22 มิ.ย. 61 - ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถึงกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ และนายวรัญชัย โชคชนะ มีหนังสือร้องขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทบทวนคดีสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 53 ที่มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป โดยในการแถลงข่าวครั้งนี้มีนายณัฐวุฒิ และนายยศวริศ ชูกล่อม แกนนำ นปช. เข้าร่วมฟังด้วย
โดยนายวรวิทย์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่มีการร้องขอให้ทบทวนมี 4 ประเด็น คือ 1.การตัดสินใจทางนโยบาย กรณีใช้อาวุธสงครามกระสุนจริงและยุทธวิธีการซุ่มยิงถูกต้องหรือไม่นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยพิจารณาและวินิจฉัยไว้แล้วว่าการสั่งใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธปืนติดตัว เข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำสั่งของศาลว่าเป็นช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงมีเหตุจำเป็นที่ศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง
2.ไม่ยกเลิกการปฏิบัติในทันทีเมื่อรับทราบการเสียชีวิตของประชาชน และกรณีกล่าวอ้างว่ามีการปรับยุทธวิธีเป็นการตั้งด่านตรวจและมีจุดสกัดปิดล้อมเพื่อให้ชุมนุมเลิกไปเองนั้น แต่ตามวารสารกองทัพบก (เสนาธิปัตย์) อธิบายว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติทางทหารเต็มรูปแบบ มิใช่การปรับยุทธวิธีเป็นการตั้งด่านตรวจตามที่อ้างนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยพิจารณาและวินิจฉัยไว้แล้วว่าภายหลังจากเกิดเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 ศอฉ.ได้ทบทวนปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าผลักดันผู้ชุมนุมอีกต่อไป แต่ใช้มาตรการตั้งด่านตรวจ หรือจุดสกัดปิดล้อมวงนอกไว้โดยรอบ เพื่อให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเอง
3.การอ้างว่ามีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นการอ้างโดยมิได้มี หลักฐานใดๆ รองรับ เป็นการอ้างไม่ตรงกับคำพิพากษาศาลแพ่ง เนื่องจากคำพิพากษาระบุว่าการเสียชีวิตเบื้องต้นในวันที่ 10 เม.ย.53 ยังไม่ทราบว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด และศาลแพ่งได้เตือนจำเลยคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพวก ในการสลายการชุมนุมหรือขอคืนพื้นที่ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นตามความเหมาะสม และคำสั่งศาลอาญาในเรื่องการตาย จำนวน 19 ศพ ก็ยืนยันว่าผู้ตายตายจากกระสุนความเร็วสูง จากอาวุธสงครามของเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ศอฉ. และไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีอาวุธปืนหรือยิงต่อสู้นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยพิจารณาและวินิจฉัยไว้แล้วว่า ตามคำสั่งศาลในช่วงระยะเวลาต่างๆ สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการสลายการชุมนุมเพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล
4.กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่รอบคอบ ไม่ถูกต้อง ไม่น่าเชื่อถือและ 2 มาตรฐานนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป.ป.ช.ได้นำตารางเปรียบเทียบเหตุการณ์สลายการชุมนุม ระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 51 และกลุ่ม นปช. ปี 53 มาแสดงให้เห็น จำนวน 5 ประเด็น เพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อแตกต่าง ประกอบด้วย 1.การสั่งการและวิธีปฏิบัติ2.การปรับแผนปฏิบัติการเมื่อมีผู้เสียชีวิต 3.ลักษณะของผู้ชุมนุม 4.เป้าหมายการสลายการชุมนุม และ5.ผลการวินิจฉัย ซึ่งในส่วนของการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 51 นั้น ป.ป.ช.ระบุว่า ไม่มีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม ไม่สั่งการให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ เพื่อเข้าไปประชุมรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบาย และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กับพวก ผู้ดำรงตำแหน่งระดับนโยบาย การกระทำมีมูลความผิดทางอาญา มาตรา 157
ส่วนการสลายการชุมนุมของ นปช.ปี 53 นั้น มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมไว้ชัดเจนเป็นไปตามหลักสากล มีการปรับแผนปฏิบัติการเมื่อมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ปรากฏพยานหลักฐานตามคำสั่งของศาลแพ่งและศาลอาญาว่ามิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง และนายอภิสิทธิ์ กับพวก ผู้ดำรงตำแหน่งระดับนโยบาย การกระทำไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่มีการส่งเรื่องให้ดีเอสไอดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารกรณีมีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ
ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่ม นปช. มีความแตกต่างกัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงพิจารณาวินิจฉัยคดีไปตามข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันดังกล่าว แม้ต่อมาอัยการสูงสุดจะไม่รับดำเนินคดี และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพิพากษายกฟ้องนายสมชาย กับพวก ก็เป็นเรื่องการใช้ดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของแต่ละองค์กรซึ่งสามารถแตกต่างกันได้ตามหลักของการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ คำกล่าวอ้างในประเด็นนี้จึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน และผู้ร้องไม่ได้กล่าวอ้างพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่การไต่สวน
สำหรับพยานหลักฐานที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ได้แก่ 1.วารสาร “เสนาธิปัตย์” 2.คำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลอาญา กรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ช่วงเดือน เม.ย.ถึง พ.ค.53 3.แผ่นบันทึกภาพและเสียง (CD) “รุมยิงนกในกรง” และ 4.แผ่นบันทึกภาพและเสียง (CD) “ยุทธการขอคืนพื้นที่ เมษา 53” คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า วารสาร “เสนาธิปัตย์” ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างนั้นไม่ใช่พยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริง เป็นแต่เพียงบทความทางวิชาการทหารเท่านั้น สำหรับคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ และแผ่นบันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างก็เป็นข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในสำนวนการไต่สวน และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้นำพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยด้วยแล้ว จึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่เช่นกัน กรณีจึงต้องห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกขึ้นพิจารณาใหม่ ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติไม่ยกสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก กรณีร่วมกันสั่งการในเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ถึงวันที่ 19 พ.ค.53 ขึ้นพิจารณาใหม่ เหตุหนังสือคำร้องทั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่การไต่สวน ต้องห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกขึ้นพิจารณาใหม่ ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ หากปรากฏพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจหยิบยกสำนวนการไต่สวนดังกล่าว ขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทุกเมื่อภายในอายุความ สำหรับกรณีดีเอสไอส่งสำนวนคดีอาญากรณีการเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเมื่อปี53 พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับกรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ กับพวก ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยและมีมติไว้แล้วว่า กรณีการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ทหาร และนายทหารระดับผู้บังคับบัญชา ในพื้นที่ใช้กำลังบังคับและใช้อาวุธปืน จนเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตของประชาชนในเหตุการณ์สลายการชุมนุมนั้น ให้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปตามมาตรา 89/2 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
สำหรับเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งให้ดีเอสไอเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ตามนัยมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้างต้นนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. จะประสานและติดตามผลการดำเนินคดีของดีเอสไอเพื่อความเป็นธรรมแก่ญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |