เชื่อไม่กล้าโหวตประหาร ‘ประจิน’ซื้อเวลาทบทวน


เพิ่มเพื่อน    

  “ประยุทธ์” ย้ำกับคนไทยในลอนดอน ยังจำเป็นต้องมีโทษประหาร ชี้หากยกเลิกต้องทำประชามติ  แต่เชื่อไม่มีใครกล้าทำ “ประจิน” นัด 26 มิ.ย.ประชุมหน่วยงานยุติธรรม ชี้ต้องใช้เวลากว่าจะหาบทสรุป

เมื่อวันศุกร์ ยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาล ด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาด โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 19-26 มิ.ย. ได้กล่าวกับคนไทยในกรุงลอนดอนว่า สังคมเราวันนี้ ทำไม่ดีไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอันเดียวกัน ถ้ามีหลักฐานก็จบหมด ถ้าไม่มีก็คือไม่มี ไม่มีใครไปแกล้งได้หรอก อย่างถูกประหารชีวิตหนักๆ เขามีการตัดสินไป 3 ศาล ยังบอกไม่รู้ว่าถูกหรือผิดอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่ เราก็ไม่ได้อยากให้เกิดขึ้น แต่กฎหมายมันเป็นกฎหมายอย่างนั้น เรายังไม่ได้เลิกกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งถ้าเลิกไปมันต้องผ่านการทำประชามติ ประชาพิจารณ์ ลองถามประชาชน ถ้ายกเลิกกฎหมายนี้เขายอมไหม ไม่ยอมหรอก มันถึงไม่กล้าทำกัน พอไม่กล้าทำ กฎหมายมีผลบังคับใช้มา เลี่ยงไม่ได้ ไม่มีใครอยากอะไรหรอก แต่ต้องนึกถึงคนบาดเจ็บสูญเสียด้วย
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ และ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ในวันที่ 26 มิ.ย. กระทรวงยุติธรรม อัยการ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะหารือกันในเรื่องของโทษประหาร ส่วนการสัมมนาเชิงวิชาการก็จะดำเนินไป ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลา และจะแถลงผลงานให้ทราบ ส่วนการเปิดรับฟังความคิดเห็นนั้น จะเป็นขั้นตอนต่อไป ซึ่งต้องเปิดเวทีแน่นอน
ขณะเดียวกัน ในโลกออนไลน์มีการส่งต่อข้อความอ้างว่ามีผู้เห็นเหตุการณ์กรณีนายธีรศักดิ์ หลงจิ หรือมิก ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาถูกประหารชีวิตในคดีชิงทรัพย์ โดยแทงนักเรียนชั้น ม.5 เสียชีวิต 24 แผล ว่าไม่ใช่นายธีรศักดิ์ พร้อมทั้งระบุว่าหลังเกิดคดีไม่เคยถูกตำรวจเรียกตัวไปสอบปากคำเลย
    แหล่งข่าวในกระบวนการยุติธรรมอธิบายถึงข้อกฎหมาย หากจะรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ว่าการยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดขึ้นใหม่ ต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีนั้น และต้องยื่นคำร้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ปรากฏข้อเท็จจริง หรือภายใน 10 ปีนับแต่วันที่คำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด และมีสิทธิที่จะยื่นขอรับค่าทดแทน หรือขอรับสิทธิที่บุคคลนั้นเสียไป อันเป็นผลโดยตรงจากคำพิพากษานั้นคืนได้ แต่ไม่รวมถึงสิทธิในทางทรัพย์สิน 
“บุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ไว้ เช่น บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด หรือผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการยื่นคำร้อง เป็นต้น”
    วันเดียวกัน นางพนมวรรณ รำนา อายุ 41 ปี หนึ่งในครอบครัวผู้ที่เคยสูญเสีย ซึ่งเป็นมารดาของ ด.ญ.เกตุมาตุ หรือน้องเพลง วัย 11 ขวบ นักเรียนชั้น ป.6 ที่ถูกคนร้ายฆ่ายัดลงในท่อน้ำทางเข้าวัดพระงาม ต.บ้านโพธิ์ อ.เมืองฯ จ.ตรัง เพื่ออำพรางคดี เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2557 ซึ่งคดีอยู่ในชั้นศาลฎีกากล่าว คดีของบุตรสาวนับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต ใครไม่เจอกับตัวคงยากที่จะเข้าใจ จึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งสำหรับโทษประหารสำหรับผู้กระทำผิด เพราะถ้าปล่อยออกมาแล้วมีการกระทำผิดซ้ำๆ และเชื่อว่าไม่มีทางที่จะกลับตัวให้ดีขึ้น 
“4 ปีต้องอยู่ท่ามกลางความทุกข์ทรมาน ยากที่จะอธิบาย ส่วนเรื่องของคดี ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ไม่คาดหวังอะไร ปล่อยให้เป็นเรื่องของเวรกรรม”
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิต แต่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้ให้จำคุกตลอดชีวิต โดยขณะนี้อยู่ในชั้นของศาลฎีกา.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"