ปิดประตู‘ยุบสภา’ปีนี้  ปัจจัย-เงื่อนไขไม่เอื้อ 


เพิ่มเพื่อน    

แม้ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จะเปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “พลเอกประยุทธ์ กับ 3 ประเด็นทางการเมือง” โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-8 ตุลาคม 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป พบว่าส่วนใหญ่ 40.35% ระบุว่าควรประกาศยุบสภาโดยเร็ว 
    แต่ในทางปฏิบัติโอกาสที่ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะยุบสภาในเร็วๆ นี้ยังเป็นไปได้ยาก  
    นั่นเพราะปัจจัยหลายอย่างไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่แม้ขณะนี้บิ๊กตู่จะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม แต่ยังต้องรอโปรดเกล้าฯ ลงมาก่อน 
    โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายขั้นตอนนี้เอาไว้ว่า เมื่อทูลเกล้าฯ แล้วจะมีพระบรมราชวินิจฉัยภายใน 90 วัน ซึ่งกรอบระยะเวลา 90 วันจะครบในต้นเดือนมกราคม 2565 
    ขณะที่การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะระบุว่าไม่ใช่เรื่องยากอะไร เพราะสามารถลอกโมเดลการแก้ไขกฎหมายลูกสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ แต่ก็ยังไม่สามารถยื่นได้ตอนนี้ เพราะต้องรอให้มีการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญลงมาก่อน จากนั้นอีก 2-3 วันถึงจะยื่น 
    เมื่อยื่นแล้วยังต้องมีกระบวนการของรัฐสภาที่ต้องพิจารณา 3 วาระ มีกระบวนการทูลเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร 
    ต้องใช้เวลาพอสมควร ในทีนี้ยังไม่รวมกรณีหากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก 
    ซึ่งหากบิ๊กตู่ชิงยุบสภาก่อนในช่วงนี้อาจจะยุ่งเหยิงพอสมควร เหมือนที่นายวิษณุกล่าวเอาไว้ เพราะเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับฉบับเก่า 
    “มันจะยุ่งหากเกิดเหตุการณ์ยุบสภาในตอนนี้ เนื่องจากขณะที่ยุบสภา เรายังนึกว่ามี ส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน กกต.ก็ต้องเตรียมการอย่างนี้ เพราะยังไม่ได้ใช้รัฐธรรมนูญใหม่แล้วพรรคการเมืองก็เตรียมการแบบนี้แล้ว อยู่ๆ เกิดมีการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลงมา ทุกอย่างต้องเปลี่ยนหมด จะไม่เปลี่ยนก็ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญใหม่มีผลแล้ว” 
    นอกจากนี้ กระแสความนิยมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในตอนนี้เองก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่ดีนัก ยังเผชิญวิกฤตศรัทธาจากประชาชนจากการบริหารการแก้ไขโควิด-19 ที่ล้มเหลว ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ในทางการเมืองถือว่าไม่อยู่ในจุดในเปรียบ 
    ดังจะเห็นว่าในระยะหลัง ทั้งบิ๊กตู่ และ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ตลอดจนองคาพยพของพรรคพลังประชารัฐ ต่างพยายามลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อหวังไปประชิดตัวประชาชน กู้วิกฤตความนิยมกลับมา  
    อีกตัวแปรสำคัญที่พอจะบ่งบอกได้ว่าบิ๊กตู่สตาร์ทเครื่องรอยุบสภาแล้วจริงๆ นั่นคือ พ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับต่อไป ที่ถูกมองว่าจะนำเงินก้อนนี้มากระชากความนิยม หลังมีการถางทางรอไว้แล้วด้วยการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% เมื่อเดือนก่อน  
    เงินก้อนนี้จะถูกนำไปใช้ในโครงการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเป็นลักษณะกึ่งประชานิยม คนพูดถึงและติดปาก  
    หากจำกันได้ ก่อนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เวอร์ชันคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้มีการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ก่อนหน้านี้ 2-3 เดือน มีการคลอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และสารพัดนโยบายตระกูลประชารัฐออกมาเพื่อให้เข้าหูคน เป็นผลงานไปหาเสียง ครั้งนี้ก็มีโอกาสจะเดินไปในแนวทางนี้เหมือนกัน 
    อีกประเด็นสำคัญที่การเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้คือ บิ๊กตู่ รวมถึงรัฐบาล ประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส หรือครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศภายในปี 2564 ซึ่งขณะนี้เดือนตุลาคมฉีดไปแล้วประมาณ 60 ล้านโดส ยังเหลืออีก 40 ล้านโดส 
    รัฐบาลเหลืออีกประมาณ 2 เดือนกว่าๆ กับการเร่งฉีดวัคซีนอีก 40 ล้านโดส เพื่อให้ได้ 100 ล้านโดส แน่นอนว่าบิ๊กตู่ย่อมต้องกัดฟันทำเรื่องนี้ให้สำเร็จก่อน 
    เพราะหากทำได้ก็พอจะมีเรื่องให้เอาไปเคลมในสนามเลือกตั้งได้บ้างว่า ในความล้มเหลวต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ผิดพลาด อย่างน้อยก็มีเรื่องวัคซีนที่ประสบความสำเร็จ ทำได้อย่างที่พูด 
    แต่หากชิงตัดช่องน้อยแต่พอตัวก่อน ยุบสภาเลย เรื่องนี้จะเป็นดาบสองคมในสนามที่อาจถูกฝ่ายตรงข้ามเอาไปขย้ำ ดิสเครดิต 
    ดังนั้น แทบจะปิดประตูยุบสภาในปีนี้ไปได้เลย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"