1 ต.ค. 64-พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงภัยมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น หรือ แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ SMS ไลน์ เฟซบุ๊ก สร้างความเสียหายซ้ำเติมความเดือดร้อนประชาชนห้วงการแพร่ระบาดโควิด-19
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พี่น้องประชาชนมีความจำเป็นปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำกิจกรรมหรือธุรกรรมต่างๆ โดยหันมาทำผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์หรือแอพพลิเคชั่นมากขึ้น แต่ก็มีเหล่ามิจฉาชีพได้อาศัยช่องว่างดังกล่าว ในการหาผลประโยชน์โดยทุจริต หลอกลวง ด้วยการโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะต่างๆ ส่ง SMS ไลน์ เฟซบุ๊ก ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือการชักชวนให้มาลงทุนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมักจะมีข้อเสนอในลักษณะที่ให้ผลตอบแทนสูง ง่าย ไม่ซับซ้อน ทำให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อ โหลดแอพพลิเคชั่นมาใช้ พร้อมยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพสามารถนำข้อมูลไปสร้างความเสียหายและอาจส่งผลให้เกิดอาชญากรรมอื่นตามมาได้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชนเกี่ยวภัยการจากการหลอกลวงของมิจฉาชีพในลักษณะดังกล่าว ซึ่งประชาชนอาจตกเป็นเหยื่อและเป็นการสร้างความเสียหายซ้ำเติมความเดือดร้อนห้วงการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรการและดำเนินการป้องกันปราบปรามตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างจริงจัง
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลโดยสั่งการและกำชับไปยังหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องทุกพื้นที่ ให้ทำการสืบสวนสอบสวน ปราบปราม กลุ่มมิจฉาชีพ สืบสวนขยายผลถึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเด็ดขาดจริงจังต่อเนื่อง และมีผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
การกระทำลักษณะดังกล่าวนอกจากจะเป็นการซ้ำเติมพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนกันอยู่แล้วและยังเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในท้องที่ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงเตรียมหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานการโอนเงิน บันทึกการสนทนา รายการเดินบัญชีธนาคาร เป็นต้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดี
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ในห้วงเดือน มิ.ย.63 - ก.ย.64 ที่ผ่านมา ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ศปน.ตร.) ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการก่อเหตุหลอกลวงการกู้เงินออนไลน์ จำนวน 1,300 กว่าครั้ง ซึ่งสถิติมีแนวโน้มสูงขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการปราบปรามจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายและการสร้างการรับรู้ในช่องทางต่างๆมากขึ้นก็ตาม
จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน ถึงแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงผ่านแพลตฟอร์มหรือแอพพลิเคชั่นออนไลน์ SMS ไลน์ เฟซบุ๊ก โดยต้องตรวจสอบข้อมูลของผู้ให้กู้และรายละเอียดการกู้ให้ดีเสียก่อน ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว หรือเลือกผู้ให้บริการสินเชื่อที่เป็นสถาบันทางการเงินที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ส่วนเรื่องการลงทุนในต่างๆ ก็ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือ หลีกเลี่ยงการลงทุนที่มีข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นไปได้หรือมีเงื่อนไขในลักษณะที่ได้ผลตอบแทนสูง ง่าย ไม่ซับซ้อน นอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |