ติดเชื้อดีดหลักหมื่นใต้ยังแรง


เพิ่มเพื่อน    

ไทยติดเชื้อหลักหมื่นสองวันติด ดับพุ่ง 116 ราย พบ 30 คลัสเตอร์ใหม่โผล่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ยังพุ่งกว่า 2 พันรายวัน เลขาฯ สมช.ถกศบค.ชุดใหญ่ 14 ต.ค. หามาตรการล็อกโควิด โฆษก รบ.ตีปี๊บอังกฤษถอนไทยพ้นบัญชีแดงห้ามเข้าประเทศ ยกความสำเร็จดำเนินนโยบายรัฐบาล สธ.โต้ข่าวไฟเซอร์ไม่พอฉีดเด็ก ยันทยอยเข้ามามีเพียงพอนักเรียนทุกคน จ่อเคาะสูตรไขว้แอสตร้า-ไฟเซอร์ 11 ต.ค.นี้
    ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,140 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 11,052 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 10,080 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 972 ราย, มาจากเรือนจำ 72 ราย, เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,689,437 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 9,933 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,561,790 ราย อยู่ระหว่างรักษา 110,113 ราย อาการหนัก 3,003 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 682 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 116 ราย เป็นชาย 56 ราย หญิง 60 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 93 ราย มีโรคเรื้อรัง 18 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 28 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 17,534 ราย 
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 8 ต.ค. ได้แก่ กทม. 1,255 ราย,  ยะลา 776 ราย, ชลบุรี 687 ราย,  นราธิวาส 592 ราย, สมุทรปราการ 576 ราย, ปัตตานี 503 ราย, สงขลา 444 ราย, นครศรีธรรมราช 395 ราย, ระยอง 342 ราย, จันทบุรี 284 ราย อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสถานการณ์โลกมีแนวโน้มลดลง แต่หากดูเป็นรายประเทศจะพบว่าบางประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้วอย่างกว้างขวางยังมีการติดเชื้อใหม่ เราจึงจำเป็นต้องตั้งการ์ดให้สูง     ขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทย มีการพบการติดเชื้อในกลุ่มผู้เข้าร่วมงานศพ โดยระหว่างวันที่ 21 ก.ย.-7 ต.ค. มีผู้ติดเชื้อ 838 ราย ใน 30 จังหวัด 87 งาน 30 คลัสเตอร์ ที่มากสุดคือ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พบผู้ติดเชื้อ 148 ราย โดยมีปัจจัยหลักมาจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ ไม่สวมหน้ากากอนามัย มีการรับประทานอาหารร่วมที่ต้องถอดหน้ากาก มีการดื่มสุรา และเล่นการพนันหลังงานศพ ซึ่งมีการล้อมวง ส่งเสียง สัมผัสใกล้ชิด ละเลยเปิดหน้ากากออก ขอเรียนว่า สำหรับผู้ที่รู้ว่าเป็นผู้ติดเชื้อ หากจำเป็นต้องไปร่วมงานศพ ขอให้มีมาตรการป้องกัน นอกจากนี้ ยังพบคลัสเตอร์ต่างๆ ในต่างจังหวัด อาทิ พบที่ล้งผลไม้ ร้านทำป้าย จ.จันทบุรี, วงหมูกระทะที่ จ.ลำปาง, หอพักที่ จ.เชียงใหม่, ร้านเบเกอรี่ จ.ประจวบคีรีขันธ์  
    นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า กรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวในโซเชียลมีเดียว่า ฉีดวัคซีนชนิด mRNA แล้วจะส่งผลต่อสุขภาพใน 1-2 ปีหลังการฉีดนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง มีการฉีดไปแล้วมากมาย เรามีการศึกษา มีเอกสาร ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อ ให้ติดตามจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือสูง ส่วนที่มีข่าวว่านักเรียนจะมาฉีดวัคซีน พอถึงเวลาแล้วแจ้งให้กลับโดยยังไม่ได้ฉีดวัคซีนนั้น ขอชี้แจงว่าวัคซีนไฟเซอร์มีเพียง 1.8 ล้านโดส และมีผู้แจ้งประสงค์จะฉีด 3.6 ล้านคน โดยมีการทยอยลงไปเรื่อยๆ แต่อยู่ที่การจัดการของบางพื้นที่ในเรื่องการนัดหมายหากไม่สามารถมาฉีดพร้อมกันในเวลาสั้น อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไม่ใช่เงื่อนไขที่จะเปิดหรือไม่เปิดโรงเรียน แต่อยู่ที่โรงเรียนทำตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการครบถ้วนหรือยัง 
เพิ่มมาตรการเข้มขึ้นเครื่องบิน
    ในวันเดียวกันนี้ ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้มีมติเห็นชอบเรื่องการปรับมาตรการการรับผู้โดยสารบนอากาศยานตามความสามารถของอากาศยาน โดยมีส่วนสำคัญคือผู้ที่จะเดินทางได้จะต้องฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์คือ 2 เข็ม หรือจะต้องมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR ตรวจไม่พบเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง และที่สำคัญในเรื่องการตรวจความพร้อมเหล่านี้ และการคัดกรองตั้งแต่จะเข้าพื้นที่ต้องเคร่งครัดและเข้มงวด หากมีความไม่พร้อมหรือตรวจพบข้อห้ามต่างๆ เช่น มีไข้ หรือไม่เข้าหลักเกณฑ์จะมีเงื่อนไขในการไม่ให้เข้าใช้ในพื้นที่ ดังนั้น ประชาชนจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดคิดหรืออาจจะทำให้ไม่สามารถเดินทางได้ 
    เมื่อถามถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังอยู่ที่หลักหมื่น ทั้งที่จะมีการผ่อนคลายมากขึ้นเรื่อยๆ ศบค.จะต้องบริหารจัดการอย่างไร เพื่อไม่ให้กลับมาเกิดการระบาดระลอกใหม่ นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า ปลัด สธ.ได้พูดถึงเรื่องเรามาถึงทางแยก คือผลของการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา น่าจะจางลงหรือหมดไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ แนวโน้มจากกราฟดูเริ่มลดลง แต่ถ้าเราไม่มีมาตรการที่ดีพอกราฟอาจพุ่งกลับสูงขึ้นไปอีกครั้ง ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น หากดำเนินการไม่ดีการติดเชื้อรายใหม่อาจจะไปถึงวันละ 25,000 คน หรือใกล้ 30,000 คนก็ได้ ขอย้ำให้เข้มมาตรการครอบจักรวาล ป้องกันตัวแบบสูงสุดตลอดเวลา นอกจากนี้ สถานบริการหรือสถานที่สาธารณะ ห้างสรรพสินค้า ห้องน้ำ โรงภาพยนตร์ จะต้องมีมาตรการโควิดฟรีเซตติง เพื่อที่จะให้เส้นกราฟลดลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งลดลงไปจนน้อยกว่าวันละ 5,000 ราย  
    พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. กล่าวถึงกรณีมีแนวโน้มจะออกมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดการระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่องหรือไม่ว่า แน่นอนว่าจะต้องมีมาตรการออกมาเพื่อแก้ปัญหาให้สถานการณ์ดีขึ้น 
    เมื่อถามว่า มาตรการที่ออกมาจะเหมือนการล็อกดาวน์รอบแรกหรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ยังไม่ได้ข้อยุติ จะต้องประชุมอีก 2 รอบ โดยจะพิจารณาในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 14 ต.ค.นี้
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกรณีรัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศปรับลดประเทศที่อยู่ในบัญชีสีแดง หรือประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในการเดินทางไปเยือน จาก 54 ประเทศ เหลือ 7 ประเทศ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น จะเริ่มมีผลตั้งแต่ เวลา 04.00 น. ของวันที่ 11 ต.ค.64 เป็นต้นไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกหน่วยงานที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างดี และเชื่อมั่นว่าเป็นความสำเร็จจากความมุ่งมั่นของรัฐบาลต่อมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่ได้สร้างความเชื่อมั่นในระดับนานาชาติ
    “เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่ไทยได้รับความไว้วางใจ เป็นสัญญาณที่ดีต่อการดำเนินนโยบายของไทย และเชื่อมั่นว่ามาตรการดังกล่าวของสหราชอาณาจักรจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ประสงค์เดินทางด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ รวมทั้งส่งผลให้เห็นแนวทางการดำเนินชีวิตได้ตามปกติภายใต้ วิถีใหม่” นายธนกรระบุ
    ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า เบื้องหลังที่ทางการอังกฤษปลดรายชื่อประเทศไทยออกจาก “บัญชีแดง” เนื่องจากวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา นายมาร์ก กุดดิง เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ได้มีโอกาสหารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งผู้บริหารอีกหลายคน ซึ่งชี้แจงสถานการณ์การระบาดในไทย ไปจนถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนตามแผนที่วางไว้ ซึ่งสิ่งที่ สธ.ดำเนินการกำลังประสบผลสำเร็จรูปธรรม เรารับมือกับวิกฤตได้แล้ว สร้างความยอมรับให้กับทางอังกฤษ นำมาซึ่งการทบทวนมาตรการที่มีต่อประเทศไทย ไปจนถึงการปรับให้ไทยพ้นจากบัญชีแดง จึงเป็นเครื่องยืนยันความสามารถของ สธ.ได้เป็นอย่างดี  
สธ.โต้ไฟเซอร์ไม่พอฉีด นร.
    ที่​กระทรวง​สาธารณสุข​ นพ.โสภณ​ เอี่ยม​ศิริ​ถาวร​ รองอธิบดี​กรมควบคุม​โรค​ แถลงว่า ผลการฉีดวัคซีน​โค​วิด​-19 มีจำนวนเพิ่มขึ้น 911,677 โดส สะสม 58,298,700 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 413,804 ราย สะสม 34,188,488 ราย คิดเป็นร้อยละ 47.5, เข็มสอง 454,491 ราย สะสม 22,460,213 ราย คิด​เป็น​ร้อยละ​ 31.2 ราย และเข็มสาม 43,382 ราย สะสม 1,649,999 ราย คิดเป็น​ร้อยละ​ 2.3 ราย คาดว่าในระยะที่เหลือในเดือนนี้น่าจะไปตามเป้าหมายได้ โดยฉีดวัคซีน​ให้กับคนไทยได้อย่าง​น้อยร้อยละ​ 60 ของประชากร
    อย่างไรก็ตาม วัคซีนไฟเซอร์​ที่สั่งมาทั้งหมด 30 ล้านโดส จะทยอยเข้ามา โดยล็อตที่ 2 ที่มาถึงเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา 1.5 ล้านโดส ได้รับการตรวจสอบคุณภาพ​และความปลอดภัยจากกรมวิทยาศาสตร์​การแพทย์​เรียบร้อย โดยจะส่งไปสมทบที่โรงพยาบาล​ในภูมิภาค จะทำให้เรามีวัคซีนสำหรับเด็กนักเรียนที่แสดงความประสงค์ 4 ล้านคน สัปดาห์หน้าจะมาอีก 1.5 ล้านโดส โดยขณะนี้กลุ่มนักเรียนฉีดเข็มแรก 150,190 ราย หรือ 3.3% ส่วนที่มีข่าวว่าวัคซีนมีไม่เพียงพอ และบางโรงเรียน​ต้องจับฉลาก​ ขอให้มั่นใจว่าวัคซีนมีเพียงพอ​สำหรับ​ทุกคน แต่ช่วงแรกทยอยไป 40% ของนักเรียน และพอผ่านไปอีก 2 งวดก็เพียงพอสำหรับ​เด็กนักเรียนทุกคน 
    สำหรับพื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจำนวน 29 จังหวัด มีความครอบคลุมของวัคซีนเข็มที่หนึ่งถึงร้อยละ 62 ส่วนภาคใต้ซึ่งมีสถานการณ์​ระบาดที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาค​อื่นๆ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันประมาณร้อยละ 20 ของทั้งประเทศ  4 จังหวัด​ชายแดน​ภาคใต้ ทั้งสงขลา ยะลา​ ปัตตานี​ นราธิวาส​ ขณะนี้ได้รับการสนับสนุน​วัคซีน​เพิ่มเติม โดยปลัดสธ.​สั่งการให้เพิ่มวัคซีน​เป็น​พิเศษ ​และจะมีการระดมฉีดในสัปดาห์​หน้า​ 
    นพ.โสภณ​กล่าวเพิ่มเติม​ว่า​ มีวัคซีนซิโนแวค แอสตร้า​เซน​เน​ก้า​ และไฟเซอร์  จะมาในเดือน ต.ค. จำนวน 24 ล้านโดส, เดือน พ.ย. 23 ล้านโดส และ ธ.ค. 24 ล้านโดส ส่วนวัคซีนซิโนฟาร์ม เข้ามาในเดือน ต.ค. 6 ล้านโดส, พ.ย.และ ธ.ค. เดือนละ 12.5 ล้านโดส ขณะที่โมเดอร์นาจะเข้ามาในเดือน พ.ย.-ธ.ค. จำนวน 2 ล้านโดส
      เมื่อถามว่า ตั้งแต่มีการฉีดวัคซีนในสัปดาห์นี้ในกลุ่มอายุ 12-17 มีอาการข้างเคียงบ้างหรือไม่ นพ.โสภณกล่าวว่า การติดตามอาการไม่พึงประสงค์ อาการที่พบส่วนใหญ่เป็นอาการบริเวณที่ฉีด เช่น เจ็บบริเวณ​ที่ฉีด บวมร้อน บางกรณีมีอาการเวียนศีรษะเหมือนจะเป็นลม แต่มีไม่มาก เมื่อปฐมพยาบาลอาการก็เป็นปกติ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อฉีดวัคซีนภายในโรงเรียนเด็กอาจจะมีความกลัว ดังนั้นการจัดพื้นที่การฉีดวัคซีนทั้งในโรงเรียนและสถานที่สาธารณะ​ ควรจัดให้โปร่ง ไม่แออัด หรือเปิดเพลงเพื่อความผ่อนคลาย​ 
    ส่วนกรณีวัคซีนสูตรไขว้แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยไฟเซอร์ จะได้ใช้หรือไม่นั้น นพ.โสภณระบุว่า ต้องรอให้ที่ประชุม EOC ของ สธ.อนุมัติในวันที่ 11 ต.ค.นี้ แต่ยอมรับว่ามีแนวโน้มที่จะมีสูตรไขว้เพิ่มขึ้นคือ แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยไฟเซอร์ เหตุผลหลักคือมียอดวัคซีนไฟเซอร์เข้ามามากในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. จึงต้องใช้วัคซีนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนซิโนแวคที่เหลือ ต.ค.นี้คงฉีดหมด ทั้งนี้ ผู้ที่ฉีดแอสตร้าฯครบ 2 เข็มนั้น ในต่างประเทศยังไม่มีการฉีดบูสเตอร์ ดังนั้นต้องรออีกระยะหนึ่ง เนื่องจากภูมิอยู่ได้นานกว่าฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม
    รายงานข่าวจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เปิดเผยว่า พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบผู้ป่วยใหม่ รวม 2,360 คน จ.ยะลา 776 คน รองลงมา จ.นราธิวาส 592 คน, จ.ปัตตานี 503 คน, จ.สงขลา 444 คน และ จ.สตูล 50 คน นายกรัฐมนตรีให้นโยบายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาใน 1 เดือน ซึ่งมีหลายแนวและทางหนึ่งคือการเพิ่มวัคซีนลงในพื้นที่เพิ่มขึ้นและรวดเร็ว 
    ที่ จ.พังงา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. พร้อมด้วยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ลงพื้นที่ติดตามการฉีดวัคซีนโควิด-19 และความพร้อมการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว โดยนายอนุทินกล่าวว่า พังงาฉีดวัคซีนแล้วเกือบ 1.6 แสนโดส ครอบคลุม 60% ของจำนวนประชากร ซึ่งเหลืออีก 100,000 โดส จะครอบคลุม 70% ตามเป้าหมายการฉีด รองรับแผนกระตุ้นการท่องเที่ยว วันนี้จึงขอให้กรมควบคุมโรคจัดส่งวัคซีนมาเพิ่มเติมอีก 110,000 โดส เพื่อเร่งให้บริการให้เป็นไปตามแผน
    ที่ จ.ภูเก็ต นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ พังงาแซนด์บ็อกซ์ ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการควบคุมดูแลนักท่องเที่ยวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยจะปรับมาตรการที่เป็นภาระข้อจำกัด เช่น การตรวจ RT-PCR ที่บ่อยเกินไป ซึ่งเปลี่ยนเป็น ATK ได้จะลดค่าใช้จ่ายลงและสะดวก มีระบบแอปพลิเคชันมาใช้ในระบบที่รวมศูนย์มากขึ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"