ขยายเพดานหนี้รองรับฉุกเฉิน


เพิ่มเพื่อน    

“อาคม” ยันขยายเพดานหนี้เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังประเมินโควิดยังไม่จบ ชี้ประเทศยังจำเป็นต้องใช้เงินฟื้นฟู เยียวยาประชาชน และเศรษฐกิจ พร้อมชงมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมหนุนใช้จ่ายปลายปี 64-ต้นปี 65 จ่อขยายฐานภาษีเพิ่มรายได้  
    เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีการขยายเพดานหนี้สาธารณะของประเทศไทย เพิ่มเป็น 70% ต่อจีดีพี จากเดิมที่ 60% ต่อจีดีพี ว่าปี 2563-2564 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก เงินงบประมาณที่มีอยู่ไม่เพียงพอเพื่อใช้ดูแลช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูประชาชน และเศรษฐกิจ รวมถึงการจัดซื้อวัคซีนไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องกู้เงิน จึงเป็นที่มาของการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน 2 ปี รวมกันที่ 1.5 ล้านล้านบาท และมีการประเมินว่าการกู้เงินดังกล่าวจะทำให้ยอดหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องขยับเพดานหนี้เพื่อรองรับเรื่องดังกล่าว
    โดยมีการประเมินว่า ณ สิ้น ก.ย. 2564 สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทยจะอยู่ที่ 58.96% ขณะที่สิ้น ก.ย. 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทยจะอยู่ที่ 62.69% ซึ่งยังอยู่ภายใต้เพดานหนี้สาธารณะที่มีการปรับเพิ่มขึ้น โดยเพดานหนี้สาธารณะของไทยที่ปรับเพิ่มขึ้น ก็ยังต่ำกว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น มาเลเซีย ที่ปัจจุบันเพดานหนี้สาธารณะอยู่ที่ 78% ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย และการกู้เงินของรัฐบาลไม่เพียงใช้เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเท่านั้น ยังมีการกู้เงินเพื่อนำมาลงทุน ซึ่งจะช่วยต่อยอดและพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาวอีกด้วย
    “การขยายเพดานหนี้ก็เพื่อรองรับการกู้เงินเพิ่ม เป็นการเตรียมพร้อมกรณีที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อแก้วิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากมองว่าสถานการณ์ข้างหน้ายังไม่นิ่ง โควิด-19 ยังไม่จบ ระยะเวลาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ยังไม่แน่นอน อาจจะเป็น 1 หรือ 2 ปี จึงเป็นที่มาของความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างจีดีพีให้เพิ่มขึ้น และการขยายเพดานหนี้สาธารณะก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมาเคยมีทั้งการขยายเพิ่มและปรับลดเพดานหนี้สาธารณะมาแล้ว” 
    นายอาคมเผยว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำควบคู่ไปด้วย คือการขยายฐานภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีใหม่ๆ อาทิ ภาษีอีคอมเมิร์ซและภาษีอีเซอร์วิส ที่จัดเก็บจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีแพลตฟอร์มต่างประเทศลงทะเบียนแล้วกว่า 90 บริษัท ตรงนี้จะกลายเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของรัฐบาล ซึ่งกฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน ต.ค.2564 
    นอกจากนี้ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ กระทรวงการคลังจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งจะสืบเนื่องไปจนถึงเทศกาลปีใหม่ และตรุษจีน รวมถึงยังมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การรักษาอัตราการจ้างงานในภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือนายจ้าง โดยเฉพาะในภาคเอสเอ็มอีที่ขาดสภาพคล่องในการรักษาอัตราการจ้างงาน และเม็ดเงินที่จะลงไปยังภาคชนบทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
    “ต้องพยุงเศรษฐกิจโดยเฉพาะในไตรมาส 4/2564 และปีหน้าให้ยังสามารถขยายตัวต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายออกมาเพิ่มเติม ส่วนรายละเอียดอย่างให้รอก่อน ขณะที่โครงการที่ดำเนินการอยู่ เช่น ยิ่งใช้ยิ่งได้ ก็อาจจะขยายเวลาให้อีก โครงการที่หลายคนเรียกร้อง อย่างช้อปดีมีคืนหรือโครงการต่างๆ นั้น อยากให้รอดูอีกหน่อย" นายอาคมกล่าว
    ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การขยายเพดานหนี้สาธารณะอยู่ในกรอบที่จะดำเนินการได้ เพราะรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดช่องในการกู้เงินเพื่อรองรับสถานการณ์เร่งด่วน โดยการขยายเพดานหนี้ดังกล่าวไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะต้องกู้เต็มเพดาน แต่เป็นการเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น เนื่องจากมีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวไม่ถึง 1% ส่วนปีหน้าหากต้องการให้เศรษฐกิจโตถึง 5% นั่นหมายความว่าจะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นให้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น เหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่อยู่ในกรอบที่รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงิน และเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น สัดส่วนหนี้สาธารณะก็จะค่อยๆ ลดลง
    “ภาคธุรกิจมองว่าเศรษฐกิจหยุดชะงักหลายส่วน จากการปิดประเทศ ทำให้เงินหายหมด และเมื่อโควิด-19 ระลอก 4 มายิ่งทำให้คนทำมาหากินได้น้อยลง คนเดียวที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้ตอนนี้คือรัฐบาล การขยายเพดานเงินกู้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทุกรัฐบาลและทุกประเทศต้องทำ เพราะเศรษฐกิจขาดแรงกระตุ้น เรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนักวิชาการก็เห็นด้วย เพราะเศรษฐกิจแผ่ว รัฐก็จัดเก็บรายได้ไม่ได้ ก็เป็นปัญหา ยิ่งเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีต่อเนื่องจนถึงครึ่งแรกของปี 2565 ต้องการแรงกระตุ้นเพื่อรองรับการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ เมื่อรัฐบาลกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจนฟื้นตัว เงินรายได้ก็จะทยอยกลับมาในรูปของภาษี รัฐทยอยคืนหนี้ สัดส่วนหนี้ที่สูงก็จะปรับลดลง คลังก็จะค่อยๆ ถอย พวกนี้เป็นเรื่องของจังหวะทั้งสิ้น” 
    นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาคเอกชนอยากเห็น ได้แก่ การเพิ่มเงินในโครงการคนละครึ่ง และการปัดฝุ่นโครงการช้อปดีมีคืน รวมถึงการเดินหน้าโครงการที่จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ โดยภาคเอกชนมองว่าโครงการเหล่านี้กระจายความช่วยเหลือไปถึงทุกหย่อมหญ้า
    วันเดียวกันนี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2564 หัวข้อ “สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย” ว่าความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ปัจจุบันไทยยังมีส่วนนี้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่มีการกระจายความเสี่ยงที่เพียงพอ จากการพึ่งพาต่างประเทศที่สูงในแทบทุกมิติ ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยวและเทคโนโลยี รวมถึงการพึ่งพาแรงงานต่างชาติที่มากขึ้นเรื่อยๆ จากภาวะสังคมสูงวัย ทำให้เศรษฐกิจไทยหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและการเมืองโลกได้ยาก ขณะที่ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ก็ได้ซ้ำเติมความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทยด้วย โดยเฉพาะภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญสูงในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
    "สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่สูงและน่ากลัวในประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด-19 และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นจากการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบจากวิกฤตสาธารณสุขและวิกฤตเศรษฐกิจมากกว่า ขณะที่ความสามารถในการฟื้นตัวน้อยกว่ากลุ่มอื่นในสังคม ความเสี่ยงที่ความตึงเครียดทางสังคมจะคุกรุ่น จึงมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ครั้งที่ 4/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ 
    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลเน้นการรักษาการจ้างงานและมาตรการการจ้างงานใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน ทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม และยังไม่มีการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ต้องการเห็นคนไทยมีงานทำ โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมที่ทันสมัย เพื่อรักษาระดับการจ้างงานให้ธุรกิจเอกชนด้วย
    “อยากฝากให้ทุกส่วนราชการช่วยกันหาแนวทางใหม่ๆ ต้องไม่ใช้ประโยชน์จากมาตรการรัฐในรูปแบบเดิม เช่น การจ่ายเงิน การเยียวยา ทั้งนี้ ประชาชนต้องได้รับประโยชน์มากขึ้น มีการพัฒนา สามารถพึ่งพาตนเอง วันนี้นายกรัฐมนตรีต้องการพลิกโฉมประเทศไทยทุกมิติ หลายอย่างที่รัฐบาลดำเนินการวันนี้ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิม และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อาจจะไม่เห็นผลทันที แต่จะส่งผลระยะยาวเพื่อให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"