'เวิลด์แบงก์'หั่นจีดีพีไทยปีนี้โตแค่1%โควิดกระทุ้งคนจนเพิ่ม


เพิ่มเพื่อน    

28 ก.ย. 2564 นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 1% จากเดิมที่ 2.2% และปีหน้า อยู่ที่ 3.6% โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ได้ในปี 2566 ล่าช้ากว่าคาดการณ์เดิมประมาณ 1 ปี จากปัจจัยเรื่องการกระจายวัคซีน ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบกับภาคครัวเรือน ทำให้อัตราการว่างงาน และภาคธุรกิจเอสเอ็มอีขาดรายได้ ส่งผลให้ในปีนี้ประเทศไทยจะมีผู้ที่มีความยากจนเพิ่มขึ้น 1.7 แสนคน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวในปีนี้ มองว่าจะยังไม่ฟื้นตัว แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการแซนด์บ็อกซ์ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 โดยคาดว่าในปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย จะอยู่ที่ 1.6 แสนคน ซึ่งถือว่าต่ำมาก ขณะที่ปี 2565 คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เนื่องจากมีการเร่งกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 ล้านคน ถือเป็นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

“ภาคการส่งออกตอนนี้ยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรและสินค้าเพื่อการผลิตเริ่มมีการฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะตลาดในประเทศใหญ่ ๆ เช่น จีน แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่เข้ามากดดัน เนื่องจากมีการประเมินว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ๆ อาจจะมีการชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากมาตรการลดการเดินทางและการบริโภคที่อาจจะยังมีข้อจำกัดจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงปัญหาคอขวดด้านโลจิสติกส์ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบกับภาคการส่งออกได้ โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าที่มีห่วงโซ่การผลิตค่อนข้างยาว” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

สำหรับกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) นั้น มองว่า อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดการเคลื่อนย้ายของเงินทุนบ้าง แต่มองว่าตลาดการเงินในหลายประเทศเริ่มมีการปรับตัวเพื่อตอบรับกับข่าวดังกล่าวแล้ว ขณะที่ไทยเอง จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น มองว่าน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนลดลง

นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 70% ต่อจีดีพี จากเดิมที่ 60% ต่อจีดีพีนั้น เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาครัฐในการประคับประคองเศรษฐกิจในระยะสั้น และจะช่วยเพิ่มการลงทุนในโครงการสำคัญ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะปานกลาง

นอกจากนี้ มองว่าการขยายเพดานหนี้สาธารณะของไทยนั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น โดยหากสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ดี มีการลงทุนที่ดี สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยหลังจากนี้ก็มีโอกาสที่จะลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 60% ของจีดีพีแน่นอน เพราะหนี้สาธารณะของไทยส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมในประเทศเป็นหลัก ดังนั้นความเสี่ยงเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศจึงต่ำกว่ามาก

“จากแบบจำลองของธนาคารโลกมองว่าไทยมีโอกาสที่จะเพิ่มเพดานหนี้มากกว่า 60% ต่อจีดีพี ซึ่งการเพิ่มเพดานหนี้นี้จะช่วยให้ไทยสามารถขยายการกู้เงินเพิ่มเติมได้ ในกรณีที่การระบาดแย่ลง ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลังในระยะปานกลางได้ แต่การกู้เงินและการใช้จ่ายเงินในการลงทุนและมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ต้องมีความโปร่งใส เป็นมาตรการที่เฉพาะเจาะจง ช่วยเหลือผู้ที่ต้องการจริง ๆ เม็ดเงินดังกล่าวจะได้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะนั้นถือเป็นมาตรการที่สุขุม เป็นการสร้างความสมดุล และมองว่านโยบายการคลังเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำมาใช้ในการให้ความช่วยเหลือในช่วงที่มีความเปราะบาง และจำเป็นต้องดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อรักษาระดับการเติบโตที่ยั่งยืน และถือเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มการลงทุน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการศึกษา และด้านพลังงานสะอาด ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังดำเนินการในส่วนนี้ค่อนข้างน้อย
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"