‘21 ปี พอช.’ พลิกโฉมชุมชนริมคลองลาดพร้าว-เปรมประชากรจากชุมชนแออัดสู่บ้านสวยริมคลองราคาหลักแสน-วิวหลักล้าน


เพิ่มเพื่อน    

สภาพชุมชนริมคลองลาดพร้าวก่อนการพัฒนา

ชุมชนหลัง ว..จันทรเกษมก่อสร้างเสร็จแล้วทั้งชุมชน

 

          “เมื่อก่อนชุมชนที่พวกเราอยู่มีสภาพเป็นชุมชนแออัด  ปลูกบ้านกันแบบตามมีตามเกิด  ทางเดินก็แคบ ส่วนใหญ่จะหันหลังบ้านลงคลอง  ส้วมก็ลงคลอง  บางหลังปลูกมานานไม้ก็ผุ  เสาก็ทรุด บ้านเกือบจะจมลงคลอง  เมื่อก่อนเด็กนักเรียนในชุมชนไม่กล้าชวนเพื่อนที่โรงเรียนมาเล่นที่บ้าน เพราะอายเพื่อน...

          พอจะทำโครงการบ้านริมคลอง  เราก็ช่วยกันออกแบบบ้าน  เอาหน้าบ้านลงคลอง   มีทางเดินเลียบคลอง  ช่วยกันดูแลคลองให้สะอาด  ทำเป็นตลาดน้ำหรือแหล่งท่องเที่ยวริมคลอง  ชาวบ้านก็สามารถค้าขายได้  ตอนนี้พอสร้างบ้านเสร็จแล้ว  ชุมชนก็ดูสะอาด  สวยงาม  เด็ก ๆ ก็ไม่อายเพื่อน”  ประภัสสร  ชูทอง  ผู้นำชุมชนหลัง ว..    จันทรเกษม  เขตจตุจักร   กรุงเทพฯ  บอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

          ชุมชนหลัง ว..จันทรเกษม (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมคือตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนริมคลองลาดพร้าว  จากเดิมเป็นชุมชนแออัด  บ้านเรือนส่วนใหญ่มีสภาพทรุดโทรม  ชาวบ้านปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ในที่ดินราชพัสดุริมคลอง  ซึ่งกรมธนารักษ์ดูแลอยู่ 

          ชาวบ้านบางส่วนที่มาอยู่ทีหลัง  หรือมีครอบครัวขยาย   เมื่อที่ดินบนฝั่งคลองไม่มีที่ว่าง  จึงปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลงในคลอง   ทำให้ลำคลองแคบลง  น้ำในคลองไหลไม่สะดวก   บางช่วงคลองลาดพร้าวมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตร  จากความกว้างปกติประมาณ 25-38 เมตร  ประกอบกับมีขยะ  ตะกอนดินทับถมอยู่ในคลอง  ทำให้การระบายน้ำในคลองไม่มีประสิทธิภาพ  โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน

 

คลอง-เขื่อน-คน

          ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กทม. ระบุว่า  ในพื้นที่กรุงเทพฯ  มีคลอง  คู ลำกระโดง  รวมกัน  1,980  สาย  ความยาวรวมประมาณ  2,700  กิโลเมตร   ในจำนวนนี้ถูกรุกล้ำ 1,161  สาย   มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำประมาณ 23,500  หลัง !!

          หลังน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ปี 2554   รัฐบาลมีแผนงานการแก้ไขสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลองในกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำลงสู่คลอง  โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน  น้ำจากท่อระบายน้ำทิ้งส่วนใหญ่จะไหลและถูกสูบลงคลอง  แต่การระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ  เพราะมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางเดินน้ำในลำคลอง  มีขยะและดินโคลนทับถมอยู่ในคลอง  โดยจะมีการรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลอง เพื่อก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลอง  และขุดลอกคลองให้ลึกและกว้างกว่าเดิม

