6 ต.ค.64-นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ถึงการร่วมเสวนาหัวข้อ “45 ปี มาตรา 112” ส่วนหนึ่งของกิจกรรมครบรอบ 45 ปี 6 ตุลาฯ ทาง Clubhouse เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ที่กล่าวตอนหนึ่งว่ามาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดา แต่คือภาพแทนของสถาบันกษัตริย์ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหลายคนที่เที่ยวไปแจ้งความคนอื่นทั้งที่ตนเองไม่ได้โดนดูหมิ่น ไม่ได้เสียหายเอง นั่นเพราะสำหรับพวกเขามองว่าคือการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดูหมิ่นความเชื่อถือ (Blasphemy)
ปิยบุตรตั้งข้อสังเกตว่าการใช้ การแก้ และการเพิ่มโทษที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง คือปฏิกิริยาสืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานั้นๆ เสมอ ยกตังอย่างเช่น การแก้ไขเพิ่มโทษมาตรา 112 ให้เพิ่มขึ้นจนมากกว่าสมัยการปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลังการรัฐประหารของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ช่วงต่อมาคือการใช้มาตรา 112 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มาถึงหลังการรัฐประหาร 2549 และล่าสุดถูกนำมาใช้ใหม่อย่างกว้างขวางอีกครั้งหลังการชุมนุมปี 2563
ดังนั้นมาตรา 112 จึงไม่ใช่เรื่องของกฎหมายอย่างเดียว แต่มีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองและกลุ่มคนที่ตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ย้อนไปถึงการรณรงค์ของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ในตอนนั้น เคยมีคนเป็นรอยัลลิสต์มาเสนอว่าหากต้องการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ให้มานั่งคุยกันปิดลับ โดยไม่ต้องเข้าชื่อเสนอกฎหมายในทางสาธารณะ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องไม่อยากให้มีการเข้าชื่อ เมื่อมาวิเคราะห์ดูก็พบว่านี่คือวิธีคิดของรอยัลลิสต์และพวกอนุรักษ์นิยม คือคิดว่าถ้ายอมโอนอ่อนให้ข้อนึง ความต้องการจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปถึงเรื่องอื่นเรื่อยๆ จนไปถึงสุดทางเลย เขาไม่คิดว่าถ้ายอมปฏิรูปข้อนึง แล้วคนจะหยุด วิธีคิดของรัฐไทยขีดเส้นชัดเจน ไม่ขยับถอยเลย ต้องรอให้เกิดความสูญเสีย ถึงจะมายอมถอยเหมือนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ในอดีต”
[ แก้ไขแต่แรก ดีกว่าไปถึงจุดแตกหัก ]
ปิยบุตรเสนอว่าสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว หากไม่ยอมแก้ไขตั้งแต่แรก สถานการณ์จะไปถึงจุดแตกหักอย่างนั้นแน่นอน “ผมยังมองว่าถ้าเราไม่ปฏิรูป สถาบันกษัตริย์จะอยู่ยาก ดังนั้นถ้าต้องการรักษาสถาบันฯ จะต้องปฏิรูป หากไม่ทำ จะไปสู่จุดที่สังคมไทยไม่เคยเห็นมาก่อน ผมเห็นว่าการพูดคุยกันและปฏิรูปเป็นทางออกทางเดียวของสังคม คุณูปการจากการชุมนุมของราษฏรได้ทำให้ประเด็นสถาบันฯ กลับมาถูกพูดถึง แต่ในปัจจุบันพื้นที่สาธารณะในการพูดถึงประเด็นสถาบันฯ แทบไม่เหลือพื้นที่เลย ปีที่แล้วมีการถกเถียงประเด็นปฏิรูปสถาบันฯ บนทีวีช่องใหญ่ๆ แต่ตอนนี้กลับไม่มีการเสนอข่าวเกี่ยวกับข้อเสนอหรือการอภิปรายเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ ผ่านสื่อหลักเลย”
การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นได้สถาบันฯ รัฐบาล ชนชั้นนำจารีตประเพณีต้องเอาด้วย ไม่อย่างนั้น ไม่มีทางสำเร็จได้ ผมเห็นว่ามีรอยัลลิสต์หลายคนที่เห็นประเด็นปัญหาร่วมอยู่ เช่น มาตรา 112 และเรื่องทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ คนที่เป็นรอยัลลิสต์ควรช่วยกันออกมาพูดว่ากฎหมายทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์ทั้งระบบอย่างไร
นอกจากการเรียกร้องผลักดันจากประชาชนแล้ว ชนชั้นนำยังต้องให้ความเห็นชอบด้วย ยิ่งอยู่ใต้รัฐบาลแบบนี้ยิ่งยาก เพราะรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ไม่มีทางทำเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ ได้ ดังนั้นข้อเสนอทั้งสามข้อจึงโยงใยกันหมด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมาะสมจะเป็นอัครมหาเสนาบดีในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ใช่เป็นนายกรัฐมนตรีในระบอบระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)
[ เรียกร้องทุกฝ่าย ช่วยผลักดันปฏิรูปสถาบันฯ ไม่ให้การเสียสละของเยาวชนสูญเปล่า ]
สิ่งที่ต้องทำคือต้องมีการพูดถึงประเด็นปฏิรูปสถาบันฯ จากทุกฝ่ายในสังคม แน่นอนว่าวิธีการพูดและสื่อสารของแต่ละ generation มีความแตกต่างกัน แต่การรณรงค์สื่อสารกับฝ่ายรอยัลลิสต์ให้กลับมาฟังบ้าง ต้องใช้วิธีการพูดที่แตกต่างกันไป ผมเห็นว่าตรงนี้อาจเป็นพื้นที่ที่นักวิชาการเข้าไปเติมได้ เช่น การอธิบายว่าเหตุใดแนวโน้มของการปกครองในประเทศไทยกำลังกลายเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบซ่อนรูปมากกว่า Constitutional Monarchy
ประเด็นข้อสามต้องมีมู้ดและโทนการถกเถียงที่หลากหลาย ถ้ามีแต่เยาวชนที่พูด กลุ่มอื่นไม่ช่วยกันขยับ โทนของเยาวชนก็จะถูกผลักให้กลายเป็นพวกฮาร์ดคอร์ แต่ถ้าทุกคนช่วยกันพูดก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ว่าคนรุ่นไหนเก่งกว่าใคร แต่ทุกฝ่ายต้องเดินไปด้วยกัน แม้แต่พูดว่าปฏิรูปยังไม่พอ ก็ต้องยอมรับว่ามีคนที่เริ่มคิดถึงรูปของรัฐแบบอื่น หากมีคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดแบบนี้และคนรุ่นเก่าก็มีความคิดคนละทาง ต้องหาทางออกร่วมกันว่าจะอยู่ร่วมกันต่อไปอย่างไร
“สำหรับผมคนรุ่นใหม่เสียสละเอาชีวิตและร่างกายเข้าไปเสี่ยงคุก เสี่ยงตาราง เขาไม่มีความกลัวเหลืออยู่แล้ว ดังนั้นผมเห็นว่าไม่ควรปล่อยให้ไฟนี้มอดดับไป พูดอย่างตรงไปตรงมา หากวันหนึ่งรัฐเอาจริงขึ้นมา เราไม่มีทางสู้รัฐได้เลย แม้วิธีคิดของเยาวชนยังอยู่ แต่จะโดนบทขนยี้จนไม่สามารถแสดงออกได้เลย เหมือน 45 ปีที่แล้ว ที่ขบวนการนักศึกษาก้าวขึ้นไปสูงมาก แล้วถูกบดขยี้จนหายไปนานเลย
ดังนั้นกลุ่มที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยทั้งหมดต้องช่วยกันทำให้ขบวนการรอบนี้เดินหน้าสู้ต่อไปได้ อย่าปล่อยให้เยาวชนสู้ตามลำพัง”
#ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ #45ปี6ตุลา #มาตรา112 #บันทึก6ตุลา
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |