การเมืองสัปดาห์หน้านี้อยู่ในสภาวะทรงๆ ปมร้อนเมื่อสัปดาห์ก่อนอย่างประเด็นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องนับหนึ่งจากตอนไหน ระหว่างปี 57, 60 หรือ 62 ซาไปแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นเรื่องที่ยังมีเวลาให้หาคำตอบ
ความคลุมเครือเรื่องระยะเวลาครองตำแหน่ง บิ๊กตู่ จะไปตื่นเต้นกันอีกครั้งประมาณเดือนสิงหาคม 65 ที่จะครบ 8 ปี ตามสูตรนับถอยไปเริ่มกันตั้งแต่ปี 57 ถึงตอนนั้นน่าจะมีเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญนำวินิจฉัยได้ แต่ตอนนี้ปัญหามันยังไม่เกิด
กับอีกส่วนหนึ่ง เป็นเพราะขณะนี้อยู่ระหว่างปิดสมัยประชุมสภา ไม่มีวาระร้อนๆ ให้ต้องจับจ้อง หรือทำให้สถานการณ์เปลี่ยนได้
ประกอบกับเวลานี้บรรดานักการเมืองไม่ว่าจะฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ต่างยกขบวนกันไปโกยคะแนนจากประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ด้วยการแย่งกันช่วย แย่งกันแจก จนกลายเป็นปรากฏการณ์ อุทกภัยการเมือง
ยิ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำหนังสือถึงทุกพรรคการเมืองให้เตรียมการแต่เนิ่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสาขาพรรค, แต่งตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัด, การประชุมใหญ่สาขาพรรค, การประชุมใหญ่ของพรรค, การสรรหาผู้สมัครโดยกระบวนการไพรมารีโหวต ยิ่งทำให้นักการเมืองหูผึ่ง ประเมินว่าจะมีการเลือกตั้งเร็วๆ นี้ ต่างพากันไปสร้างความนิยม
เรียกว่านาทีนี้ใครนั่งนิ่งถือว่าตกขบวน พลาดโอกาสซื้อใจ หาเสียงทางอ้อมกับประชาชน โดนอีกฝ่ายเบิ้ลบลัฟ ทำคะแนนแซงไม่รู้ตัว
บางพรรคการเมืองรีบโยนชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมาขายของตั้งแต่ไก่โห่ ไล่ตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศชัดว่าชูหัวหน้าพรรค จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย ที่โปรโมตหัวหน้าพรรค อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข
ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ภายหลังความอึมครึมจากลิ่มความขัดแย้งระหว่าง บิ๊กตู่ กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยาและเลขาธิการพรรค ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพิ่งจะชัดเจนว่าเข็น บิ๊กตู่ อีกสมัย หลัง บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค เปิดปากว่าเป็นคนดันเอง
อย่างไรก็ดี แม้บิ๊กป้อมจะยืนยัน และบิ๊กตู่ตอบรับในไมตรีด้วยความยินดี จนดูเหมือนเรื่องราวความกินแหนงแคลงใจระหว่างพี่น้อง 3 ป.ถูกสมานแผลแล้ว แต่กระนั้นมันก็ยังไม่สามารถรับประกันได้ว่า เมื่อถึงเวลานั้นจะเป็นอย่างที่พูดกันวันนี้หรือไม่
เพราะการออกมายืนยันว่าสนับสนุน บิ๊กตู่ มันอาจเป็นแค่เจตนาที่ต้องการกลบเกลื่อนข่าวลือต่างๆ ระหว่างพี่น้อง 3 ป.ที่เกิดขึ้นตลอดมา ไม่ว่าจะเรื่อง 2 ป. พล.อ.ประยุทธ์ และ บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จะออกไปตั้งพรรคเอง โดยมี ปลัดฉิ่ง ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นเพลย์เมกเกอร์ให้ หรือการลงพื้นที่เพื่อวัดพลังกัน
อีกทั้งชั่วโมงนี้ พรรคการเมืองต่างๆ รีบเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ กันตั้งแต่เนิ่นๆ หากพรรคพลังประชารัฐ หรือ บิ๊กป้อม นิ่ง ยิ่งจะสร้างความเคลือบแคลงมากขึ้นไปอีก
ขณะเดียวกัน กลิ่นความขัดแย้งมันไม่ได้หายไปเสียทีเดียว ร.อ.ธรรมนัส เองทุกวันนี้ยังคงเคลื่อนไหวในลักษณะที่ถูกตีความว่ายังขึงขังกับ บิ๊กตู่ โดยเฉพาะการลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วม ตลอดจนคำพูดบางคำพูดที่เหมือนต้องการกระแทกกระทั้นใคร
หรือแม้แต่เรื่องการโอน 4 หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ ร.อ.ธรรมนัส เคยดูแลสมัยเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไปให้บิ๊กป้อมกำกับดูแลแทน จนสร้างความไม่พอใจให้กับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์อยู่ กระทั่งผ่านไปสัปดาห์เดียว บิ๊กตู่ต้องพลิกลำ รีบเซ็นยกเลิกคำสั่งของตัวเองเพื่อไม่ให้กระเพื่อมไปกว่านี้
และเรื่องดึง 4 กรมในกระทรวงที่พรรคประชาธิปัตย์ดูแลมาให้ บิ๊กป้อม ดูแทน มันไม่ได้มีผลกระทบแค่เสถียรภาพภายในรัฐบาลเท่านั้น หากแต่มันสุ่มเสี่ยงจะผิดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกด้วย เพราะไม่เคยมีที่ไหนที่ให้รองนายกรัฐมนตรีไปดูแลกรมโดยตรง
ซึ่งต้นตอเรื่องดังกล่าวก็มีมูลเหตุมาจากความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐเอง เพราะมีข่าวลือออกมาเหมือนกันว่า อดีตรัฐมนตรีที่เคยดูแล 4 กรมนี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง บิ๊กป้อม ให้เอ่ยปากขอ บิ๊กตู่ ที่อย่างไรก็ปฏิเสธเสียไม่ได้
ขณะที่การแต่งตั้ง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ให้เป็นเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในช่วงเวลานี้ก็เกี่ยวพันกับความขัดแย้งของพรรคพลังประชารัฐที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ทั้งสิ้น
โดยเฉพาะในรายของ พีระพันธุ์ ที่เป็นคนโปรดของ บิ๊กตู่ ถูกมอบหมายให้ทำงานสำคัญมาตลอดนับตั้งแต่ถอดเสื้อพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ยังเป็น เซนต์คาเบรียลคอนเน็กชัน ของ บิ๊กป้อม เรียกว่าได้รับความไว้วางใจจากทั้ง 2 สาย ก็ถูกมองว่าแต่งตั้งขึ้นเพื่อเชื่อมระหว่างตึกไทยคู่ฟ้ากับพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่สร้างความอึดอัดใจให้กับทั้ง บิ๊กตู่ และ บิ๊กป้อม
หลายเรื่องที่บานปลายล้วนมาจากความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ หรือแม้แต่วงศ์วาน 3 ป.เองทั้งนั้น
ขณะที่สถานการณ์ นอกสภา แม้จะยังไม่มีเงื่อนไขไปสร้างจุดร่วมจนก่อให้เกิดการลุกฮือ แต่ถือว่าเป็นจุดที่น่าห่วง เพราะมันเลยเถิดไปถึงความรุนแรงที่เสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หลังเมื่อคืนวันที่ 6 ต.ค. มีผู้ก่อความไม่สงบใช้อาวุธปืนยิงเข้าที่ศีรษะ ส.ต.ต.เดชวิทย์ เลทเท็สสัน หรือ หมู่เดวิด ผบ.หมู่ กก.อารักขา 1 บก.อคฝ. จนบาดเจ็บสาหัส จากการเข้าควบคุมพื้นที่ใต้แฟลตดินแดง
ขณะเดียวกัน การชุมนุมของกลุ่ม 3 นิ้วในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ก็ดูจะไกลห่างกับคำว่า สันติ อหิงสา ไปเรื่อยๆ จนบางครั้งเหมือนชุมนุมเพื่อต้องการทะเลาะกับเจ้าหน้าที่เท่านั้น
ภาพการเผาสิ่งของ สถานที่ กลายเป็นภาพชินตาของคนทุกครั้งที่มีการชุมนุม ในขณะที่มวลชนก็กังวลความปลอดภัย เปลี่ยนไปให้กำลังใจผ่านโซเชียลมีเดียแทน ภาพการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ที่อุดมการณ์พรั่งพรูกำลังกลายสภาพเป็นแก๊งป่วนเมือง ไม่ต่างอะไรกับการทำลายความชอบธรรมของตัวเอง
และเป็นสัญญาณอันตรายอย่างมากหลังมีการใช้อาวุธจริงยิงใส่เจ้าหน้าที่ เพราะมันกำลังสร้างความคับแค้นให้กับทั้งสองฝ่าย บทเรียนที่ผ่านมาในอดีต เหตุการณ์ในลักษณะนี้มักนำไปสู่ความรุนแรงที่ขยายใหญ่อยู่เสมอ
ผลลัพธ์สุดท้ายคือ ความสูญเสีย
ในขณะที่ประชาชนเองก็สิ้นหวังกับการเมืองในสภาที่นักการเมืองขัดแย้ง แย่งผลประโยชน์กัน ยังมาเจอการเมืองภาคถนนที่เสี่ยงจะเกิดความรุนแรงทุกเมื่อ
ไม่ว่ายุบสภาเพื่อให้เลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า ผลลัพธ์ที่ได้ก็คงไม่ต่างอะไรไปจากเดิม ไม่ว่าฝ่ายใดเป็นผู้ชนะในสนามเลือกตั้ง
ประเทศไทยยังติดหล่ม ก้าวขาไม่ออกสักที.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |