เลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ จะไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา


เพิ่มเพื่อน    

เลือกตั้งท้องถิ่นจะมีการหย่อนบัตรกันในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564 นี้ เป็นการใช้สิทธิ์ของประชาชนในการเลือกตัวแทนไปบริหารท้องถิ่นครั้งแรกใน 8 ปี
    จะเป็นการทดสอบว่าครั้งนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะสภาพสังคมและเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่และพฤติกรรมของชุมชนอย่างมาก
    เมื่อ 8 ปีการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีประเด็นเรื่องวิกฤตโควิดและเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสอย่างที่เห็นอยู่วันนี้
    และคนรุ่นหนุ่มสาวที่เพิ่งจะมีสิทธิหย่อนบัตรครั้งแรกก็ยังไม่มีความตื่นตัวว่าจะต้องใช้สิทธิเพื่อกำหนดชะตากรรมของชุมชนตนเอง
    ที่สำคัญคือเมื่อ 8 ปีก่อน อินเทอร์เน็ตยังไม่กระจายถึงชนบทกว้างขวางและมากมายอย่างวันนี้
    ปีนั้นยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า social media อันเป็นเวทีแห่งการแสดงความคิดเห็น, การได้ข้อมูลข่าวสารและประเด็นถกแถลงในทุกๆ มิติของสังคมไทย
    แต่ปีนี้คนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีสิทธิเลือกตั้งเมื่อ 8 ปีก่อนกับกลุ่มที่เริ่มมีสิทธิหย่อนบัตรเป็นครั้งแรก จะมีความตระหนักในปัญหาสังคมที่กว้างขวางและลุ่มลึกกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง
    ความหมายของคำว่า “คนเมือง” และ “คนชนบท” เมื่อ 8 ปีก่อนกับปีนี้ก็แตกต่างกันอย่างมาก
    คนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหลวงหรือชนบทต่างก็เข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม, ปัญหาโลกร้อน หรือ climate change อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง
    คนรุ่นนี้มีค่านิยมเกี่ยวกับเสรีภาพ, สิทธิมนุษยชน, ความเหลื่อมล้ำและธรรมาภิบาลสูงขึ้นกว่าเมื่อ 8 ปีก่อนอย่างมาก
    เมื่อมีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเป็นครั้งแรกใน 8 ปี เราจึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญที่น่าใคร่ครวญเป็นอย่างยิ่ง
    เพราะคนรุ่นใหม่จะตั้งคำถามต่อผู้อาสามาทำงานบริหารชุมชนของพวกเขาและเธอ ว่านโยบายของผู้เสนอตัวนั้นตอบโจทย์และข้อกังวลของสังคมท้องถิ่นอย่างไร
    ยิ่งเมื่อการเมืองระดับชาติที่คนรุ่นใหม่เห็นอยู่วันนี้มีปัญหาความไร้ประสิทธิภาพ, ไร้วิสัยทัศน์ และมีการต่อสู้เพื่อแย่งชิงผลประโยชน์มากกว่าการเสียสละทำงานเพื่อสังคมที่แท้จริง, พวกเขาก็จะตั้งคำถามกับนักการเมืองท้องถิ่นว่า
    “พวกท่านแตกต่างไปจากนักการเมืองในรัฐสภาที่กรุงเทพฯ อย่างไร?”
    นั่นหมายความว่า “ความคาดหวัง” ของคนรุ่นใหม่ต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นจะสูงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
    อาจจะมีคนแย้งว่าการเมืองท้องถิ่นก็คงจะยังไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะท้ายที่สุดสิ่งที่เรียกว่า “บารมี” และ “อำนาจเงิน” ยังจะเป็นตัวกำหนดผลการเลือกตั้งอยู่ดี
    แต่ผมไม่เชื่อเช่นนั้นทั้งหมด
    แนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการผลักดันของคนรุ่นใหม่ที่เห็นโลกกว้างขึ้น และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน
    พวกเขาและเธอจะมีความคาดหวังสูงกว่าคนรุ่นคุณพ่อคุณแม่ และจะตั้งคำถามตรงๆ ที่ต้องการคำตอบที่ไม่หลบหลีกหรืออำพรางเหมือนที่ผ่านมา
    เพราะ อบต.จะไม่ใช่แค่หน่วยงานบริหารท้องถิ่นที่แยกตัวเองออกจากส่วนอื่นๆ ของประเทศอีกต่อไป
    ผู้อาสามาบริหาร อบต.ก็จะมีคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลง หรือไม่ก็เป็นคนรุ่นกลางๆ ที่รับรู้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่นกับปัญหาระดับชาติ
    อบต. วันนี้อาจจะต้องคิดถึงการเชื่อมโยงระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วยซ้ำไป
    เพราะทุกปัญหาจะมีความเกี่ยวโยงกับวิกฤตระดับโลกและการเมืองภูมิรัฐศาสตร์
    จีนกับสหรัฐฯ จะขัดแย้งกันเรื่องการค้าการขาย ก็จะมีผลกระทบต่อสินค้าการเกษตรและบริการที่มาจากท้องถิ่นที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ
    การลงทุนใน EEC ของไทยเราเองก็จะมีผลต่อความเป็นอยู่และเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น
    ความ “ป่วน” อันเกิดจากเทคโนโลยีมีผลกระทบคนทุกวงการทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
    เพราะเมื่อทุกคนเข้าถึง social media เหมือนกัน ทุกความเคลื่อนไหวในโลกก็จะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในทุกชุมชนของไทยเช่นกัน
    ดังนั้นใครที่อาสามารับใช้งานบริหารส่วนท้องถิ่นครั้งนี้ หากไม่ตระหนักถึง “ความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่” จะกลายเป็นไดโนเสาร์ที่ถูกคนรุ่นใหม่ปฏิเสธอย่างแน่นอน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"