เปิดเผยสำรวจ 'คนไทยยุคดิจิทัล' ชี้โควิด ส่งผลรายได้ เงินออม และสุขภาพจิต ได้รับผลกระทบหนัก


เพิ่มเพื่อน    


Sea (Group) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ อาทิ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) เผยผลสำรวจคนไทยยุคดิจิทัล หรือ Thai Digital Generation 2021 “ฉายภาพอนาคตประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19” เจาะลึกอินไซต์ที่น่าสนใจจากคนไทยยุคดิจิทัล อายุ 16-60 ปี สะท้อนภาพความท้าทายและอุปสรรคที่คนไทยต้องเผชิญ พร้อมเผยโอกาสที่ไม่ควรพลาดในอนาคต รวมถึงกุญแจสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เพื่อช่วยเตรียมผู้ประกอบการและคนทั่วไปพร้อมปรับตัวและคว้าโอกาสสำคัญ ร่วมผลักดันประเทศไทยสู่อนาคตแห่งโลกยุคดิจิทัล โดยผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

30 ก.ย. 2564 นายสันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist, Sea (Group) กล่าวว่า “การรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือดังกล่าว Sea Insights หน่วยงานที่รับผิดชอบการวิจัยด้านนโยบายสาธารณะภายใต้ Sea (Group) จึงร่วมมือกับสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) นำเอาศักยภาพด้านความเข้าใจความต้องการและพฤติกรรมของผู้ใช้งานโดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 มาวิเคราะห์และจัดทำรายงานนี้ พร้อมขยายฐานผู้ตอบแบบสอบถามเพื่อครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย สะท้อนถึงผลกระทบของโควิด-19 ในกลุ่มคนแต่ละรุ่นต่างกัน ได้แก่ คนไทยยุคดิจิทัล อายุ 16-60 ปี ที่เคยใช้บริการดิจิทัล กว่า 80,000 คน จาก 6 ประเทศ ในภูมิภาคอาเซียน พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลคนยุคดิจิทัลในประเทศไทย 12,800 คน โดยเฉพาะอีกด้วย ในจำนวนนั้น เป็นเจ้าของธุรกิจ MSME ประมาณ 2,000 ราย”

ความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงจากโควิด-19

ผลสำรวจ Thai Digital Generation 2021 ไม่เพียงแต่สะท้อนอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ที่คนไทยได้ประสบระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ของกลุ่มคนต่างๆ หรือการเคลื่อนย้ายถ่ายเทแรงงานระหว่างอุตสาหกรรม

· รายได้ เงินออม และสุขภาพจิต ได้รับผลกระทบหนัก: จากผลสำรวจพบว่า 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีรายได้และเงินออมน้อยลง โดย 40% ระบุว่าลดลงอย่างรุนแรง ในขณะที่ 60% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าสุขภาพจิตแย่ลงในช่วงที่ไวรัสระบาด

· กลุ่มเปราะบางมีความสามารถในการปรับตัวสูง: แม้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก (MSME) ที่ทำงานในอุตสาหกรรมร้านอาหารและท่องเที่ยว และผู้หญิง จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักกว่ากลุ่มอื่นๆ ทั้งในด้านรายได้และปัญหาความเครียดอย่างรุนแรง ในกรณีของผู้หญิงอาจสะท้อนไปถึงการต้องแบกรับภาระการดูแลครอบครัวด้วยในเวลาเดียวกัน แต่ท่ามกลางความท้าทายนี้ 46% ของผู้ตอบแบบสอบถามได้ปรับตัวจนพบธุรกิจใหม่หรืองานใหม่ในช่วงโควิด-19 และกลุ่มผู้หญิงและผู้ประกอบการ MSME เป็นกลุ่มที่แสดงความสามารถในการฟื้นตัว (Resilience) ได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากการก่อตั้งธุรกิจใหม่ นอกจากนี้ 1 ใน 4 ของ MSME ยังช่วยให้เกิดการจ้างงานใหม่ในช่วงนี้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นกลุ่มที่แสดงความต้องการใช้เทคโนโลยีมากกว่ากลุ่มอื่น จึงอาจเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกด้วย ในขณะเดียวกัน ยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจจากผลสำรวจ ได้แก่ บุคคลที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่าจะได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจทางลบน้อยกว่า (คิดเป็น 60% ของผู้ที่สูญเสียรายได้) เมื่อเทียบกับผู้ใช้เทคโนโลยีในระดับต่ำ (คิดเป็น 72% ของผู้ที่สูญเสียรายได้)

· ความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม: ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่อุตสาหกรรมร้านอาหารและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบและมีการจ้างงานลดลง 24% ในทางกลับกัน ภาคการขนส่ง ภาคการเกษตร และภาคเทคโนโลยี-โทรคมนาคมมีอัตราการจ้างงานสูงขึ้น โดยภาคการเกษตรมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 26% จากแนวโน้มการอพยพคืนสู่ท้องถิ่นของแรงงานในเมืองจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในขณะที่การเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ ส่งผลให้ภาคเทคโนโลยีและโทรคมนาคมเติบโต 23% รวมถึงภาคการขนส่งที่ได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ส่งผลเติบโตถึง 29% ดังนั้นหากแรงงานได้รับการส่งเสริมทักษะดิจิทัล อาจช่วยให้สามารถคว้าโอกาสในตลาดแรงงานจากภาคธุรกิจที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะดังกล่าวได้

กุญแจฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย พร้อมก้าวสู่โลกดิจิทัล

ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต 62% ของคนไทยเผยความต้องการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้น และ 86% มองว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะในหมู่กลุ่มเปราะบาง เช่น MSME และผู้หญิง จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบแนวทางการขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคต ดังนี้

●      ต่อยอดการเงินดิจิทัล: การศึกษาชี้ให้เห็นว่าคนไทย 65% มีการใช้ดิจิทัลเพย์เมนต์  มากกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 51% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจสะท้อนถึงการผลักดันจากธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น นโยบายพร้อมเพย์ นอกจากนี้ อีเพย์เมนต์เป็นพื้นฐานสำคัญที่สามารถต่อยอดเทคโนโลยีการเงินด้านอื่นๆ เช่น สินเชื่อดิจิทัล ที่สามารถทำให้ผู้ที่ขาดหลักประกันเข้าถึงเงินทุนได้ โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ หรือ 53% ต้องการเห็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในบริการเหล่านี้มากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ MSME ที่อาจยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน มี 76% แสดงความต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำธุรกรรมทางการเงิน และ 66% ต้องการให้บริการสินเชื่อและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น

●   ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี (Digital Divide): เพื่อลดและป้องกันการเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี จำเป็นต้องแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทักษะดิจิทัล และประเด็นเรื่องความปลอดภัยในโลกออนไลน์ ซึ่งสะท้อนมาจากผลสำรวจที่พบว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับคนไทยที่เพิ่งเริ่มใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมักจะเกี่ยวข้องกับทักษะและความรู้เรื่องดิจิทัล (48%) รองลงมาคือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี (41%) และอุปกรณ์แพงหรือขาดอุปกรณ์ (38%) ในขณะที่ผู้ที่ใช้เทคโนโลยีบ่อยอยู่แล้วมีความกังวลเกี่ยวกับราคาที่สูงและคุณภาพที่ต่ำของอุปกรณ์ดิจิทัล (35%) ราคาที่สูงและคุณภาพที่ต่ำของอินเทอร์เน็ต (34%) และความปลอดภัยในโลกออนไลน์ (33%)

●      ใช้ดุมล้อแห่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalisation Flywheel Effects) ให้เป็นประโยชน์: รัฐและเอกชนอาจมีบทบาทสำคัญในการร่วมมือกันสร้างวงจรบวกในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับผู้ที่อาจยังไม่คุ้นเคยกับโลกออนไลน์ เช่น การพ่วงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจกับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มากขึ้น โดยรายงานนี้พบว่า 79% ของผู้ที่ได้มีโอกาสลองใช้เทคโนโลยีจนตระหนักถึงประโยชน์แล้ว อาจเกิดวงจรบวกที่ทำให้ยิ่งต้องการเรียนรู้เพื่อใช้เครื่องมือดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ในทางกลับกัน สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มใช้ดิจิทัลจะมีความต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นเพียง 28% เท่านั้น การพบอุปสรรคเพียงเล็กน้อยอาจทำให้การเรียนรู้ใช้เทคโนโลยีหยุดชะงักได้

●   พัฒนาดิจิทัลแอมบาสซาเดอร์: คนไทยจำนวนมากเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจากกันและกันในช่วงโควิดระบาด ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ควรสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดทักษะดิจิทัลซึ่งกันและกัน ทั้งในรุ่นเดียวกันและข้ามรุ่น โดยรายงานพบว่าบางครั้งดิจิทัลแอมบาสซาเดอร์หรือผู้ที่เป็นตัวแทนในการสอนการใช้งานดิจิทัลให้ผู้อื่น อาจไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เสมอไป  เพราะพบว่า กลุ่มคนอายุ 31-40 ปี (37%) และ 41-50 ปี (36%) ได้มีบทบาทในการถ่ายทอดทักษะการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลใหม่ๆ มากกว่ากลุ่มอื่น  อาจมีสาเหตุจากช่องว่างระหว่างวัยผู้เรียนและผู้สอนที่น้อย และกลุ่มนี้มีความเข้าใจทั้งโลกยุคอะนาล็อกและโลกดิจิทัล ทำให้สามารถอธิบายเข้าใจง่ายและการสื่อสารมีประสิทธิภาพมากกว่า

อนาคตโลกหลังโควิด-19 ในมุมมองของคนรุ่นดิจิทัล
ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามคนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าสถานการณ์โควิด-19 จะสิ้นสุดลงภายใน 2 ปี แต่ผู้ตอบแบบสอบถามอีกกว่า 40% มองว่าสถานการณ์นี้อาจคงอยู่ในระยะยาว และ 60% มองว่าโลกหลังสถานการณ์โควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งอาจส่งผลให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเล็งเห็นบทบาทของทักษะที่จะช่วยรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงยกให้ทักษะการใช้เทคโนโลยีเป็นทักษะที่สำคัญมากที่สุดในอนาคต ในขณะเดียวกัน คนไทยกังวลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งมากที่สุด (63%) ตามมาด้วยความกังวลต่อการเกิดโรคระบาดระลอกใหม่ (49%) นอกจากนี้ คนไทยยุคดิจิทัลยังมีมุมมองต่ออนาคตโลกหลังโควิด-19 ดังนี้

·        โอกาสสำคัญจากการคำนึงถึงสุขภาพกายและจิตใจ: คนไทยมองว่าการพัฒนาด้านสาธารณสุข (39%) และการที่สังคมให้ความสำคัญต่อเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น (32%) จะเป็นโอกาสสำคัญในโลกหลังโควิด-19 โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังเผยอินไซต์ที่ผู้ตอบแบบสอบถามอยากเห็นการพัฒนาของสังคมไทยไปสู่สังคมที่เห็นอกเห็นใจและเอาใจใส่กันมากขึ้น

·    ทักษะสำคัญแห่งอนาคตในมุมมองคนไทย: บทบาทของเทคโนโลยีที่ทวีความสำคัญอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ 36% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าทักษะดิจิทัลเป็นทักษะที่สำคัญที่สุด นอกจากนี้ 34% ของคนไทย ยังมองว่าความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวเป็นทักษะสำคัญ และ 32% มองว่าการมีวินัยในตัวเองก็มีความสำคัญมาก ทักษะเหล่านี้อาจสะท้อนถึงอุปสรรคที่ผู้คนต้องก้าวข้ามในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับ Mindset ผู้ประกอบการ ที่สามารถช่วยให้ทั้งผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปในฐานะที่เป็นแรงงานยุคดิจิทัล สามารถ ล้ม-ลุก ปรับตัว เรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ 27% ของคนไทยในแบบสำรวจมองว่า Global Mindset และภาษาเป็นทักษะสำคัญสำหรับอนาคต มากกว่าในประเทศอื่นๆ หากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ส่งเสริมรูปแบบการศึกษาหรือการทำงานที่เปิดโอกาสให้ได้สัมผัสประสบการณ์ต่างประเทศ และเปิดโลกทัศน์ใหม่เชื่อมโยงกับโลกมากขึ้น อาจส่งผลบวกต่อการพัฒนาทักษะที่มีความจำเป็นในอนาคตเหล่านี้ ในทางตรงกันข้าม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กลับไม่มั่นใจว่าตนมีความพร้อมในแต่ละทักษะที่ระบุว่ามีความสำคัญ โดยให้คะแนนความเชี่ยวชาญต่ำกว่า 50% เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะด้านภาษาที่คนไทยมีความมั่นใจน้อยที่สุด (17%) หากเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน (27%)

“ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและกะทันหันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเตรียมพร้อมตนเองด้วยทักษะและ Mindset ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคต เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถล้ม-ลุก ปรับตัว และเรียนรู้ ได้เร็วและดียิ่งขึ้น ส่งผลให้ฟื้นตัวและคว้าโอกาสใหม่ในโลกยุคดิจิทัลได้ก่อนใคร Sea (Group) หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รายงานผลสำรวจคนไทยยุคดิจิทัลของเราจะสามารถให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงนโยบายและกลยุทธ์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีบทบาทในการสนับสนุนผู้คนและผู้ประกอบการให้สามารถรับมือกับโลกยุคดิจิทัล พร้อมร่วมกันหาแนวทางก้าวข้ามวิกฤตนี้และเดินหน้าประเทศสู่โลกดิจิทัลโดยสมบูรณ์” ดร.สันติธาร กล่าวปิดท้าย
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"