          แต่กว่าจะดำเนินการได้ก็ล่วงเข้าไปในสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  เริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าวเป็นคลองแรกในปี 2559  โดยรัฐบาล คสช. มอบหมายให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบการสร้างเขื่อนระบายน้ำ และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.จัดทำแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับชาวชุมชนริมคลองที่ต้องรื้อย้ายออกจากแนวคลองและแนวเขื่อน  

 

คลองลาดพร้าว (ช่วงบางบัว.ราชภัฏพระนคร  เขตบางเขนก่อนการปรับปรุง

 

          คลองลาดพร้าว : มีความยาวประมาณ 22 กิโลเมตร  เชื่อมกับคลองแสนแสบบริเวณอุโมงค์ระบายน้ำพระราม 9  เขตวังทองหลาง  ผ่านวัดลาดพร้าว   วัดบางบัว  ตลาดสะพานใหม่  จนถึงประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้  เขตสายไหม  ตลอดคลองลาดพร้าวสองฝั่งมีชุมชนตั้งอยู่เรียงราย  บางชุมชนอยู่อาศัยต่อเนื่องมานานไม่ต่ำกว่า 70-80 ปี         

          เขื่อนคอนกรีตระบายน้ำในคลองลาดพร้าว : มีความยาวทั้งสองฝั่งประมาณ  45 กิโลเมตร โดยกรุงเทพมหานครว่าจ้างบริษัทเอกชนก่อสร้าง  วงเงินก่อสร้างจำนวน  1,645  ล้านบาท  จากริมคลองลาดพร้าว  บริเวณคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา  เขตวังทองหลาง  ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้   เขตสายไหม   เริ่มต้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559  

          การก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำคอนกรีต  จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลอง   เพื่อตอกเสาเข็มและพนังกั้นตลิ่งทั้งสองฝั่งคลอง  มีความกว้างสองฝั่งประมาณ 38 เมตร   ตลอดแนวสันเขื่อนจะมีรั้วเหล็กกันตก  และทางเดินเลียบคลองความกว้างประมาณ 3 เมตร  สามารถขี่รถมอเตอร์ไซค์หรือจักรยานเลียบคลองได้ 

          นอกจากนี้จะมีการขุดลอกคลองให้ลึกประมาณ 3  เมตร  เพื่อให้น้ำในคลองไหลสะดวก   ในช่วงฤดูฝน   คลองลาดพร้าวจะช่วยระบายน้ำลงสู่อุโมงค์เขื่อนใต้คลองบางซื่อและอุโมงค์เขื่อนพระราม 9 เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา  ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม

 

เมื่อตอกเสาเข็มแล้ว  จะนำแผ่นคอนกรีตมาวางเรียงเป็นพนังกั้นตลิ่ง

 

          คนริมคลองลาดพร้าว สองฝั่งคลองลาดพร้าวในอดีตเป็นทุ่งนา  คนที่มาอยู่อาศัยรุ่นแรกๆ ไม่ต่ำกว่า 70-80 ปี  มีทั้งคนเช่าที่ทำนา  รับจ้างทำนา  ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลอง  ใช้คลองเป็นเส้นทางสัญจร  เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น  ที่ดินแพงขึ้น  เจ้าของจึงขายที่นา  ทุ่งนาริมคลองจึงกลายเป็นที่ดินจัดสรร  หมู่บ้านจัดสรร  ตึกแถว  ตลาด  เช่น  ย่านลาดพร้าว  โชคชัย 4   วังหิน  ฯลฯ  ภายหลังจึงมีคนจากต่างถิ่น  ต่างจังหวัดเข้ามาอยู่อาศัยเพื่อทำมาหากินในเมืองกรุง  ชุมชนริมคลองจึงหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ

          ปัจจุบันมีชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลองลาดพร้าวตลอดสองฝั่งคลอง  จำนวน  50  ชุมชน   รวม 7,069  ครัวเรือน  ประชากรประมาณ 20,000 คน  อยู่ในพื้นที่ 8 เขต  คือ  วังทองหลาง  ห้วยขวาง  ลาดพร้าว  จตุจักร  หลักสี่  บางเขน  ดอนเมือง  สายไหม  ฯลฯ  ส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินริมคลองซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ  กรมธนารักษ์ดูแล 

          สภาพบ้านเรือนก่อนการปรับปรุงส่วนใหญ่มีสภาพทรุดโทรมและแออัด  เพราะพื้นที่ริมคลองมีความคับแคบ   ชาวบ้านปลูกสร้างบ้านเรือนตามความยาวของแนวคลอง  ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง  เป็นแรงงาน  แม่บ้าน  รปภ.  พนักงานบริษัทเอกชน   รัฐวิสาหกิจ  ข้าราชการ   ค้าขายเล็กๆ  น้อยๆ   ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง   ขับแท็กซี่  ฯลฯ

 

บ้านใหม่  ชีวิตใหม่ริมคลองลาดพร้าว

          ในเดือนมีนาคม 2559  คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณจำนวน 4,061 ล้านบาท ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ พอชนำไปพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าวที่ต้องรื้อย้ายออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนฯ เป็นคลองแรก โดยมีเป้าหมายใน  50  ชุมชน   รวม 7,069  ครัวเรือน   เริ่มก่อสร้างบ้านชุมชนแรกที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ  (ตรงข้ามตลาดสะพานใหม่เขตสายไหม  ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน  จำนวน  64  ครัวเรือน  ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว 2 ชั้น  ก่อสร้างด้วยคอนกรีต  ขนาด 4 X 6 ตารางเมตร   ราคาก่อสร้างตั้งแต่ 187,000-367,000 บาท   ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2560

 

ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญก่อนการปรับปรุงปี 2559

 

          อวยชัย  สุขประเสริฐ  ประธานชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ  บอกว่า  ก่อนการก่อสร้างบ้านใหม่  ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่ารัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ  จะมาสนับสนุนโครงการนี้อย่างจริงจัง  เพราะชาวบ้านได้บุกรุกที่ดินริมคลองปลูกสร้างบ้านกันมานานหลายสิบปี  จึงกลัวว่าจะถูกไล่ที่มากกว่า  แต่ใจจริงทุกคนก็อยากจะได้บ้านใหม่  และอยู่อาศัยอย่างถูกต้อง  เพราะสภาพบ้านส่วนใหญ่ผุพังทรุดโทรม  ลูกหลานจะได้มีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง  ไม่ต้องกลัวโดนไล่  เมื่อเจ้าหน้าที่ พอช.เข้ามาให้คำแนะนำการรวมกลุ่ม การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  จึงร่วมกันออมทรัพย์เป็นทุน  ครอบครัวละ 500 -600  บาทต่อเดือน  

          “วันลงเสาเอกสร้างบ้านใหม่  มีพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกฯ มาเป็นประธาน  คนที่ยังไม่เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นจริงก็ต้องเชื่อ  ชุมชนที่อยู่ใกล้ๆ ยังไม่เข้าร่วม  ยังไม่เชื่อ  เมื่อเห็นชุมชนของเราสร้างบ้านเสร็จ  มีบ้านใหม่  ชุมชนใหม่สวยงาม  ก็เข้าร่วมโครงการ  ตอนนี้ชุมชนริมคลองในเขตสายไหมสร้างเสร็จเกือบทุกชุมชนแล้ว”  ผู้นำชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญบอก

          เขาบอกด้วยว่า  ปัจจุบันชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ  แต่เดิมบ้านเรือนส่วนใหญ่จะทรุดโทรมเพราะสร้างกันมานาน  สะพานไม้ก็ผุพัง   เด็กๆ ไม่มีที่วิ่งเล่น   ขยะก็ทิ้งลงในคลอง  น้ำก็เน่าเหม็น   พอเริ่มสร้างบ้านใหม่เป็นชุมชนนำร่อง   หน่วยงานต่างๆ  ก็เข้ามาสนับสนุน  ช่วยสร้างสนามเด็กเล่น   มีเครื่องออกกำลังกาย   มีถังบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงคลอง  มีการคัดแยกขยะ   ช่วยกันปลูกต้นไม้ริมคลอง  ปลูกผักสวนครัว  ชุมชนก็ดูสวยงาม  ไม่เป็นชุมชนแออัดเหมือนแต่ก่อน  

          นอกจากนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เข้ามาส่งเสริมอาชีพชาวบ้าน โดยจัดอบรมฝึกอาชีพทำอาหาร ขนม ทำสบู่ ยาหม่องสมุนไพร สิ่งประดิษฐ์  ของชำร่วย ฯลฯจัดตลาดนัดชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม

 

ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญหลังสร้างเสร็จปี 2560

 

ใช้หลักการ บ้านมั่นคง’  ให้ผู้เดือดร้อนรวมกลุ่มแก้ไขปัญหา

           ธนัช  นฤพรพงศ์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอชในฐานะผู้ดูแลโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง  บอกว่า  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง  มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนด้านความรู้และความช่วยเหลือ เช่น พอช.  ส่งสถาปนิกเข้าไปให้คำแนะนำแก่ชุมชน เรื่องการออกแบบบ้าน ออกแบบผังชุมชน กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปให้ความรู้เรื่องการจัดตั้งสหกรณ์เคหสถาน  กรมธนารักษ์ให้ชุมชนเช่าที่ดินในอัตราผ่อนปรนระยะยาว  ครั้งละ 30 ปี   เปลี่ยนจากผู้บุกรุก” เป็น ผู้อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง”  และจะทำให้สภาพแวดล้อมและคุณภาพของชีวิตชาวชุมชนดีขึ้น

          ส่วนรูปแบบในการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงริมคลอง คือ 1. หากชุมชนใดสามารถอยู่ในที่ดินเดิมได้ (หลังจากสำรวจและวัดแนวเขตว่าพ้นจากแนวเขื่อนฯ แล้ว) จะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ ระยะเวลาช่วงแรก 30 ปี อัตราค่าเช่าประมาณ 1.25 - 4 บาท/ตารางวา/เดือน  โดยทุกครอบครัวจะได้รับที่ดินเท่ากัน  ขนาดบ้านประมาณ 4x6 - 4x8 ตารางเมตร มีทั้งบ้านชั้นเดียวและ 2 ชั้น (บางชุมชนมี 3 ชั้น) ขึ้นอยู่กับความต้องการของชาวบ้านและความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อ  (ประมาณ 1-3 พันบาทเศษ)

          โดย พอช.จะสนับสนุน 1.สินเชื่อก่อสร้างบ้านไม่เกิน 330,000 บาท/ครัวเรือน (กรณีสร้างบ้านในชุมชนเดิม) ระยะเวลาผ่อน 20 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี  และสนับสนุนงบประมาณสร้างสาธารณูปโภค-เงิน อุดหนุน 147,000 บาท/ครัวเรือน

          2.หากชุมชนใดมีพื้นที่ไม่เพียงพอ ชาวบ้านอาจจะรวมตัวกันไปหาที่ดินแปลงใหม่ที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิม เพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพ การเดินทาง  เช่น ที่ดินของบริษัทในสังกัดกระทรวงการคลัง หรือที่ดินเอกชน โดย พอช.จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้านครัวเรือนละไม่เกิน 360,000 บาท

          “การทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองนี้ ไม่ใช่ พอช.ไปสร้างบ้านให้ชาวบ้าน แต่เป็นการใช้หลักการของ บ้านมั่นคง ที่ พอช.ทำมาตั้งแต่ปี 2546 นั่นคือ ให้ชุมชนหรือผู้ที่เดือดร้อน รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา   เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวใหม่ ไม่ใช่รูปแบบของการสงเคราะห์หรือหน่วยงานรัฐเข้าไปสร้างบ้านให้ชาวบ้านแบบให้เปล่า แต่ให้ชุมชนและชาวบ้านมีส่วนร่วมและเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา โดยมี พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน มีตัวแทนชาวบ้านเป็นคณะทำงาน มีกระบวนการทำงาน 11 ขั้นตอน”  ธนัชบอก

 

11 ขั้นตอนสร้างบ้านมั่นคงริมคลอง

          1.สร้างความเข้าใจโครงการ โดยการชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชน มีคณะกรรมการชุมชน เจ้าหน้าที่ พอช. เจ้าหน้าที่ชุดมวลชนสัมพันธ์ ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่สำนักงานเขต กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมธนารักษ์ สำนักการระบายน้ำ ฯลฯ ร่วมกันจัดประชุมชี้แจงเป็นกลุ่ม หรือใช้วิธีพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ

          2.ร่วมกันสำรวจข้อมูล รับรองข้อมูล พิจารณาสิทธิ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลครัวเรือน ผู้อยู่อาศัย ขนาดพื้นที่ของชุมชน และความต้องการที่อยู่อาศัย เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการสร้างบ้านและออกแบบผังชุมชน หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาสิทธิ์และรับรองสิทธิ์ เพื่อให้ชาวชุมชนช่วยกันยืนยันว่า เจ้าของบ้านหลังนี้มีตัวตนและอาศัยอยู่จริง เพื่อไม่ให้มีการสวมสิทธิ์

          3.ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อให้ชาวชุมชนได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนสำหรับก่อสร้างบ้าน บางชุมชนกำหนดเงินออมขั้นต่ำ 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน บางชุมชนอาจมากกว่า แล้วแต่ข้อตกลงของแต่ละชุมชน หากมีเงินออมมาก ยอดเงินที่จะขอกู้จาก พอช.ก็จะลดน้อยลง

 

ชาวชุมชนริมคลองย่านดอนเมืองร่วมประชุมเพื่อเตรียมทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย

 

          4.จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล และบริหารโครงการ เช่น ทำสัญญาเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์ เสนอขอใช้สินเชื่อและงบสนับสนุนจาก พอช.  บริหารการก่อสร้างบ้าน ฯลฯ

          5.จัดการเรื่องที่ดิน โดยการแบ่งปันและเสียสละ คนที่เคยมีที่ดินและบ้านหลังใหญ่ จะต้องเสียสละให้คนที่รุกล้ำแนวคลองสามารถขึ้นมาอยู่บนฝั่งได้ โดยเฉลี่ยแปลงที่ดินที่จะสร้างบ้านให้มีขนาดเท่ากัน (ประมาณ 4X6 ตารางเมตรหรือมากกว่าตามขนาดของชุมชน) และ ครอบครัวได้ 1 สิทธิ์ หรือตามข้อตกลงของชุมชน เช่น ครอบครัวที่มีผู้อยู่อาศัยเกิน 8 คน จะได้รับสิทธิ์ขยายเพิ่ม 1 สิทธิ์

          6.ร่วมกันออกแบบบ้าน ออกแบบผังชุมชน นำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจชุมชนและครัวเรือนมาออกแบบผังชุมชนและออกแบบบ้าน โดยมีสถาปนิกและเจ้าหน้าที่ของ พอช.เป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้ได้แบบบ้านและผังชุมชนที่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน

          7.เสนอโครงการและงบประมาณต่อ พอช. เมื่อผ่านกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ชุมชนจะต้องยื่นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในนามสหกรณ์เคหสถานมายัง พอช.เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการและสินเชื่อ

          8.วางแผน ขออนุญาตก่อสร้าง และรื้อย้าย ชุมชนจะร่วมกับเจ้าหน้าที่ พอช. สถาปนิกและวิศวกร วางแผนการก่อสร้าง แผนการรื้อย้าย และจัดเตรียมเอกสารเพื่อขออนุญาตก่อสร้างจากกรมธนารักษ์และสำนักงานเขต

          9.ทำนิติกรรมสัญญา และเบิกจ่ายงบประมาณ เมื่อ พอช.อนุมัติโครงการแล้ว ชุมชนจะต้องส่งตัวแทนในนามของสหกรณ์เคหสถานที่จดทะเบียนเอาไว้ไปทำนิติกรรมสัญญาเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณ

          10.กระบวนการก่อสร้างบ้าน เมื่อได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.แล้ว ชุมชนจะมีการคัดเลือกผู้รับเหมา มีการแบ่งหน้าที่กันทำงาน เช่น จัดทำบัญชี ตรวจสอบการเงิน และตรวจสอบการดำเนินการก่อสร้าง ฯลฯ

          11.พัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อก่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว ชุมชนจะร่วมกับ พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เช่น เรื่องอาชีพ มีการวางแผนการจัดตลาดนัด ตลาดน้ำชุมชน เรือโดยสารในคลอง ส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ  พัฒนาสิ่งแวดล้อม เช่น ปลูกต้นไม้ ปลูกผักสวนครัว การคัดแยกขยะ การบำบัดน้ำเสียในครัวเรือนก่อนปล่อยลงคลอง จัดกิจกรรมเด็กและเยาวชน พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้าน ฯลฯ

 

บ้านสวยริมคลองราคาหลักแสน-วิวหลักล้าน

          ปัจจุบันการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวก่อสร้างแล้วใน 35 ชุมชน  จำนวนบ้านที่ก่อสร้างเสร็จ 3,065  ครัวเรือน  (มีผู้เข้าอยู่อาศัยหมดแล้วกำลังก่อสร้าง 194 ครัวเรือน   พื้นที่พร้อมก่อสร้าง  277 ครัวเรือน  ส่วนที่เหลือกำลังดำเนินการในระยะต่อไป  คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมด 7,069 ครัวเรือนภายใน 3 ปีนี้

          สำหรับชาวชุมชนที่ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ไม่มีรายได้   ที่ผ่านมามีหลายชุมชนที่ชาวบ้านร่วมกันลงขันครัวเรือนละ 1,000 บาท เพื่อสร้างบ้านกลางให้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้ด้อยโอกาส เช่น ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ ชุมชน กสบ.หมู่ 5 เขตสายไหม ชุมชนหลัง ว..จันทรเกษม เขตจตุจักร ฯลฯ

 

ชุมชนริมคลองลาดพร้าว (ช่วงคลองสองสายใต้  เขตสายไหม) ตรงข้ามกองทัพอากาศดอนเมือง  ราคาไม่เกิน 400,000 บาท  มีบรรยากาศริมคลองสวยงาม

 

          นอกจากนี้รัฐบาลยังมีโครงการพัฒนาคลองเปรมประชากร ซึ่งมีปัญหาเช่นเดียวกับคลองลาดพร้าว โดยการรื้อย้ายชุมชนที่รุกล้ำลำคลอง-ก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่  ก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำ  อุโมงค์ระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย  ปรับทัศนียภาพชุมชนริมคลอง-พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชน  ส่งเสริมอาชีพ  การท่องเที่ยวทางน้ำ  รวมทั้งเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมรถ-ราง (ไฟฟ้า-เรือ  เริ่มดำเนินการในปี 2562-2570  ขณะนี้การก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำดำเนินการไปแล้วบางช่วง

          ขณะที่ พอช. มีแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมฯ ทั้งหมด 38 ชุมชน รวม 6,386 ครัวเรือนในพื้นที่เขตจตุจักร หลักสี่   ดอนเมือง และใน จ.ปทุมธานี ซึ่งชุมชนเหล่านี้สามารถอยู่อาศัยในที่ดินเดิมได้ทั้งหมด   แต่จะต้องรื้อบ้านออกจากพื้นที่ริมคลองและแนวก่อสร้างเขื่อนฯ เพื่อปรับผังชุมชนแล้วก่อสร้างบ้านใหม่เพื่อให้ทุกครอบครัวอยู่ในชุมชนเดิมได้ โดย พอช.จะสนับสนุนชุมชนเช่นเดียวกับโครงการบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าว  เริ่มดำเนินการชุมชนแรกในเดือนมกราคม 2563  โดยพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานยกเสาเอกสร้างบ้านหลักแรก 

 

พลเอกประยุทธ์เป็นประธานงานที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร

 

          ล่าสุดขณะนี้  (ตุลาคม 2564)  พอช.สนับสนุนการสร้างบ้านใหม่แล้ว  4 ชุมชน   ก่อสร้างแล้วเสร็จ  196 ครัวเรือน    บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 472 ครัวเรือน    พื้นที่รื้อย้ายพร้อมก่อสร้างบ้าน 95 ครัวเรือน  ตามแผนงานการก่อสร้างจะแล้วเสร็จทั้ง  6,386 ครัวเรือนภายใน 3 ปีนี้

          ทั้งนี้บ้านที่ก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว  มีทั้งบ้านชั้นเดียวและสองชั้น  เช่น บ้านแถวชั้นเดียว ขนาด 4 X 7 ตารางเมตร ราคา 290,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 1,500 บาท บ้านแถวสองชั้น ขนาด 4 X 7 ตารางเมตร ราคา 450,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 2,600 บาท บ้านแถวสองชั้น ขนาด 5 X 6 ตารางเมตร ราคา 450,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 2,600 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 20 ปี 

 

บ้านใหม่ริมคลองเปรมประชากรย่านจตุจักร  สวยงามร่มรื่น  ราคาไม่กี่แสน  แต่วิวหลักล้าน

 

รัฐบาลเดินหน้าพัฒนาคลองสนองพระราชดำริ

          เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล..ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10  เร่งพัฒนา  ปรับภูมิทัศน์  พลิกฟื้นชีวิตของประชาชนริมคลอ  รวมทั้งน้อมถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ที่ทรงให้ความสำคัญกับน้ำและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จตามลำดับ

          เช่น   คลองลาดพร้าว  มีความยาวประมาณ 22 กิโลเมตร   มีชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลองลาดพร้าวตลอดสองฝั่งคลอง จำนวน 50 ชุมชน รวม 7,069 ครัวเรือน  ได้ก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ำในคลองลาดพร้าวความยาวทั้งสองฝั่งประมาณ 45 กิโลเมตร และดำเนินโครงการ บ้านมั่นคง ริมคลองลาดพร้าว เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย  พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว   ซึ่งนอกจากการเปลี่ยนแปลงด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีการรื้อฟื้นการใช้ประโยชน์จากลำคลองเพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำขึ้นมาเหมือนในอดีตด้วย

          “คลองเปรมประชากร  รัฐบาลได้ริเริ่มแผนพัฒนาคลองเปรมประชากรความยาวกว่า 50 กิโลเมตรทั้งระบบ  ในระยะเวลา 9 ปี คือ  ..2562-2570  เช่น  โครงสร้างพื้นฐาน  ระยะเร่งด่วน  ปี 2562 – 2565 จำนวน 4 โครงการ  วงเงิน 4,448 ล้านบาท  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ  ป้องกันน้ำท่วม  และบำบัดน้ำเสียในคลองเปรมประชากรตั้งแต่กรุงเทพฯถึงพระนครศรีอยุธยา  นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ริมคลอง  เช่น สร้างพื้นที่สีเขียว  ตลาดนัดริมคลอง  พัฒนาเส้นทางจักรยานเลียบคลอง  เชื่อมเส้นทางคมนาคมทั้งทางรถไฟและรถไฟฟ้า และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต่อไป   โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้าย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"