ทำไมจีนจึงเผชิญกับปัญหา “ไฟดับ” หรือ power crunch จนกลายเป็นวิกฤตที่ลามจากโรงงานอุตสาหกรรมไปถึงชาวบ้านอย่างกว้างขวาง?
เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นชั่วครั้งชั่วคราว หากแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระดับนโยบายถึงตัวประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เลยทีเดียว
ร้อนถึงรัฐบาลต้องออกมาขอให้ประชาชนช่วยประหยัดไฟและให้โรงงานลดการผลิต
กระทบไปถึงโรงงาน Apple และ Tesla ที่นั่นต้องออกข่าวว่าการผลิตของเขาได้รับผลกระทบอย่างฉับพลันเช่นกัน
กลายเป็นเรื่องที่มีผลต่อ supply chain หรือ “ห่วงโซ่อุปทาน” ทั่วโลกกันเลยทีเดียว
ข่าวร้ายคือรัฐบาลท้องถิ่นในหลายมณฑลถึงกับต้องสั่งระงับการจ่ายไฟฟ้า ขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟ
เหตุผลทางการคือ รัฐบาลต้องการให้จีนไปสู่เป้าหมายทางสิ่งแวดล้อม และต้องทำกันอย่างฉับพลันทันที
เพราะการประชุมระดับโลกว่าด้วยโลกร้อนรอบต่อไปที่เรียกว่า Cop26 จะมีขึ้นที่เมือง Glasgow ของสหรัฐอาณาจักรในปลายเดือนนี้แล้ว
ปัจจัยสำคัญมาจากความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และราคาถ่านหินและก๊าซที่พุ่งสูงขึ้น
เมื่อผสมกับการที่รัฐบาลต้องการจะบรรลุเป้าหมายการลดมลพิษอย่างเข้มข้น กลายเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงจะกระทบถึงความรู้สึกของชาวบ้านต่อผู้มีอำนาจของรัฐบาลจีนขึ้นมาทันที
ความจริงข่าวนี้เริ่มจะปรากฏมาหลายเดือนก่อนหน้านี้ แต่เพิ่งจะร้อนแรง เพราะมีการประกาศควบคุมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศ
ตั้งแต่โรงถลุงอะลูมิเนียม โรงงานสิ่งทอ ตลอดถึงโรงงานแปรรูปถั่วเหลือง
ส่วนใหญ่ถูกกำหนดให้ลดการผลิต บางแห่งหนักกว่านั้นคือถูกปิดตัวถาวรไปเลยก็มี
คำสั่งให้ลดการใช้ไฟฟ้าในอุตสาหกรรมการผลิตนั้นกระทบในเขตสำคัญๆ ของประเทศ เช่น มณฑลเจียงซู เจ้อเจียง และกวางตุ้ง ที่ซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของผลผลิตมวลรวมของจีน หนีไม่พ้นว่าจะดันให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น
บริษัทส่งออกผ้าโพลีเอสเตอร์และไนลอนในมณฑลเจ้อเจียงแห่งหนึ่งบอกกับสื่อต่างชาติว่าต้องเผชิญกับการขาดทุนมหาศาลจากการระงับการผลิต เพราะรัฐบาลอนุญาตให้ดำเนินการผลิตแค่เพียงสัปดาห์ละ 3 วัน
ที่กวางตุ้งมีข่าวว่ามาตรการให้ประหยัดไฟฟ้าบางแห่งถึงกับสั่งให้พนักงานออฟฟิศใช้บันไดใน 3 ชั้นแรกเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีการจำกัดชั่วโมงที่ห้างสรรพสินค้าจะฉายป้ายโฆษณา LED
และเมื่อต้องขอให้ประชาชนลดการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ใช้แสงจากธรรมชาติแทน กับลดการใช้งานเครื่องปรับอากาศก็ย่อมหมายความว่าคนจีนทั่วไปได้รู้สึกถึงผลกระทบต่อชีวิตประจำวันแล้ว
สาเหตุหนึ่งที่ต้องมีการสั่งยกระดับมาตรการให้เข้มข้นขึ้น ก็เพราะเกือบครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 23 มณฑลในจีน ไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายด้านพลังงานของรัฐบาลได้
มีเสียงกระซิบกระซาบกันในสภากาแฟที่เมืองจีนว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต้องการให้ท้องฟ้าเหนือเมืองหลวงเป็นสีฟ้าสดใส ปราศจากมลพิษในช่วงโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งในเดือนกุมภาพันธ์หน้านี้ เพื่อให้นักกีฬาและผู้มาร่วมการแข่งขันจากทั่วโลกจะได้ประทับใจกับความพยายามของจีนที่จะทำให้เป็นประเทศปลอดจากมลพิษระดับโลกให้ได้
แต่ยิ่งใกล้ฤดูหนาว คนจีนก็ยิ่งต้องการใช้ไฟฟ้ามาก แต่เมื่อเจอกับวิกฤตขาดแคลนถ่านหินและก๊าซอย่างรุนแรงก็ยิ่งทำให้ปัญหานี้หนักหน่วงกว่าที่เคยคาดคิด
จะไม่ให้ราคาไฟฟ้าพุ่งขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อราคาในตลาดอนาคต (futures) ของถ่านหินพุ่งขึ้นอยางน้อย 4 เท่าในเดือนที่ผ่านมา
สาเหตุหนึ่งเพราะความกังวลเรื่องความปลอดภัยของเหมืองและการจำกัดการผลิตในประเทศเพื่อลดมลพิษ
กับการห้ามนำเข้าจากซัพพลายเออร์ชั้นนำของออสเตรเลีย
ในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติทั่วยุโรปและเอเชียพุ่งสู่ระดับสูงสุดตามฤดูกาล เพราะความขาดแคลน
นักวิเคราะห์เศรษฐกิจจีนออกมาเตือนแล้วว่า กฎเกณฑ์ใหม่นี้จะมีผลกระทบต่อ GDP ของจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
China International Capital Corp (CICC) คาดว่าการขาดแคลนไฟฟ้าจะทำให้อัตราการเติบโตของ GDP จีนในไตรมาสที่ 3 และ 4 ลดลงประมาณ 0.1-0.15%
ขณะที่ Nomura ก็ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2021 เหลือ 7.7% จาก 8.2% และปรับลดคาดการณ์ไตรมาสที่ 3 เหลือ 4.7% จาก 5.1% และไตรมาสที่ 4 เหลือ 3% จาก 4.4%
สี จิ้นผิง กำลังจะเข้าสู่การบริหารประเทศเทอมที่ 3 ในปีหน้า แต่ต้องเจอกับความท้าทายมากมายหลายด้าน
ไฟฟ้าอาจติดๆ ดับๆ ได้ แต่ความศรัทธาของประชาชนขึ้นๆ ลงๆ เมื่อใด มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเมืองทันที.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |