รู้ทันป้องกัน'อัลไซเมอร์' ต้องดูแลตัวเองก่อนสูงวัย


เพิ่มเพื่อน    

ไม่ใช่โรคที่ไกลตัวอีกต่อไปสำหรับ “อัลไซเมอร์” โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป สามารถเป็นโรคขี้หลงขี้ลืมได้ สาเหตุของโรคที่สำคัญนั้นสามารถเกิดได้จากกรรมพันธุ์ รวมถึงผลพวงจากโรคซึมเศร้า หรือแม้แต่โปรตีนในสมองบกพร่องก็ทำให้ป่วยได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดระหว่างอาการหลงลืมทั่วไปกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จึงได้มีการจัดงานเสวนา “รู้ทัน ป้องกันสมองเสื่อมอัลไซเมอร์” ภายใต้ “โครงการตรวจคัดกรองสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ครบวงจรในคนไทย” จัดขึ้นโดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ข้อมูลในการสังเกต ตลอดจนการป้องกันโรคความจำเสื่อมไว้น่าสนใจ

(นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย)

นพ.สุขเจริญเปิดเผยว่า สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์สามารถเกิดได้หลายปัจจัย นอกจากผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปแล้ว ผู้ที่ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ร้อยละ 50-60 ถือเป็นปัจจัยของการเกิดโรคนี้ เช่น “ภาวะโรคซึมเศร้า” ซึ่งพบได้ค่อนข้างบ่อยมาก และเสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์ได้ถึง 2 เท่า นอกจากนี้ “การรับประทานยาแก้แพ้อากาศ” ก็เสี่ยงต่ออาการหลงลืมได้ เพราะจะทำให้ความจำไม่ดี อีกทั้งเรื่องของ “น้ำในโพรงสมองเยอะ” หรือแม้แต่ “ฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ” 

ที่ลืมไม่ได้คือผู้ที่ “ขาดวิตามินดี” จากการได้รับแสงแดดที่ไม่เพียงพอ และกลุ่มคนที่บริโภค “อาหารมังสวิรัติ” เป็นเวลานาน ก็ทำให้ร่างกายขาดโปรตีนและวิตามินต่างๆ สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งอย่าง “โปรตีนในสมองผิดปกติ” อาทิ โปรตีนอะไมลอยด์ (beta-amyloid) และโปรตีนเทา (tau protein) ซึ่งความผิดปกติดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ เมื่อโปรตีนทั้ง 2 ชนิดทำงานมากเกินไป จะส่งผลให้ระดับของเสียดังกล่าวไปเกาะตามอวัยวะต่างๆ เนื่องจากทั้งคู่เป็นโปรตีนที่ไม่ละลายในน้ำ ทำให้เกิดการอักเสบจนส่งผลให้สมองฝ่อและสูญเสียความทรงจำได้ในที่สุด หรือแม้การบริโภคอาหารที่ไขมันสูง ก็เป็นตัวการทำให้ร่างกายอักเสบและเกิดภาวะโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นเดียวกัน

สำหรับอาการของโรคแบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ 1.สังเกตง่ายๆ ว่าเรื่องความจำของผู้สูงวัยจะลดลงจนกระทั่งส่งผลต่อการใช้ชีวิต 2.เริ่มมีปัญหาเรื่องพฤติกรรม เช่น ผู้ป่วยรู้สึกสับสน หวาดระแวงว่าจะมีคนมาขโมยของ กระทั่งคิดไปเองว่าคู่สมรสจะนอกใจ นอนไม่หลับ มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา เช่น ถามซ้ำๆ 3.มีปัญหาเรื่องการเดิน เช่น เดินเองไม่ได้ กระทั่งผู้ป่วยลืมว่ากินอาหารเองทำอย่างไร และมักจะสำลักอาหาร ซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนอื่น ทั้งการเดินสะดุดหกล้ม กระดูกหัก และเป็นผู้นอนติดเตียง หรือสำลักอาหารจนกระทั่งปอดติดเชื้อ และเสียชีวิตได้ในที่สุด

หลายคนที่สงสัยระหว่างภาวะขี้ลืมทั่วไปกับโรคอัลไซเมอร์แตกต่างกันอย่างไร เบื้องต้นให้ตระหนักว่า ผู้ที่จะป่วยโรคนี้อายุต้อง 65 ปีขึ้นไป และมักจะถามซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ, หลงทางได้ง่ายขึ้น, ใช้ภาษาไม่ถูกต้องหรือนึกคำไม่ออก และใช้คำผิด เป็นต้น จนกระทั่งออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านไม่ได้ ซึ่งต่างจากผู้ที่ขี้ลืมปกติ เช่น เราใช้เวลานึกนานกว่าปกติ ไม่เรียกอัลไซเมอร์ แต่อาจเกิดจากสมองทำงานมาก และเก็บข้อมูลเยอะ ส่วนหนึ่งเหตุการณ์การที่ทำให้นึกไม่ออกอาจมีความสำคัญกับเราน้อยมาก

แม้อัลไซเมอร์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีอายุขัยโดยเฉลี่ยประมาณ 8 ปีหลังจากแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคความจำเสื่อม แต่สามารถชะลอการเกิดโรคได้ 1.แนะนำให้คนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปออกกำลังกายด้วยการเดินวันละ 22-30 นาที อาทิตย์ละ 3-4 วัน 2.เลือกบริหารสมองด้วยการทำงานบ้าน, เล่นดนตรี, ร้องเพลง, ช่วยลูกหลานขายของ เล่นไพ่ นั่งสมาธิ ทำงานจิตอาสา ออกกำลังกายด้วยการฝึกชี่กง 

กิจกรรมเหล่านี้เป็นการทำให้สมองได้ใช้งาน และได้พบปะเพื่อนฝูง ที่สำคัญให้เลี่ยงอาหารมันจัด เพราะจะทำให้ร่างกายอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคความจำเสื่อม โดยให้เลือกรับประทานอาหาร “กลุ่มเมดิเตอร์เรเนียน” เช่น สลัดผักใส่น้ำมันมะกอก, กินถั่วเปลือกแข็ง, กินปลาทะเลน้ำลึก ที่มีการวิจัยว่าป้องกันอัลไซเมอร์ได้ดี และให้เลือกดื่มน้ำผลไม้ปั่นไม่แยกกาก เพื่อช่วยย่อยและทำให้การทำงานของลำไส้ดีขึ้น แทนการดื่มไวน์หรือสุรา เป็นต้น ที่ลืมไม่ได้ต้องพยายามควบคุมโรคที่เป็นอยู่เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นอัลไซเมอร์ เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันสูง และโรคความดันโลหิต เป็นต้น.   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"