วิกฤตยิ่งซับซ้อน  ระบบราชการยิ่งล้มเหลวซ้ำซาก


เพิ่มเพื่อน    

เรากำลังเผชิญกับวิกฤตทับซ้อนพร้อมๆ กันหลายวิกฤต และทั้งหมดนี้มีความโยงใยกันทั้งสิ้น
    ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 หรือน้ำท่วมและภัยแล้ง รวมไปถึงไฟไหม้ป่า
    เราเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้กำลังมีผลกระทบไปทั่วโลก
    เหตุเพราะอุณหภูมิโลกร้อนขึ้น เพราะผลของก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากภาวะ Climate Change ที่กำลังจะกลายเป็นภัยพิบัติระดับโลก ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์โยงใยไปถึงภาวะโลกร้อน
    แต่ในไทยเราเองยังบริหารวิกฤตแต่ละกรณีในลักษณะแบ่งแยกและตามแนวดิ่งที่ไร้ประสิทธิภาพ และจะทำให้เรื่องที่เลวร้ายอยู่แล้วเสื่อมทรุดลงไปอีก
    ความจริงตั้งแต่เกิดเรื่อง disruption หรือ “ความป่วน” อันเกิดจากเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในทุกวงการของเรานั้น ก็มีสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนแล้วว่าเราจะใช้กลไกแบบเดิม หรือกฎกติกาแบบเก่ามาแก้ปัญหาที่มีมิติแตกต่างไปโดยสิ้นเชิงก็จะพบกับความล้มเหลวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    แต่รัฐบาลและเอกชนจำนวนไม่น้อยก็ยังใช้กลไกและวิธีการตั้งรับปัญหาแบบเดิมๆ
    พอเจอกับภัยโควิดอย่างอย่างจังเท่านั้นก็เพิ่งตระหนักว่าอะไรที่เคยเป็นสูตรสำเร็จ อะไรที่เคยเป็นคำตอบก็มิอาจจะนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาที่หนักหน่วงรุนแรงแบบที่ไม่เคยคาดคิดได้
    พอเจอน้ำท่วมปีนี้อีกครั้งก็ยิ่งตอกย้ำว่าการบริหารวิกฤตแบบแบ่งกลไกรัฐเป็นแท่งๆ ตามรูปแบบกระทรวงทบวงกรมเดิมๆ นั้นรังแต่จะนำไปสู่ความล้มเหลวทั้งสิ้น
    เช่น เราจะเห็นว่าหน่วยราชการยังใช้วิธีการ “ส่งสาร” กันเป็นขั้นเป็นตอน และจากหน่วยงานหนึ่งไปอีกหน่วยงานหนึ่งเหมือนเดิมจากบนลงล่าง ไม่ใช่ฟังจากล่างขึ้นบนอย่างที่ควรจะเป็นในหลายๆ กรณี
    เราเห็นกรมอุตุฯ ส่งหนังสือทางการเรื่องพายุที่กำลังจะเข้าไทยไปยังกรมชลประทาน
    กรมชลฯ ก็คัดเอาเนื้อหาเดียวกันนั้นทำเป็นหนังสืออีกฉบับหนึ่ง เปลี่ยนเพียงวันที่ หัวข้อและผู้ลงนามเพื่อส่งต่อไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
    จากนั้น ปภ.ก็คัดลอกเอาเนื้อหาเดียวกันนั้นส่งต่อไปให้กับกระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนเฉพาะวันที่และผู้ลงนาม
    กระทรวงมหาดไทยก็ทำหนังสือขึ้นมาใหม่เพื่อส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด
ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ทำหนังสือส่งคำเตือนนั้นไปยังนายอำเภอทั้งหลายอีกต่อหนึ่ง
    ทั้งๆ ที่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกัน และควรจะมีแนวทางปฏิบัติที่รวดเร็วทันการณ์ และตัดสินใจเพื่อรับกับสถานการณ์อย่างฉับพลัน โดยมีเป้าหมายประการเดียวเท่านั้น
    คือประชาชนจะรับทราบภัยที่กำลังจะเกิดขึ้น และจะต้องมีส่วนในการร่วมกันเพื่อป้องกันความเสียหายและให้อยู่ได้อย่างปลอดภัยที่สุดอย่างไร
    ไม่ว่าเราจะเผชิญกับภัยน้ำท่วมและภัยแล้งมาแล้วกี่สิบกี่ร้อยปี ไม่ว่าเทคโนโลยีจะปรับเปลี่ยนช่วยให้การประสานและสื่อสารสามารถทำได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้นเพียงใด แต่กฎเกณฑ์และระเบียบราชการแบบเดิมก็ยังบังคับให้หน่วยราชการต้องทำตามแบบอย่างดั้งเดิมที่เชื่องช้าและคร่ำครึ
    เพราะไม่มีใครมีวิสัยทัศน์หรือความกล้าหาญทางการเมืองพอที่จะแก้ไข ยกเลิก และปรับเปลี่ยนวิธีทำงาน
    เพราะทุกคนในระบบราชการยังคิดแบบ “ฉันปลอดภัยไว้ก่อน” ไม่สนใจว่าหากลด, ละ, เลิกขั้นตอนเดิม โยกงบประมาณ, บุคลากรและทรัพยากรทั้งหลายไปสู่ระบบที่มีประสิทธิภาพมากกว่าจะเป็นการรับใช้ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิมได้มากมาย
    การแก้วิกฤตโควิด-19 ก็เข้ารูปแบบเดียวกัน นั่นคือแม้จะมีการตั้ง ศบค. และ ศบศ. นัยว่าเพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการที่ทุกฝ่ายมารวมตัวกันเพื่อความรวดเร็วและคล่องตัว ตัดและลดขั้นตอนก็การสั่งการ ระดมทรัพยากรทั้งสิ้นทั้งปวงมาไว้ ณ จุดเดียวกัน
    ทำงานในลักษณะแนวราบแทนแนวดิ่ง ระดมสรรพกำลังเพื่อการประเมิน, ติดตาม, วางแผน, และสั่งการจากจุดเดียวกันและเลิกขั้นตอนราชการที่ไม่จำเป็นออกให้หมด ใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารและวางแผนกับสั่งการพร้อมทั้งเปิดเผยและโปร่งใสให้ประชาชนเข้าถึง
    แต่ในทางปฏิบัติ เรายังเห็นการแบ่งแยกตามกระทรวงทบวงกรม, การแก่งแย่งอำนาจและงบประมาณและการยื้อแย่งอำนาจเพื่อประโยชน์ด้านการเมืองและการสร้างคะแนนให้กับตนและกลุ่มตนเป็นหลัก
    วิกฤตภัยธรรมชาติและโรคระบาดจะหนักขึ้นทุกวัน และระบบการทำงานแบบราชการและการเมืองแบบวันนี้จะเสื่อมทรุดลงทุกวันเช่นกัน
    เช่นนี้แล้วคงจะทำนายไม่ยากว่าเราจะเข้าสู่ภาวะล้มเหลวซ้ำซากไปตลอดกาลเช่นกัน
    ดั่งที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้อย่างจะแจ้งว่า
    “หากเราทำอะไรแบบเดิมๆ และคาดหวังว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอีกแบบหนึ่ง เราก็บ้าแล้ว”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"