ตามรอยถิ่นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก


เพิ่มเพื่อน    

(วิวเมืองอุทัยธานีมองจากยอดเขาสะแกกรัง)

    หากต้องการความสงบ ไม่วุ่นวาย ในวันที่อยากจะออกเดินทางไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง อุทัยธานีน่าจะเป็นจุดหมายที่ตอบโจทย์ได้ไม่น้อย เพราะเป็นเมืองที่เงียบสงบ ผู้คนที่นี่ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายมากๆ โดยเฉพาะหมู่บ้านสะแกกรัง ที่ถึงแม้อยู่ในตัวอำเภอเมืองแต่ก็แทบจะดูไม่เป็นในเมืองเลย เพราะปราศจากความวุ่นวายแม้แต่น้อย ยามค่ำผู้คนเข้านอนแต่หัววัน บนถนนไร้รถราวิ่งกันขวักไขว่เหมือนกรุงเทพฯ เมืองที่ไม่เคยหลับใหล ทำให้เชื่อว่านี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ใครหลายคนอยากจะมาลองใช้ชีวิตที่นี่สักครั้ง

(ประชาชนมาสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก บนเขาสะแกกรัง)

    บ้านสะแกกรัง นับว่าเป็นหมู่บ้านที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอุทัยฯ มาก ในอดีตบริเวณลุ่มน้ำสะแกกรังนอกจากเคยเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าไปยังอยุธยาแล้ว ยังเป็นบ้านเกิดของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระราชบิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรีด้วย ทำให้อุทัยฯ น่าสนใจขึ้นไปอีก นี่เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภาคเหนือ ชวนเราไปตามรอยถิ่นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกเมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน ซึ่ง
    การตามรอยเริ่มตั้งแต่อยุธยา ไปจนถึงอุทัยฯ เอาเป็นว่าไม่ใช่แค่การตามรอย แต่เป็นการไปเที่ยวบ้านเกิดและสถานที่ที่พระองค์เคยอยู่ก็แล้วกัน

(พระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่ ร.1 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขยายส่วนจากพระแก้วมรกต วัดสุวรรณดาราราม)

    เราออกเดินทางกันแต่เช้าตรู่ ช่วงที่ถนนกำลังคึกคักเต็มไปด้วยรถรา ใช้เวลาชั่วโมงกว่าก็ถึงอยุธยาซึ่งเป็นจุดแวะจุดแรก เพราะอยุธยาเมืองเก่ามีวัดเยอะ แต่วัดที่เราโฟกัสในทริปนี้คือ วัดสุวรรณดาราราม ที่ตั้งอยู่ริมป้อมเพชร ซึ่งต้องมาแวะที่นี่ก็เพราะเป็นวัดประจำตระกูลของ ร.1 มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า เป็นวัดที่พระอัยกาใน ร.1 โปรดให้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นสถานที่บรรจุอัฐิของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกด้วย โดยเก็บบรรจุในเจดีย์ทรงระฆังที่อยู่ด้านหลังโบสถ์ของวัด แต่ตอนที่ไปเสียดายมาก วัดกำลังอยู่ในช่วงบูรณะ ไม่อย่างนั้นจะได้เก็บภาพสวยๆ มาอวดแล้ว ยิ่งเขาบอกว่าตัวฐานของโบสถ์แอ่นคล้ายเรือสำเภาก็ยิ่งเสียดายไปใหญ่เพราะถ่ายรูปไม่ได้เลยเห็นแต่นั่งร้านล้อมรอบไปหมด ถ้าจะดีจะต้องมาดูด้วยตาจึงจะเห็น 

(ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามภายในโบสถ์วัดสุวรรณดาราราม)

    แต่โชคดีที่ภายในโบสถ์ยังเข้าไปได้ เลยได้เห็นความอลังการของภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ขอบอกว่าสวยมาก เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่ร.1 โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมช่างสมัยอยุธยามาเขียนผนังด้านข้างทั้งสอง ซึ่งถ้าเข้าไปดูก็จะเห็นภาพจิตรกรรมเต็มทั้งผนังโบสถ์ ส่วนลวดลายเท่าที่สังเกต น่าจะมีลายเทพชุมนุม ทศชาติชาดก แต่คาดว่าผ่านกาลเวลามานานแบบนี้น่าจะมีการบูรณะมาแล้วบ้างเป็นครั้งคราว  
    ส่วนผนังด้านหน้าพระประธานเป็นภาพมารวิชัยและพระแม่ธรณีบีบมวยผม และด้านหลังพระประธานเป็นภาพนรกสวรรค์ ส่วนพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีลักษณะงดงามซึ่ง ร. 1 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขยายส่วนจากพระแก้วมรกตให้ประชาชนมากราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วก็ประตูของโบสถ์มีทางเข้าสองทางต่างจากโบสถ์ทั่วไปที่มีทางเดียว เป็นศิลปะสมัยนั้น ซึ่งเราก็พยายามเก็บรูปมาให้ได้ แม้ภายในโบสถ์จะมืด
    เราใช้เวลาที่อยุธยาพอประมาณ แวะบ้างบางจุด จนกระทั่งเดินทางมาสู่เมืองอุทัยฯ หมู่บ้านสะแกกรังใช้ระยะเวลาเดินทางก็ราวๆ 2-3 ชม. เริ่มต้นทริปที่บ้านสะแกกรังด้วยการนั่งเรือชมวิถีชีวิตของคนที่นี่บนแม่น้ำสะแกกรัง โดยขึ้นที่ท่าเรือริเวอร์ครุยส์ อยู่เยื้องๆ กับศาลากลางจังหวัด ท่าเรือนี้มีเรือหลายลำไว้บริการนักท่องเที่ยว บนเรือมีผลไม้นานาชนิดจากสวนบ้านไร่เกษตรกรของที่นี่ไว้ต้อนรับ

(ขึ้นเรือล่องชมแม่น้ำสะแกกรัง)

    ขณะล่องเรือได้ฟังเรื่องเล่าต่างๆ เกี่ยวกับลุ่มน้ำสะแกกรัง ตั้งแต่ที่มาของชื่อหมู่บ้าน ชาวบ้านทำอะไรบ้าง แต่ข้อมูลสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ ที่นี่คือบ้านเกิดของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ที่เป็นเหตุผลให้เราอยากมาเที่ยวที่นี่
    เจ้าหน้าที่ของท่าเรือเล่าให้ฟังว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ สมัยกรุงศรีอยุธยา พระยาราชนิกูล หรือนายทองคำ ได้ย้ายมาอยู่บ้านสะแกกรัง จนมีลูกชายคือนายทองดี ซึ่งก็คือสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระราชบิดาของ ร.1 นี่เอง และที่นี่เป็นบ้านเกิดของพระองค์ ชาวบ้านที่นี่เลยพร้อมใจกันสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงคอยดูแลพัฒนาอุทัยฯ จนเป็นที่รู้จัก
    ที่สำคัญ เมืองอุทัยฯ ยังเคยเป็นที่ขนย้ายช้างในสงคราม โดยนำช้างป่าไปยังกรุงศรีอยุธยาด้วย เพราะว่าแม่น้ำสะแกกรังเป็นส่วนหนึ่งที่ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมในสมัยนั้น ขณะที่ฟังเรื่องราวต่างๆ เราสังเกตเห็นเรือนแพหลายหลังตั้งอยู่ตามริมน้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าคือแพของชาวประมง เมื่อก่อนมีแพมากกว่า 300 หลังอยู่เต็มแม่น้ำ แต่ละหลังมีหนังสือโฉนดจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันก็ลดไปเยอะแล้ว ถ้าสังเกตดีๆ รูปทรงของแพเป็นเอกลักษณ์ของบ้านไทยภาคกลางมาแต่โบราณ มีหลังคาต่างกัน 2 แบบ คือ หลังคาทรงจั่วและหลังคาทรงปั้นหยา แต่แพที่นี่มีแบบสมัยใหม่ด้วย ลักษณะก็เหมือนบ้านคนในปัจจุบันที่ตั้งอยู่บนน้ำ มีหลังคา สีสันของบ้านต่างจากแพอื่นๆ

(ช็อปสินค้าประมงพื้นบ้านที่แพชุมชน)

    เราเพลิดเพลินกับแพสองข้างทางเพราะมีสีสันรูปลักษณ์ต่างกัน จนกระทั่งเรือมาจอดอยู่ที่หน้าแพหลังหนึ่ง มีคุณป้า 2-3 คนกำลังขายอาหารที่ได้จากการทำประมงน้ำจืด มีทั้งปลาสลิดตากแห้ง ปลาส้ม ปลาย่างเสียบไม้ แล้วก็น้ำพริก มะม่วงกวน ฯลฯ ทั้งสีทั้งกลิ่นเรียกน้ำลายมาก บางคนได้ชิมปลาย่างจิ้มน้ำพริกของคุณป้าถึงกับบอกว่าถ้ามีข้าวเหนียวคงได้กินจนอิ่ม
    หลังจากล่องเรือเสร็จ เราขึ้นฝั่งเดินทางไปต่อที่ยอดเขาสะแกกรัง ไม่ไกลจากท่าเรือเท่าไหร่ ด้านบนเขาเป็นลานกว้าง รถบัสจอดได้สบาย บนนั้นมีต้นโพธิ์ แล้วก็ต้นไทรอยู่เคียงข้างกัน มาทราบทีหลังว่าต้นโพธิ์เป็นต้นที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปลูกไว้  ส่วนต้นไทร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงปลูกเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีเปิดพระวิสูตรพระบรมรูปฯ ซึ่งถัดไปด้านในเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก รูปหล่อขนาดสองเท่าขององค์จริง ประทับในพลับพลาจตุรมุข พระหัตถ์ซ้ายถือดาบประจำตำแหน่งเจ้าพระยาจักรีทั้งฝักวางบนพระเพลาซ้าย ส่วนพระหัตถ์ขวาทรงวางบนพระเพลาขวา ด้านขวามือมีพานวางพระมาลาเส้าสูง ไม่มียี่ก่า หรือขนนก สวมพระบาทด้วยรองเท้าแตะไม่หุ้มส้น ซึ่งออกแบบโดยกรมศิลปากร อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้แหละว่า คนอุทัยฯ ขอให้สร้างขึ้นเพื่อแสดงความจงรักภักดี และถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ พระคู่บ้านคู่เมืองของอุทัยฯ ในทุกๆ ปีก็จะมีพิธีถวายราชสักการะพระบรมรูปฯ นักท่องเที่ยวที่มาต้องไม่พลาดมาสักการะ บริเวณใกล้กันยังมีวัดสังกัสรัตนคีรี สำหรับใครที่อยากทำบุญไหว้พระด้วย
    บรรยากาศบนเขาสะแกกรังถ้ามาตอนเย็นอากาศจะสบายหน่อย มองเห็นวิวทิวทัศน์ของตัวเมืองอุทัยฯ ได้ชัด ถ้าอยู่ในช่วงใกล้มืดตอนที่ท้องฟ้าเปลี่ยนสีจะได้เห็นแสงไฟจากถนน บ้านเรือน ค่อยๆ สว่างระยิบระยับตามไปด้วย

(วัดพิชัยปุรณาราม วัดเก่าแก่ของอุทัยฯ ที่ประดิษฐานพระพุทธชัยสิทธิ์)

    อีกหนึ่งโบราณสถานที่สำคัญของอุทัยฯ ที่บ้านสะแกกรัง คือ วัดพิชัยปุรณาราม หรือชื่อเก่าคือ วัดกร่าง ตั้งอยู่ที่ ถ.ศรีอุทัย ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสะแกกรัง เราไปวัดนี้ในวันถัดมา เพราะเห็นว่าเป็นวัดที่เคยเป็นสถานที่ให้การศึกษาแก่ลูกหลานชาวบ้านสะแกกรังมาก่อน ในวัดมีวิหารเก่าสร้างในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา เท่าที่อ่านประวัติมาเขาบอกว่าวัดแห่งนี้มีมาก่อนสมัยอยุธยาอีก น่าจะราวๆ 600 ปีมาแล้ว ความโดดเด่นของวัด เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอู่ทองเพียง 1 ใน 4 แห่งของประเทศไทย นอกจากที่นี่ก็มีโบสถ์พระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก โบสถ์วัดจอมคีรีนาคพรต จ.นครสวรรค์ และวิหารวัดไลย์ จ.ลพบุรี ใครที่มาก็จะต้องไปไหว้พระพุทธชัยสิทธิ์ หรือหลวงพ่อชัยสิทธิ์ เขาบอกว่าเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีซุ้มเรือนแก้วประดับรอบองค์คล้ายกับพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก และพระประธานในโบสถ์วัดไลย์ จ.ลพบุรี ซึ่งจะมีความต่างความคล้ายอย่างไรขึ้นอยู่กับการมองของคน ใครที่เคยไปไหว้พระพุทธชินราช หรือประธานโบสถ์วัดไลย์ น่าจะดูออกว่าต่างหรือคล้ายยังไง

(ร้านขายยาจีนโบราณที่มีเอกลักษณ์แถวตรอกโรงยา)


    และสถานที่สุดท้ายที่บ้านสะแกกรัง เราไปที่ตรอกโรงยา ชุมชนเก่าแก่ของชาวตลาดอุทัย บริเวณนี้คือบ้านเรือนเก่าแก่ น่าจะมีอายุเกือบร้อยปีหรือมากกว่านั้น ที่นี่มีร้านขายยาจีนโบราณอยู่หลายร้านสมกับชื่อตรอกโรงยา แต่ในอดีตเคยมีโรงฝิ่นตั้งอยู่เลยชื่อว่าตรอกโรงยา ตอนนี้ถ้าใครมาขอบอกเลยว่าคลาสสิกมาก อย่างร้านกาแฟก็มีร้านโบราณที่ในเมืองแทบไม่มีให้เห็น ขายแค่แก้วละ 15 บาทเอง รสชาติเทียบเท่ากับร้านกาแฟดังๆ  พี่คนหนึ่งในทริปบอกว่าถ้าจะให้ดีต้องทานคู่กับขนมปังสังขยาที่ออกจากเตาร้อนๆ เพราะขนมปังสังขยาที่นี่ดังมาก อร่อยมาก แอบเสียดายไม่ได้เจอ ส่วนวันธรรมดาตอนกลางวันจะเงียบหน่อย แต่ตอนเย็นวันเสาร์ตั้งแต่ 4 โมงเย็นถึง 3 ทุ่มจะคึกคักเป็นพิเศษ แล้วถ้าเห็นตรงไหนขายผลไม้อย่าลืมอุดหนุนด้วย โดยเฉพาะสับปะรดที่ราคาถูกมาก บางลูกแค่ 1 บาทเอง อาจเป็นเพราะช่วงนี้ราคาสับปะรดตกต่ำ เรากินสับปะรดตามรถเข็นถุงหนึ่งตั้ง 20 บาท แต่นี่ราคาแค่นี้ก็ถือว่าคุ้มค่าและช่วยเหลือเกษตรกรด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"