกยังไม่มีผลบังคับใช้ เกิดยุบสภาขึ้นมาแล้วจะใช้กฎหมายอะไร นายวิษณุยอมรับว่า ต้องยึดตามรัฐธรรมนูญ แต่คงยุ่ง ไม่รู้จะนับคะแนนแบบไหน แต่ก็มีทางออก ซึ่งคิดไว้แล้วแต่ไม่บอก ทุกสถานการณ์สามารถเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันยอมรับว่าถ้าวันนี้ยุบสภาโดยที่รัฐธรรมนูญยังไม่ใช้ถือว่าง่ายกว่า
พร้อมสะกิดนายกฯ เอง
นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม มอบหมายให้ดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ว่า ยังไม่มีคำตอบอะไร นายกฯ มอบหมายให้ไปดูเรื่องนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้ดูและยังไม่ต้องทำอะไรในเวลานี้ รวมถึงนายกฯ ยังไม่มีกำหนดให้แจ้งผลการศึกษาเวลาใด ให้เฉยๆ ไปก่อน และเมื่อยังไม่ได้แจ้งผลกับนายกฯ จะมาบอกสื่อได้อย่างไร 
พร้อมกันนี้ นายวิษณุได้กล่าวติดตลกว่า "หากเมื่อไหร่ถึงเวลาผมจะสะกิดนายกฯ ว่า "ครบแล้วครับ ไปเถอะ"  เมื่อถามว่าประเด็นนี้ต้องชัดเจนก่อนการเสนอแคนดิเดตนายกฯ การเลือกตั้งครั้งต่อไปใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่รู้ และไม่ได้คิดอะไรทั้งนั้น 
เมื่อถามว่ากรณีที่นายกฯ ไปพูดที่ จ.นครศรีธรรมราช ว่าให้รอดูผลงานอีก 5 ปี หมายความว่าอย่างไร นายวิษณุตอบว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้อธิบายในที่ประชุม ครม.ว่าไม่ได้หมายความว่าจะอยู่อีก 5 ปี กระแสที่ออกมาไปบิดเบือน สิ่งที่ท่านจะสื่อสารคือนโยบายต่างๆ ที่ได้ทำไปจะเห็นผลในอีก 5 ปี และสิ่งที่ท่านพูดถึงกรอบเวลา 5 ปีนั้น เป็นวงรอบของกรอบแผนปฏิรูป ไม่ได้ให้นับ 5 ปีจากปัจจุบัน
    ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายกฯ ไม่มีแนวคิดในการยุบสภาในวันนี้ รัฐบาลเดินหน้าทำงานเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ปัญหาน้ำท่วม ส่วนที่พูดถึงการดำรงตำแหน่ง 5 ปี หมายความว่าขอให้ติดตามและดูผลงานการทำงานของรัฐบาลทั้งโครงสร้างพื้นฐานการลงทุน โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะส่งผลอย่างชัดเจนภายใน 5 ปี
นายธนกรยังกล่าวถึงความพร้อมเป็นนายกฯ อีกสมัยหรือไม่ และความเห็นกรณีการเสนอชื่อบุคคลอื่นในนาม พปชร.เป็นว่าที่แคนดิเดตนายกฯ แข่ง ว่า พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงว่าไม่เห็นได้ยินกระแสข่าวดังกล่าวที่สื่อมวลชนสอบถาม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่สื่อมวลชนวิเคราะห์เอง ในเรื่องดังกล่าวนายกฯ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร.ชี้แจงไปแล้ว ก็ถือว่าจบแล้ว 
“ยืนยันว่ายังไม่มีแนวโน้มการยุบสภาหรือเลือกตั้งอะไรทั้งนั้น มีเพียงการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จึงขอให้หยุดเสนอข่าวที่ก่อให้เกิดความสับสนได้แล้ว”
มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในช่วงต้นของการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดถึงกระแสข่าวยุบสภาและเลือกตั้งว่า “ก็อย่าเพิ่งไปวุ่นวายมาก รัฐบาลจะทำงานช่วยเรื่องน้ำท่วมและโควิด-19 ก่อน ผมยืนยันว่าไม่มีแนวคิดเหมือนที่สื่อเล่นกัน 5 ปีที่ผมพูดหมายถึงจากผลงานที่ทำมาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งเรื่องอีอีซีที่ต้องใช้ระยะเวลาในการวางโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมต่างๆ ไม่ได้หมายความว่าผมจะอยู่ยาวอีก 5 ปี เดี๋ยวเอาไปตีความกัน”  
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ในปี 2565 โดยจะรับไม้ต่อจากนิวซีแลนด์ในวันที่ 12 พ.ย.64 ว่า "ในรอบ 20 ปีจะวนมาถึงไทยครั้งหนึ่ง จึงอยากให้ทุกคนช่วยการสร้างความรับรู้ และอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ อยากให้โฟกัสเรื่องนี้เป็นพิเศษ ตอนนี้รัฐบาลเราต้องช่วยกัน ทำงานให้เต็มที่ ไม่ได้รีบไปเลือกตั้ง ที่ผ่านมาก็ทำงานดีแล้ว ตอนนี้เร่งสร้างผลงานให้ดีๆ ก่อน ต่อจากนั้นใครจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากันไป”  
    ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายกฯ ได้พักผ่อนที่ห้องรับรองสีเหลือง พร้อมพูดคุยกับนายธนกร ขณะที่ พล.อ.ประวิตรได้เดินทางกลับออกไปก่อน จึงไม่มีภาพนายกฯ มาส่ง พล.อ.ประวิตร เหมือนเช่นเคย และระหว่างเดินทางกลับขึ้นห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า พล.อ.ประยุทธ์ได้ทักทายพร้อมทำมือสัญลักษณ์ไอเลิฟยูให้กลุ่มช่างภาพและสื่อมวลชน พร้อมปฏิเสธให้สัมภาษณ์ โดยชี้ไปที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ ชี้แจงและตอบคำถามแทน
    ขณะที่ พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงความขัดแย้งในพรรค หลังนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรค พปชร. วิพากษ์วิจารณ์นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ ในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พปชร.ที่จะเข้ามามีบทบาทในพรรคว่า  "ไม่มีอะไร ผมตอบไปแล้วไม่มีอะไร ผมจัดการปัญหาได้ทั้งหมด ในพรรคของผม ผมต้องทำได้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นหัวหน้าพรรคทำไม" เมื่อถามว่าจะต้องให้นายพีระพันธุ์เข้าไปสร้างความไว้วางใจกับสมาชิกพรรค พปชร.หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ต้อง
    เมื่อถามว่า ส.ส.ในพื้นที่เป็นห่วงเรื่องการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.ส่วนใหญ่เป็นคนของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พปชร. พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี เพราะเป็นคนดูด้วย ไม่ใช่ ร.อ.ธรรมนัสดูคนเดียว ต้องดูว่าจะเอาใคร และจะเป็นคนตัดสินใจว่าใครจะได้สมัครหรือไม่ได้สมัครอย่างไร เมื่อถามย้ำว่าจะให้ความเป็นธรรมกับ ส.ส.ทุกคนหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "พุทโธ่ ถามได้ ถามอย่างนี้ถามได้อย่างไร"
ชี้ปัญหาพีระพันธุ์เรื่องเล็ก
       ส่วนนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน​ ในฐานะกรรมการบริหารพรรค พปชร.กล่าวถึงกระแสต่อต้านนายพีระพันธุ์ ว่าพรรคมี ส.ส.กว่า 100 คน ซึ่งทุกคนรับนโยบายและแนวทางจาก พล.อ.ประวิตรอยู่แล้ว และเป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีคนหลากหลายอยู่ภายในพรรค​ ซึ่งอาจคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่การที่จะเป็นพรรคการเมืองหรือสถาบันการเมืองต้องฟังหัวหน้าพรรคและนโยบายพรรคอยู่แล้ว​ ​ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะออกความคิดเห็นได้อยู่แล้ว​ แต่สุดท้ายต้องจบที่แนวทางของหัวหน้าพรรค และเชื่อว่าจะไม่กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นของบางคน​ ทุกวันนี้ทุกคนอยู่ในระบบประชาธิปไตย​ ต้องให้ในสิทธิการแสดงออก​ แต่สุดท้ายต้องยอมรับกฎเกณฑ์และกติกา​ รวมทั้งแนวคิดนโยบายของหัวหน้าพรรค ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นไม่เป็นปัญหา ถือว่าเป็นเรื่องเล็ก
    นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลฯ ในฐานะ กก.บห.พรรค พปชร. กล่าวในประเด็นนี้ว่า ควรให้โอกาสนายพีระพันธุ์ได้ทำงานอย่างเต็มที่ ส่วนกระแสต่อต้านที่เกิดจากคนในพรรค เป็นเรื่องธรรมดา เพราะนายพีระพันธุ์ไม่ได้อยู่ในพรรค พปชร. บางคนจึงไม่รู้จัก ต้องให้เวลาในการปรับความเข้าใจและพูดคุยกัน คงจะดีขึ้น ส่วนกระแสข่าวที่นายพีระพันธุ์อาจถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ กรณี พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ไปต่อนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยกัน สื่ออย่าไปคาดเดาอะไรเกินไป ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดคุยกันว่าจะไปถึงตำแหน่งไหน อีกอย่างนายพีระพันธุ์เพิ่งจะเข้ามาทำงานร่วมกัน ต้องให้เวลาในการพูดคุยและทำความเข้าใจกันก่อน
    เมื่อถามว่า นายพีระพันธุ์ก้าวเข้าพรรคก็เจอกระแสแบบนี้แล้ว จะทำงานราบรื่นได้หรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า กระแสเกิดจากคนหลายคน และเป็นความคิดของคนส่วนใหญ่ แต่เรื่องนี้เป็นเพียงแค่คนบางคนพูด สามารถฟังเป็นประเด็นได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนคิดเหมือนกันหมด ต้องใจเย็นๆ อย่าเพิ่งไปสรุป และเมื่อถามว่า ผู้ใหญ่ภายในพรรค พปชร.ต้องออกมาปรามเพื่อไม่ให้เกิดภาพความขัดแย้ง นายชัยวุฒิกล่าวว่า "ไม่ต้องถึงขนาดนั้นหรอก"
    ขณะเดียวกัน นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร ในฐานะรองเลขาธิการพรรค พปชร. กล่าวถึงการเข้าพบ พล.อ.ประวิตร ว่านำเรื่องการทำโพลมาให้ดู ไม่มีอะไร เรื่องนี้เป็นปกติ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เราประชุมหารือและทำมาก่อนโควิด-19 ระบาด และทุกพรรคมีการทำโพล เพื่อเตรียมความพร้อมและปรับปรุงการทำงานของ ส.ส.และพรรคเช่นกัน ซึ่ง พล.อ.ประวิตรไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ แต่เวลานี้ต้องการให้ ส.ส.ลงพื้นที่ จะได้รู้ความต้องการประชาชน และเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการนำไปตัดเกรด ส.ส.ว่าจะส่งหรือไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยหน้าตามที่มีกระแสข่าว เพราะต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย 
    “การเลือกตั้งสมัยหน้า หากแก้กติกาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะมีผลกับ ส.ส.และพรรค หากเราไม่ไปสำรวจความเห็น ไม่รู้ความต้องการของประชาชน ส.ส.ไม่ลงพื้นก็จะสะท้อนผลในการเลือกตั้ง เพราะเที่ยวนี้จะเป็นการเลือกคนกับเลือกพรรค เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” นายไผ่ ระบุ 
ท่วมท้นไล่ 2 ส.ส.แหกมติ
    วันเดียวกัน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าพรรค พท. พร้อม กก.บห.พรรคประชุม เพื่อพิจารณาให้ความเห็น ตามที่คณะกรรมการวินัยจริยธรรมของพรรคส่งผลสรุปกรณี 2 ส.ส.พรรคเพื่อไทยโหวตสวนมติพรรค โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ในฐานะเลขาธิการพรรค พท. แถลงผลประชุมว่า การประชุมร่วมกันของ กก.บห.พรรคและ ส.ส.เพื่อไทย มีวาระลงมติขับนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ และ น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี พ้นจากความเป็นสมาชิกพรรค โดยการประชุมครั้งนี้ มีผู้ร่วมประชุม 143 คน มาใช้สิทธิ์ออกเสียง 135 คน โดยผลคะแนนเสียง 3 ใน 4 คือ 108 คน ผลการลงคะแนนกรณีนายศรัณย์วุฒิ สมาชิกเห็นด้วยกับมติกรรมการบริหารพรรค 131 คน ไม่เห็นด้วย 2 คน บัตรเสีย 2 ใบ กรณี น.ส.พรพิมล สมาชิกเห็นด้วย 134 คน ไม่เห็นด้วย 1 คน จากการลงคะแนน ถือว่ามีมติให้ทั้ง 2 คน พ้นจากสมาชิกพรรค มีผลตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. เป็นต้นไป หลังการลงคะแนนพรรคจะแจ้งให้ ส.ส.ทั้ง 2 คนรับทราบมติ และแจ้งไปยัง กกต. ซึ่งทั้ง 2 คนสามารถหาพรรคใหม่สังกัดได้ภายใน 30 วัน 
ด้านนายศรัณย์วุฒิกล่าวว่า ยังไม่ขอให้สัมภาษณ์หรือให้ข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น โดยจะขอไปสรุปรวบรวมข้อมูลประมาณ 1 วัน แล้วจะมาแถลงรายละเอียดให้สื่อมวลชนทราบ ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ามีพรรคอื่นมาทาบทามให้ไปอยู่ด้วยนั้น ยังไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งมีการชี้แจงต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการต่อไป
มีรายงานว่า นางพรพิมลมีแนวโน้มที่จะย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย
ขณะเดียวกัน ได้มีกลุ่มคนรักประชาธิปไตยปทุมธานีกว่า 20 คน เดินทางมายื่นหนังสือพร้อมคลิปการปราศรัยของผู้ที่คาดว่าเป็นผู้สมัคร ส.ส.ปทุมธานี ถึงนายสมพงษ์ เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนการส่งผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ปทุมธานี เขตคูคต โดยระบุว่านักการเมืองรายนี้มีประวัติเป็นอริกับคนเสื้อแดงใน จ.ปทุมธานี เป็นบุคคลที่เป็นแกนนำ กปปส.ตัวพ่อของปทุมธานี เคยขึ้นเวทีปราศรัยด่าทออดีตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยอย่างรุนแรง พรรคจะจัดส่งบุคคลท่านนี้ลงสมัครในนามพรรค เกรงว่าคนในพื้นที่จำนวนมากจะเกิดการต่อต้านและไม่ยอมรับ เพราะมีประวัติที่ขัดแย้งกันมา ถือว่าเป็นภัยต่อประชาชนในพื้นที่ หากพรรคให้เกียรติประชาชนพื้นที่ จ.ปทุมธานี ขอให้พรรคได้ทบทวนเรื่องดังกล่าว 
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ที่กลุ่มคนรักประชาธิปไตยปทุมธานี มายื่นหนังสือคัดค้าน คาดว่าน่าจะเป็นนายเกียรติศักดิ์ ส่องแสง อดีตผู้สมัคร ส.ส.ปทุมธานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งย้ายมาสมัครเป็นสมาชิกพรรค พท.เมื่อเดือนที่ผ่านมา
    วันเดียวกัน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 และสิ้นสุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ให้เป็นไปตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"