ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ก.ย.64 ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 7 เดือน อานิสงส์จากคลายล็อก-ฉีดวัคซีนทั่วถึง สวนทางกับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ยังลดต่อเนื่องต่ำสุดในรอบ 33 เดือน กังวลสถานการณ์ระบาดโควิด-น้ำท่วม-ราคาน้ำมัน หวังเลือกตั้ง อบต.เงินสะพัด 2-3 หมื่นล้าน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกันยายน 2564 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม 35.5 ปรับตัวดีเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนสิงหาคม ที่อยู่ในระดับ 33.8 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม อยู่ที่ระดับ 37.8 เพิ่มจากเดือนที่ผ่านมา ที่อยู่ในระดับ 36.3 และ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 50.8 เพิ่มจากเดือนที่ผ่านมา ที่อยู่ในระดับ 48.6
ทั้งนี้ เนื่องจากจำนวนผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มากขึ้นและทั่วถึง รวมทั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 29 จังหวัดที่ครอบคลุมขนาดเศรษฐกิจประมาณ 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศของไทย (จีดีพี) ส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีการจับจ่ายใช้สอยและท่องเที่ยวมากขึ้น จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกตัว อย่างไรก็ตาม มุมมองผู้บริโภคน่าจะดีกว่านี้ถ้าไม่มีปัจจัยมาแทรก ได้แก่ สถานการณ์น้ำท่วม ราคาน้ำมันที่ทะลุเกิน 30 บาทต่อลิตร สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่นิ่ง ทั้ง 3 ปัจจัยเหล่านี้ยังเป็นตัวกดดันที่ทำให้ดัชนีเชื่อมั่นในอนาคตขยายตัวได้น้อย
นายธนวรรธน์กล่าวว่า ด้านดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยประจำเดือน ก.ย.2564 อยู่ที่ระดับ 19.4 ลดลงจากในเดือน ส.ค. 2564 ที่ระดับ 19.8 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 33 เดือน และปรับตัวลดลงในทุกภาค ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ที่ 18.9 ลดลงจากเดือนสิงหาคมที่อยู่ในระดับ 19.4, ภาคกลาง อยู่ที่ 20.3 ลดลงจากระดับ 20.8, ภาคตะวันออก อยู่ที่ 23.2 ลดลงจากระดับ 23.7, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 19.5 ลดลงจากระดับ 19.8, ภาคเหนือ อยู่ที่ 18.9 ลดลงจากระดับ 19.3 และภาคใต้ อยู่ที่ 16.5 ลดลงจากเดือน ส.ค. ที่อยู่ในระดับ 16.9
โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง มาจากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้ายังทรงตัวในระดับสูง รวมถึงราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกชนิด ขณะที่ปัจจัยบวก เป็นเรื่องของการผ่อนคลายมาตรการในพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศเริ่มลดลง คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% การส่งออกไทยที่เพิ่มขึ้น และราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเสนอให้รัฐบาลเร่งผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ เปิดประเทศแบบมีมาตรการที่รัดกุม และเตรียมแผนรับมือน้ำและกักเก็บน้ำให้สมดุล
นายธนวรรธน์กล่าวว่า สิ่งที่ต้องจับตาคือการหาเสียงการเลือกตั้งท้องถิ่น เชื่อว่าการใช้เงินน่าจะตกอยู่ที่ 2-3 หมื่นล้านบาท อาจจะช่วยผลักสถานการณ์เศรษฐกิจคึกคักได้บ้าง และถ้ารัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่ชัดเจน ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาอัดฉีดในระบบมากขึ้น เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสจะโตได้ 1-1.5%.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |