ขบวนรถไฟลาว-จีนนี้ชื่อ "ล้านช้าง"


เพิ่มเพื่อน    

ลาวและจีนกำลังนับถอยหลังการเปิดเส้นทางรถไฟสายพิเศษที่เป็นส่วนหนึ่งของ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนแล้ว
    คนไทยก็ต้องลุ้นด้วย เพราะต้องมีการประเมินต่อว่า เมื่อเปิดสายการเดินรถไฟระหว่างคุนหมิงทางใต้ของจีนกับเวียงจันทน์ เมืองหลวงของ สปป.ลาว แล้วประเทศไทยจะได้ประโยชน์หรือเผชิญความท้าทายเพิ่มเติมอะไรบ้าง
    ภาพที่เห็นอยู่นี้คือขบวนรถไฟชื่อ ‘ล้านช้าง’ ที่เตรียมส่งมอบให้โครงการรถไฟลาว-จีน ในเดือนพฤศจิกายนนี้ 
    เพราะนี่คือการ countdown สู่การเปิดบริการอย่างเป็นทางการวันที่ 2 ธันวาคมนี้
    อีกภาพหนึ่งคือสถานีรถไฟวังเวียง เสร็จสมบูรณ์แล้ว รอเปิดบริการวันจริงเท่านั้น 
    สัปดาห์ก่อนนี้ นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีลาว ประกาศว่า ทางรถไฟจีน-ลาว จะเปิดให้บริการตามกำหนดในวันที่ 2 ธันวาคม
ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 46 ปี การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว


    นายกฯ ลาวยืนยันกำหนดการนี้ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ก่อนหน้านี้จะมีความกังวลว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นอาจกระทบแผนงานเปิดทางรถไฟสายสำคัญนี้
    หนังสือพิมพ์ Vientiane Times อ้างคำยืนยันของนายกฯ พันคำ ว่า บริการรถไฟสายระหว่างลาวกับจีนจะเปิดให้บริการตามกำหนดการเดิม ไม่มีการเลื่อน ไม่มีการเปลี่ยนจากแผนเดิม
    และกำลังทำแผนให้เปิดบริการรถไฟภายใต้เงื่อนไขที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน
    รวมถึง “แนวทางเปิดบริการทางรถไฟเพื่อการท่องเที่ยว” ที่ต้องมีมาตรการใช้สำหรับบริเวณชายแดนลาว-จีน เพื่อตรวจสอบสินค้าและผู้โดยสารก่อนเข้าและออกอย่างเคร่งครัด
    แต่ทางรถไฟจีน-ลาวนี้จะเริ่มด้วยการมุ่งเน้นการขนส่งสินค้าเป็นหลัก
ตามมาด้วยการเปิดให้มีการท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์ของโควิดเข้าสู่ระยะที่ควบคุมได้ในระยะต่อไป
    ประเมินกันว่าทางรถไฟระยะทาง 424.4 กิโลเมตรสายนี้จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งผ่านลาวประมาณ 30-40% หากเปรียบเทียบกับการขนส่งทางถนนอย่างที่ทำมาตลอด
    นั่นย่อมจะมีส่วนเกื้อหนุนการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ
สำนักข่าวของลาวอ้างความเห็นของผู้บริหาร บริษัท นิคมโลจิสติกส์เวียงจันทน์ จำกัด (Vientiane Logistics Park) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาท่าเรือบกท่านาแล้ง (Thanaleng Dry Port) และนิคมโลจิสติกส์เวียงจันทน์ว่าทางรถไฟสายนี้จะเป็นกำลังสำคัญผลักดันให้ลาวกลายเป็น “ส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” หรือ Global Supply Chain ได้
    หนึ่งในประโยชน์ที่จะเกิดที่เห็นได้ชัดคือ การขนส่งสินค้าทางรถไฟจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังยุโรปจะใช้เวลาเพียง 10 วัน เร็วกว่าการขนส่งทางทะเลปัจจุบันที่ใช้เวลาประมาณ 45 วัน 
    ทำให้ประเมินว่าจะทำให้เกิดแรงจูงใจให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้เห็นประโยชน์ของการตัดสินใจเลือกขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่านทางรถไฟสายนี้เช่นกัน
    บริษัทนี้คาดว่าตู้คอนเทนเนอร์จากลาวอย่างน้อย 300,000 ตู้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากท่าเรือบกท่านาแล้ง จะถูกขนส่งผ่านทางรถไฟจีน-ลาว ไปยังยุโรปในแต่ละปี และจะเพิ่มขึ้นเป็นระหว่าง 1.2-1.8 ล้านตู้ต่อปี
    สำหรับจีนนี่คือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ BRI ระดับนานาชาติ และสำหรับ สปป.ลาวนั้นนี่คือแผนยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Land-locked country) เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทางบก (Land-linked country)
    ทางการจีนบอกว่า การสร้างรถไฟสายนี้ได้ใช้มาตรฐานด้านการจัดการและเทคนิคของจีนอย่างเต็มรูปแบบ 
    เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนธันวาคม 2016 และเร่งงานสร้างเสร็จตามกำหนดเวลาใน 5 ปี
    การบ้านสำหรับประเทศไทยก็คือ เราจะได้ประโยชน์ด้วยการต่อยอดจากการเชื่อมต่อระหว่างภาคใต้ของจีนกับเพื่อนบ้าน สปป.ลาวของเราอย่างไร
    และเราจะเดินหน้าวางแผนสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างเวียงจันทน์กับ กทม. เพื่อใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงทางรถไฟได้อย่างไร
    ขณะเดียวกันก็ต้องวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางคมนาคมทางบกระหว่างจีนตอนใต้กับไทยและต่อเนื่องไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ รอบๆ ตัวเราอย่างจริงจังและบนพื้นฐานของข้อมูลที่ปราศจากอคติอีกด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"