‘ป้อม’ลั่นนํ้าไม่ท่วมกรุง


เพิ่มเพื่อน    

"บิ๊กตู่" เตรียมลง จ.นครศรีธรรมราช 7 ต.ค. ติดตามความพร้อมบริหารจัดการน้ำ 14 ส.ส.ภาคใต้รอต้อนรับ "รองนายกฯ-รมต." รับลูกนายกฯ ลงพื้นที่ช่วย ปชช.ประสบอุทกภัยคึกคัก "ประวิตร" ติดตามระดับน้ำเจ้าพระยา มั่นใจน้ำท่วมไม่ถึงกรุงเทพฯ กำชับ จนท.ระดมเครื่องสูบน้ำเตรียมระบาย 24 ชม. "กอนช." ย้ำ 9 จว.น้ำขึ้นสูงต้องระวัง ชุมนุมริมน้ำ กทม.เสริมกระสอบทราย
    เมื่อวันที่ 1 ต.ค. มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เตรียมลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ โดยเบื้องต้นจะลงไปดูการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่บริเวณถนนพุทธภูมิ อ.เมืองนครศรีธรรมราช จากนั้นไปติดตามงานศูนย์ดิจิทัลชุมชน ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่โรงเรียนมะม่วงสองต้น ต.มะม่วงสองต้น อ.เมืองนครศรีธรรมราช และไปดูการระบายน้ำที่คลองคูพาย ต.ในเมือง อ.เมืองนครศรีธรรมราช 
    ทั้งนี้ จ.นครศรีธรรมราช เดิมนายกฯ มีกำหนดการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 30 ก.ย. แต่ได้เลื่อนออกไป เนื่องจากนายกฯ ต้องการลงพื้นที่ที่รับผลกระทบหนักก่อน โดยเฉพาะจังหวัดในภาคกลาง ทั้งนี้ การลงพื้นที่ดังกล่าวจะมี ส.ส.ภาคใต้พรรคพลังประชารัฐทั้ง 14 คนไปต้อนรับด้วย 
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีสั่งการให้คณะรัฐมนตรีหาช่วงเวลาที่เหมาะสมหมุนเวียนกันลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่ว่า วันที่ 1 ต.ค. พล.อ.ประวิตรได้ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง จ.นครราชสีมาแล้ว ส่วนวันที่ 2 ต.ค.นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะไปอำเภอสรรพยา จ.ชัยนาท รวมทั้งนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไป อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และวันที่ 3 ต.ค. ลงเรือเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง และเดินทางไปจ.สิงห์บุรี
    นอกจากนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ก็ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัด นครสวรรค์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ไปเมื่อ 30 ก.ย.-2 ต.ค. ส่วนวันที่ 3 ต.ค. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ลงพื้นที่ จ.ลพบุรี และวันที่ 5 ต.ค. หลังการประชุม ครม.จะเดินทางไปตรวจราชการ จ.นครปฐม และวันที่ 8 ต.ค.นี้จะลงพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำภาคกลาง
    "นายกฯ กำชับส่วนราชการระดับพื้นที่ทุกจังหวัด ในการเตรียมรับนายกฯ หรือคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ รวมถึงระหว่างการปฏิบัติภารกิจในแต่ละครั้ง ต้องไม่เป็นอุปสรรคหรือรบกวนการดำเนินชีวิตตามปกติของประชาชน เพราะต้องการเข้าถึงประชาชน ต้องการเห็นชีวิตความเป็นอยู่การทำกิน การประกอบอาชีพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด" นายธนกรกล่าว     ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงกรณีกรุงเทพมหานครแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมยกของขึ้นที่สูง เนื่องจากระดับน้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้นอีก 20 เซนติเมตร ว่าเราคาดว่าน้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ แต่ก็ถือว่าทำเต็มที่ จากการลงพื้นที่ไปดูสถานการณ์น้ำ 2,700-2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำเตรียมระบายน้ำตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ กทม.น้ำท่วม ยืนยันทำทุกอย่างอยู่แล้ว    
    ต่อมา พล.อ.ประวิตรลงตรวจสถานการณ์น้ำท่วมโดยรอบพื้นที่ จ.นครราชสีมาและลุ่มน้ำลำเชียงไกร พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัย 
    พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำโดยเร่งด่วน และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น เพื่อให้พื้นที่ที่ประสบภัยกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมจำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.โนนสูง อ.โชคชัย และ อ.ด่านขุนทด และ อ.เมืองฯ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ ทำให้มีฝนตกหนักครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดมวลน้ำไหลเข้าในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบนและมวลน้ำดังกล่าวได้ไหลต่อเข้ามายังอ่างลำเชียงไกรตอนล่าง
    "การบริหารจัดการน้ำตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้วต้องให้เสร็จตามแผนงานเพื่อการแก้ปัญหาน้ำในภาพรวมได้อย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมชลประทานวางแผนซ่อมแซมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว" รองนายกฯ กล่าว
    ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการจับกุมผู้มาชุมนุมต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ที่ลงพื้นที่ จ.นนทบุรีเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องหา 2 คน ที่มีการกระทำผิดซึ่งหน้า ในลักษณะเข้าไปแสดงกิริยากระด้างกระเดื่อง ซึ่งการเดินทางลงพื้นที่ของนายกฯ เป็นการลงพื้นที่ปฏิบัติตามราชการปกติ ดังนั้นในส่วนของตำรวจจะดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ 
    วันเดียวกัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานว่า อิทธิพลพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ซึ่งเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.64 ถึงปัจจุบัน ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วม 18 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี  อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา 
    "ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันบางพื้นที่เริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ขณะที่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีระดับน้ำเพิ่มขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสาน แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมรับมือแล้ว" ปภ.ระบุ
    ขณะที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินจะมีปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไหลลงเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มในอัตรา 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงสั่งกรมชลประทานบริหารจัดการ และตัดยอดน้ำเข้าคลองชลประทานและพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้วันนี้ (1 ต.ค.) จะมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำเข้าอ่างเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องระบายน้ำออก 104.276 ล้านลูกบาศก์เมตร  เพราะน้ำเกินความจุอ่างไปถึง 107% ส่งผลให้น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มสูงขึ้นไปจาก เดิม 2.40 เมตร ส่วนท้ายเขื่อนพระรามหกที่รับน้ำต่อจากเขื่อนป่าสักฯ ปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นสูงสุด 2.80 เมตร จึงย้ำเตือน 9 จังหวัดภาคกลาง เกาะติดสถานการณ์น้ำตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 5 ตุลาคม เพราะพื้นที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมสูง 9 จังหวัดที่ย้ำเตือน คือ ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, ลพบุรี,  พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, นนทบุรี, ปทุมธานี และกรุงเทพฯ 
    ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจชาวชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจ เขตดุสิต กรุงเทพฯ พบว่าหลายครอบครัวต่างขนย้ายสิ่งของไว้บนชั้น 2 ของตัวบ้าน หลังระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงใต้สะพานกรุงธนเริ่มเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกันเจ้าหน้าที่เขตดุสิต ก็ลงพื้นที่ติดตามระดับน้ำตลอดแนวริมฝั่งเจ้าพระยา พร้อมเตรียมกระสอบทรายและสร้างสะพานไม้ให้คนในชุมชนใช้สัญจร หากระดับน้ำเพิ่มสูง
    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1-5 ต.ค. กทม.ได้แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 11 ชุมชน 239 ครัวเรือนในพื้นที่ 7 เขต โดยให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ในเขตดุสิต ชุมชนซอยสี คาม ชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจ ชุมชนปลายซอยบิตตาคาม เขตพระนคร ชุมชนท่าวัง เขตสัมพันธวงศ์ ชุมชนวัดปทุมคงคา ชุมชนตลาดน้อย เขตบางคอแหลม ชุมชนหลัง รพ.เจริญกรุงประชารักษ์  ชุมชนวัดบางโคล่นอก เขตยานนาวา ชุมชนโรงสี ขตบางกอกน้อย ชุมชนดุสิต นิมิตรใหม่ เขตคลองสาน ชุมชนเจริญนคร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"