สิงคโปร์ต้องกลับมา “กระชับ” มาตรการสู้โควิด-19 อีกรอบ เมื่อคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทะลุ 2,000 รายต่อวัน
มาตรการใหม่เน้นที่จะไม่ให้ระบบสาธารณสุขต้องรับภาระการรักษาผู้ป่วยเกินกว่าที่จะรับได้
เป็นความกังวลใหม่ที่ประเทศนี้เพิ่งยอมรับว่ากลายเป็นปัญหาที่คาดไม่ถึงเช่นกัน
เพราะสิงคโปร์เคยประกาศอย่างมั่นใจว่า สามารถฉีดวัคซีนครบโดสให้ประชากรของตนเกิน 80% แล้ว
เขาอ้างว่าเป็นประเทศที่สามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนในสัดส่วนสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก
แต่ผ่านมาไม่กี่สัปดาห์ก็ต้องยอมรับกับประชาชนของตนว่า สายพันธุ์เดลตาทำให้ทุกอย่างผิดจากที่คาดหมาย ต้องมาตั้งหลักกันใหม่อีกครั้ง
รัฐมนตรีสาธารณสุขของเขา Ong Ye Kung เปิดใจกับประชาชนว่า
“ถ้าเราอยู่ร่วมกับโควิดได้ เราต้องมีภูมิต้านทานในประชาชนมากพอ ขณะเดียวกันก็จะไม่ให้การแพร่ระบาดบานปลายถึงจุดที่ระบบสาธารณสุขของเรารับไม่ไหว...”
วันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เพราะมีความมั่นใจว่าได้ฉีดวัคซีนมากพอที่จะใช้นโยบาย “อยู่ร่วมกับโควิด” ได้
สิงคโปร์เปิดให้ประชาชนเคลื่อนไหวไปมาอย่างเกือบปกติ ถึงขั้นที่ตั้งความหวังว่าจะสามารถมีกิจกรรม “เคาต์ดาวน์ปีใหม่” ในปลายปีนี้ได้ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความปกติให้เศรษฐกิจฟื้นคืนกลับมา
แต่ที่ไหนได้ จากตัวเลขคนติดเชื้อต่ำกว่าวันละ 100 ตอนนั้นวันนี้กลับพุ่งไปที่ 2,263 ราย เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา
ทำให้ต้องทบทวนมาตรการทั้งหมดอย่างเร่งด่วนฉับพลัน
เป็นที่มาของมาตรการเข้มข้นต่างๆ ที่บังคับใช้ระหว่าง 27 กันยายนถึง 7 ตุลาคม นั่งกินอาหารในร้านได้ ลดจาก 5 คนเหลือ 2 คนต่อโต๊ะ ไม่มีข้อยกเว้นแม้ว่าจะฉีดวัคซีนครบโดสแล้วหรือไม่ และไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารข้างถนนหรือร้านกาแฟหรือร้านอาหารทั้งสิ้นทั้งปวง
การพบปะของผู้คนในที่สังคม...ลดจากกลุ่มจะ 5 เหลือ 2 คน ผู้สูงวัยขอให้อยู่บ้านตลอด ผู้มาเยือนที่บ้านให้มาได้ไม่เกิน 2 คนต่อครัวเรือนต่อวัน
การทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home ถือเป็นนโยบายพื้นฐานที่ทุกธุรกิจจะต้องทำให้ได้มากที่สุด
การเรียนหนังสือสำหรับนักเรียนมัธยมให้ทำที่บ้านหรือที่เรียกว่า Home-based learning
การเรียนพิเศษสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ให้ทำออนไลน์
กิจกรรมสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนให้เปิดได้ แต่ขอให้พ่อแม่พยายามให้เด็กอยู่บ้านมากที่สุด
ตั้งแต่ 1 ตุลาคมเป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอแผนที่เพื่อแสดงจุดที่มีคนติดเชื้อเป็นจำนวนมากให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้ในเว็บไซต์
และจาก 4 ตุลาคมเป็นต้นไป ประชาชนวัย 50-59 ปี จะได้รับเชิญให้ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหากได้ครบโดสแล้วอย่างน้อย 6 เดือน
กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์บอกประชาชนว่า แนวทางของการสู้โควิดครั้งใหม่นี้จะมี 4 ขั้นตอน
เริ่มด้วย “ระยะเตรียมการ” ซึ่งรัฐบาลกำลังประกาศใช้อยู่ขณะนี้
นั่นคือการระดมสรรพกำลังเพื่อลุกขึ้นสู้กับโควิดอีกรอบหนึ่งอย่างขึงขังจริงจัง
“แต่กระนั้นก็เถอะ เจ้าสายพันธุ์เดลตาไม่ได้เดินตามสิ่งที่เราต้องการเสมอไป เพราะมันได้แพร่กระจายในชุมชน และมันได้เพิ่มจำนวนคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่เราคาดเอาไว้มาก...” รัฐมนตรีสาธารณสุขบอก
“เราจึงต้องร่วมกันขี่คลื่นนี้ไปด้วยกันอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้...”
การเปลี่ยนกติกาการควบคุมโควิดจะเป็นการซื้อเวลาให้รัฐบาลเร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ประชาชน
เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐและยุโรปแล้ว ตัวเลขคนติดเชื้อของสิงคโปร์อาจจะยังน้อยกว่า
แต่ประเทศเหล่านั้นก็ต้องจ่ายมันด้วยราคาที่แพงกว่า เพราะคนเสียชีวิตสูงกว่ามาก
“เรากำลังพยายามกดตัวเลขคนเสียชีวิตให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้”
สัปดาห์ก่อน ตัวเลขคนรักษาในโรงพยาบาลของสิงคโปร์อยู่ที่ 1,092 ราย ในจำนวนนี้ที่ต้องการเครื่องช่วยหายใจอยู่ที่ 162 ราย และ 23 รายที่อยู่ในห้องไอซียู
จำนวนผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตก็ขยับขึ้นพร้อมกับจำนวนติดเชื้อที่สูงขึ้น
แต่ในอัตราที่ต่ำกว่าเดิม...เพราะมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนกันอย่างเต็มที่
ตัวเลขยืนยันว่าคนที่ไม่ฉีดวัคซีนนั้นมีโอกาสมีอาการหนัก หรือเสียชีวิตมากกว่าคนฉีดวัคซีนถึง 12 เท่า
จึงขอให้ผู้สูงวัยทุกคนเร่งฉีดวัคซีนเสีย แม้ว่าจะไม่ค่อยออกจากบ้านก็ตาม
เหตุเพราะแม้เขาเหล่านี้จะไม่ออกไปหาเชื้อ แต่เชื้อก็มาหาได้จากคนในครอบครัวแม้คนเหล่านี้จะไม่แสดงอาการติดเชื้อตอนที่อยู่ใกล้ชิดกับคนสูงอายุก็ตาม
เมื่อไทยเราเห็นตัวอย่างของสิงคโปร์แล้วก็คงจะรู้ว่าไม่มีสถานการณ์ใดที่จะวางใจได้เลยแม้แต่น้อย
เพราะไม่ว่าจะเรียกมันว่า “ขาขึ้น” หรือ “ทรงตัว” หรือ “ขาลง” มันก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างฉับพลันเสมอ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |