ผอ.สทนช.ภาค 4 เปิดข้อมูล 'เขื่อน-ทุ่งเจ้าพระยา' ยังรับน้ำได้อีกมาก ไม่มีแนวโน้มน้ำท่วมใหญ่กทม.


เพิ่มเพื่อน    

27 ก.ย.64 - นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 4 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ว่า น้ำท่วมจะไปไหน ... ข่าวลือเริ่มแรง น้ำจะท่วม กทม. ????? เริ่มมีคนเพื่อนฝูงมิตรสหาย แชทมาถาม ไลน์มาถาม แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำหลายคน โดยเฉาะมีความกังวลว่า น้ำจะท่วม กทม. และ นนทบุรี “เห็นน้ำในข่าวแล้วตกใจ”  , “มีคนส่งข้อมูลต่อๆกันมาว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่”  , “บางกระแส เอาไปเปรียบเทียบกับปี 2554 แล้ว ก็มี” 

ถ้าตอบโดยส่วนตัว เมื่อเข้าไปเช็คข้อมูลปริมาณน้ำตามเขื่อนต่างๆ ผมก็พอตอบได้ว่า สถานการณ์มันไม่ได้น่ากังวลขนาดนั้น ... เพราะพายุดีเปรสชั่น เตี้ยนหมู่ ซึ่งต่อมากลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำลูกนี้เคลื่อนผ่านไทยไปแล้ว เขื่อนข้างบนไม่มีน้ำลงมาเติม ที่เก็บน้ำระหว่างทางก็ยังว่างอีกเยอะกว่าจะลงมาถึง กทม. นนทบุรี และน้ำยังจะแยกออกไปทางอีสานนู่นอีกต่างหาก 

แต่เพื่อความมั่นใจ ก็ต้องหาคำตอบที่มันน่าเชื่อถือกว่าความรู้นิดหน่อยของตัวเอง โดยเฉพาะคำตอบว่า เมื่อสถานการณ์ก่อนนี้มันไม่มีน้ำในเขื่อนใหญ่ ทำไมหย่อมลูกเดียวมันทำให้หลายพื้นที่บรรลัยได้ขนาดนี้ ... ผมเลยโทรไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อละกันครับ เพื่อให้เขาทำงานได้ง่ายต่อไป

เริ่มที่ “สุโขทัย” ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ที่เราเห็นน้ำท่วมสุโขทัยกันบ่อยๆแบบปีเว้นปี ส่วนใหญ่จะเกิดจาก “น้ำยม” ซึ่งไหลผ่านกลางเมืองสุโขทัย ล้นตลิ่งเข้ามาในเขตเทศบาล แม้จะทำกำแพงสูงกว่า 3 เมตร กั้นไว้ตลอดแล้วแล้วก็ตาม ก็ยังล้นข้ามมา ... แต่ไม่ใช่ครั้งนี้ 

น้ำที่เราเห็นท่วมเมืองสุโขทัยครั้งนี้ ไม่ได้มาจากแม่น้ำยมล้นตลิ่งเข้ามาในเมือง เพราะน้ำยม ยังไม่มากพอที่จะข้ามกำแพงยักษ์มาท่วมเมืองได้ แต่ท่วมเพราะน้ำจากลำน้ำสาขาที่ไหลมาจาก “เขื่อนแม่มอก” ฝั่งซ้าย จะไหลมาลงลำน้ำยม ผ่านตัวเมืองไปลงลำน้ำยมได้ช้าต่างหาก “และอาจจะช้าเพราะติดกำแพงนั่นแอง” ... ดังนั้น เราจึงเห็นบางจุดที่เคยไม่ท่วมก็ดันท่วม เพราะเป็นการท่วมจากสาเหตุที่ต่างไปจากเดิม 

ส่วนพื้นที่อื่นๆ เช่น บำเหน็จณรงค์ เทพสถิตย์ ลำสนธิ เป็นพื้นที่อิ่มน้ำอยู่ก่อนไหว อ่อนไหว เมื่อเจอฝนตกซ้ำก็เจอมวลน้ำลงมาถล่ม โดยเฉพาะโคราช ซึ่งโดนฝนตกแช่ อยู่ถึง 12 ชั่วโมงในวันเสาร์ที่ 25 กันยายน มีผลกระทบหนักที่ความเสียหายของเขื่อนลำเชียงไกร (ที่กรมชลประทาน ไม่เรียกว่าแตก)
และเมื่อหย่อมลูกนี้ข้ามภูเขาจากเพชรบูรณ์มาที่นครสวรรค์ ก็เคลื่อนตัวช้าลงมา ทำให้ฝนตกแช่อยู่ที่นครสวรรค์ โดยเฉพาะที่ อ.ไพศาลี ตั้งแต่เย็นวันเสาร์ที่ 25 กันยายน ไปจนถึงประมาณตี 2 กระทบหนักไปที่ ลำสนธิ

ผู้เชี่ยวชาญบอกด้วยว่า ... ยังดี ที่มีหย่อมความกดอากาศสูงปกคลุมลงมาทำให้หย่อมลูกนี้ไม่ถูกดันขึ้นสูงไปกว่านี้ เพราะไม่งั้น สุโขทัย จะอ่วมกว่านี้ 

ประเด็นต่อมา ... น้ำที่ท่วมอยู่ตอนนี้ ไปไหนต่อ ... แยกตามโซนไปเลยนะครับ  
1. โซนชัยภูมิ โคราช น้ำที่ท่วมชัยภูมิ จะไปลง “แม่น้ำชี”  ส่วนที่โคราช ลง “แม่น้ำมูล” บุรีรัมย์ สุรินทร์ ทั้งสองสายที่เจอกันที่ อ.วาริณชำราบ จ.อุบลราชธานี ลงแม่น้ำมูล ในอีกหลายวันหลังจากนี้ สายนี้ไม่เกี่ยวกับภาคกลาง 

2. โซน อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี (ลงมาจาก อ.เทพสถิตย์ โคราช) และเพชรบูรณ์ น้ำจากพื้นที่นี้ ไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่ง “เขื่อน” เหลือที่ว่างอีกเยอะ เก็บได้หมดเกลี้ยง 

3. โซนชัยบาดาล จ.ลพบุรี และไพศาลี จ.นครสวรรค์ ลพบุรี มีทุ่งลพบุรีคอยรับน้ำ ส่วนที่ไพศาลี ลงบึงบอระเพ็ด ซึ่งเก็บได้หมดเช่นกัน 

4. โซนสุโขทัย แม่น้ำยม มีทุ่งบางระกำรอรับอยู่แล้ว และอาจจะล้นนิดหน่อย แต่เชื่อว่ารับน้ำชุดนี้ได้หมดแน่นอน เพราะไม่มีน้ำจากแม่น้ำยมลงมาเติมมากนัก 

5. มาถึงโซนที่สำคัญ คือ โซนที่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา นั่นคือน้ำจากกำแพงเพชร และอุทัยธานี น้ำที่กำแพงเพชร ลงมาที่แม่น้ำสะแกกรัง และจะไปผ่านที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท น้ำที่อุทัยธานี ก็ลงมาที่แม่น้ำเจ้าพระยา 

ทีนี้มาดูสาเหตุที่ทำให้ผู้คนตกใจกัน เมื่อน้ำลงมาที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งเขื่อนเจ้าพระยา ไม่ใช่อ่างเก็บน้ำ แต่ทำหน้าที่เป็นเหมือนบานประตูที่คอยควบคุมแม่น้ำเจ้าพระยาว่าจะไหลผ่านลงข้างล่างมากน้อยเพียงใด 

ตอนนี้... เมื่อมีน้ำลงมามากขึ้น เขื่อนเจ้าพระยาจึงต้องประกาศ “เพิ่มการระบายน้ำ” หมายความว่า ปล่อยน้ำผ่านลงไปมากกว่าเดิม และเมื่อจะปล่อยน้ำผ่านมากกว่าเดิม เขื่อนเจ้าพระยาต้องประกาศ เพราะพื้นที่ใต้เขื่อน มีกิจการแพ ร้านอาหาร ที่ต้องแจ้งเตือนให้ระวัง ไม่ให้เกิดปัญหากับชีวิตคนและลูกค้า และยังมีหลายช่วงอยู่ระหว่างซ่อมแซมปรับปรุงแนวตลิ่ง ต้องประกาศให้ผู้รับเหมานำเครื่องจักรออกไปก่อน 

แต่กลายเป็นว่า การประกาศ ถูกส่งต่อออกไปตามช่องทางต่างๆ โดยไม่มีคำอธิบาย ... สร้างความแตกตื่นราวกับว่า กำลังจะปล่อยน้ำมหาศาลลงไป 

มาดูตัวเลข ... ซึ่งให้โฟกัสไปที่ “ปริมาณน้ำไหลผ่าน สถานี C.29 A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา” (ดูภาพประกอบ)

วันนี้ (26 ก.ย.64) น้ำไหลผ่านที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ประมาณ 2,349 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อไปรวมกับแม่น้ำป่าสัก ที่ผ่านเขื่อนพระราม 6 พบว่า ไม่มีน้ำปล่อยมาเพิ่ม น้ำจากตรงนี้ จะแยกไปลงที่ อ.โผงเผง จ.อ่างทอง และ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เจ้าพระยาและป่าสัก มาไหลผ่านที่สถานีบางไทร 1,850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำวันนี้ ต่ำกว่าตลิ่ง 1.78 เมตร จากตลิ่ง 3.40 เมตร เปรียบเทียบกับปี 2560 ที่มีความหวาดเสียวว่าจะเกิดน้ำท่วม แต่แล้วก็ไม่ท่วม 

ปี 2560 น้ำถูกระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา(แม่น้ำเจ้าพระยา) และเขื่อนพระราม 6 (แม่น้ำป่าสัก) มารวมกันไหลผ่านที่สานีบางไทร 2,882 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

และถ้าย้อนกลับไปน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 น้ำไหลผ่านที่สถานีบางไทร 3860 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งที่รับได้คือ 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และถ้าจะเทียบกับปี 2554 จริงๆ ต้องดูด้วยว่า ในปี 2554 น้ำในเขื่อนใหญ่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเต็มหมด ล้นสปิลเวย์ ต้องระบายลงมาอย่างต่อเนื่อง มีน้ำลงมาเพิ่มตลอด

แต่ในเวลานี้ 2564 เขื่อนภูมิพล มีน้ำใช้การได้ 16% เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำใช้การได้ 12% และแทบไม่ได้น้ำเพิ่มจากหย่อมที่สร้างผลกระทบลูกนี้เลย เพราะฝนตกใต้เขื่อนทั้งหมด ดังนั้น 2564 ยังไม่มีน้ำจากเขื่อน ลงมาเติมแน่นอน 

ย้ำอีกครั้ง ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีบางไทร ปี 2554 – 3,860 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที - เขื่อนใหญ่เต็ม – น้ำท่วมใหญ่ 
ปี 2560 – 2,882 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที – น้ำล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่ต่ำ ใช้ทุ่งรับน้ำรับมือไว้ กันยายน ปี 2564 – 1,850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที - ??? 

ย้ำต่อไปอีกด้วยว่า ความกังวลทั้งหลายในการสื่อสาร เริ่มจากมีน้ำท่วมที่อุทัยธานี กำแพงเพชร ที่น้ำไหลงแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นเขื่อนเจ้าพระยาประกาศเพิ่มการระบายน้ำ ... เพื่อเตือนคนทำอาชีพริมน้ำ

ผู้เชี่ยวชาญ สะกิดมาให้อย่าลืมว่า กรมชลประทานยังมี “12 ทุ่งรับน้ำของเจ้าพระยา” ซึ่ง “ยังไม่ได้ใช้เลยในปีนี้” เป็นแผนที่โดยปกติจะเตรียมไว้สำหรับช่วงเจ้าพระยาพีคที่สุดในเดือนตุลาคมอยู่แล้ว ดังนั้น มีพื้นที่รับน้ำได้อีกเยอะ

สรุป ถ้าดูจากตัวเลขปริมาณการไหลของน้ำ การระบายน้ำ ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ที่ยังน้อยมาก และยังมีพื้นที่รับน้ำได้อีกมาก รวมทั้งพื้นที่รับน้ำที่ท่วมอยู่ในเวลานี้ด้วย ก็จะเห็นว่า กทม.และนนทบุรี ยังคงไม่มีแนวโน้มจะถูกน้ำท่วม (ที่ไม่ใช่น้ำท่วมขังเวลาฝนตก) แต่คนที่ประกอบอาชีพริมแม่น้ำอาจต้องเตรียมตัวหรือได้รับผลจากระดับน้ำที่จะสูงขึ้นอีกอยู่บ้าง และอาจต้องรอดูว่า ตั้งแต่หลังวันที่ 10 ตุลาคม จะมีพายุเข้ามาอีกหรือไม่ รุนแรงแค่ไหน พายุมีพฤติกรรมอย่างไร 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"