เปิดประเทศ1พ.ย. รับนทท.ไม่ต้องกักตัว 1ธ.ค.นั่งดื่มในร้านได้


เพิ่มเพื่อน    

นายกฯ ประกาศเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศตั้งแต่  1 พ.ย.โดยไม่ต้องกักตัว แต่ทุกคนต้องแสดงตัวว่าปลอดเชื้อโควิด-19  ประเดิมประเทศเสี่ยงต่ำก่อน 10 ประเทศ รอ 1 ม.ค.เพิ่มจำนวนมากขึ้น เฮ! 1 ธ.ค.อนุญาตดื่มในร้านอาหารได้ โวถึงสิ้นปีได้รับวัคซีน  170 ล้านโดสเกินเป้า "ผู้ช่วยโฆษก ศบค." เผยพบติดเชื้อใหม่  10,035 ราย เสียชีวิต 60 ราย ชี้ผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มอัตราตายน้อยกว่า 1% จี้ 4 จว.ใต้เร่งฉีดหลังพบวัคซีนค้างสต๊อก ห่วงโควิดระบาดเพิ่มหลังต่างด้าวหลบหนีเข้าไทยล็อตใหม่ 
    เมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 11 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผูัอำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (ศบค.) แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เรื่อง  “เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว” ตอนหนึ่งว่า "ผมอยากประกาศหนึ่งก้าวเล็กๆ แต่เป็นก้าวที่สำคัญ ที่เรากำลังจะเดินหน้า บนเส้นทางที่จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถกลับมาทำมาหาเลี้ยงตัวเองกันได้อีกครั้ง ในช่วงหนึ่งถึงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศที่เป็นนักท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทยต่างค่อยๆ เริ่มอนุญาตให้ประชาชนของเขาเดินทางได้ โดยไม่มีเงื่อนไขที่ยุ่งยากมากมาย อย่างเช่นอังกฤษ ตอนนี้เพิ่งจะอนุญาตให้ประชาชนเดินทางมาประเทศไทยได้โดยไม่ยุ่งยาก  หรืออย่างสิงคโปร์และออสเตรเลีย ก็เพิ่งเริ่มผ่อนคลายเงื่อนไขในการเดินทางไปต่างประเทศของประชาชน
    ความคืบหน้าที่เกิดขึ้นแบบนี้ เราเองแม้ยังต้องระมัดระวัง แต่ก็ต้องเดินหน้าให้ไว เพื่อไม่ให้เสียโอกาส ที่อย่างน้อยเราจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวมาได้บ้าง ในช่วงเทศกาลเดินทางท่องเที่ยววันหยุดสิ้นปี ใน 3  เดือนข้างหน้านี้ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการทำมาหากินของประชาชนนับล้านๆ คน ในภาคการท่องเที่ยว การเดินทาง และภาคธุรกิจพักผ่อนหย่อนใจ และบันเทิง รวมถึงภาคธุรกิจอื่นอีกมากมายที่เกี่ยวข้อง
10 ประเทศไม่ต้องกักตัว
    เพราะฉะนั้น วันนี้ผมได้สั่งการให้ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิจารณา โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป ประเทศไทยจะเริ่มเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และเดินทางเข้าประเทศไทยโดยทางอากาศ โดยมาจากประเทศที่เรากำหนดว่าเป็นประเทศความเสี่ยงตํ่า เราจะขอเพียงแค่ เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทย ทุกคนต้องแสดงตัวว่าปลอดเชื้อโควิด-19  โดยต้องมีหลักฐานผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR  ซึ่งทำการตรวจก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทาง และจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกครั้งเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย หลังจากนั้นจึงสามารถเดินทางไปพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างอิสระ เช่นเดียวกับที่คนไทยปกติทั่วไปสามารถทำได้
    ในเบื้องต้น เราเริ่มต้นกำหนดรายชื่อประเทศความเสี่ยงตํ่า ที่จะสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว ไว้ที่อย่างน้อย 10  ประเทศ ซึ่งจะรวมประเทศอย่างเช่น อังกฤษ, สิงคโปร์, เยอรมนี, จีน  และอเมริกา โดยเราตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนประเทศให้มากขึ้นอีก ภายในวันที่ 1 ธันวาคม และหลังจากนั้นภายในวันที่ 1 มกราคม เราจะเพิ่มจำนวนประเทศให้มากขึ้นอย่างกว้างขวาง
    ส่วนผู้ที่มาจากประเทศที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศความเสี่ยงตํ่า  เรายังให้การต้อนรับเข้าประเทศไทย แต่จำเป็นต้องมีการกักตัวตามเงื่อนไขและข้อกำหนด
    พร้อมกันนี้ ภายในวันที่ 1 ธันวาคม เราจะพิจารณาอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ และจะพิจารณาอนุญาตให้สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และสถานบันเทิงเปิดให้บริการได้ ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว  การพักผ่อนและบันเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เรากำลังจะเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสปีใหม่
    ผมรู้ว่าการตัดสินใจแบบนี้มีความเสี่ยง ที่เกือบจะแน่นอนเลยว่า  เมื่อเราเริ่มต้นการผ่อนคลายต่างๆ จะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เป็นการชั่วคราว ซึ่งเราต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประเมินดูว่าเราจะรับมือกับสถานการณ์นั้นอย่างไร เราต้องไม่ปล่อยโอกาสนี้ เพราะถ้าเราต้องเสียโอกาสในช่วงเวลาทองของการทำมาหากินไปอีก เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ผมคิดว่าประชาชนคงรับมือไม่ไหวอีกต่อไป
    เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้ตั้งเป้าที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว ให้ได้ภายใน 120 วัน พร้อมกับเร่งเครื่องการฉีดวัคซีนให้ประชาชน หลังจากที่เราตั้งเป้า 120 วัน ก็ได้มีความพยายามอย่างเต็มที่ ทำทุกวิถีทางเพื่อจัดหาวัคซีนมาให้ได้เพิ่มมากขึ้น และแย่งชิงกับประเทศอื่น เพื่อให้เราได้รับส่งมอบวัคซีนเข้ามา  ซึ่งทั้งหมดนี้เราประสบความสำเร็จอย่างมาก การรับส่งมอบวัคซีนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 3 เท่าในทันที วันนี้เราจะได้รับส่งมอบวัคซีนเข้าประเทศไทยถึงมากกว่า 20 ล้านโดสต่อเดือน ไปจนถึงสิ้นปี รวมเป็นวัคซีนจำนวนมากกว่า 170 ล้านโดส เกินเป้าหมายที่เราตั้งไว้เป็นอย่างมาก
ช่วงเวลาที่เหมาะสม
    เพื่อที่จะสนับสนุนเป้าหมาย 120 วัน เจ้าหน้าที่และบุคลากรสาธารณสุขได้ทำงานกันอย่างไม่มีเหน็ดเหนื่อย เร่งเครื่องการฉีดวัคซีน  รวมทั้งพี่น้องประชาชนต่างก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ในการลงทะเบียนรับการฉีด ปัจจุบันเฉลี่ยแล้วเราฉีดวัคซีนได้มากกว่า 700,000 โดสต่อวัน และในบางวันเราฉีดวัคซีนได้มากเกินกว่า 1  ล้านโดสก็ยังมี
    ตอนนี้แม้ว่าสถานการณ์ในหลายๆ ประเทศยังคงต่อสู้กับเดลตาอยู่  แต่การที่เรากำลังจะสามารถเริ่มเปิดให้เข้าประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป การที่เราทำแบบนี้ได้ แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการที่คนไทยร่วมมือกัน ทำงานด้วยความมุ่งมั่น และเป็นหนึ่งเดียว เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนสามารถภูมิใจได้ กับการมีส่วนร่วม ที่ทำให้ความสำเร็จนี้เกิดขึ้น และเกิดขึ้นถูกเวลา เพราะเป็นช่วงเวลาพร้อมๆ กับที่ประเทศอื่นเริ่มผ่อนคลายเงื่อนไขและข้อจำกัด ในการเดินทางของประชาชนของเขาด้วยเหมือนกัน นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ที่เราจะเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวให้เข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว"
    ทั้งนี้ นายกฯ แถลงเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่าจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน
    วันเดียวกัน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า มีผู้ติดเชื้อใหม่ 10,035  ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 9,916 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,160 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 756 ราย เรือนจำและที่ต้องขัง 80 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 39 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,720,919 ราย ผู้รักษาหายป่วยเพิ่ม  10,590 ราย ยอดรวมหายป่วยสะสม 1,592,903 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 110,265 ราย อาการหนัก 2,969 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 680 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 60 ราย เป็นชาย 32 ราย  หญิง 28 ราย เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 36 ราย มีโรคเรื้อรัง 18  ราย เสียชีวิตนอกโรงพยาบาล 1 ราย ที่ จ.สมุทรปราการ และเป็นเด็ก  2 ราย อายุ 5 ขวบ ที่ จ.สมุทรปราการ และ 13 ปี ที่ จ.ระยอง ซึ่งยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย อายุ 34 ปี ที่ จ.ยะลา  ซึ่งแนวโน้มผู้ป่วยอาการหนักปอดอักเสบและใส่เครื่องช่วยหายใจจนถึงเสียชีวิตลดลง ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 238,647,343 ราย เสียชีวิตสะสม 4,867,211 ราย 
    ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 10 ต.ค. มี 688,481 โดส ยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่ 28 ก.พ.64 จำนวน 60,228,105 โดส และหากดูเฉพาะผู้ที่เสียชีวิตระหว่างวันที่ 1 เม.ย.- 7 ต.ค.64 จำนวน 17,324 ราย พบ 60% ที่เสียชีวิตเพราะไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ไม่มีข้อมูลในหมอพร้อม 20% และ 19% ฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็ม สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแต่ยังคงติดเชื้อและเสียชีวิตมีจำนวนน้อยกว่า  1% จึงตอกย้ำว่าการฉีดวัคซีนช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งขณะนี้วัคซีนมีอย่างเพียงพอก็ขอให้ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วกัน 
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า หากดูตัวเลขการฉีดวัคซีนที่เกิดขึ้น พบมีจังหวัดที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรทั่วไปเกิน 50% จำนวน 14  จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ, ปทุมธานี, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ,  นนทบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, นครนายก, เพชรบุรี,  ระยอง, พังงา, ภูเก็ต และระนอง ขณะที่การฉีดครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 70% แล้ว 8 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ, ปทุมธานี,  ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, พังงา, ภูเก็ต, ระยอง และสุราษฎร์ธานี แต่ถ้าไปดูในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ในกลุ่มประชากรทั่วไปเฉลี่ย 41.9% สำหรับการฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดเข็มที่ 1 ไปเพียง 58% กลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัวฉีดเข็มที่ 1 ไปเพียง 50.9% โดยในเดือน ต.ค.นี้มีเป้าหมายจะฉีดวัคซีนให้กลุ่มคนทั่วไปให้ได้เกิน 50% และกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวให้ได้เกิน 70% 
เร่งฉีดวัคซีน 4 จว.ภาคใต้
    "ขอให้แต่ละจังหวัดโดยเฉพาะชายแดนใต้วางแผนการฉีดวัคซีนให้ทันกับที่ส่งไป เพราะในรายงานยังพบว่ามีวัคซีนที่จัดส่งไปแต่ยังอยู่ในสต๊อกยังฉีดไม่ทัน คงต้องขอเน้นย้ำภาครัฐในการระดมฉีดและขอให้ประชาชนร่วมมือ เดือน ต.ค.นี้ต้องฉีดให้ได้ตามเป้า"
    ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 1,160 ราย, ยะลา 719 ราย, ปัตตานี 547  ราย, สมุทรปราการ 532 ราย, สงขลา 505 ราย, ชลบุรี 473 ราย,  นครศรีธรรมราช 473 ราย, นราธิวาส 414 ราย, ระยอง 378 ราย  และจันทบุรี 279 ราย จะเห็นได้ว่า 10 จังหวัดดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ถึง 5 จังหวัด โดย ผอ.ศปก.ศบค.ขอฝากเน้นย้ำ เนื่องจากมีรายงานว่าพบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งสิ่งสำคัญที่ได้จากการสอบสวนแรงงานที่ทำผิดกฎหมายนั้น พบว่าเป็นแรงงานที่มาล็อตใหม่  เพิ่งเข้ามาใหม่ๆ รองรับการเปิดประเทศ 
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่จะมีขึ้นวันที่ 14 ต.ค.นี้ จะต้องเป็นเรื่องของจังหวัดที่มีการผ่อนคลาย และสิ่งสำคัญคือ จะมีการหารือเรื่องจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวระยะที่หนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่นสมุยซึ่งจะเปิดในวันที่ 1 พ.ย.นี้ จากตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจจะไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทางสาธารณสุขจะพิจารณาหากมีรายงานผู้ติดเชื้อสูงจริง แต่มีมาตรการที่สามารถเข้าไปดูแลผู้ป่วยให้ปลอดภัยได้ มีการจัดการผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำได้อย่างเหมาะสม ศบค.อาจจะสามารถพิจารณาผ่อนคลายต่อไปได้ 
    ขณะที่ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ​(สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวว่า จะมีการประชุมมาตรการในส่วนที่เคร่งครัดและส่วนที่ต้องผ่อนคลาย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค.ก็เป็นห่วงและมอบการบ้านหลายเรื่องที่เราต้องคิด โดยเฉพาะการเปิดประเทศภายใต้ความปลอดภัยอย่างค่อยเป็นค่อยไป 
    "ในการประชุมที่ผ่านมา​ 2-3​ ครั้งเริ่มจะได้ข้อยุติ ที่จะกราบเรียนให้นายกฯ รับทราบ ทั้งนี้​การผ่อนคลายในส่วนที่ทำได้ก็จะทำ และให้รอดูมาตรการที่จะต้องเคร่งครัดมากขึ้น โดยจะมีรายละเอียดเป็นขั้นตอนปฏิบัติออกมาหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่" เลขาฯ สมช.ระบุ
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. วิเคราะห์ถึงสถานการณ์โควิดว่า ปัจจุบันตัวเลขการติดเชื้อยังสูงอยู่ในหลักหมื่นราย เสียชีวิต 60 ราย แต่ที่ลดลงแน่นอนคือ กทม. เนื่องจากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครอบคลุมประชากรได้มากขึ้น การเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยงก็ลดลง ส่วนต่างจังหวัดค่อนข้างทรงตัวไม่ลดลงเราพยายามดูใน 71 จังหวัดที่เหลือ โดยการแยกพื้นที่ออกมา  เมื่อแยกออกมาพบว่าเป็นภาคใต้ที่มีการติดเชื้อเยอะ ก็ทำให้เห็นว่าสถานการณ์จังหวัดอื่นๆ กำลังลดลง สถานการณ์การติดเชื้อใน 4  จังหวัดชายแดนใต้คือ สงขลา, นราธิวาส, ปัตตานี และยะลานั้น ตอนนี้ก็เร่งดำเนินการควบคุมป้องกันโรค และส่งวัคซีนไฟเซอร์ลงไปเติม 5  แสนโดส ซึ่งที่ส่งไฟเซอร์ลงไปมากนั้น เป็นเพราะในพื้นที่มีการติดเชื้อสายพันธุ์เบตาด้วย
    ปลัด สธ.กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการล็อกดาวน์ 4 จังหวัดนั้นยังเป็นเพียงแนวคิดเอาไว้ โดยขึ้นอยู่กับการควบคุมโรคในพื้นที่ด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งมาตรการส่วนบุคคล มาตรการสังคม การฉีดวัคซีน  หากยังไม่สามารถควบคุมโรคได้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก็สามารถพิจารณาได้ อาจจะล็อกเป็นบางพื้นที่หรือล็อกทั้งจังหวัดจะมีการเสนอที่ประชุม ศบค.ในการลดจำนวนจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดลง พื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือสีแดงก็จะลดลง โดยจะไปเพิ่มพื้นที่ควบคุมหรือสีส้มมากขึ้น ซึ่งยังมี 3 โซนพื้นที่ หรือ 3 สีอยู่ และจะมีผลต่อการทำกิจการ/กิจกรรม มีการผ่อนคลายมากขึ้น โดย ศบค.จะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"