สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศตอนนี้เริ่มเข้าขั้นวิกฤตอย่างมาก เนื่องจากในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่ใช่แค่ด้านของการทำมาหากิน ผลผลิตหรือพืชสวนไร่นาเท่านั้น แต่น้ำท่วมยังส่งผลไปยังชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่อีกด้วย บ้านเรือนหลายร้อยหลังจมไปกับน้ำ ทรัพย์สินภายในบ้านเสียหาย ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ ความช่วยเหลือก็ส่งไปไม่ถึงในบางจุด จนทำให้ต้องเกิดคำถามว่าทำไมถึงปล่อยให้เกิดความเสียหายขึ้นได้มากมายขนาดนี้
“น้ำท่วม” เป็นเหตุการณ์จากธรรมชาติก็จริง แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบเรื่องน้ำท่วมทุกปี! ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ปัญหานี้ก็เหมือนยังหาทางแก้ไม่สมบูรณ์สักที หน้าที่การดูแลเรื่องนี้เป็นของใคร...น่าจะเกิดคำถามขึ้นจากหลายเสียงของประชาชนในประเทศ และจะมีทางไหนบ้างที่ช่วยแก้ไขเรื่องนี้ให้ได้รับผลกระทบน้อยลง ในปีนี้ ปีหน้า หรืออีก 4-5 ปี ก็อาจจะยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนนัก
ต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ควบคุมและประมาณการได้ยาก ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาก็เห็นความตั้งใจของหลายหน่วยงานที่จะเข้าไปปรับเปลี่ยนแก้ไขหรือเยียวยาแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า "ยังไม่พอ" แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยและปล่อยให้ประชาชนรับผลกระทบดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียว
ในปีนี้อาจจะยังไม่สามารถสรุปผลกระทบเป็นมูลค่าความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมได้ แต่ก็ดีที่ยังเห็นหลายๆ หน่วยงาน หลายๆ พื้นที่เริ่มเข้าใจถึงความเดือดร้อน และเกิดความห่วงใย จึงเข้ามาช่วยเหลือกันอย่างไม่ขาดสาย รวมถึง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเอง ก็ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงอุตสาหกรรม ติดตามผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย
โดยให้เข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งให้เตรียมมาตรการต่างๆ รองรับสถานการณ์หลังน้ำลดแล้ว ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ดูแลนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ให้เตรียมมาตรการป้องกันน้ำท่วมในนิคมฯ รวมถึงกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ดูแลเขตประกอบการอุตสาหกรรมทั่วประเทศ, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ให้ดูแลสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
นายสุริยะกล่าวว่า กระทรวงมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้อย่างมาก หากประเมินความเสียหายได้แล้วจะมีการประชุมร่วมกับทีมผู้บริหารกระทรวงอุตฯ เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาต่อไป ตอนนี้จึงให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงอุตสาหกรรมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดเพื่อช่วยเหลือและหามาตรการเยียวยาต่อไป ขณะเดียวกันก็สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือมาได้ที่อุตสาหกรรมจังหวัดแต่ละจังหวัดได้ทันที
ด้าน “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการ กนอ.เองก็ได้สั่งการให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่รับผิดชอบของตัวเองอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศในพื้นที่แบบละเอียด รวมทั้งข้อมูลปริมาณน้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนบริเวณใกล้เคียงนิคมฯ ทั้งยังให้ติดตามข้อมูลระดับน้ำทะเลหนุนในกรณีที่นิคมฯ อยู่ใกล้ทะเลด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ขอให้เร่งเปิดทางน้ำไหล รวมถึงหากเป็นไปได้ก็ให้ร่วมกับชุมชนในการขุดลอกคูคลองทางระบายน้ำโดยรอบของนิคมฯ ด้วย เพื่อจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่รับมือกับผลกระทบ
ต้องยอมรับเลยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีใครอยากให้เกิดความเสียหายขึ้น แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดูแล เยียวยา และช่วยเหลือกันต่อไป ซึ่งประเทศไทยเองในช่วงวิกฤตแบบนี้เราก็มักจะเห็นความมีน้ำใจของคนในสังคมกันอยู่แล้ว รวมถึงความทันต่อเหตุการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ด้วย แต่ทุกอย่างเป็นแค่การเยียวยาปลายเหตุเท่านั้น ถ้าประเทศไทยมีหนทางแก้ไขเรื่องนี้อย่างชัดเจนและผลกระทบเหล่านั้นถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ "กว่านี้" มันจะดีกว่าไหม...
ณัฐวัฒน์ หาญกล้า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |