"บิ๊กตู่" สั่ง ปภ.ทำแผนรับมือน้ำท่วมระดับประเทศ กำชับเฝ้าติดตามสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดตอนล่าง-กทม.และปริมณฑล พร้อมเลื่อนคิวไปเมืองคอนหันลุยพื้นที่น้ำท่วมหนัก "โฆษก รบ." วอนอย่าบิดเบือน นายกฯ ชวนสวดมนต์หวัง ปชช.คลายกังวล "โคราช" ปัดเขื่อนลำเชียงไกรแตก "อัศวิน" ยัน "กทม." ยังไม่วิกฤต ระดม จนท.รับมือน้ำเหนือลงมา "พท." ซัดรัฐบาลไร้แผนแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-chan-o-cha" ระบุว่า "เรียนพี่น้องประชาชนทุกท่าน ในระยะนี้ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะลดระดับความรุนแรงลง แต่ก็ยังคงมีฝนกระจายหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีมวลน้ำสะสมหลายจังหวัด อาจเกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันได้ รัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.ย.ได้มีข้อสั่งการต่อกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ปภ.) ให้จัดทำแผนรับมือน้ำท่วมระดับประเทศ และถ่ายทอดคำสั่งไปยังศูนย์ ปภ.แต่ละจังหวัดให้จัดกําลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกล สาธารณภัย เช่น เครื่องสูบน้ำ เรือยนต์กู้ภัย เรือท้องแบน รถสูบส่งน้ำระยะไกล รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย และอื่นๆ ให้พร้อมปฏิบัติการได้ทันทีในพื้นที่เสี่ยงภัยตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยชุดปฏิบัติการจากหน่วยราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ รวมถึงอาสาสมัครและประชาชนจิตอาสา เข้าคลี่คลายสถานการณ์ ตลอดจนจัดตั้งโรงครัวพระราชทานจากพระมหากรุณาธิคุณ ในการประกอบอาหาร การแจกจ่ายถุงยังชีพ เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน"
พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า "หากสถานการณ์มีแนวโน้มไม่ปลอดภัย ทาง ปภ.ของพื้นที่จะอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัยหรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้อย่างทันท่วงที โดยให้ฝ่ายปกครอง กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสาเข้าดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันโควิด-19 ซึ่งทั้งหมดนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุด และได้เตรียมแผนป้องกันและรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นกับจังหวัดอื่นๆ ทางตอนล่างของประเทศ รวมถึงเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไว้แล้วด้วย"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภารกิจการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์เดิมกำหนดลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ แต่ล่าสุดมีรายงานว่านายกฯ ได้เปลี่ยนกำหนดการ โดยเลื่อนการลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชออกไปก่อน เนื่องจากต้องการเดินทางไปพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยค่อนข้างหนักในช่วงนี้ก่อน อย่างพื้นที่ภาคกลาง เช่น จ.ลพบุรี จ.สระบุรี และ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งจะมีการประเมินสถานการณ์และพิจารณาอย่างชัดเจนอีกครั้งว่าจะเป็นจังหวัดใดก่อนหลัง ขณะที่พื้นที่ภาคใต้จะเข้าสู่ฤดูมรสุมในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.
ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดจากพายุเตี้ยนหมู่อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.จนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ 27 จังหวัดได้รับผลกระทบน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
"ผมขอความเป็นธรรมให้นายกรัฐมนตรีด้วย ในฐานะโฆษกรัฐบาลได้ติดตามนายกฯ ลงพื้นที่ ล่าสุดได้ร่วมตรวจเยี่ยมพื้นที่น้ำท่วมสุโขทัย ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้บอกสวดมนต์ไล่น้ำ แต่มีเจตนาให้ทำทุกอย่างเพื่อให้คลายความทุกข์ พร้อมรับสถานการณ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลทำงานอย่างเต็มที่ทุกมาตรการ ยังเตรียมลงพื้นที่ จ.ชัยภูมิและจังหวัดอื่นๆ ภายในสัปดาห์นี้ด้วย" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
กรมชลประทานรายงานสถานการณ์อุทกภัยว่า มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวมทั้งหมด 34 จังหวัด โดยปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 19 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก, ตาก, สุโขทัย, กำแพงเพชร, พิจิตร, เลย, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, ร้อยเอ็ด, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ชัยนาท, สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, สิงห์บุรี, อ่างทอง, อุทัยธานี และนครสวรรค์ ส่วนพื้นที่ที่เข้าสู่ภาวะปกติแล้วมีทั้งหมด 15 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงราย, ลำพูน, ลำปาง, แพร่, ฉะเชิงเทรา, ตราด, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, เพชรบูรณ์, สมุทรปราการ, ระนอง, พังงา, นครศรีธรรมราช และตรัง
กทม.พร้อมรับมือน้ำเหนือ
ส่วน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีข่าวเขื่อนลำเชียงไกร จ.นครราชสีมาแตกว่า บริเวณอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา กำลังก่อสร้างอาคารและทางระบายน้ำ ซึ่งดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 70% แต่ขณะก่อสร้างมีฝนตกหนักทำให้อ่างลำเชียงไกร (ตอนล่าง) มีปริมาณน้ำเกินความจุเก็บกัก ปัจจุบัน (26 ก.ย.64) มีปริมาณน้ำ 41.69 ล้านลูกบาศก์เมตร ( ลบ.ม.) หรือประมาณ 151% ของความจุอ่างฯ มีน้ำล้นสปิลเวย์มาสมทบกับบริเวณที่กำลังก่อสร้าง ประกอบกับช่วงที่ก่อสร้างได้ใช้ทำนบดินกั้นน้ำไว้ เมื่อมีปริมาณน้ำมากเกินกว่าที่อ่างเก็บน้ำจะรับไหว จึงส่งผลให้ทำนบดินไซต์ก่อสร้างชำรุด น้ำจึงไหลมาลงตรงที่ก่อสร้างทางประตูระบายน้ำ ตัวอ่างและสันอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรมั่นคงแข็งแรง แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มากเกินความจุอ่างจึงทำให้น้ำล้น
นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ยืนยันว่า จากกรณีฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้มีมวลน้ำไหลเข้าในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน และมวลน้ำดังกล่าวได้ไหลต่อเข้ามายังอ่างลำเชียงไกรตอนล่าง ทำให้ชลประทานจำเป็นต้องเปิดช่องทางระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างเพิ่มเติมจากเดิม เพื่อระบายน้ำออกเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากอ่างเก็บน้ำแตกหรือเสียหายจากน้ำแต่อย่างใด
ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.โพสต์เฟซบุ๊กตอนหนึ่งระบุว่า ฝนที่ตกหนักในจังหวัดภาคกลางทางตอนบนของ กทม.อาจส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่ไหลผ่าน กทม.มีระดับสูงเพิ่มมากขึ้น สมทบกับระดับน้ำที่สูงขึ้นจากฝนตกหนักเมื่อปลายสัปดาห์ ที่มาจากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงจากพายุดีเปรสชันเตี้ยนหมู่ ปริมาณน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาที่จะไหลผ่าน กทม.มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2,400-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยวันนี้ (เวลา 10.00 น.) ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาดของ กทม.อยู่ที่ระดับ 1.55 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานครอยู่ประมาณ 1.45 เมตร จึงยังไม่ส่งผลกระทบในพื้นที่ กทม. และยังต่ำกว่าระดับน้ำในปี 54 ที่ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงถึง 2.30 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
"แม้ระดับน้ำยังไม่วิกฤต กทม.ก็ยังคงเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมตามแนวฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงบางนา โดยควบคุมการเปิดปิดประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ กระสอบทราย และมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดพร้อมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในทันที และยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเหนือ และติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน และประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางในการป้องกันและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำให้มีผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ น้อยที่สุด" ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ
วันเดียวกัน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลว่า ไม่เห็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก ทำโครงการแบบปะผุขอไปที ไร้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำแห่งชาติทั้งระบบ หว่านงบประมาณกระจายเป็นเบี้ยหัวแตกซึ่งไม่ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว น่าเสียดายที่โครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ 350,000 ล้านบาทของพรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำต่อ ถ้าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้รับความไว้วางใจอีกครั้ง แผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบครบวงจรจะต้องถูกนำใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก ไม่ต้องไปฝากความหวังไว้กับการสวดมนต์ไล่พายุเพียงอย่างเดียว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |