ดันรื้อใหญ่ กม.สิ่งแวดล้อม 'ติดดาบ'ฟัน'ผู้ก่อมลพิษ'ไม่ให้ลอยนวล


เพิ่มเพื่อน    

 

 

       หลังจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีมติให้ปรับแก้ พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 หวังปิดช่องว่างและควบคุมการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน กลุ่มนักวิชาการสิ่งแวดล้อมและนักกฎหมายต่างเห็นด้วยที่รื้อกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน  พร้อมคาดหวังจะเพิ่มประสิทธิภาพรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมและจัดการมลพิษที่เกิดขึ้นได้มากกว่ากฎหมายเดิม  

     ขณะนี้การแก้ไขเนื้อหากฎหมายสิ่งแวดล้อมดำเนินการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา อย่างไรก็ตาม มีวงเสวนาออนไลน์เรื่อง “ถึงเวลาติดดาบกฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือยัง?”  จัดโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันก่อน ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมร่วมจุดประกายการแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อมให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหามลพิษที่คุกคามประชาชน    
     นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมมีตั้งแต่ พ.ศ.2518 จากการก่อตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาล ต่อมาใช้มาตรการป้องกันนำมาใช้เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมีความยั่งยืน โดยมีการแก้กฎหมาย เพื่อนำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาใช้และมาตรการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้อำนาจแก้ปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฉุกเฉิน  จากปัญหาช่องว่างมากมาย ปี 2535  รัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงการจัดการสิ่งแวดล้อมและให้จัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องมีกฎหมายรองรับ นำมาสู่การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ และเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ เป็น พรบ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535  และปรับปรุงฉบับล่าสุดปี 2561
             “ ถึงเวลาต้องทบทวนและยกเครื่องใหม่ทั้งหมด เพราะกฎหมายใช้มาจะครบ 30 ปีในปีหน้า  ต้องปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุด หลักการสำคัญมี 3 ประการ คือ ป้องกันล่วงหน้า อย่างมาตรการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  การวางแผนและการกำหนดพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม  ส่วนการเยียวยาควรยึดหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย  หากจะติดดาบเพิ่มเติมต้องอยู่ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังขาดมาตรการใส่ในกฎหมายอีกมาก เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ มาจากภาวะโลกร้อน  “ นายพนัส กล่าว
        ศ.ดร.อำนาจ  วงศ์บัณฑิต  อาจารย์ประจำสาขากฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมในภาพรวม มีหลายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อดีตการบังคับใช้กฎหมายถือเป็นหน้าที่ของภาครัฐ เน้นจับปรับผู้กระทำผิด เพิกถอนใบอนุญาต เมื่อเกิดความเสียหายต่อธรรมชาติ แม่น้ำลำคลอง สภาพอากาศ  ไม่มีกฎหมายให้รัฐเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้ นอกจากเป็นความเสียหายในตัวอาคารโดยตรง   ที่ผ่านมา ประชาชนไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเฝ้ารอติดตาม ยิ่งถ้าผู้กระทำผิดมีเส้นสาย เรื่องจะเงียบหายไป ยกเว้นเป็นข่าวดังตามสื่อมวลชน แล้วยังพบปัญหาหน่วยงานเกี่ยงกันในการแก้ปัญหา  เส้นทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมพัฒนาขึ้นในปี 2535 ให้ประชาชนและรัฐฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้
     “ ช่วง 3-4 ปีนี้ มีกฎหมายอีกหลายฉบับพัฒนา ไม่เน้นโทษอาญา แต่ใช้มาตรการทางแพ่งเยียวยาความเสียหาย เปิดโอกาสให้ประชาชนมีบทบาทมากขึ้น รวมถึง องค์กรเอกชนมีบทบาทขึ้น แต่ยังไม่สามารถฟ้องคดีได้ จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และจัดตั้งศาลปกครอง ส่งผลดีประชาชนมีสิทธิอนุรักษ์ทรัพยากร มีการฟ้องคดีมากขึ้น ทั้งหน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนศาลปกครองตีความผู้ที่มีอำนาจกว้างขวาง เป็นทิศทางที่ดี และเร่งรัดให้หน่วยงานรัฐไม่เฉื่อยดูแลปกป้องสิ่งแวดล้อม  “
      ศ.ดร.อำนาจ ระบุกฎหมายสิ่งแวดล้อมปี 2535 เป็นกฎหมายหลักวางกรอบดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อเกิดปัญหา พรบ.ฉบับเดียวไม่ได้ ต้องพึ่งกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานหลายฉบับ สิ่งที่พบหากมีกรณีที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานจะพบบางหน่วยงานไม่ดำเนินงานเต็มที่หรือถ่วงเวลา ทำให้การดำเนินคดีล่าช้า แม้ปัจจุบันมีคณะกรรมการประสานสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งดี แต่ทางปฏิบัติพบปัญหากฎหมายสิ่งแวดล้อมปี 2535 ดูผิวเผินเขาบอกมีอำนาจเด็ดขาด มีความหวังในการจัดการ แต่ดูลึกๆ เป็นภาพลวงตา เพราะกระทรวงทรัพย์ฯ  กรมควบคุมมลพิษ ไม่มีอำนาจแท้จริงจัดการปัญหา  ยกตัวอย่างปัญหามลพิษโรงงาน คพ.เหมือนผู้ประสานงานมากกว่า ประกอบกับมาตรฐานมลพิษไม่มีบทลงโทษ ไม่มีสภาพบังคับ ต่างจากกฎหมายประมง กฎหมายเดินเรือ น่านน้ำ มีบทลงโทษ จุดนี้ต้องแก้ไข ไม่มีอำนาจก็เหมือนเอาพระมาเทศน์ให้ผู้ประกอบการฟัง
     อาจารย์กฎหมายสิ่งแวดล้อม บอกอีกว่า  ที่ผ่านมา การร่างกฎหมายที่แย่งอำนาจหรือตัดอำนาจหน่วยงาน จะถูกต่อต้าน หน่วยงานไม่เห็นด้วยจึงไปไม่รอด หนทางร่างกฎหมายให้รอด คือ ไม่ต้องแตะ อย่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นตัวอย่างไม่มีอำนาจที่แท้จริง ฉะนั้น ต้องติดดาบ โดยเฉพาะเรื่องมลพิษ  อีกจุดอ่อนหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมไม่มีอำนาจปิดสถานประกอบการ ทำให้ไม่มีความเกรงกลัว รวมถึงจะทำอย่างไรเพิ่มบทบาทองค์กรพัฒนาเอกชนให้อำนาจฟ้องคดีอาญาด้วย เพราะมีหลายคดีไม่คืบหน้า แต่การจะให้อำนาจต้องศึกษารายละเอียดให้รอบด้าน รวมถึงแก้กฎหมายให้ประชาชนมีสิทธิรับรู้สารอันตรายที่อยู่ใกล้บ้าน ต่างประเทศมี แต่บ้านเราไม่เกิด ห่วงประท้วง กังวลการเกิดขึ้นของสถานประกอบการ แต่นั่นคือ สิทธิของประชาชน ต้องติดดาบให้ประชาชนด้วย เห็นด้วยกับ ทส. เสนอให้มีกฎหมายคุ้มครองสภาพภูมิอากาศและโอนคดีสืบสวนด้านสิ่งแวดล้อมมาให้ ทส. สอบสวน ส่งให้อัยการ จะมีประสิทธิภาพดีขึ้น เพราะตำรวจไม่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม 
      เช่นเดียวกับ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า  ทุกวันนี้ปัญหาฝุ่นละออง ขนาดเล็ก PM 2.5 ขยะ น้ำเสีย ยังเห็นอยู่ในประเทศไทย  ตั้งคำถามว่า กฎหมายสิ่งแวดล้อมปัจจุบันเข้าไปแก้ไขปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน อีกเรื่องสำคัญ คือ การรักษาสมดุล ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานอนุมัติอนุญาตมาดูแลสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการ กฎหมายจะต้องผลักดันให้กระทรวงทรัพย์ฯ สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมภายนอกสถานประกอบการมลพิษต่างๆ สามารถเข้าไปดำเนินการได้อย่างเบ็ดเสร็จ เป็นการ Check and Balance ระหว่างหน่วยงาน เราอยากให้กองทุนสิ่งแวดล้อมใช้ได้ทันทีเมื่อเกิดปัญหา ทำอย่างไรให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่มีอยู่ทั่วประเทศเข้มแข็ง ทุกวันนี้คุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นแค่ตัวเลขเชิงนโยบาย ไม่สามารถใช้บังคับได้ แหล่งกำเนิดมลพิษแต่ละประเภทอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ ทำไมไม่เบ็ดเสร็จที่กลไกของกระทรวงทรัพย์ ฯ ทุกวันนี้ตรวจสอบไม่ได้เต็มที่
       “ อยากให้ทบทวนปัญหาสิ่งแวดล้อมซ้ำซากที่แก้ไม่ได้   เพราะอะไร รวมถึงพื้นที่วิกฤตมลพิษ ต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อนำสู่การปรับแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสม หรือแม้กระทั่งการเกิดอุบัติเหตุโรงงานกิ่งแก้วระเบิดที่ผ่านมา สะท้อนระบบมีช่องว่างทั้งกฎหมายวัตถุอันตราย กฎหมายสิ่งแวดล้อม  กฎหมายปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ปัญหา “ ดร.วิจารย์ ย้ำ



           นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมพิษ สะท้อนปัญหาการใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมว่า ปัญหาหนัก คือ ผู้จงใจกระทำผิด ตั้งใจปล่อยมลพิษ ปล่อยกากของเสียวัตถุอันตราย  และน้ำเสียจากโรงงาน เป็นความเสียหายใหญ่ต่อทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูยากและใช้งบประมาณมหาศาล กรณีมลพิษแปดริ้วเกิดความเสียหายเป็นหมื่นล้าน ล่าสุด ฟาร์มหมูราชบุรีน้ำเสียจากฟาร์ม ประชาชนทนทุกข์มากว่า 10 ปี สะสมมานาน ไม่ได้รับการแก้ไข หน่วยงานคุยแล้วกลับ ไม่แก้ไข 

    “ คพ.ถือกฎหมายสิ่งแวดล้อมเหมือนถือหมอนข้างไปไล่ตี เพราะไม่มีอำนาจ จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันทำงาน การลุยแก้ปัญหามลพิษของ คพ. ขณะนี้ ถ้าเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดไม่ทำ เราจะแจ้งความเอาผิดข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่  และไปช่วยประชาชนฟ้องศาลปกครอง และฟ้องแพ่ง เพื่อให้แก้ไขทันท่วงที  พิสูจน์ทราบ ตรวจสอบ ใช้กฎหมาย ใช้อำนาจทางปกครอง เพื่อหยุดการปล่อยมลพิษให้เร็วที่สุด เยียวยาประชาชนได้ทันท่วงที ต้องมีบทลงโทษสมน้ำสมเนื้อ นี่คือ กฎหมายในอนาคตที่อยากเห็น ต้องให้เกิดเร็วที่สุด เพราะผู้กระทำผิดรู้กฎหมาย ดื้อแพ่ง ประชาชนเดือดร้อน  กฎหมายต้องกระจายอำนาจให้พนักงานท้องถิ่นต้องทำ และหน่วยงานอื่นใช้ประโยชน์ได้ “ อธิบดี คพ. กล่าว     



      มุมมอง  นายสมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ฟ้องคดีให้ประชาชน เผยอุปสรรคการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมว่า การใช้กฎหมายเชิงป้องกันทุกวันนี้ต้องทำอีไอเอ เอชไอเอ เอชอีเอ ก่อนทำโครงการที่อาจกระทบสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันพบการทำรายงานไม่ตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่ ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เพราะมีการใช้ข้อมูลเท็จในรายงาน เมื่อรายงานผ่านการอนุมัติเกิดข้อสงสัย คัดค้าน  และฟ้องคดีต่อศาลปกครองเป็นอีไอเอที่ไม่ชอบ บางคดีศาลสั่งเพิกถอนรายงาน ผู้ประกอบการนำไปปรับปรุงและยื่นใหม่ ตนเห็นว่า รายงานที่ศาลปกครองมีคำสั่งเห็นตรงข้ามให้เพิกถอน ต้องลงไปดูคณะกรรมการที่ปรึกษา จะต้องขึ้นแบล็คลิสต์หรือมีบทลงโทษหรือไม่ นี่คือ ช่องว่างต้องปรับแก้ ถ้าอีไอเอโปร่งใสตรวจสอบได้ จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้นเหตุ ที่ผ่านมาอีไอเอเป็นพิธีกรรมทางกฎหมายเท่านั้น ไม่มีการศึกษาอย่างแท้จริง 
      อีกประเด็นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเยียวยา นายกสมาคมฯ บอกว่า  พบปัญหาประชาชนเข้าถึงกระบวนการนี้ยาก เพราะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี  มีการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง ไม่สามารถใช้เงินจากกองทุนยุติธรรมหรือกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อเรียกร้องเยียวยาได้ ที่ผ่านมา ชาวบ้านลงขันกันเอง ส่วนการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมเมื่อชาวบ้านร้องเรียนไปหน่วยงานเกี่ยวข้องเกิดมลพิษแพร่กระจายแหล่งน้ำสาธารณะ แทนที่หน่วยงานจะไปจัดการมลพิษก่อน กลับบอกยังไม่มีผู้กระทำผิด กฎหมายต้องแก้ไขว่า ถ้าเกิดมลพิษแล้ว หน่วยงานต้องขจัดมลพิษในพื้นที่ทันที เมื่อพิสูจน์ทราบแล้วว่าใครเป็นผู้ก่อมลพิษ ต้องไปไล่เบี้ยอีกที รวมถึงอำนาจในการคำนวณความเสียหายควรมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่นี้ อีกประเด็นถ้าจะติดดาบกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้เพิ่มสิทธิชุมชน
     “ มีกรณีตัวอย่างชาวบ้านราชบุรีเรียกสินไหมทดแทนโรงงานรีไซเคิลขยะทิ้งของเสียสู่สาธารณะ ศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมพบกระทำจริง ผมขอให้จำเลยขจัดมลพิษในพื้นที่เกษตรกรรมที่เสียหาย  ศาลยกคำขอเมื่อมีมลพิษกระจายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขจัดมลพิษโดยตรงอยู่แล้ว  แต่ คพ.แจ้งกลับมามีหน้าที่ประสานงานให้โรงงานขจัดมลพิษ เพราะอำนาจตามกฎหมายไม่ชัดเจน  “  นายสมชาย กล่าว
     ก่อนจะสร้างกฎหมายใหม่หรือรื้อใหญ่กฎหมายเดิม  รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ต้องตีโจทย์ว่าอะไรคือดาบ กฎหมายสิ่งแวดล้อมสากล ไม่ได้มีบทลงโทษสถานเดียว แต่มีมาตรการจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์   ต้องเป็นดาบที่มีศักยภาพทั้งบู๋และบุ๋น ให้รางวัลและลงโทษ  ต้องหวนไปดูที่มาของกฎหมายต้นน้ำ ถ้าแก้เลยที่กฎหมายปลายน้ำ ดาบนั้นจะทื่อ ซึ่งคำว่า “กฎหมายสิ่งแวดล้อม” กว้างกว่า พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535
      ส่วนรูปแบบการออกกฎหมาย รศ.ดร.คนึงนิจ บอกว่า จะเป็นการมีกฎหมายฉบับเดียวเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมครอบคลุมทุกเรื่อง คำถามคือ ไทยบูรณาการการแก้ปัญหาได้มั้ย หรือการออกกฎหมายเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเฉพาะเรื่อง มีตัวอย่าง การมี พรบ.น้ำ อีกรูปแบบเป็นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมเดิมที่ยังกระจายและไม่บูรณาการเป็นรายฉบับ ไม่ว่าจะเลือกแบบไหน ต้องมีเนื้อหาของกฎหมายสารบัญญัติ  มีการนำสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมมาบัญญัติให้ชัดเจน  สิทธิเชิงเนื้อหา สิทธิในสุขภาพ สิทธิในชีวิต และสิทธิเชิงกระบวนการ ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การบัญญัติรับรองสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนในกฎมายระดับพระราชบัญญัติ การบูรณาการมิติสิ่งแวดล้อมกับมิติสุขภาพ ทุกวันนี้แค่ประสาน รวมถึงการยกระดับสู่การจัดการร่วม ระบบจัดการโดยรัฐและโดยชุมชน  รวมถึงต้องมีมาตรการสร้างแรงจูงใจควบคู่กับมาตรการบังคับลงโทษ  ถ้าบังคับอย่างเดียว ไม่มีประสิทธิภาพ ผู้กระทำผิดลอยนวลเต็มเมือง  ขาดความสมัครใจ

           “ ควรมีมาตรการและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่กองทุนหรือยกเว้นภาษีเครื่องจักร  เพิ่มภาษีอากรที่จัดเก็บเพิ่มสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  จัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ  ลดแรงจูงใจ นำเงินรายได้ไปบำบัดมลพิษ มีการประกันความเสี่ยงความเสียหายต่อระบบนิเวศ พร้อมมาตรการอุดหนุนกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย้ำการมีกองทุน โยเฉพาะกองทุนที่พึ่งพางบประมาณแผ่นดินอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะขาดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ งบไม่พอ ไม่ทันต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อม ขาดความต่อเนื่อง  มีตัวอย่างกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุน สสส. “  รศ.ดร.คนึงนิจ ให้ภาพชัดๆ จะใส่มาตรการอะไร
     ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนสูง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจุฬาฯ บอกว่า ไทยต้องการกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่สามารถรองรับความซับซ้อนสูงได้ เป็นปัญหาภูเขาน้ำแข็ง เพราะเรามีปัญหาเชิงโครงสร้างและกฎหมายกระจัดกระจาย จะต้องมีกลไกกำกับดูแลการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ต้องบูรณาการและมีประสิทธิภาพ  มีองค์กรหลักมีหน้าที่ครอบคลุม ลดจุดอ่อนระบบสั่งการจากการประชุมในรูปคณะกรรมการใต้กฎหมายกระจัดกระจาย  บูรณาการการทำงานเชิงระบบ  สร้างความร่วมมือภาครัฐกับประชาสังคม การกระจายอำนาจจัดการทรัพยากรให้ท้องถิ่นต้องไปพร้อมความรู้ งบประมาณ กฎหมายยังขาดการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ระบบราชการไทยยังต้องการการปฏิรูปและรื้อระบบ เฉพาะสองกรมภายใต้กระทรวงเดียวกัน แต่ทำงานที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน กรมที่มีชื่อกับภารกิจไม่ตรงชื่อ ผิดฝาผิดตัว หากรูปแบบ เนื้อหา โครงสร้าง ที่ชัดเจน จะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ดาบนั้นจะไม่คืนสนอง

      ส่วนข้อเสนอจาก นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่กำลังหยิบยกกันอย่างแข็งขัน จะตอบสนองความต้องการชาวบ้านได้ เพราะกฎหมายสิ่งแวดล้อมจะเป็นกลไกช่วยเหลือประชาชนได้ทันต่อวิกฤต สถานการณ์ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่ปัญหาเฉพาะหน้า และมีปัญหาอีเอไอและอีเอชไอเอที่คชก.อนุมัติ ไม่สามารถนำมาปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมจากโครงการที่สร้างผลกระทบต่อชุมชน  ปัจจุบันมีจำนวนคดีสู่ศาลปกครองล้นมือ อยากเห็นการแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมในอนาคตที่ให้เครื่องมือกรมควบคุมมลพิษจัดการปัญหาเด็ดขาด ตั้งแต่ขั้นตอนรวบรวมข้อเท็จจริง นำคดีขึ้นสู่ศาลอย่างรวดเร็ว มีกำหนดเวลาชัดเจน ทำหน้าที่เหมือนตำรวจรักษาปกป้องสิ่งแวดล้อมทุกประเด็น  เป็นความคาดหวังที่ประชาชนที่ทุกข์ร้อนอยากเห็นเป็นรูปธรรม  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"