เพราะ “สุขภาพจิต” สำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย ยิ่งในสถานการณ์ไวรัสต่อโรคโควิด-19 ระบาดต่อเนื่องเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี การประคองสภาพจิตใจให้เข้มแข็ง ทั้งสภาพจิตใจของตัวเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม ไปพร้อมๆ กับการดูแลร่างกายไม่ให้ติดโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องง่าย ความกลัว วิตกกังวล และความเครียดที่ถาโถม นอกจากวัคซีนป้องกันโรคทางการ แพทย์แล้ว สังคมไทยอาจต้องอาศัย “วัคซีนใจ” ช่วยเสริมภูมิสุขภาพจิตให้ตัวเอง และร่วมกันสร้าง “วัคซีนใจในชุมชน” เพื่อให้ทุกคนสามารถฟันฝ่าผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ไปได้อย่างปลอดภัยในทุกมิติ
ความสำคัญของ วัคซีนใจ และ วัคซีนใจในชุมชน ที่ว่า ถูกขยายและฉายให้เห็นภาพชัดมากขึ้น ในเวทีรับฟังความคิดเห็นกลุ่มประเด็นสื่อสาธารณะ “อยู่ร่วมต้องรอด : ขับเคลื่อนสื่อสาธารณะเพื่อสร้างวัคซีนใจในชุมชน” โดย สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ผ่านระบบออนไลน์
สอดคล้องกับข้อเท็จจริงจาก พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต หนึ่งในวิทยากรร่วมบรรยาย ที่ระบุว่า แม้จำนวนผู้ที่มีความเครียดและวิตกกังวลกับสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศ จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์โรคอุบัติใหม่จากไวรัสเริ่มคลี่คลาย ทั้งจำนวนยอดผู้เสียชีวิตที่ลดลง และจำนวนประชาชนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 มีมากขึ้น ทว่ายังคงมีประชาชนที่มีระดับความเครียดสูง เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า เข้าคิวรอการบำบัดจากกรมสุขภาพจิตถึง 2,000 ราย นั่นหมายความว่าสถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยยังน่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย
คีย์เวิร์ด “อึด ฮึด สู้” และ “วัคซีนใจ” จึงกลายเป็นแนวคิดที่กรมสุขภาพจิตนำมาใช้ในการทำงานร่วมกับชุมชนตลอด ในยามนี้ พญ.พรรณพิมล บอกว่า วัคซีนใจก็คือพลังใจ และพลังใจนี้สามารถสร้างได้ ทั้งสร้างจากตัวเองและคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนในครอบครัว ต้องช่วยกันสร้างช่วยกันเติมให้พลังใจมีอยู่ตลอดไม่ลดน้อยถอยลง แม้เจอความยากลำบาก ก็จะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและสามารถไปต่อได้ เมื่อครอบครัวเข้มแข็งก็จะขยายต่อเนื่องมายังชุมชน กลายเป็นพลังชุมชนในที่สุด
อธิบดีกรมสุขภาพจิต ยังแนะนำด้วยว่า “ในสถานการณ์โควิดจะคิดอะไรยากๆ คิดให้ใหญ่โตไม่ได้ แค่ตื่นขึ้นมาแล้ว หันกลับมามองในสิ่งดีๆ ในสิ่งที่มีที่ทำให้ เราไปต่อไปแบบวันต่อวัน แค่นี้เพียงพอแล้ว ส่วนในระดับชุมชนต้องเดินหน้าไปในจุดที่เราสามารถอยู่ร่วมกับโควิดได้ ในลักษณะที่มาตรการป้องกันต่างๆ ที่มีอยู่จะไม่ทำให้ชีวิตลำบาก หรือขัดขวางการใช้ชีวิต พร้อมใช้สายใยในชุมชน การคิดค้นเครื่องมือที่เหมาะสม ไม่เข้มหรือตึงเกินไปเพื่อดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้คนในชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางให้ความร่วมมือ และเสริมกำลังให้แข็งแรงมากขึ้นด้วยสื่อสาธารณะที่จะช่วยสื่อสารข้อเท็จจริง สร้างความเข้าใจให้ตรงกัน”
ไม่ต่างจากแร็ปเปอร์ชื่อดัง นที เอกวิจิตร หรือ อุ๋ย บุดด้า เบลส ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินรายการ บ้าน-พลัง-ใจ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอส กรมสุขภาพจิต และ สสส. เพื่อเรียนรู้ เยียวยาจิตใจ และแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต ให้แก่ผู้ประสบภัยโรคระบาดอุบัติใหม่ โดยเขาพบว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลายครอบครัวไม่ได้เจอแค่วิกฤตโควิด แต่มีเหตุการณ์เลวร้ายอื่นในชีวิต ฉะนั้นยิ่งมาเจอโควิดจึงเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต แต่พวกเขายังมีกำลังใจเดินหน้าต่อ จึงเป็นเรื่องน่าศึกษาว่าทัศนคติหรือมุมมองต่อปัญหามีผลต่อการใช้ชีวิตหรือไม่
“เป็นงานเปลี่ยนชีวิต เพราะได้เข้าไปเรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากคนจริงๆ ไม่ใช่โลกสวย ไม่ได้อยู่กับความเพ้อฝัน แต่เป็นการมองด้านบวก มุมเล็กๆ ในชีวิตทำให้มีแรงพอจะลุกได้ ผู้ประสบภัยวิกฤตโควิดบอกว่าดีกว่ามองด้านลบที่ทำให้กำลังใจหดหาย จากการคุยกับแพทย์ด้านสุขภาพจิต แค่ 3 คำในครอบครัว ขอบคุณ ขอโทษ และชื่นชม เป็นถ้อยคำ ธรรมดา แต่เป็นคำที่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น ทำให้การฝ่าวิกฤตที่ต้องเผชิญไม่หนักหนาจนเกินไป ทุกอย่างเริ่มจากใจ สุขภาพกาย แม้ยังไม่ติดโควิด แต่สุขภาพจิตที่เจอสถานการณ์เศรษฐกิจ การรับข่าวสาร ความเครียด ก็ทำให้หลายคนผ่านไปได้ยาก”
ขณะที่ ชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เทรนด์โลกกำลังมองปัญหาด้านสุขภาพจิตเปลี่ยนไป จากเดิมระบุว่าเป็น “ความเจ็บป่วยที่ต้องรักษา” แต่ ปัจจุบันสุขภาพจิตคือ “การเติมพลังบวกในชีวิต” ดังนั้นการสร้างเสริมสุขภาวะในมิติสุขภาพจิตของ สสส.เองจะเดินหน้าไปในทิศทางนี้เช่นกัน โดยจะทำใน 2 ระดับ คือ สร้างเสริมกำลังใจให้คนไทย อึด ฮึด สู้ (Promotion) จนสามารถจัดการตัวเองได้แม้อยู่ในภาวะเครียด และ ป้องกันกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต (Prevention) ไม่ให้ไปสู่จุดที่มีความเครียด หรือเกิดโรคซึมเศร้า
พร้อมกันนั้นจะใช้หลักการ “ต้นทุนจิตวิทยาเชิงบวก” ประกอบด้วย การใช้ชีวิตไปสู่ปลายทางอย่างมีความหวัง (Hope) การมองโลกในแง่ดีและใช้ชีวิตให้ลุล่วงผ่านปัญหาไปได้ (Optimism) มีความยืดหยุ่นเมื่อต้องเผชิญปัญหา ฟื้นตัวได้เร็ว ล้มแล้วลุกได้ (Resilience) และ ความเชื่อมั่นในพลังในศักยภาพของตนเอง (Self-Efficacy) ผ่านเครื่องมือ การฟังอย่างลึกซึ้ง หรือ Deep Listening
“จำเป็นมากที่ต้องเติมพลังบวกให้กับชีวิตในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งนอกจากการสร้างวัคซีนใจให้กับตัวบุคคลแล้ว สสส.ยังจะหนุนและพัฒนาให้ภาคีเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ฯลฯ ที่มีสัมพันธภาพอันดีต่อชุมชน เป็นแกนนำจับมือช่วยกันแผ่ขยายพลังบวกเคลื่อนงานสร้างวัคซีนใจให้กับสังคม สร้างเสริมสุขภาพจิตให้กับคนทุกช่วงวัย ด้วยมุ่งหวังให้คนไทยสามารถจัดการความเครียดในสภาวะวิกฤตได้ด้วยตัวเอง” ผู้บริหาร สสส. ตั้งธงไว้
อีกประเด็นที่ สสส. เตรียมขับเคลื่อนไปพร้อมกัน คือการวางแผนงานเพื่อป้องกันในเรื่องกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-Communicable Diseases (NCDs) ที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยจากกลุ่มโรคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลกระทบจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งอาการป่วยกลุ่ม NCDs จะส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วย และคนในครอบครัวไม่น้อยเช่นกัน
ในส่วนของ มสช. มองว่าประเด็นในมิติสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญ เพราะโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทุกพื้นที่ จากที่ดูหนักในเขตเมือง แต่เมื่อประชาชนอพยพย้ายกลับถิ่นฐานบ้านเกิด คลื่นปัญหาสุขภาพจิตก็ติดตามไปยังพื้นที่รอบนอกด้วย และสร้างผลกระทบให้ชุมชนนั้นๆ จึงจับมือกับ สสส. และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รวมถึง ไทยพีบีเอส ในการขับเคลื่อน “การเสริมสร้างสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น” ไปช่วยกันค้นหาวิธีการหรือกลไก ช่วยให้ชุมชนเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต พัฒนาอย่างเข้มแข็ง และขยายผลให้กลายเป็นโรลโมเดลที่สามารถหยิบไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นๆ ได้ และเชื่อมประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เป็นอีกแรงหนุนและช่วยซัพพอร์ต เช่น จัดทำคู่มือป้องกันสุขภาพจิต เป็นต้น
“ที่ต้องลุกขึ้นมาทำตรงนี้ เพราะปัญหาโควิดที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตได้กระจายไปทั่วประเทศ เราจึงต้องทำงานแข่งกับไวรัส ด้วยการขอความร่วมมือจาก อปท.ที่มีอยู่ 7,850 แห่งทั่วประเทศ ในฐานะภาคีที่มีศักยภาพรู้ถึงปัญหาเชิงลึกในพื้นที่ มาร่วมกันทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล และเป็นการสร้างเครือข่ายชุมชนส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตอย่างยั่งยืนและตรงจุด ทั้งนี้ คาดว่าจะเห็นผลภายใน 1 ปี นับจากนี้” พงศธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าว
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.).
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |