ยอดติดเชื้อรายใหม่ 9,866 ราย เสียชีวิต 102 ราย "ศบค." แย้มหลายจว.ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตัวเลขลดต่ำกว่าร้อย เตรียมชงผ่อนคลายในอีก 2สัปดาห์ "บิ๊กตู่" ห่วง 4 จว.ชายแดนใต้โควิดพุ่ง สั่ง "ปลัด สธ." คุมเข้มลดการแพร่ระบาดภายใน 1-2 เดือน "สธ.” เผยผลทดลองยา "โมลนูพิราเวียร์" ต้านโควิด-19ได้ทุกสายพันธุ์ เล็งนำเข้าใช้ในไทย ธ.ค.64-ม.ค.65 หลังบริษัทขึ้นทะเบียน อย.สหรัฐเรียบร้อย
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,866 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 9,805 ราย ระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 8,797 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,008 ราย เรือนจำและที่ต้องขัง 45 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,667,097 ราย หายป่วยเพิ่ม 10,115 ราย ยอดรวมหายป่วย 1,541,770 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 108,022 ราย อาการหนัก 3,017 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 720 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 102 ราย เป็นชาย 51 ราย หญิง 51 ราย เป็นผู้อายุ 60 ปีขึ้นไป 73 ราย มีโรคเรื้อรัง 22 ราย จังหวัดที่เสียชีวิตมากที่สุดคือ กทม. ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 17,305 ราย ส่วนสถานการณ์โลกมีผู้ป่วยสะสม 236,593,653 ราย เสียชีวิตสะสม 4,831,604 ราย
โดย 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 1,208 ราย, สงขลา 666 ราย, สมุทรปราการ 602 ราย, ชลบุรี 601 ราย, นราธิวาส 501 ราย, ยะลา 446 ราย, ระยอง 379 ราย, ปราจีนบุรี 313 ราย, ปัตตานี 309 ราย และนครศรีธรรมราช 259 ราย ภาพรวมของทั้งประเทศถือว่าลดลง แต่ในส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้ติดเชื้อสูงขึ้น โดยวันนี้มีถึง 1,922 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ
"ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ผู้บริหารของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิรองนายแพทย์ สสจ.สงขลา ระบุการติดเชื้อในพื้นที่ก่อนหน้านี้ 2 สัปดาห์กว่าๆผู้ติดเชื้อยังอยู่ที่ประมาณ 200 ราย แต่วันนี้ผู้ติดเชื้อ 666 ราย ซึ่งเกิดจากพฤติกรรม วัฒนธรรมของประชาชนที่นั่งคุยจิบน้ำชายามเช้าโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย รวมถึงกิจกรรมศาสนา ประเพณี ทำให้ช่วงนี้ปลัด สธ.ยังคงอยู่ในพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกกำกับดูแลการควบคุมโรค หลังจากนี้ทั้ง 4 จังหวัดจะประชุมร่วมกัน โดยเน้นย้ำหาผู้ป่วยได้เร็ว เพื่อคัดแยกออกจากชุมชนและครอบครัว" พญ.อภิสมัยกล่าว
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า อีกปัจจัยที่จะช่วยในการควบคุมโรคคือการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งมีการระดมเดินเท้าฉีดในชุมชน แต่มีประชาชนให้ข้อมูลกลับมาว่ามีการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนในชุมชน ทำให้เกิดการลังเลไม่กล้าฉีดวัคซีน ซึ่งล่าสุดนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้กรุณาแจ้งกับประชาชนว่าการฉีดวัคซีนสามารถฉีดได้เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่น
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สำหรับคลัสเตอร์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล พบคลัสเตอร์บุคลากรทางการแพทย์ ขอเน้นย้ำประชาชนที่ไปโรงพยาบาลเนื่องจากมีไข้ มีอาการทางเดินหายใจ ให้แจ้งข้อมูลให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบ และมีการตรวจไข้ตรวจโควิดทุกราย นอกจากนี้ยังพบคลัสเตอร์ในอีกหลายจังหวัด
'บิ๊กตู่'ห่วง4จว.ใต้โควิดพุ่ง
"วันนี้หลายจังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดพบตัวเลขลดลงต่ำกว่าร้อย ตัวเลขเหล่านี้จะมีผลต่อการพิจารณาของ ศปก.ศบค.ที่อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลเสนอ ศบค.ชุดใหญ่เพื่อผ่อนคลายในอีก 2 สัปดาห์นับจากนี้ ส่วนการรายงานการติดเชื้อในจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวของวันนี้ ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขรองรับไหว ซึ่งพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวนั้นไม่ได้แปลว่าต้องไม่พบการติดเชื้อ แต่ขอให้อยู่ในเกณฑ์ที่พบเร็ว แยกคนติดเชื้อออกมาให้ได้ ไม่ให้เกิดการลุกลามเข้าไประบาดในครอบครัว ชุมชน" พญ.อภิสมัยกล่าว
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า ในส่วนยอดรวมมีผู้ได้รับวัคซีนไปแล้ว 56,656,247 โดส หรือคิดเป็น 46.5% ของประชากร, เข็มสอง จำนวน 21,595,916 โดส หรือ 30% ของประชากร, เข็มสามจำนวน 1,554,444 คน คิดเป็น 2.2% ของประชากร
"ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.เป็นต้นไป เด็ก 12-17 ปี เข้ารับบริการฉีดวัคซีน ซึ่งวันที่ 4 ต.ค. มีการฉีดไปแล้วเกือบ 30,000 คนทั่วประเทศ และมีผู้ปกครองให้ความยินยอมลงทะเบียนมาแล้ว 3.5 ล้านคน ยังเหลืออีกเกือบ 1 ล้านคนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน จึงแนะนำให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปรับวัคซีน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันที่จะนำไปสู่การเปิดโรงเรียนได้ในช่วงเดือน พ.ย." ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า มีข้อมูลของคนไข้ที่เสียชีวิตมีประวัติการสูบบุหรี่ และสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ได้ออกแถลงการณ์เน้นย้ำบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าถือได้ว่ามีอันตราย ทำให้พยาธิสภาพปอดนั้นผิดปกติ ประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถเกิดปอดอักเสบปอดบวม และระบบหายใจล้มเหลวได้อย่างรวดเร็ว และทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แสดงความห่วงใยสถานการณ์โควิดในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ที่พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,922 คน ทำให้มีความหวั่นวิตกว่าทิศทางผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงได้สั่งให้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ ตั้งเป้าให้ควบคุมการระบาดภายใน 1-2 เดือน โดยคาดว่าจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อร้อยละ 10 ต่อสัปดาห์ พร้อมวางมาตรการสังคมใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อลดการรวมกลุ่ม ตั้ง COVID-Free Setting Area อีกทั้งประชาชนกลุ่มเสี่ยงต้องเข้าถึงชุดตรวจ ATK ได้ง่าย พร้อมทั้งให้โรงพยาบาลเตรียมเตียงสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงหนักไว้รองรับอีกด้วย
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงความคืบหน้ายาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์ว่า กรมการแพทย์ได้พูดคุยกับบริษัทต่างๆที่ทำการทดลองยาต้านไวรัสที่อยู่ในต่างประเทศ โดยโมลนูพิราเวียร์เป็นอีกตัวหนึ่งที่เราได้พูดคุยกับบริษัทมาโดยตลอด ซึ่งโมลนูพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัสออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการจำลองตัวเองของเชื้อโควิด-19 เมื่อเชื้อเข้าไปอยู่ในเซลล์แล้วในร่างกายคนแล้ว เชื้อจะไปทำการจำลองตัวเองเพื่อแบ่งตัวทำให้มีจำนวนไวรัสเพิ่มมากขึ้น และภูมิต้านทานก็อาจจะต่อสู้ไม่ได้ ยาโมลนูพิราเวียร์จึงยับยั้งการจำลองในส่วนนั้น แต่ไม่ได้ออกฤทธิ์ต่อตัวหนามของเชื้อ ก็เลยสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของตัวเองของเชื้อโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม แกมมา เดลตา หรือมิว
เล็งนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า มีการวิจัยหลายประเทศ โดยการวิจัยแบบสุ่ม วิจัยในผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และเป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งยังไม่มีภูมิต้านทานต่อโรค รวมถึงมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรง 1 ปัจจัย เช่น ภาวะอ้วน อายุ 60 ปี เบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โดยให้ยาภายใน 5 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ ก่อนหน้านี้ได้มีการวิจัยในเฟส 1-2 ซึ่งทำได้ดี สำหรับการวิจัยผู้ป่วยอาการหนักยืนยันว่ายังไม่ได้ผล
"จากการศึกษาเบื้องต้นในเฟส 3 มีคนไข้ทดลองทั้งหมด 775 ราย แบ่งเป็นได้ยา 380 ราย และได้ยาหลอก 377 ราย พบว่าคนไข้ได้โมลนูพิราเวียร์ 800 มิลลิกรัม วันละ 2 เวลาเช้าเย็น เป็นระยะเวลา 5 วัน โดยผู้ที่ได้ยาจริงลดความเสี่ยงต่อการนอนโรงพยาบาลและเสียชีวิต" นพ.สมศักดิ์
ทั้งนี้ บริษัทแม่ที่ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์คือบริษัท Merck ที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ดำเนินการยื่นขอรับรองยาโมลนูพิราเวียร์จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน ถ้าแผนนี้ได้รับการขึ้นทะเบียน จะเป็นยาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ดตัวแรกที่จะได้รับการรับรองจาก FDA และ Merck ตั้งเป้าว่าจะผลิตยาให้ได้สำหรับผู้ป่วย 10 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ โดย Merck มีแผนที่จะผลิตในหลายประเทศในทุกภูมิภาคของโลก สาเหตุเพราะวงการยาและวัคซีนพยายามหาบริษัทต่างชาติเข้าร่วมการผลิตและจำหน่ายเป็นรูปแบบคิดราคาตามรายได้ของประเทศที่เขาจะขาย
อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า ทาง MSD ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Merck ที่อยู่ประเทศไทย ได้หารือกับกรมการแพทย์ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.2564 โดยเรามีข้อตกลงว่าจะต้องไม่เปิดเผยความลับ เพราะบริษัทยานั้นทำธุรกิจอะไรที่เป็นความลับก็ยังไม่อยากเปิดเผยจนกว่าเซ็นสัญญาเสร็จสิ้น ทั้งนี้ เราได้เซ็นสัญญากับเขา และดูข้อมูลการวิจัยซึ่งดีมาก อย่างไรก็ตาม ถ้ามีผลเบื้องต้นเราจะสั่งจองเอาไว้ โดยในเดือน ก.ค.-ส.ค. เราได้มีการพูดคุยด้วยวาจาขอสั่งจองไว้ก่อนจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้เขาอาจจะขึ้นทะเบียนกับ FDA ในเดือนพ.ย. เราได้หารือและร่างสัญญาซื้อขายเสร็จเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยจะมีกระบวนการตามกฎหมายต่อไป เมื่อขึ้นทะเบียนกับ FDA แล้วจะมีการขึ้นทะเบียนกับ อย.ไทยต่อไป
"เดิมผมคาดการณ์ว่าขึ้นทะเบียนกับ FDA เดือน ต.ค. หลังจากนั้นเดือน พ.ย.มาขึ้นกับ อย.ไทย เดือน ธ.ค. ของน่าจะมา แต่เมื่อเช้าก็ได้คุยกับบริษัท ไม่แน่ใจว่าจะเป็น ธ.ค.หรือเป็น ม.ค. แต่อย่างช้าก็จะประมาณนี้ในการที่เราจะได้โมลนูพิราเวียร์เข้ามาสต๊อก และเตรียมการไว้ใช้ และถ้าขึ้นทะเบียนในประเทศมองแบบมีความหวังอาจจะเป็นปลายเดือน พ.ย.และของก็น่าจะมาเดือน ธ.ค. แต่ถ้าช้ากว่านี้อาจจะเลื่อนไปอีกเดือน" อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ทาง Merck มีทีมวิจัยทำการศึกษาป้องกันการติดเชื้อในผู้ป่วยที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิดแล้ว โดยทำในหลายๆ ประเทศ ซึ่งเขาได้มาตกลงกับประเทศไทยว่าจะทำการศึกษาในไทยด้วย ซึ่งโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เป็น 1 ใน 5 ที่ร่วมศึกษาวิจัยว่ายาโมลนูพิราเวียร์สามารถป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่ ซึ่งการดำเนินการอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยในคน คาดการณ์ว่าเริ่มทำการวิจัยในคลินิกได้ในต้นเดือน ธ.ค.64.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |