ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สิ่งที่สามารถกู้วิกฤตครั้งนี้คือวัคซีน แต่การผลิตวัคซีนจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่ง ผนวกกับความต้องการวัคซีนของประชากรทั่วโลกมีสูง ทำให้วัคซีนที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการในขณะนี้ จึงทำให้องค์กรสาธารณสุขทั่วโลกต้องหาวิธีเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้
หนึ่งในนั้นคือการฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนัง คือการนำวัคซีนผ่านเข้าไปเพียงแค่ในหนังเท่านั้น ขนาดวัคซีนที่ฉีดมีปริมาณน้อย จึงควรใช้เข็มเบอร์ 26 ความยาว 1/2 นิ้ว ห้ามใช้ syringe ที่เปลี่ยนหัวเข็มไม่ได้ และเนื่องจากวัคซีนที่ฉีดเข้าในหนังเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น หากใช้แอลกอฮอล์เช็ด ต้องรอให้แห้งก่อนจึงจะฉีด โดยจัดท่าเด็กให้นิ่งและมั่นคงที่สุด เพราะการฉีดเข้าในหนังต้องอาศัยความชำนาญและความนิ่งมากที่สุด เทคนิคการฉีดควรดึงหนังบริเวณที่ฉีดให้ตึง ค่อยๆ แทงเข็มลงไปทำมุมประมาณ 15 องศา แล้วดันวัคซีนเข้าไป ถ้าเทคนิคถูกต้องจะเห็นว่าเมื่อดันวัคซีนเข้าไปจะมีตุ่มนูนขึ้นมาให้เห็นชัด ต้องให้มือนิ่งมากที่สุด เพราะวัคซีนอาจรั่วซึมออกมาได้หากปลายเข็มแทงทะลุออกมานอกผิวหนัง บริเวณที่ฉีดวัคซีน BCG มักฉีดเข้าที่หัวไหล่ข้างซ้าย
ซึ่งเป็นเทคนิคการฉีดวัคซีนที่มีมานาน โดยเริ่มต้นในปี 1987 เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ด้วยการฉีดวัคซีนในปริมาณ 0.1 ซีซี แทนที่จะใช้ 0.5 ซีซี หรือ 1.0 ซีซี ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ก่อนจะนำเสนอต่อองค์การอนามัยโลก (WHO) จนกระทั่งได้รับการยอมรับใช้ทั่วโลกในปี 1991 และยังเป็นที่รับรองจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้องค์การอนามัยโลกจะรับรองการใช้วัคซีนอย่างประหยัดสำหรับที่ได้อนุมัติก่อนหน้านี้คือ วัคซีนพิษสุนัขบ้า และโปลิโอมาก่อน แต่การลดปริมาณขนาดวัคซีนลง อาจเปลี่ยนการสร้างภูมิคุ้มกัน และเพิ่มการเกิดปฏิกิริยาต่างๆ ต่อวัคซีน รวมถึงอาจต้องมีการลงทุนอย่างมากในการฝึกอบรม เพราะการฉีดในผิวหนังต้องใช้เทคนิคสูง และอาจต้องใช้ควบคู่กับเข็มฉีดยาชนิดพิเศษ ทำให้ในสถานการณ์โควิดนี้ องค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นวิธีที่เราใช้กันอยู่ ด้วยปริมาณวัคซีนมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกเคยรับรองไว้
ส่วนการฉีดวัคซีนในชั้นผิวหนังจะทำได้ต่อเมื่อมีงานวิจัยที่มากเพียงพอเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันและความปลอดภัย เพราะยังไม่มีผลการวิจัยการสร้างภูมิคุ้มกันที่แน่ชัดในการป้องกันโควิด นอกจากนี้ยังไม่มีข้อมูลในเรื่องระยะเวลาในการป้องกันโควิด แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วระดับภูมิคุ้มกันแอนติบอดีสูงขึ้นจะสัมพันธ์กับประสิทธิภาพและระยะเวลาที่ดีกว่า
แต่ในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านชั้นผิวหนังโดยกระทรวงสาธารณสุขไทย ได้เปิดเผยผลการทดสอบการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 3 กระตุ้นในผิวหนัง จำนวน 95 คน พบว่าการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังใช้ปริมาณโดสน้อยถึง 1 ใน 5 ของปริมาณวัคซีนเดิม แต่ได้ภูมิคุ้มกันสูงเทียบเท่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเต็มขนาดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน หรือแค่ใช้เข็มกระตุ้นเพียงปริมาณ 0.1 มิลลิลิตร ภูมิคุ้มกันขึ้นได้ดี โดยสร้างภูมิคุ้มกันแอนติบอดี (Antibody Response) ได้สูง 1,300 AU ใกล้เคียงกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1,652 AU และสามารถสร้างการตอบสนองภูมิคุ้มกันของเซลล์ในการกำจัดไวรัส (T-Cell Response) ได้สูง 52 AU ในช่วง 4-8 สัปดาห์ หลังได้รับวัคซีน ขณะที่ช่วง 8-12 สัปดาห์ได้สูง 58 AU ซึ่งมากกว่าการฉีดซิโนเแวค 2 เข็ม ที่อยู่ในระดับ 32 AU
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งประสบความสำเร็จในการศึกษาการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากผู้เข้าร่วมทดลอง 242 ราย พบว่า การฉีดวัคซีนใต้ผิวหนัง โดยใช้ปริมาณวัคซีนเพียง 20% จากปริมาณวัคซีนเดิม หรือเพียง 0.1 มิลลิลิตร สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เทียบเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบทั่วไป และช่วยประหยัดวัคซีน เพราะสามารถฉีดวัคซีนได้มากขึ้น 5 เท่า
ส่วนการกระตุ้นภูมิเพื่อสู้กับสายพันธุ์เดลตานั้น พบว่า การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากระตุ้นในผิวหนังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในช่วง 4-8 สัปดาห์ ได้ 234.4 AU และในช่วง 8-12 สัปดาห์ ได้ 172.1 AU ซึ่งมากกว่าการฉีดซิโนเแวค 2 เข็มหลายเท่าตัว
สำหรับผลศึกษาในต่างประเทศ จากงานวิจัยมหาวิทยาลัยของเนเธอร์แลนด์ (Leiden University) ได้แสดงให้เห็นถึงแนวทางการฉีดวัคซีนโควิดแบบฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง แทนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ พบว่าสามารถลดปริมาณวัคซีนที่ใช้ลงได้มาก 5-10 เท่าตัว โดยที่มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคเท่าเดิม
โดยในงานวิจัยนี้ ได้ทำการทดลองฉีดวัคซีนของโมเดอร์นา ซึ่งปกติจะฉีดขนาด 100 ไมโครกรัมเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งทีมนักวิจัยของเนเธอร์แลนด์ได้ลองฉีดขนาด 10 และ 20 ไมโครกรัมเข้าชั้นผิวหนังแทน โดยการที่ใช้อาสาสมัครอายุ 18 ถึง 30 ปี ส่วนที่ 1 จำนวน 10 คน และส่วนที่ 2 จำนวน 30 คน ในช่วง 15 เม.ย.-3 พ.ค.2564
ทั้งนี้ การฉีดแบบเข้าผิวหนังที่พบว่าจะใช้วัคซีนปริมาณน้อยกว่านั้น มาจากองค์ความรู้ที่พบว่า ในชั้นผิวหนังจะมีเซลล์ชนิดหนึ่ง (APC : Antigen Presenting Cell) ที่สามารถปรับแต่งไวรัสหรือชิ้นส่วนของไวรัส แล้วนำไปเสนอต่อระบบภูมิคุ้มกัน (B-cell, T-cell) ให้สร้างภูมิคุ้มกันออกมา ซึ่งเซลล์ชนิดนี้มีจำนวนในชั้นผิวหนัง มากกว่าในกล้ามเนื้อ จึงสามารถใช้ปริมาณวัคซีนที่ลดลง แต่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง
ซึ่งงานวิจัยนี้จะดูความปลอดภัยหรือผลข้างเคียง และระดับความสามารถในการกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกัน พบว่าในการวิจัยส่วนที่หนึ่ง ฉีด 10 ไมโครกรัมเข้าชั้นผิวหนัง กระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นสูง 1696 AU โดยวัดที่ 14 วันหลังฉีดเข็มสองแล้ว
ส่วนในอาสาสมัครส่วนที่สอง ที่ฉีด 20 ไมโครกรัมเข้าชั้นผิวหนัง ได้ระดับภูมิคุ้มกัน 2057 AU ฉีด 20 ไมโครกรัมเข้าชั้นกล้ามเนื้อ ได้ระดับภูมิคุ้มกัน 1406 AU
เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการฉีดวัคซีนเข้าชั้นกล้ามเนื้อขนาดปกติ 100 ไมโครกรัม จะได้ภูมิคุ้มกันที่ 1558 AU และเมื่อเปรียบเทียบกับระดับภูมิคุ้มกันสำหรับคนที่หายป่วยโดยธรรมชาติ จะพบว่ามีระดับภูมิคุ้มกันเพียง 107 AU ต่างกันถึง 14-20 เท่า
ถ้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวิธีดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายได้ จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น รวมถึงได้รับโดสที่ 3 ได้เร็วขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |