6 ต.ค.64 -สมาคม ISTH (International Society and Thrombosis and Haemostasis) จัดเสวนาเนื่องในวันลิ่มเลือดอุดตันโลกซึ่งตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม ในหัวข้อ “สถานการณ์ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในประเทศไทย” โดยศ.นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด19 ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งภาวะนี้ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด แต่ผู้ป่วยโควิดมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะนี้ เช่น คนที่เคยเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันแล้วติดเชื้อโควิดก็มีโอกาสที่จะเป็นซ้ำอีกครั้ง หรือมีความเสี่ยงมากขึ้น ไม่ควรหยุดทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดเอง ควรแจ้งแพทย์ทันที ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยโควิดกลุ่มอาการรุนแรงที่มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันถึง 20% แพทย์จะให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพื่อป้องกันไว้
ส่วนภาวะลิ่มเลือดอุดตันกับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งข้อมูลจากทางองค์การสาธารณสุขของอังกฤษและยุโรป ระบุว่าวัคซีนไม่ได้เพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันแบบธรรมดาที่จะเกิดขึ้นที่ขาหรือปอด (Clinical Burdens of Venous Thromboembolism(VTE)) ซึ่งอีกผลการศึกษาพบว่าหลังฉีดวัคซีนจะเกิดลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษขึ้นที่หลอดเลือดดำในสมอง เรียกว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำภายหลังได้รับวัคซีน ซึ่งมีอาการบ่งชี้คือ ปวดหัวรุนแรง หลังจากได้รับวัคซีนไปแล้ว 5-30 วัน นับเป็นภาวะรุนแรงอันเดียวที่ยอมรับว่าเกี่ยวกับวัคซีน โดยในอังกฤษพบภาวะนี้ประมาณ 1 คนใน 100,000 คน ในคนไข้อายุ 50 ปีขึ้นไป และในคนไข้อายุน้อยกว่า 50 ปี พบประมาณ 1 คนต่อ 50,000 คน ดังนั้นหากมีอาการต้องเข้ารับการตรวจเลือดจำเพาะค่า D-dimer หรือ PF4 หลังฉีดวัคซีน
ศ.นพ.พันธุ์เทพ บอกอีกว่า ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจ คือ จากผลสำรวจการรู้จักภาวะลิ่มเลือดอุดตันในประชากรของสมาคม International Society on Thrombosis and Haemostasis (ISTH) ใน 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อาร์เจนตินา อังกฤษ เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และไทย รวมกว่า 800 คน พบว่าการตระหนักรู้เกี่ยวกับลิ่มเลือดอุดตัน หรืออาการอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับโรคอื่น และในประเทศไทยประชากรรับรู้เกี่ยวกับภาวะนี้ก็ต่ำกว่าประชากรในยุโรปด้วย
โดยแนวโน้มของภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดขึ้นทั่วโลก ศ.นพ.พันธุ์เทพ กล่าวว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากภาวะที่เกี่ยวเนื่องกับลิ่มเลือดอุดตัน โดยสมาคมแพทย์อเมริกันคาดว่ามีประชากรราวๆ 2 ล้านคนต่อปีที่ต้องทรมานกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งนับเป็นจำนวนที่มากกว่ากลุ่มที่เป็นอุบัติการณ์ของโรคภาวะหัวใจล้มเหลวหรือโรคหลอดเลือดสมองในแต่ละปี โดยภาวะลิ่มเลือดอุดตันแบ่งเป็น ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดง เช่น หัวใจขาดเลือด และลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่คนรู้จักน้อย แต่ประชากรเป็นภาวะนี้ประมาณ 142-300 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี และส่วนใหญ่จะพบในคนผิวขาวประมาณ 1 คนใน 1,000 คน
ในประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560-2563 มีผู้ป่วยประมาณ 12,900-26,800 คน เท่ากับว่าจะมีผู้ป่วย 200-400 คนในประชากรทุกๆ 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเจอในคนผิวขาว 5-10 เท่า และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ส่งผลให้ผู้ป่วยพบปัญหาหายใจลำบาก ส่งผลให้เกิดอัตราการเสียชีวิตถึง 30% หากไม่ได้รับการรักษา
ศ.นพ.พันธุ์เทพ กล่าวต่อว่า ปัจจัยเสี่ยงมักเกิดขึ้นหลังจากนั่งอยู่ในท่าหย่อนขานานๆ การเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นระยะเวลานาน การอยู่ในโรงพยาบาลนานๆ การผ่าตัด ปัจจัยทางพันธุกรรม ผู้หญิงที่ทานยาคุมกำเนิด โรคมะเร็ง และในปัจจุบันที่พบคือการติดเชื้อโควิด19 หรือการฉีดวัคซีน เป็นต้น ซึ่งผลกระทบของภาวะลิ่มเลือดอุดตันต่อชีวิต อาทิ ขามีอาการปวดบวม หอบเหนื่อย การหมดสติเฉียบพลัน หัวใจวาย หรือเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
โดยภาวะลิ่มเลือดอุดตันอาการที่พบจะมีการปวดบวมที่ขาข้างหนึ่ง ผิวหนังอักเสบหรือเป็นโรคกระดูก ผิวหนังมีการเปลี่ยนสี ไอเป็นเลือด ใจสั่นหายใจไม่ออก ทำให้เกิดการวินิจฉัยล่าช้า อาจส่งผลให้ลิ่มเลือดลามไปที่ปอดได้ไวขึ้น หรือเกิดภาวะเรื้อรัง เช่น ขามีรอยแดงดำ ดังนั้นการรักษาต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยง โดยเฉลี่ยอย่างน้อยใช้เวลารักษา 3เดือน หรือจนกว่าจะหายขาด เพราะภาวะนี้มีความรุนแรงจนถึงขั้นที่เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอจนเสียชีวิต หรือในอีกกรณีการเสียชีวิตเฉัยบพลันก็มาจากลิ่มเลือดอุดตันได้เช่นกัน “
ในโรคมะเร็งนับว่าเป็นโรคหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่สำคัญ ศ.นพ.พันธุ์เทพ กล่าวว่า เนื่องจากมะเร็งมีการปล่อยสารบางอย่างไปกระตุ้นการแข็งตัวของเลือด ทำให้ลิ่มเลือดสามารถอุดตันได้ทั้งหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง ในคนที่เป็นโรคมะเร็งจึงมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่ไม่ได้เป็น 4-6 เท่า และมะเร็งบางชนิดก็มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น มะเร็งสมอง มะเร็งในกระเพาะอาหาร มะเร็งในหลอดน้ำเหลือง มะเร็งรังไข่ รวมไปถึงการรักษาที่นำไปสู่ความเสี่ยงได้เช่นกัน” ศ.นพ.พันธุ์เทพ กล่าว
อย่างไรก็ตามควรดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เช่น หมั่นขยับร่างกาย ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ สังเกตอาการและสัญญานลิ่มเลือด อุดตัน ไม่มั่นใจขอตรวจประเมินความเสี่ยง VTE โดยเฉพาะผู้ป่วยในโรงพยาบาลควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (VTE)
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |