จุดประเด็นระยะเวลา‘บิ๊กตู่’  ท่ามกลางสัมพันธ์‘3 ป.’เปราะบาง 


เพิ่มเพื่อน    

ประเด็นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้เคยมีการถกเถียงกันมาแล้วรอบหนึ่งว่า เนื้อหาในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้” นั้น จะเริ่มนับหนึ่งกันเมื่อไหร่ 
    ขณะนี้มีความเห็นจากนักการเมือง นักวิชาการ และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประมวลออกมา แบ่งเป็น 3 ชุดความคิด ชุดความคิดแรกคือ นับแบบยาวที่สุด โดยให้เริ่มนับปีที่หนึ่งภายหลังการเลือกตั้ง มิ.ย.62 ซึ่งชุดความคิดนี้มีอดีต กรธ. อย่างน้อย 2 คน ได้แก่ นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ให้ความคิดเห็นเอาไว้ 
    ชุดความคิดที่สอง นับแบบกลางๆ โดยให้เริ่มนับปีที่หนึ่ง เมื่อตอนรัฐธรรมนูญปี 60 เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย.60 และชุดความคิดที่สาม นับแบบสั้นที่สุด โดยให้เริ่มนับปีที่หนึ่ง ย้อนหลังไปถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรกเมื่อปี 57  ซึ่งกลุ่มที่ให้ความเห็นชุดความคิดนี้คือ นักการเมืองฝ่ายค้าน  
    ถึงกระนั้นก็ตาม แม้จะมีอดีต กรธ.ถึง 2 คน ระบุว่า ให้เริ่มนับหนึ่งในการเป็นนายกฯ ครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งดูมีน้ำหนักในฐานะผู้ยกร่าง แต่นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษา กรธ. ได้ออกเปิดเผยว่า ประเด็นนี้ไม่ได้มีการพูดคุยกันชัดเจนใน กรธ. นอกจากการระบุในรัฐธรรมนูญว่า การกำหนดอายุหรือระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกฯ เพื่อไม่ให้เป็นการผูกขาดเท่านั้น 
    ที่สำคัญ การแสดงความเห็นของอดีต กรธ. คือ เจตนารมณ์ของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ถือเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นแต่เพียงเครื่องมือในการแสวงหาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเท่านั้น 
    ในช่วงที่ผ่านมาเวลามีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความรัฐธรรมนูญ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะสอบถามเจตนารมณ์ของผู้ยกร่าง แต่ก็ไม่ได้ยึดตามแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะอ่านบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ดังนั้น ผลการตีความที่ออกมา มีทั้งยึดตาม กรธ. และไม่ได้ยึดตาม กรธ. 
     ความคลุมเครือดังกล่าว ทำให้หลายคนแนะนำให้มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อไขคำตอบสิ่งที่ทุกคนอยากรู้ แต่ไม่เคยได้คำตอบที่เป็นทางการ ผูกมัดทางกฎหมาย นอกจากความเห็นเท่านั้น 
     ขณะที่ท่าทีของ ‘บิ๊กตู่’ ดูจะไม่กังวลกับประเด็นดังกล่าว หลังให้นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ไปศึกษาดูว่านายกฯ ดำรงตำแหน่งมา 2 ครั้งด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใด  
    ความมั่นใจที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรู้มานานแล้วว่า ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของตัวเองมันจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน ประกอบกับหากดูความเห็นของ กรธ.ตั้งแต่เริ่มมีประเด็นในรอบแรกๆ จนมาถึงครั้งนี้ อย่างสั้นที่สุดที่จะกลับไปเริ่มนับก็คือ ปี 60 ที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้  
    อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจของประเด็นนี้ ไม่ได้อยู่ที่ความคลุมเครือของรัฐธรรมนูญ หากแต่ไทมิงในการเลือกที่จะนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็น ในช่วงที่มีมีข่าวความสัมพันธ์ของพี่น้อง 3 ป.ไม่เหมือนเดิม 
    มีใครบางคนตั้งใจที่จะนำเรื่องนี้มาเปิดเพื่อให้เป็นประเด็นหรือไม่ หากเป็นฝ่ายค้าน ถือว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะเป็นปกติที่จะต้องเสี้ยมอยู่แล้ว แต่หากไม่ใช่ ตรงนี้ต่างหากคือสาระสำคัญ 
    เพราะแม้แต่คนในพรรคพลังประชารัฐอย่าง นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังไม่กล้าฟันธงเอง ทั้งที่โดยปกติหากมีใครพาดพิงนายกฯ มักจะออกมาแสดงความเห็นที่เป็นบวกกับรัฐบาลอย่างมั่นอกมั่นใจ 
    ว่ากันตามรัฐธรรมนูญ ต่อให้เรื่องนี้ถึงศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่ต้นตอที่มาของคนจุดประเด็นนี้นั้นพอจะบอกได้ว่า มีจุดประสงค์อะไรกันแน่. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"