"๘ ปี" เริ่มนับจากไหน?


เพิ่มเพื่อน    

ตอนนี้เถียงกันมันหยด....
    "ลุงตู่" ใกล้จะตกเก้าอี้แล้ว หรือว่ายังเป็นนายกฯ ได้อีกหลายปี  
    เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๘ บัญญัติว่า 
    "...นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง..."
    ถ้านับตั้งแต่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ถึงวันนี้นับรวมได้ ๗ ปี กับอีก ๓๗ วัน 
    ตัวเลขกลมๆ เหลือวาระอีก ๑ ปี 
    เดือนสิงหาคมปีหน้าจะครบวาระ ๘ ปี
    หากนับจากวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ ในวันที่ที่ประชุมรัฐสภาเลือกขึ้นมา ๒ ปี ๑๑๓ วัน ก็เหลือวาระอีกตั้ง ๕ ปีกว่า 
    ต่างกันมากทีเดียว 
    หรือจะนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ประกาศใช้กันแน่
    ฉะนั้นปัญหาในขณะนี้คือ แล้วจะนับวาระเริ่มแรกกันตรงไหน 
    คนที่ให้คำตอบนี้ได้ดีที่สุดน่าจะเป็น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดที่ "มีชัย ฤชุพันธุ์" เป็นประธาน
    และความชัดเจนจาก กรธ. เกิดขึ้นในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๙ จากการแถลงข่าวของ "อุดม รัฐอมฤต" โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
    "...กรธ.ได้ปรับแก้วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 
    จากเดิมให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน ๘ ปี เป็นให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน ๘ ปี ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ 
    เพื่อให้พรรคการเมืองพัฒนานักการเมืองของตัวเองให้ขึ้นมารับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้น และเชื่อว่าไม่เป็นการทำลายระบบการเมือง 
    และเมื่อครบ ๘ ปีแล้ว ไม่สามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก เพื่อป้องกันการผูกขาดทางการเมือง อย่างไรก็ตาม การคำนวณระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะใช้ไปข้างหน้า ไม่นำมาคิดย้อนหลัง สำหรับคนที่ดำรงตำแหน่งไปแล้ว..."
    นี่ถือเป็นเจตนารมณ์ของ กรธ.ใช่หรือไม่ 
    ถ้าใช่ก็จบข่าว!
    วาระเริ่มแรกในการนับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ เท่านั้น 
    แต่ก็ไม่ง่าย เพราะนี่คือประเด็นทางการเมือง 
    เป็นเรื่องของการอยู่ในอำนาจ 
    ฝ่ายที่ต้องการอำนาจ จะหาเหตุผลเพื่อกระชาก "ลุงตู่" ลงจากเก้าอี้่แน่นอน 
    ขณะนี้ฝ่ายค้านยังทำอะไรไม่ได้ เพราะปัญหาในข้อกฎหมายยังไม่เกิด จึงยังไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 
    แต่จะรอจนถึงเดือนสิงหาคมปีหน้า 
    และการเมืองจะร้อนแรงขึ้นมาอีกรอบ 
    ส่วนฝ่ายสนับสนุน "ลุงตู่" ก็ชัดเจน ต้องเริ่มนับจาก ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒
    ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ในตอนนี้คือ สืบค้นว่า เมื่อครั้งยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น กรธ.พูดอะไรเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอาไว้บ้าง 
    ทัศนะจาก "เจษฎ์ โทณะวณิก" อดีตที่ปรึกษา กรธ. บอกว่า
    "...ตอนยกร่างเนื้อหา กรธ. ไม่ได้พูดอย่างชัดเจน แต่เขียนความมุ่งหมายว่า ที่ระบุระยะเวลาการครองตำแหน่งนายกฯ เพื่อไม่ให้ผูกขาดอำนาจ 
    อย่างไรก็ดี เจตนารมณ์ของผู้ยกร่างหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเครื่องมือแสวงหาเจตนารมณ์ 
    และมีบ่อยครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญสอบถาม กรธ.ถึงความมุ่งหมาย แต่บางครั้งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เห็นด้วย ซึ่งไม่ใช่ความผิดปกติ เพราะรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมีความหมายในตัวเอง
    ผมมองว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากการปฏิวัติไม่ควรได้รับสิทธิพิเศษเหนือจากนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และกรณีดังกล่าวไม่ใช่การบังคับย้อนหลังที่หลายฝ่ายมองว่าไม่เป็นธรรม 
    เพราะหากมองแบบนั้น ตัวบทของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า เคยเป็น แสดงว่าบังคับย้อนหลังทั้งหมด และสิ่งสำคัญ 
    ควรมองความเชื่อมโยงของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ด้วย เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ปี ๒๕๕๗ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แม้จะถูกฉีก แต่ผมมองว่าความต่อเนื่องในหลักการต้องสืบต่อไป ซึ่งรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า ๘ ปีไม่ได้ 
    ส่วนปี ๒๕๖๐ กำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้ามเป็นเกิน ๘ ปี แม้จะเว้นวรรคหรือไม่ต้องนับรวมกัน...”
    ขณะที่ "อุดม รัฐอมฤต" ยังคงยืนยันเหมือนที่เคยแถลงข่าววันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๙  
    "...ไม่เกี่ยวกับการเป็นนายกฯ รักษาการ หรือเป็นนายกฯ ตาม คสช. จึงไม่สามารถตีความอย่างที่พูดถึงกันอยู่ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นคนที่เคยเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญอื่นก็ไม่เกี่ยว เขามีโอกาสมาเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญนี้ เช่น คุณชวน หลีกภัย คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แม้กระทั่งคุณทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นนายกฯ แล้ว ไม่ได้แปลว่าหมดสิทธิ์เป็น ซึ่งเราไม่ได้ไปกีดกั้นคนเหล่านี้...."
    ครับ...ยิ่งฟังก็ยิ่งเวียนหัว ขนาดคนทำงานใน กรธ.ยังพูดไม่เหมือนกัน 
    แต่หากโฟกัสไปที่คำถามที่ว่า ทำไมต้องห้ามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน ๘ ปี 
    ก็จะพบคำตอบว่า เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ 
    จะมีคำถามต่อมา ๗ ปีกว่าของ "ลุงตู่" ที่ผ่านมา และอาจต่อไปอีกกว่า ๕ ปี รวมแล้วก็ร่วมๆ ๑๒ ปี ถือว่าผูกขาดอำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ 
    นี่จะเป็นปัญหาในข้อกฎหมาย หากอธิบายกันไม่ชัดเจน จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองแน่นอน 
    ไม่เฉพาะไทยครับที่กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศ ๘ ปี หรือ ๒ สมัยติดต่อกัน 
    อเมริกา ปกครองด้วยระบบสหพันธรัฐ มีรัฐธรรมนูญที่เริ่มร่างมาตั้งแต่ ค.ศ.๑๗๘๗ ประกาศใช้อย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่ปีถัดมา 
    จอร์จ วอชิงตัน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ ค.ศ.๑๗๘๙-๑๗๙๗ 
    รวมทั้งสิ้น ๘ ปี หรือ ๒ สมัย 
    แต่ จอร์จ วอชิงตัน ปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ ๓ 
    แนวปฏิบัติของจอร์จ วอชิงตัน นี่เองได้กลายเป็นประเพณีทางการเมือง โดยไม่มีการระบุระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีไว้เลย 
    มาถึง แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์  หลังจากเป็นประธานาธิบดี ๒ สมัยติดต่อกันแล้ว ยังคงลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ ๓ 
    และชนะอย่างท่วมท้น 
    การแหกประเพณีทางการเมือง ชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่ ๓ ของรูสเวลต์ มีเหตุผลสำคัญรองรับอยู่เหมือนกัน นั่นคืออยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒  
    การเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศในช่วงดังกล่าวอาจไม่ใช่ความคิดที่ฉลาดนัก โดยเฉพาะกับสงครามที่กำลังขยายตัวไปทั่วโลก 
    ต่อมา ค.ศ.๑๙๔๔ รูสเวลต์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ๔ สมัยติดต่อกัน สร้างความหวาดกลัวให้กับพรรครีพับลิกัน  และฝ่ายอนุรักษนิยมในพรรคเดโมแครตว่าจะเกิดการสะสมอำนาจและอาจนำไปสู่ระบอบเผด็จการนิยม 
    รัฐสภาสหรัฐจึงได้ผลักดัน รัฐบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ ๒๒ (Amendment XXII) เมื่อ ค.ศ.๑๙๔๗ ห้ามประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งมีวาระดำรงตำแหน่งได้ ๒ สมัย 
    ฉะนั้นจะเห็นว่าตัวเลข ๘ ปีมีที่มาที่ไป  
    สำหรับประเทศไทย หากตีความอย่างเป็นสากล ๘ ปี ก็คือ ๘ ปี จะบอกว่าที่เป็นก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญไม่นับนั้นไม่ได้ 
    แต่...สิ่งสำคัญสุดคือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ 
    เป็นการบ้านฝากไปคิดกันครับ 
    จากคำแถลงของ "อุดม รัฐอมฤต" ถือว่าสำคัญมาก
    "...กรธ.ได้ปรับแก้วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี     จากเดิมให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน ๘ ปี เป็นให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน ๘ ปี ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่..." 
    แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ว่า เปลี่ยนไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ อย่างชัดเจน
    และเจตนารมณ์นั้นขยายไปถึงการคำนวณระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี "ไม่นำมาคิดย้อนหลัง สำหรับคนที่ดำรงตำแหน่งไปแล้ว"
    สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ชี้ขาด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"